CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เรื่อง(น่ารู้)ที่ควรรู้

    เรื่อง(น่ารู้)ที่ควรรู้

    เรื่องของกรรม

                       เราคงจะได้ยินคำว่า เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
    เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และเราจักเป็นผู้ได้รับผลของกรรม ไม่ว่าจะดีหรือร้าย

    เพราะคำว่ากรรมนั้นเป็นคำกลาง ๆ

    กรรมดีเรียกว่า กุศลกรรม
    กรรมไม่ดีเรียกว่า อกุศลกรรม

    และยังมีกรรมที่ไม่ดีไม่ชั่วอีกด้วย เรียกเป็นภาษาบาลี
    ว่าอย่างไรก็จำไม่ได้ ยังไม่มีเวลาค้น แต่ก็ไม่เกี่ยวกับเราในเรื่องนี้

    เราคงจะได้ยินสำนวนที่ว่า บุคคลย่อมเป็นไปตามกรรม

    เคยมีผู้ตั้งคำถามว่า คนเราเกิดมาทำไม

    ผมว่าเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม

    กรรมเก่าแต่ชาติก่อน เป็นทุนให้เราได้เกิดมาในชาตินี้

    และเราก็ทำกรรมต่อไปในชาตินี้ เพื่อเป็นทุนไว้ชาติหน้า

    เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำแต่กรรมดี เพื่อเป็นทุนที่ดี

                      เมื่อผลของกรรมเก่าส่งมาถึงบุคคลผู้กระทำ ในชาตินี้ จึงทำให้เกิดการจำแนกบุคคลนั้น ๆ ให้แตกต่างกันมาตั้งแต่เกิด เช่น

    ผู้ที่ชอบฆ่าสัตว์ เมื่อเกิดมาจะอายุสั้น
    ผู้รักษาศีลปานาติบาต เมื่อเกิดมาจะอายุยืน

    ผู้ที่ชอบเบียดเบียนสัตว์ ทำร้ายคนอื่นสัตว์อื่น ให้เดือดร้อนทรมาน เจ็บป่วย
    เมื่อเกิดมาจะมีโรคภัยเบียดเบียน
    ผู้ที่ใจบุญ ชอบช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับความทุกข์
    เมื่อเกิดมาจะมีสุขภาพดี

    ผู้ที่มีความโกรธเป็นเจ้าเรือน เมื่อเกิดมาจะมีรูปร่างไม่สวยงาม  
    ผู้ที่มีเมตตากรุณา เมื่อเกิดมาจะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม

    ผู้ที่ชอบอิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่อยากเห็นผู้อื่นได้ดี
    เมื่อเกิดมาจะมีวาสนาน้อย มียศบรรดาศักดิ์ต่ำ
    ผู้มีมุทิตาพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่อิจฉาริษยา
    เมื่อเกิดมาจะมีวาสนาสูง มีบรรดาศักดิ์สูง

    ผู้ที่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เมื่อเกิดมาจะยากจน
    ผู้ที่มีใจโอบอ้อมอารี ชอบบริจาคทาน
    เมื่อเกิดมาจะเป็นคนร่ำรวยเงินทอง

    ผู้ที่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ เป็นคนแข็งกระด้าง
    เมื่อเกิดมาจะอยู่ในสกุลต่ำ
    ผู้ที่อ่อนน้อมอ่อนโยนต่อผู้ใหญ่ เมื่อเกิดมาจะอยู่ในสกุลสูง

    ผู้ที่ไม่ชอบศึกษาหาความรู้ เมื่อเกิดมาจะเป็นคนโง่
    ผู้ที่สนใจใฝ่การศึกษาหาความรู้ เมื่อเกิดมาจะเป็นคนมีปัญญาดี เฉลียวฉลาด


                       ในที่สุดก็สรุปได้ว่า บุคคลที่อยู่ในกฎแห่งกรรม อันได้เกิดมาจากกรรมเก่า และได้กระทำกรรมในปัจจุบัน ไม่ว่ากรรมดี หรือกรรมชั่ว  ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะได้รับผลของกรรมนั้นทุกคน ไม่มียกเว้น แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

