CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ป่ากลางกรุง (๒) (บันทึกของคนเดินเท้า)

    บันทึกของคนเดินเท้า

    ป่ากลางกรุง (๒)


    เมื่อวันเข้าพรรษาปีก่อน เพื่อน ๆ ในถนนนักเขียน ได้นัดไปทำบุญร่วมกัน ที่วัดปทุมวนาราม มีผู้ไปร่วมบุญเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีการเอาภาพถ่ายมาอวด ในกระทู้ของถนนนักเขียนให้เป็นที่ชื่นชมของผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ไปด้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมสนใจวัดนี้ ทั้ง ๆ ที่เคยผ่านไปมานานหนักหนาแล้ว

    มาถึงปี ๒๕๔๙ นี้ นึกว่าจะมีการนัดพบร่วมทำบุญแบบนี้อีก แต่ก็ไม่มีผู้ใดริเริ่มขึ้น หรือผมไม่ทราบก็ได้ แต่ก็เห็นเงียบอยู่ ผมจึงพยายามไปทำความรู้จักด้วยตนเอง เพราะปกติผมก็ไปทำบุญที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด นนทบุรี เป็นประจำทุกวันอาทิตย์อยู่แล้ว

    ผมทราบว่าวัดนี้อยู่ตรงข้ามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริมคลองเล็ก ๆ ที่พุ่งออกไปเชื่อมกับคลองแสนแสบทางทิศเหนือ ถนนที่ผ่านหน้าวัดคือถนนพระราม ๑ ตรงนั้นเดิมมีสะพานเล็ก ๆ ข้ามคลอง สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ชื่อสะพานเฉลิมเผ่า สมัยที่กรมตำรวจมีอธิบดีชื่อ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังมีคนเข้าใจว่าท่านเป็นผู้สร้างด้วยซ้ำไป เดี๋ยวนี้สะพานนั้นไม่มีร่องรอยเหลืออยู่แล้ว

    เมื่อวันเข้าพรรษา ผมขึ้นรถปรับอากาศสาย ๕๐๕ จากหน้าวชิรพยาบาลไปลงที่โรงพยาบาลตำรวจ ถนนราชดำริ แล้วก็เดินเลาะเลี้ยวมาตามถนนพระราม ๑ จนถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นประตูวัดอยู่ตรงกันข้าม จึงหาทางขึ้นสะพานลอยไปลงฝั่งตรงข้าม แล้วก็เข้าไปสำรวจในวัดอย่างคร่าว ๆ เพราะเพิ่งเหยียบย่างเข้ามาเป็นครั้งแรกในชีวิต

    เมื่อผ่านประตูโบสถ์ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ก็เข้าไปทำความเคารพอยู่หน้าโบสถ์ เพราะผมไม่สามารถเข้าไปคุกเข่ากราบพระประธานในโบสถ์ได้ เนื่องจากกระดูกเข่าข้อเท้าและสะโพกเสื่อมสภาพไปตามวัย แม้แต่จะนั่งพับเพียบเกินกว่าห้านาทีก็ไม่ไหว เดินตรงต่อไปทางทิศเหนือ ก็เป็นสวนป่าขนาดค่อนข้างใหญ่ มีต้นไม้ร่มครึ้ม ทางซ้ายมีศาลากว้างใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุให้พุทธศาสนิกชน เคารพกราบไหว้บูชา

    ต้นไม้ที่เห็นขึ้นหนาแน่นทั้งสองข้างทางนี้ สังเกตว่าน่าจะมีอายุยืนยาวมานาน เพราะมีลำต้นใหญ่และงอกพันเกาะเกี่ยวกันไปมา และด้านบนนั้นส่วนใบของไม้แต่ละชนิด ก็ทับซ้อนกันจนเหมือนมีหลังคาคลุมอยู่ตลอดทางที่เดินผ่าน

    ต่อไปอีกหน่อยทางขวาก็เป็นสวนป่าโปร่ง มีต้นไม้ไม่ค่อยโต แต่สูงชะลูดเบียดเสียดใกล้ชิดกันมากมาย จนแดดไม่สามารถส่องทะลุลงมาถึงพื้นดินได้  ทั่วบริเวณนั้นมีพระพุทธรูป และรูปเหมือนของพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเรียงรายอยู่หลายองค์ กับมีลูกนิมิตให้ปิดทอง  สำหรับนำไปถวายวัดในอินเดีย

