ความคิดเห็นที่ 1
นอกจากรอลุ้นผลรางวัลซีไรต์แล้ว นาทีนี้ประเด็นร้อนที่สุดของวงวรรณกรรมบ้านเราคงหนีไม่พ้นกรณีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และถี่เสียจนน่าใจหาย หลายฝ่ายต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิตสำนึกของคนทำงานเขียนยุคนี้ ฤาว่า 'ตัวตน' และ 'หัวคิด' ของนักอยากเขียนรุ่นใหม่ได้ถูกหลอมละลายไปพร้อมกับความก้าวหน้าฉาบฉวยของเทคโนโลยีไซเบอร์เสียแล้ว!?
ผู้จัดการปริทรรศน์ พาไปจับเข่าคุยกับนักเขียนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ ต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นว่าแต่ละฝ่ายมีมุมมองเช่นไร และแวดวงวรรณกรรมไทยยังมีความหวังอยู่หรือไม่
เมื่อสนามแจ้งเกิด กลายเป็นสนามรบ
ประเด็นการสร้างสรรค์และบ่อนทำลายด้วยการละเมิดนำความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่นมาเป็นของตนนั้นมีมานานแล้ว ตราบเท่าที่จิตมนุษย์บางพวกยังไร้ซึ่งสำนึก ทว่า ในยุคที่งานเขียนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโลกของน้ำหมึกอีกต่อไป โลกไซเบอร์อย่างอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นสนามแจ้งเกิดแก่นักอยากเขียนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในตัวอักษร แต่ก็ไม่วายถูกสกัดฝันด้วยการถูก 'ขโมย' ผลงานไปซึ่งๆ หน้า และง่ายดายกว่ายุคก่อนหลายเท่านัก เพราะแค่ลากเมาส์ไปบนหน้าจอก็สามารถก๊อบปี้ผลงานของคนอื่นไปได้แล้ว
สดๆ ร้อนๆ จนเป็นที่โจษขานไปทั้งสังคมออนไลน์ เมื่อมีนักลอกมือฉกาจผู้ใช้นามปากกาว่า 'Sunnyshine' ก๊อบปี้ผลงานหลายเรื่องในอินเทอร์เน็ต แถมยังส่งไปยังสำนักพิมพ์เพื่อหวังรวมเล่มอีกต่างหาก สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของเรื่องตัวจริงต้องรีบออกมาพิสูจน์สิทธิ์กันให้วุ่น จนกลายเป็นกรณีตัวอย่างเมื่อครั้งนี้เจ้าของเรื่องเอาจริงตัดสินใจเอาความกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
ศศิธร ขันรุ่ง, วิริยา บุญม่วง และวรารัตน์ แดงน้อย สามสาวเจ้าของนามปากกา 'ปากกาห้าสี' ที่ถูกคัดลอกผลงานรวมเรื่องสั้นไป เป็นตัวแทนของเพื่อนๆ นักเขียนอีกสองคน ออกโรงปกป้องลิขสิทธิ์งานเขียนของตนเองในครั้งนี้ โดยมีต้นสังกัดอย่างสำนักพิมพ์มันดีให้การสนับสนุนเต็มที่ ด้วยเหตุผลที่พวกเธอบอกว่า
"เราไม่ได้ติดใจเอาความ แต่อยากจะทำให้เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะที่ผ่านมามีกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์หลายครั้ง แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป แล้วก็เกิดการละเมิดขึ้นมาใหม่ จึงอยากลงมือทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง"
โดยเฉพาะศศิธรที่ใช้นามปากกาว่า 'Sadmoon' หรือพระจันทร์โศกนั้น เรียกได้ว่าเป็นพี่ใหญ่คนหนึ่งของกลุ่ม ถึงแม้จะยังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เธอผ่านประสบการณ์ร้ายๆ มากมาย กว่าจะก้าวมาสู่ถนนนักเขียนแห่งนี้ได้ ไม่ว่าจะถูกดองสัญญา หรือสำนักพิมพ์โกงค่าเรื่อง แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้น ก็คือการถูกขโมยผลงานที่กลั่นออกมาจากสมองอย่างยากลำบากไปอย่างหน้าตาเฉยคราวนี้ถึง 3 เรื่องด้วยกัน ด้วยการกระทำของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า 'Sunnyshine'
ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานรวมเรื่องสั้นของพวกเธอในนามปากกาห้าสี กำลังจะได้รับการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มันดีในเร็วๆ นี้ ผลเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีมากกว่าผลกระทบในแง่ทางจิตใจ แต่ยังหมายถึงโอกาส เวลาและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ทางสำนักพิมพ์ต้องสูญเสียไปอีกด้วย
ประไพพรรณ เหล่ายนตร์ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์มันดี กล่าวในฐานะผู้ใหญ่ที่คอยเป็นที่ปรึกษาแก่นักเขียนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ว่า กรณีเช่นนี้ไม่เพียงสำนักพิมพ์เป็นผู้เสียหาย เนื่องจากเซ็นสัญญาเตรียมออกหนังสือในงานหนังสือคราวหน้าแล้ว แต่น้องๆ นักเขียนเองก็เข็ดขยาดต่อการโพสต์งานในเว็บบอร์ดต่อไป สำนักพิมพ์เองก็ต้องระแวงระวังว่างานชิ้นต่อๆ ไปที่ส่งมาให้พิจารณาจะมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาอีกหรือไม่ ทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสะพานสู่การเป็นนักเขียนอาชีพ ต้องพลอยเสียโอกาสตามไปด้วย จึงต้องออกมาปกป้องสิทธิ์และปกป้องกฎหมายพร้อมๆ กัน
นั่นเป็นที่มาของการแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้ สามสาวปากกาห้าสีเล่าว่า หลังจากติดต่อไปยังสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของคู่กรณี ซึ่งได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมทั้งชี้แจงว่ายังไม่ได้เตรียมตีพิมพ์ผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ดังที่ 'Sunnyshine' กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเรื่องของบรรณาธิการเท่านั้น จึงเดินทางไปแจ้งความกับ สน.ท้องที่ใกล้บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้มาตรวจสอบ IP ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อมั่นใจว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับข้อมูลที่ได้มาก่อนหน้านี้แล้ว จากนั้นจึงไปแจ้งความต่อที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) เพื่อรอออกหมายเรียกตัวผู้ละเมิดลิขสิทธิ์มาดำเนินการต่อไป
กลุ่มนักเขียนใหม่ที่กลายเป็นผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ตอนนี้บอกว่า คดีของพวกเธอที่กลายเป็นกรณีตัวอย่างแก่ผู้ที่ละเมิดงานเขียนอันมีลิขสิทธิ์ในอินเทอร์เน็ตนั้น จะดำเนินการมาถึงขั้นนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเพื่อนนักเขียนในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะสมาชิกโต๊ะถนนนักเขียนในเว็บไซต์พันทิป นับตั้งแต่มีผู้หวังดีแจ้งเบาะแสข่าวการละเมิด ไปจนกระทั่งการติดตามตรวจสอบทั้งทางตรงและทางลับ จนทราบตัวคู่กรณีซึ่งพยายามทุกทางที่จะอ้างสิทธิ์เหนือผลงานของผู้เขียนตัวจริงให้ได้ กระทั่งจนมุมด้วยหลักฐานจึงยอมออกมาขอโทษในอีเมล์และเว็บบอร์ดในเวลาต่อมา แต่ศศิธรยังสงสัยในน้ำเสียงและเจตนาของถ้อยความขอโทษนั้น ว่ามีความจริงใจมากน้อยเพียงใด
"ส่วนในการดำเนินคดีขั้นต่อไปนั้น จะถึงชั้นศาลหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ต้องดูว่าเขาสำนึกผิดจริงหรือเปล่า ระหว่างนี้คงจะแก้ปัญหาด้วยการเอานิยายไปโพสต์ไว้ในบล็อกส่วนตัวที่มีโค้ดห้ามลากแถบสีเพื่อป้องกันการคัดลอก"
