ที่มา : สกุลไทยออนไลน์ ฉบับที่ 2702 ปีที่ 52 ประจำวัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2549
http://www.sakulthai.com
--------------------------------------------------
อนาคตของภาษาไทย : คำพยากรณ์จากครูภาษาไทย
โดย ไพลิน รุ้งรัตน์
คนรุ่นใหม่รู้ไม่พอ
ทางฝ่าย คุณประยอม ซองทอง ซึ่งอภิปรายทีหลัง และเห็นว่าได้ถูกแย่งยกตัวอย่างไปมากแล้ว เสริมว่า
ผมเห็นด้วยว่าการมีเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้เรามีคำใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย แม้จะประชุมกันหลายปีมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถบัญญัติคำใหม่ๆได้ทัน นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องความรู้ไม่พอของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้เกิดการเขียนผิด เช่น คำว่า คลิก เขาก็จะพยายามใส่ไม้ตรีลงไปอีก หรือคำว่า นะ คำว่า คะ ก็มักจะเขียนไม่ถูก ไม่รู้จะใส่ไม้เอกตรงไหน คะ หรือค่ะ คำรับก็จะเป็น คะ คำถามก็จะเป็นค่ะ พูดง่ายๆก็คือ เขายังผันอักษรไม่เป็น ผมว่าครูภาษาไทยก็คงต้องทำงานหนักมาก และนักเรียนก็มีเรื่องที่จะต้องเรียนมาก
ภาษาไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก แต่ที่ไม่เปลี่ยนเลยคือ ความผิดซ้ำซาก อย่างเช่น คำว่า ให้กับ อาจารย์อำพล สุวรรณธาดา เพื่อนผมบอกว่า เดี๋ยวนี้คนไทย ติดกับ ชอบพูดว่า ให้กับ (แล้วไม่ให้ข้าว) เช่น อาจารย์ใหญ่มอบเสื้อสามารถให้กับครูพละ ความจริงบางทีมันไม่ต้องมีบุพบทก็ได้ อาจารย์ใหญ่มอบเสื้อมาสามารถให้ครูพละไปมอบให้นักกีฬาฯ หรืออย่างเพลงบุพเพสันนิวาส ก็ตรงที่ว่า ทั้งยังดลเธอให้กับฉัน หรือเพลงจากยอดดอย ก็มี ฟ้าคงมีพรชัยให้กับเรา คือผมชอบกลอนในเพลงจากยอดดอย แต่พอถึงวรรคสุดท้าย หัวใจหล่นไปเลย คนรุ่นนี้เขาเข้าใจว่า ให้กับ เป็นคำที่ถูกต้องทั้งนั้น เขามอบของให้กับตำรวจ หรือ ถ้าไม่เห็นกับเขาก็จงเห็นกับฉัน ที่จริงมันต้อง ถ้าไม่เห็นแก่เขาก็จงเห็นแก่ฉัน กลายเป็นคนละความหมายนะ หรือว่า เรื่องนี้ได้กับตัวผมเอง ความจริงมันต้อง เรื่องนี้ได้แก่ตัวผมเอง
นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนทยอยเข้าแจ้งความกับคมชัดลึก ฟังแล้วเหมือนคมชัดลึกไปแจ้งความด้วย แต่ที่แท้เป็นการไปแจ้งความต่อตำรวจ