    วันนั้นเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา จึงมีผู้คนคลาคล่ำทั่วบริเวณที่เล่ามาทั้งหมด  ผมจึง ค่อย ๆ ถอยออกมาจากบริเวณวัด

    เมื่อขึ้นสะพานลอยแล้วจึงหันไปสำรวจบริเวณของวัดอีกครั้งหนึ่ง จึงพบว่า วัดนี้ล้อมรอบไปด้วยตึกสมัยใหม่ทั้งใหญ่ทั้งสูงแหงนคอตั้งบ่า ประกบไว้ทั้งสามด้าน สน่วนด้านหน้าวัดก็คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายที่ตรงไปถึงปลายทางที่ซอยอ่อนนุช พระโขนง

    น่าประหลาดที่สามารถดำรงความมั่นคงอยู่ได้ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ขัดต่อความสงบอย่างยิ่งรอบ ๆ บริเวณนั้น ผมจึงกลับมาเขียนกลอนบทที่มีชื่อว่า ป่ากลางกรุง มีความว่า


    วันอาสาฬหบูชารัตนตรัย
    มีครบถ้วนตามนัยได้เห็นโฉม
    ทั้งพระพุทธ ธรรม สงฆ์ด้วย ช่วยประโลม
    ให้น้อมโน้มเอาธรรมะประดับใจ

    อังคารแวะวัดปทุมวนาราม
    เพื่อนกล่าวนามแต่ปีก่อนตอนเกิดใหม่
    ทำบุญเข้าพรรษาด่วนชวนกันไป
    แล้วถ่ายรูปเก็บไว้ตั้งมากมาย

    วัดอยู่กลางตึกใหญ่เรียงรายรอบ
    ไม่เห็นขอบพัทธสีมาน่าใจหาย
    ต้องดุ่มด้นเที่ยวหาพระแทบจะตาย
    แต่สุดท้ายเจอป่ากว้างที่กลางกรุง

    ไหว้พระธาตุ หล่อเทียน เวียนบรรจบ
    ปิดทองลูกนิมิตนบดังใจมุ่ง
    สังฆทานถวายวัดจัดบำรุง  
    เดินออกมาหายยุ่งเลิกหมองมัว

    แล้วผมก็ถือโอกาสไปสำรวจวัดปทุมวนาราม  ในอาทิตย์ต่อมาด้วยความศรัทธา จึงได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติม จากแผ่นพับที่ทางวัดพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งขอคัดลอกเอามาเสนอให้เพื่อน ๆ ที่สนใจ ได้หาโอกาสไปทำบุญที่วัดนี้บ้าง

    วัดปทุมวนารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บริเวณตำบลปทุมวันนี้ก่อนที่จะได้กลายเป็นแหล่งชุมชนที่หนาแน่น ศูนย์ราชการ สำนักงานธุรกิจการค้าที่สำคัญ เช่นในปัจจุบันนี้

    สมัยก่อนเมื่อประมาณร้อยกว่าปี ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ พื้นที่บริเวณนี้ตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งนาหลวง ซึ่งอยู่ริมคลองบางกะปิในพื้นที่ทุ่งพญาไท ซึ่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี และมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวไทยล้านช้าง ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมพฺสมภาร โดยยึดอาชีพทำนาอยู่ตามริมคลองแสนแสบ

    ลุล่วงถึงปีพุทธศักราช ๒๓๙๖ พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชประสงค์จะทำที่แห่งนั้น ให้เป็นรมณียสถานนอกพระนคร สร้างสระบัวอันงดงามไว้ เพื่อเป็นที่เสด็จประพาสสำราญพระราชหฤทัย ในยามว่างเว้นจากพระราชกิจ ซึ่งปรากฏความในพระราชพงศาวดารมีใจความว่า