    ประเภทที่ ๑ คนที่มามืดไปมืด เมื่อเกิดอยู่ในตระกูลต่ำ ที่อยู่อาศัยทุรกันดาร อาหารการกินฝืดเคือง ยากจน เป็นคนพิการ หรือโง่เง่า เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ทำแต่ความชั่ว ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ตายไปก็ได้แต่ทุคติ

    ประเภทที่ ๒ คนที่มามืดไปสว่าง มีลักษณะที่เรียกว่าต้นคดปลายตรง แม้เมื่อเกิดจะมีความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ นา ๆ แต่เมื่อรู้ว่าตนเกิดมาต่ำ ก็เร่งทำความดี มีความขยันหมั่นเพียร ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ให้พ้นจากความทุกข์ ตายไปก็มีทางที่จะไปสู่สุคติได้

    ประเภทที่ ๓ มาสว่างไปมืด มีลักษณะที่เรียกว่าต้นตรงปลายคด  เมื่อเกิดมานั้นมีแต่ความสมบูรณ์พูนสุข ทั้งตระกูลสูง ร่างกายแข็งแรงสวยงามมียศมีทรัพย์ แต่ใช้ชีวิตอย่างลืมตัว มัวเมาอยู่ในความชั่วต่าง ๆ ไม่สนใจที่จะกระทำความดีให้เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ตายไปก็จะได้แต่ทุคติ

    ประเภทที่ ๔ มาสว่างไปสว่าง บุคคลประเภทนี้ เมื่อเกิดมาก็มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการทั้งชาติกำเนิด ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ และสติปัญญา ทั้งได้ใช้ชีวิตในการกระทำความดี ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น มีความเสียสละเพื่อส่วนรวมอยู่ตลอดชีวิต อย่างนี้นับว่าเป็นบุคคลที่เลิศที่สุด ตายแล้วต้องไปสู่สุคติอย่างเที่ยงแท้แน่นอน                      

                       บุคคลทั้ง ๔ ประเภทนี้ ล้วนแต่มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเชื้อสาย มีกรรมเป็นที่อาศัยในการดำเนินชีวิต และได้รับผลของกรรมนั้นตลอดเวลา ทั้งอดีต และปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต ไม่มีใครหลีกเลี่ยงพ้น ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา  จนถึงเวลาสิ้นสุดลมหายใจ

                        การเชื่อกฎแห่งกรรมจึงทำให้มนุษย์มีสติปัญญาที่จะสร้างกรรมให้เกิดเป็นผลดีแก่ตนเองได้ โดยหลีกเลี่ยงอกุศลกรรม และกระทำแต่กุศลกรรม

    ทั้งนี้ถ้าได้ทำอย่างสม่ำเสมอ กรรมดีนั้นก็จะมีมากกว่ากรรมชั่ว และให้ผลก่อนกรรมชั่ว อยู่ตลอดเวลา และสามารถแก้ไขความทุกข์ให้เบาบางลงได้

    ประดุจยาพิษอันร้ายแรง แต่เมื่อผสมด้วยน้ำเป็นจำนวนมาก ก็จะเจือจางลงจนพิษนั้นค่อยอ่อนลง และไม่อาจทำอันตรายแก่เราได้

    ความรู้เรื่อง  กรรม  ซึ่งได้ศึกษามาจากที่ต่าง ๆ พอจะประมวลลงได้  ด้วยความรู้ อันน้อยนิด ก็ยุติลงเพียงเท่านี้.

    ##########
    ส่วนใหญ่มาจากหนังสือเรื่อง
    กฎแห่งกรรม
    โดย พระศรีวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณโณ)  ป.ธ.๙, ศน.บ., M.A.  
    วัดโสมนัสวิหาร  .

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 23 พ.ค. 49 09:40:22 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป