บันทึกของคนเดินเท้า
เรื่องเล่าของสมเด็จโต (๓)
ประวัติของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม จากหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์เทพ สาริกบุตร เมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๓๗ โดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา มีความว่า
นางงุดมารดา และนายผลผู้เป็นตา นางลาผู้เป็นยาย เป็นชาวกำแพงเพชร ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พากันลงเรือบรรทุกสินค้าทางเหนือมาขายที่บางขุนพรหม โดยอาศัยจอดเรืออยู่ที่ท่าน้ำหน้าบ้านนายทองนางเพียน ซึ่งเป็นชาวเหนือด้วยกัน
ขายของหมดแล้วก็ซื้อของทางใต้กลับไปขายเมืองเหนือ ตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไปจนถึงกำแพงเพชร เมื่อมีเงินทองพอสมควรจึงปลูกบ้านเป็นเรือนแพสองหลัง แลซื้อที่ดินเหนือบ้านนายทองขึ้นไปสักสี่วาเศษ ปลูกโรงขึ้นเพื่อเป็นที่พักและเก็บสิ่งของที่เป็นสินค้า จะได้ขนไปค้าขายโดยสะดวก
ขณะนั้นนางงุดได้มีครรภ์อยู่ เมื่อครบกำหนดคลอด ท่านได้บรรยายไว้ว่า
นางงุดปั่นป่วนครรภ์เป็นสำคัญ รู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตรโดยฉับไว บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายพีลำสัน หมู่ญาติมิตรก็ได้มาพร้อมกัน ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพยาบาล ฯ
วาระนั้นเป็นปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มารดาก็ตั้งชื่อทารกว่าหนูโต มีรูปลักษณะพิเศษคือ กระดูกแขนเป็นท่อนเดียว และมีปานดำอยู่กลางหลัง จึงมีคนทักทายไปต่าง ๆ นา ๆ
นางงุดมารดาจึงพาเด็กชายโตไปถวายเป็นบุตรท่านอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน ท่านก็ยินดีรับไว้แต่ให้นางงุดมารดาเลี้ยงดูต่อไป จนอายุเด็กเจริญขึ้นได้สามเดือนจึงทำการโกนผมไฟ แล้วไว้จุกตามธรรมเนียมโบราณ
การค้าขายของนางงุดแลนายผลผู้บิดาก็เจริญขึ้นตามลำดับ ท่านร่ายไว้ว่า
ครั้นจัดการทำบุญให้ทานเสร็จแล้ว พักผ่อนพอหายเหนื่อย จึงจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ได้เต็มระวางแล้ว จึงออกเรือไปเมืองเหนือ จำหน่ายแล้วก็จัดรองสินค้าเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำพานิชกรรมสัมมาอาชีวะอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เกิดหมุนพูลเถา มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นหลายสิบเท่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นมากขึ้นเป็นลำดับมา ตาผลยายลานางงุด จึงได้ละถิ่นฐานทางเมืองกำแพงเพชรเสีย ลงมาจับจองจำนองที่ดินเหนือเมืองพิจิตร ปลูกคฤหสถานตระหง่านงามตามวิสัย มีเรือนอยู่หอนั่งครัวไฟ บันไดเรือนบันไดน้ำโรงสี โรงกระเดื่องโรงพักสินค้าโรงเรือ รั้วล้อมบ้านประตูหน้าประตูหลังบ้าน ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น จึงได้มีความชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่นั้น มีธุระปะปังอันใดก็ได้สังสรรไปมา ทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลัก ยินดีรักในการบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้าปรากฏในเมืองพิจิตรสืบไป ฯ
ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นปีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชย์ ปราบดาภิเษกเปลี่ยนปฐมบรมจักรีพระองค์แรก และย้ายพระมหานครมาข้ามฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรี ตรงหัวแหลมระหว่างวัดโพธิ์กับวัดสลัก เป็นวัดเก่ามากทั้งสองวัด ทรงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพพระมหานคร ฯ
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพ ฯ ทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์ น้องชาย เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งพระมเหสีเดิมเป็น สมเด็จพระ อมรินทรามาตย์
ทรงตั้งพระราชโอรสที่ ๔ อันมีพระชนมพรรษาได้ ๑๖ พระพรรษา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าภาคิเณยราช กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายพระราชวังหลังรับพระราชบัญชา ฯ
ขณะนั้นเด็กชายโตมีอายุได้เจ็ดปี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติแล้ว นางงุดจึงได้นำหนูโตเข้าไปถวายพระครูใหญ่เมืองพิจิตร ให้เป็นศิษย์เรียนหนังสือไทยหนังสือขอม และกิริยามารยาท ขนบธรรมเนียมการวัดการบ้านการเมือง การโยธาการเรือนการค้าขาย เลขวิธี
จนอายุได้สิบสามปี จึงได้ทำการโกนจุกเมื่อเดือนหก และพอถึงเดือนแปดในปีวอกนั้นเอง ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดใหญ่เมืองพิจิตร ได้ร่ำเรียนวิชาการต่าง ๆ จากท่านพระครูอุปัชฌาย์ ทั้งพุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์อยู่สองปีก็เจนจบ คล่องแคล่วชำนิชำนาญ ใช้ได้ดังประสงค์ทุกประการ
สามเณรโตก็กราบเรียนท่านพระครูผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ขอเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรมต่อไป ท่านอาจารย์ก็แนะนำให้ไปเรียนกับพระครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี โยมผลและโยมงุดมารดาจึงพาสามเณรไปฝากกับพระครูที่เมืองไชยนาทดังประสงค์
เมื่อสามเณรโตได้ร่ำเรียนมาได้สามปี อายุได้สิบแปด ก็จบถึงแปดชั้นบาลี จึงมีความกระหายจะล่องลงมาร่ำเรียนในสำนักราชบัญฑิตนักปราชญ์หลวงบ้าง จึงกราบลาท่านพระครูเจ้าคณะเมืองไชยนาท และไปบอกตาผลยายลานางงุดมารดาที่เมืองพิจิตร
ตาผลกับแม่งุดก็พาสามเณรโตมาฝากกับพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน
ฝ่ายพระอาจารย์แก้วเมื่อเห็นเวลาฤกษ์ดีแล้ว จึงได้นำพาสามเณรโตไปฝาก พระ โหราธิบดี พระวิเชียร กรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรให้มีความรู้ดี ในคัมภีร์พระปริยัติธรรมทั้งสามปิฎก
ท่านทั้งสองก็รับและสอนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จนเวลาได้ล่วงไปหนึ่งปี
พระชนมายุกาลแห่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ย่างขึ้นได้ ๒๘ พรรษา โดยจันทรคตินิยม
อายุสามเณรโตก็ได้ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ในเดือนห้า ศกนั้น ฯ
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
29 ม.ค. 49 07:14:36
]