บันทึกของคนเดินเท้า
เรื่องเล่าของสมเด็จโต (๖)
อีกครั้งหนึ่งเมื่อท่านได้เลื่อนเป็นที่ พระเทพกวี แล้วมีพระวัดระฆังเต้นด่าท้าทายกันขึ้นคู่หนึ่ง ท่านเจ้าคุณโตเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน แลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย
ท่านจึงลุกเข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน รีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าเข้าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า
พ่อเจ้าประคุ้น พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอใข้เก่งแท้แท้ พระเจ้าประคุ้นลูกฝากตัวด้วย
เลยพระคู่นั้นเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกวี ท่านก็กราบตอบพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนาน ฯ
อีกครั้งหนึ่งขณะท่านเป็นที่พระเทพกวี ได้เข้าไปเทศน์ถวายสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่พอพระราชหฤทัย จึงทรงไล่ลงจากธรรมาสน์ ไปให้พ้นพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้า ไปให้พ้น
พระเทพกวีออกจากวัง เข้าไปนอนในโบสถ์วัดระฆังออกไม่ได้นาน ใช้บิณฑบาตรบนโบสถ์ลงดินไม่ได้ เกรงผิดพระบรมราชโองการ ครั้นถึงคราวถวายพระกฐินเสด็จมาพบเข้า
รับสั่งว่า อ้าวไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ทำไมยังขืนอยู่อีกเล่า
ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาตมภาพอาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันมีพระบรมราชโองการ อาตมภาพไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย
ก็กินข้าวที่ไหน ไปถาน ถานที่ไหน
ขอถวายพระพร บิณฑบาตรบนโบสถ์นี้ฉัน ถานในกระโถน เทวดาคนนำไปลอยน้ำ
รับสั่งว่า โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาสยามหรือ
ถวายพระพร โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงขอโทษ ครั้นถวายกฐินเสร็จแล้ว รับสั่งให้อยู่ในราชอาณาจักรสยามได้ แต่วันนี้เป็นต้นไป
ต่อมาอีก เมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว ทรงสถาปนาพระเทพกวี (โต) เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ คราวหนึ่งนักองค์ด้วง เจ้าแผ่นดินเขมร กลุ้มพระหฤทัย จึงมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จึงมีพระบรมราชโองการให้เผดียง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ออกไปแสดงธรรมโปรดนักองค์ด้วง ณ เมืองเขมร
คราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึงกับบ่นที่วัดระฆังว่า
สมเด็จพระนั่งเกล้าก็ไม่ใช่โง่ แต่ว่าใช้ขรัวโตไม่ได้ สมเด็จพระจอมเกล้าฉลาดว่องไว กลับมาได้ใช้ขรัวโต ฯ
ครั้นถึงวันกำหนด ท่านก็พาพระถานา ๔ รูป ไปลงเรือสยามูปสดัมภ์ เจ้าพนักงานไปส่งถึงเมืองจันทบุรี แล้วขึ้นเกวียนไปทางเมืองตราด
ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งแขวงเมืองตราดนั้น เป็นตำบลที่มีเสือชุมมาก มันเผ่นเข้าขวางหน้าเกวียน เวลารอน ๆ จวนค่ำ คนหน้าเกวียนจดพลองเล่นตีกับเสือ เจ้าเสือแยกเขี้ยวหื้อใส่รุกขนาบ คนถือพลองถอยหลังทุกที จนถึงหน้าเกวียนสมเด็จ
คนหน้าเกวียนยกเท้ายันคนถือพลองไว้ไม่ให้ถอย ฯ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเห็นเสือมีอำนาจดุมาก ท่านจึงว่า
เสือเขาจะธุระฉันคนเดียวดอกจ้ะ ฉันจะพูดจาขอทุเลาเสือสักคืนในที่นี้
ครั้นแล้วท่านก็ลง ส่งเกวียนส่งคนให้ไปคอยอยู่ข้างหน้า ท่านก็นอนขวางทางเสือเสีย เสือก็นั่งเฝ้าท่านคืนหนึ่ง เสือก็ไปไหนไม่ได้ จะไปไล่คนอื่นก็ไปไม่ได้ ต้องเฝ้ายามสมเด็จยันรุ่ง
ครั้นเวลาเช้าท่านเชิญเสือให้กลับไป แล้วท่านลาเสือว่า
ฉันลาก่อนจ้ะ เพราะมีราชกิจใช้ให้ไปจ้ะ
ว่าแล้วท่านก็เดินตามเกวียนไปทันกัน แล้วท่านเล่าให้พระครูปลัดฟัง (พระครูปลัดคือพระธรรมถาวรเดี๋ยวนี้) พวกครัวก็หุงต้มเลี้ยงท่าน เลี้ยงกันเสร็จแล้วก็นิมนต์สมเด็จขึ้นเกวียนคนลาก ท่านไม่ชอบวัวควายเทียมเกวียน
ในครั้งนี้เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เดินทางไปถึงเมืองพระตะบองแล้ว ก็ได้เทศน์ให้นักองค์ด้วง เจ้านายฝ่ายเขมร และเจ้าพระยา พ่อค้าคฤหบดีเขมรทั้งปวง เข้าใจถึงพระมหากรุณาธิคุณของกรุงสยาม ด้วยเชื่อมกับสาสนปสาสน์ และพระรัฏฐะปสาสน์ ให้กลมเกลียวกลืนกัน เทศน์ให้ยืดโยงหยั่งถึงกัน
ชักเอาเหตุผลตามชาดกต่าง ๆ พระสูตรต่าง ๆ ทางพระวินัยต่าง ๆ อานิสงส์สันติภาพ และอานิสงส์สามัคคีธรรม นำมาปรุงเป็นเทศนากัณฑ์หนึ่ง
ครั้นจบลงแล้วนักองค์จันทร์มารดานักองค์ด้วง ได้สละราชบุตร ราชธิดา บูชาธรรม และสักการะด้วยแก้วแหวนเงินทองผ้าผ่อน และชัชชะโภชาหารตระการต่าง ๆ เขมรนอกนั้นก็เลื่อมใส เห็นจริงตามเทศนาของสมเด็จทุกคน และต่างก็เกิดความเลื่อมใสในองค์เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงได้ฝากนางธิดากุมารีไว้กับมารดาเจ้านักองค์ด้วง รับมาแต่เจ้ากุมารชายคนเดียว นักองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมรจึงจัดการส่งสมเด็จ มีเกวียนส่งเข้ามาจนถึงเมืองตราด
เจ้าเมืองตราดจัดเกวียนส่งมาถึงเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีจัดเรือใบเรือเสาส่งมาถึงกรุงเทพมหานคร จอดหน้าวัดระฆังทีเดียว
บางครั้งเวลาจำวัดอยู่กุฏิของท่านที่วัดระฆังนั้น เจ้าขโมยเจาะพื้นกุฏิล้วงเอาข้าวของที่วางเกลื่อนไว้ เจ้าขโมยล้วงไม่ถึง ท่านก็ช่วยเอาไม้เขี่ยของนั้น ๆ เข้าไปให้ใกล้มือขโมย
เจ้าขโมยลักเข็นเรือใต้ถุนกุฏิ ท่านก็เปิดหน้าต่างสอนขโมยว่า
เข็นเบา ๆ หน่อยจ้ะ ถ้าดังไปพระท่านได้ยินเข้า ท่านจะตีเอาเจ็บเปล่าจ้ะ เข็นเรือบนแห้งเขาต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อนจ้ะ ถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วจ้ะ
เลยเจ้าขโมยเกรงใจไม่เข็นต่อไป
เกล็ดฝอยในเรื่องอภินิหารของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตารามนั้น ยังมีอีกมากมาย ที่นำมาเล่านี้เป็นส่วนน้อยเท่านั้น
ท่านผู้เรียบเรียง และผู้จัดพิมพ์ ได้สรุปไว้ว่า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์โน้น ท่านเป็นสัปปุรุษเที่ยงแท้ผู้หนึ่ง เพราะตั้งแต่ต้นจนปลายท่านมิได้เบียฬตน และเบียฬผู้อื่นให้ได้ความทุกข์ยากลำบากเลย แม้สักคนเดียว ตั้งแต่เกิดมาเห็นโลก จนตลอดวันมรณภาพ
จนถึงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ก็ยังมีพระโตตั้งไว้ให้เป็นที่ไหว้ที่บูชา แก่บรรดาพุทธศาสนิกชน คนทุกชั้นได้รำพรรณ นับถือไม่รู้วาย.
###########
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
4 ก.พ. 49 05:39:54
]