    ในเดือนอ้ายนั้นแล้ว ทรงพระราชดำริว่าท้องนาที่หลวงอยู่ในคลองบางกะปิแห่งหนึ่ง จะทำเป็นสระบัวปลูกบัวต่าง ๆ ไว้ชมเล่น จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาพระองค์น้อย เป็นแม่กอง พระยาสามภพพ่ายเป็นนายงาน จ้างจีนขุดสระบัวให้เป็นเกาะน้อยเกาะใหญ่ลดเลี้ยวกันไป ถ้าที่ไม่พอก็ให้ซื้อราษฎรต่อไปอีก สมเด็จเจ้าพระยาพระองค์น้อย พระยาสามภพพ่าย ทำพระที่นั่งที่ประทับแรมองค์หนึ่ง ทำพลับพลาโรงละคร ที่เจ้าจอมอาศัย โรงครัวข้างในและโรงครัวเลี้ยงขุนนาง ข้างหน้าชักกำแพงล้อมรอบเป็นเขตข้างหน้าข้างใน

    ฝ่ายทิศใต้ให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งประทานชื่อวัด “ปทุมวนาราม” นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกาไปอยู่ เจ้าอธิการชื่อ “พระครูปทุมธรรมธาดา” แล้วขุดสระใหญ่มีเกาะน้อยใหญ่  ในกลางสระนั้นปลูกบัวต่าง ๆ  บนเกาะปลูกผักต่าง ๆ พรรณดอกไม้ต่าง ๆ ถึงหน้าฤดูแล้งเดือนยี่ข้างขึ้น ให้ไขน้ำไปไว้เปี่ยมสระ เสด็จมาประทับแรมอยู่สองราตรีบ้าง สามราตรีบ้าง ให้พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายในลงเรือพาย เก็บดอกบัวพรรณดอกไม้และพรรณผักต่าง ๆ เล่นเป็นการสนุก

    เวลาเช้านิมนต์พระราชาคณะลงเรือสำปั้นน้อย พายเข้าไปรับบิณฑบาตร เวลาค่ำก็ให้มีผ้าป่า และให้เรือข้าราชการเข้าไปเล่นเพลงสักรวา ดอกสร้อย และมีละครข้างในที่พระราชวังนั้น ทรงดั่งนี้ทุก ๆ ปี

    เป็นอันว่าการสร้างวังสระปทุมและวัดปทุมวนารามนั้น ได้เสร็จสิ้นลงในปลายปีพุทธศักราช ๒๔๐๐ เผอิญสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงสิ้นพระชนม์ลง และประจวบกับเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ เกี่ยวกับบ้านเมืองหลายด้านด้วยกัน งานฉลองวัดปทุมวนารามจึงเป็นอันงดไป มิได้ทรงกระทำในครั้งนั้น

    เวลาได้ล่วงเลยถึงปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดงานฉลองวัดปทุมวนารามขึ้นอย่างมโหฬาร เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑ ปีเถาะ

    นับตั้งแต่ได้สร้างวัดแล้วเสร็จ และมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๐๐ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ ๑๕๐ ปี มีเจ้าอาวาสปกครองวัดจำนวน ๘ รูป

    ปัจจุบันคือ พระเทพปัญญามุนี (อมร ญาโนทโย)

    ภายในวัดมีกิจกรรมมากมายให้สาธุชนได้ร่วมบำเพ็ญกุศลตามอัธยาศัย  ทั้งวันพระ  ทุก ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ รวมทั้งวันสำคัญทางพุทธศาสนาด้วย ส่วนวันอาทิตย์ก็มีประชาชน ใช้เวลาว่างไปชมทัศนียภาพของวัด และร่วมบำเพ็ญกุศลเป็นจำนวนมาก ทางวัดเชิญชวนไว้ว่า

    ปทุมมาลย์บานสล้างเด่นกลางสระ
    จิตพุทธะเบิกบานคู่รู้ตื่นใส
    จะพบแก้วกลางบัวบานที่ฐานใจ
    หนทางในถิ่นสมถะที่สระปทุม

    มาเถิดมาที่นี้                            นานเนา
    สระปทุมวัดเก่า                       กษัตริย์สร้าง
    ชำระสระสนานเกลา             กองกิเลส
    สบสุขสร่างทุกข์ร้าง               สงบแท้สระปทุม.

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 24 ก.ค. 49 06:08:34 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com