ส่วนอีกคำหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีปัญหามากก็คือคำว่า ภาพพจน์ คนส่วนใหญ่ตั้งใจจะพูดถึง อิเมจ (image) ของคน ที่จริงต้องใช้คำว่า ภาพลักษณ์ เพราะภาพพจน์มันเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า figure of speech ซึ่งเป็นศัพท์ทางวรรณคดี เป็นการเล่นสำนวนโวหาร
ส่วนอีกคำหนึ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ประสบการณ์ ซึ่งหลายคนก็ยังเผลอเรียกว่า ประสบการณ์ โดยออกเสียง ประ ตรงกลาง ว่า ประสบ พะ กาน
หรือคำว่าที่ใช้ผิดกันอยู่เป็นประจำคือคำว่า "ทำการ" ซึ่งเมื่อก่อนผิดกันมาก ปัจจุบันน้อยลงแต่มีคำว่า มีการ แทน
หรือบางทีก็พูดวลีบางวลีไว้ก่อน โดยไม่มีความหมาย หรือไม่จำเป็นต้องพูด เช่น ในส่วนของ เรื่องของ
หรือการใช้ลักษณะนาม ก็เปลี่ยนไป มักใช้ตามแบบภาษาอังกฤษ เช่น ๑๓๒ คนไทย ๒๔ ชนิดกีฬา
หรือบางทีก็ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่ใช้แบบผิดๆ เช่น นายกรัฐมนตรีพูดว่าต้องไปเอกซเรย์พื้นที่ทุกพื้นที่
อีกประเภทหนึ่งที่ผมเห็นว่า ใช้ผิดกันมากๆก็คือ การใช้ราชาศัพท์ในบทละคร คือผู้สร้างละคร ไม่รู้ การทำละครย้อนยุคควรจะต้องมีที่ปรึกษา ม.จ.สององค์ที่ต้องใช้ราชาศัพท์ด้วยกันทั้งคู่กลับคุยกันโดยใช้สรรพนามแทนตัวเองว่าผม และลงท้ายว่า "ครับ" สิ่งเหล่านี้แสดงว่าผู้เขียนบทไม่มีความรู้เรื่องราชาศัพท์เลย
หรือคำราชาศัพท์คำว่า "ทรง" ใช้ผิดกันมากที่สุดเลย ทรงม้า ทรงรถ ทรงเรือ ทรงธรรม อย่างนี้ใช้ทรง หรือทรงฟัง ทรงยินดี แต่คำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ใช้ ทรง ไม่ทรงเสด็จ ไม่ทรงพระราชทาน
หรือคำว่าขอบใจ เจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่กว่าจะใช้กับเจ้านายที่เสมอกัน หรืออาวุโสหรือศักดิ์ต่ำกว่า ให้ใช้คำว่า ขอบพระทัย พระเจ้าอยู่หัวทรงขอบพระทัย เจ้านาย แต่พระบรมวงศ์ทั้งหลายจะไปขอบพระทัยพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ ต้องเลี่ยงใช้คำอื่นไป หรือไม่ก็เฉยๆ
นอกจากราชาศัพท์แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่สบายใจมากก็คือ การเขียนคำประพันธ์โดยใช้ฉันทลักษณ์ แต่ใช้ผิดๆ เขียนเป็นโคลง แต่สัมผัสเป็นกลอน หรือเขียนๆไปก็ไม่มีสัมผัส หรือบางทีก็มีคำเยอะแยะมาก หรือยังลงท้ายผิดๆ..