วรารัตน์ หรือ 'วรวลัญช์' กล่าวว่า กรณีนี้อาจทำให้ท้อบ้างแต่ไม่ถอย ที่น่าเป็นห่วงก็คืออาชญากรทางความคิดทุกวันนี้อายุน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่น้องนุชสุดท้องของกลุ่มอย่างวิริยา ที่ใช้นามปากกาว่า 'ZeeZaa' และ 'Jovely' เสริมว่า อายุไม่ใช่ข้ออ้างในการใช้เวลากระทำผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้อื่น ตัววิริยาเองก็อายุยังไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ แต่ ณ วันนี้เธอมีผลงานที่ออกมาจากมันสมองและสองมือของตัวเอง โดยไม่ได้ลอกเลียนใคร วิริยาอยากฝากถึงคนที่ทำหรือกำลังคิดจะลอกงานเขียนของผู้อื่นว่า ควรคิดให้ดีก่อนทำเพราะมันทำให้วงวรรณกรรมเสื่อมเสีย
ละเมิดข้ามรุ่น
ใช่เพียงแต่นักเขียนหน้าใหม่เท่านั้น แม้แต่นักเขียนรุ่นใหญ่ที่คร่ำหวอดบนถนนน้ำหมึกมานานอย่างนักเขียนหญิงเจ้าของนามปากกา 'อาริตา' และ 'กันยามาส' ก็ยังมิวายถูกมือดีแอบอ้างนำผลงานไปดัดแปลงเป็นของตนเอง เมื่อต่อมาทางสนพ. ทราบเรื่องและตรวจสอบว่ามีมูลจริงก็เก็บหนังสือเล่มนั้นออกจากตลาด ปัจจุบันหนังสือเล่มที่ลอกเลียนผลงานของเธอนั้นไม่มีในตลาดแล้ว อาริตาไม่ได้จัดการดำเนินคดี เพียงแต่ให้ทางนักเขียนลงชื่อขออภัยเอาไว้ ว่าจะไม่นำงานเล่มนั้นวางขายหรือทำอย่างอื่น
"คู่กรณีก็เหมือนทั่วๆ ไป คือบอกว่าไม่ได้ลอก แต่ดิฉันก็พอใจกับหนังสือขออภัย คือมันทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ขั้นตอนตามกฎหมายมันทำให้เราเสียเวลา และเสียความรู้สึก ตอนนั้นโพสบอกกล่าวในอินเทอร์เน็ตก็ยังโดนต่อว่าราวกับว่าเราทำผิดเสียเอง สังคมนี้แปลกอยู่ตรงที่เห็นใจคนผิด มีคนเข้าข้างคนผิด ดิฉันโดนมามากพอสมควรจนเจ็บปวดและคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่เจอกับใคร จะไม่รู้เลย ว่าเจ็บปวดแค่ไหน พอได้ยินเรื่องการละเมิดเรื่องงานของพวกน้องๆ ในอินเทอร์เน็ต จึงเข้าใจและเห็นใจเสมอ ว่าเราเจ็บปวดเสียเหลือเกิน"
อาริตาแสดงทัศนะต่อกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียน โดยเฉพาะงานเขียนในอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว เพราะนอกจากประเด็นเรื่องสามัญสำนึกแล้วยังรวมถึงความรู้ด้านข้อกฎหมายด้วย
"ถ้ามองในแง่ของคนทำงานและอาจจะโดนละเมิดงานไปบ้างก็บอกตรงๆ ว่ารำคาญใจ และหงุดหงิดอยู่บ้าง เพราะตัวเองก็นำเอาผลงานลงให้อ่านในอินเทอร์เน็ตแบบเต็มๆ เรื่อง ก่อนจะพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ค การละเมิดในอินเตอร์เน็ตทำง่ายเสียด้วยแค่คลิกไปแปะวาง อวดว่าเป็นงานตัวเอง มันเป็นเรื่องอินเทรนด์ของเด็กๆ ไปแล้วว่าเขียนหนังสือได้เขียนเป็น การที่มีเว็บเพจฟรี สร้างไดอารี บล็อกแก๊งค์ต่างๆ ขึ้นมาก็อาจจะมีผลด้วยว่าทำให้เด็กหรือคนที่อยากจะเขียนโน่นนี่ บางครั้งไม่รู้จะเขียนอะไรก็ไปลอกงานคนอื่นมา โดยไม่รู้ว่ามันมีผลร้ายและมันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ อยากจะเอานิยายที่ลงให้อ่านฟรีออก แต่เห็นใจแฟน ๆ ที่ตามอ่านงานเรา เลยต้องลงต่อไป ทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยง"
เช่นกรณีนิยาย 'ชุลมุนสื่อรัก' ที่ลงเป็นนิยายเรื่องแรกในเน็ต ความยาว 56 ตอน ในเว็บไซต์ของอาริตาเองก็ยังถูกนำไปเผยแพร่โดยไม่ให้เครดิตผู้เขียน
+++++++++++++
มีต่อค่ะ
จากคุณ :
เนตรนภัส
- [
9 ส.ค. 49 13:03:29
]
|
|
|