อนาคตของภาษาไทย
ในที่สุดก็มาถึง การพยากรณ์ ในฐานะที่เคยเป็นหรือกำลังเป็นครูภาษาไทย ซึ่งมองเห็นอนาคตอันไม่สู้สดใสนัก หากพิจารณาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปของภาษา
ต้องแก้ที่สำนึกครูภาษาไทย
คุณหญิงกุลทรัพย์ย้ำว่า
ถ้าเรามีความสำนึกว่าเรามีภาษาไทยเป็นของเราเอง นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่สุดแล้ว เราก็ต้องรักษาภาษาของเราไว้ ถ้าเราสำนึกเพียงเท่านี้ เราก็จะใฝ่หาความรู้ ที่เขาใช้ผิดมากก็เพราะเขาขาดความรู้
อนาคตเป็นสิ่งที่น่าห่วงใย ดิฉันก็เรียนแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสมาเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังผิดอยู่ และก็ผิดมากขึ้นไปอีก สิ่งที่พระองค์ท่านห่วงใย มีผู้พยายามแก้ไข มีการตื่นตัวจริง เราไม่ปฏิเสธว่ายังมีคนที่รักในภาษาไทย ยังสำนึกในภาษาไทย แต่เราก็ยังต้านทานกำลังแรงหรือพายุที่โหมลงมาด้วยการรับเอาวัฒนธรรมต่างประเทศที่มีปัจจัยอะไรหลายอย่างที่มาทำให้ภาษาไทยเสียไปไม่ได้ แต่อย่างไรเราก็อย่าเพิ่งท้อ เพราะเราท้อไม่ได้ เนื่องจากภาษาเป็นทรัพย์สินหรือเป็นปัญญาของชาติ เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมที่ล้ำเลิศของชาติ เราไม่มีแผ่นดิน เราก็ยังเป็นชาติไทยอยู่ได้ ถ้าเรามีภาษา มีวัฒนธรรม เหมือนมอญ ยังมีชาติอยู่ แม้ว่าจะไม่มีแผ่นดิน ไทยเราก็ต้องสำนึกอย่างนี้ ตอนนี้เรายังมีแผ่นดินอยู่ ภาษาเราก็ต้องรักษา บรรพบุรุษอุตส่าห์สร้างไว้ให้เราตั้ง ๗๐๐ ปี เราจะทำอย่างไร สูญแผ่นดินยังไม่เท่าไร แต่สูญภาษานี่คือสูญชาติ การรักภาษาคือการรักษาชาติ
คนแต่ละคนจะช่วยกันรักษาก็ดีแล้ว แต่มันไม่พอ เพราะเราต้องพิจารณาที่ครู การศึกษาทางด้านภาษาไทยนี่ ถ้าล้มเหลวก็ล้มเหลวเพราะครู อย่างราชาศัพท์นี่เป็นเรื่องต้องเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้เราต้องเรียน หรือที่บอกว่า ครูสอนวิชาอะไรไม่ได้ ให้เอามาสอนภาษาไทย กรณีอย่างนี้ดิฉันถือว่าเลวร้ายจริงๆ เพราะจะทำให้บ้านเมืองเราพังพินาศ สูญชาติกันก็ตรงนี้ ครูมาสอนภาษาไทยก็ต้องรู้ภาษาไทย และต้องมีสำนึกรักในความเป็นภาษาไทย ความเป็นชาติ ปัญหานี้เขามีการวิเคราะห์ไว้แล้ว เยาวชนเขาบอกว่าเขาไม่อยากเรียนภาษาไทยเพราะเขาบอกว่า เขาเบื่อเนื้อหามันล้าสมัย ครูก็เชย สอนไม่สนุก อันนี้เป็นความผิดของครูนะคะ วรรณคดีนั้นไม่เชยเลย ไม่ล้าสมัยเลย ล้ำเลิศ เพราะเป็นการทำระเบียบของภาษาให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การใช้ภาษาธรรมดาด้วย ตัวอย่าง เช่น ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง พูดแค่ไม่กี่คำนี้ก็ได้ความไปตั้งหลายกิโลเมตร ใครทำได้ ก็คือกวี แล้วเราบอกว่า เชย ความจริงแล้วไม่ใช่ ตัวของมันเองไม่เชย เหมือนเราบอกว่า อู๊ย ศาสนาเสื่อม ความจริงศาสนาไม่เสื่อมเลย คนเสื่อมต่างหาก เพราะฉะนั้นเราต้องสำนึกนะคะ ใช้ผิดแล้วก็อย่าโทษคนผิดด้วย แล้วจะมากล่าวโทษว่าเพราะครูสอนให้ท่องจำ อาขยานน่ะให้ท่องจำจริง แต่เราต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า ท่องจำทำไม ท่องจำเพราะมันมีกฎเกณฑ์ของระเบียบภาษาอยู่ในนั้น ดิฉันนี่นะคะ ถ้าได้รับการยอมรับว่าเป็นกวี ก็ถือว่าได้มาจากอาขยาน เพราะเราท่องอาขยาน เราจึงรู้ฉันทลักษณ์ของกลอนของโคลง แล้วเราก็จะเอาแบบแผนนั้นมาใช้ เด็กๆ เราไม่รู้ฉันทลักษณ์หรอก เราก็แต่งตามไป เด็กบอกว่า รู้สึกว่าวรรณคดีมีคุณค่าแต่มองไม่เห็น อ๋อ แน่นอน มันเห็นไม่ได้หรอกค่ะ เพราะมันเป็นนามธรรม มันไม่ใช่รูปธรรม เราต้องศึกษา เหมือนพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อตาม เราต้องศึกษาเอง รู้แจ้งเห็นจริงเอง ถ้าไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่ลงไปลึกซึ้ง ภาษาไทยก็เช่นกัน เราต้องเรียนรู้เหมือนกัน ตำรับตำราก็มี ครูเขาก็สอนแล้ว ไม่ศึกษาเอง คำแปดคำกินความไปได้ตั้งห้าสิบกิโลเมตร ก็ไม่ศึกษาเอง โง่แล้วก็ยังไปโทษว่า มันไม่ดี ข้อนี้ต้องสำนึกด้วยเหมือนกันนะคะ
อาจารย์บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ก็บอกเหมือนกันว่า ให้สำรวจครู ปรากฏว่า ครูสอนไม่เป็น กลายเป็นสอนให้เรียนคำศัพท์ อุปมาอุปไมยก็สอน ยกตัวอย่างไป แต่ไม่เคยสอนคุณค่าทางวรรณศิลป์ ค่าของเสียง ค่าของความหมายซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของกวีนิพนธ์ไม่เคยสอน เพราะครูไม่รู้ อาจารย์กุหลาบ มัลลิกะมาส ได้เคยกล่าวไว้ว่า ครูต้องมีหลักเกณฑ์ ๕ ประการในการสอน แรกทีเดียวต้องรู้ว่าสอนอะไร ต้องการอะไรจากบทเรียน ครูก็ต้องรู้ก่อนไปทำการบ้าน ทำงานหนัก ต้องรู้ว่าเบื้องหลังของงานที่จะสอนนั้นคืออะไร สอนอย่างไรจึงจะเข้าใจดี ครูก็ต้องรู้ ครูที่เก่งๆ ก็ต้องรู้ อย่างอาจารย์สุจริต ท่านสอนภาษาไทย ท่านทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งแหล่ ทั้งเสภา ครูสอนแบบนี้นักเรียนก็ติดใจใช่ไหม ดิฉันก็ไม่ได้สอนให้ร้องรำเต้นหรอก แต่เราต้องมีวิธีให้เขาสำนึกในคุณค่าให้ได้ เราจะต้องชี้ให้ถูก เกณฑ์อีกข้อหนึ่งของท่านอาจารย์กุหลาบคือ มีอะไรให้เข้าใจดียิ่งขึ้น ก็ต้องไปหามา ก็ต้องมีอุปกรณ์การสอน ทำบัตรคำอะไรก็ว่ามา และสุดท้ายก็คือ ทำอย่างไรจะสอนได้ผล เกณฑ์ทั้ง ๕ ประการนี้ขอให้คุณครูสำนึกไว้เลยว่าจะต้องทำแบบนี้ มันถึงจะมีอนาคตของภาษาไทยดำรงคงอยู่ยั่งยืนได้
(บทความนี้ค่อนข้าวยาว ขอแปะต่อข้างล่างอีกสักหน่อยก็แล้วกันนะคะ)
แก้ไขเมื่อ 29 ก.ค. 49 21:06:22
จากคุณ :
ปิยะรักษ์
- [
วันภาษาไทยแห่งชาติ 21:00:21
]