ความคิดเห็นที่ 3

บุรุษสตรีชาวเมืองทั้งหลายเมื่อตื่นขึ้น เหยียดมือหรือเท้าไปทางใดก็ถูกต้องงู ณ ที่นั้น ผวาร้องว่า งู ๆ เมื่อสตรีตื่นขึ้นแล้ว จุดประทีปขึ้นในเรือนใด มองไปทางไหนก็เห็นแต่งูอยู่ทั่วไปหมด ตามประตู หน้าต่าง เสา จันทัน ต่างก็หวีดร้องตระหนกตกใจขึ้นเป็นเสียงเดียว ทั่วพระนครเกิดโกลาหลอลหม่านในทันที
รุ่งอรุณนั้น พาราณสีนครทั้งสิ้นถูกปกคลุมไปด้วยลมหายใจของพวกนาค ประชาชนพากันหวาดกลัว กล่าวกับพวกนาคว่า เหตุไรพวกท่านจึงมาเบียดเบียนพวกเราอย่างนี้ บรรดานาคก็ตอบว่า พระราชาของพวกท่านส่งทูตไปมิใช่หรือว่าจะยกพระธิดาให้พญานาคของเรา พอพวกเราส่งทูตมาทูลขอกลับด่าบริภาษ หากพวกท่านไม่ให้พระธิดา ก็อย่าหวังว่าจะคงชีวิตไว้ได้สืบไปเลย
บัดนั้นหมู่มนุษย์อ้อนวอนว่า ท่านนาคทั้งหลายโปรดให้โอกาสเราเถิด พวกเราจะไปกราบบังคมทูลขอพระเจ้าพาราณสีให้เอง แล้วพากันไปยังราชนิเวศน์ คร่ำครวญร้องทุกข์ด้วยเสียงอันดัง
กาลนั้นพระจอมภพกาสียินเสียงชาวพระนคร และแม้มเหสีของพระองค์เองหวีดร้องคร่ำครวญด้วยความหวั่นกลัวก็ตื่นพระบรรทม แลเห็นนาคทั้ง ๔ ยืนอยู่ ๔ ทิศ อ้าปากราวจะฉกกัดพระเศียรดังนั้น ตกพระทัยยิ่งนัก เหล่าพระมเหสีอ้อนวอนว่า ยกพระธิดาให้เขาเถิดเพคะ ทรงถูกนาคมาณพคุกคาม หวาดเกรงมรณภัยจึงได้ตรัสขึ้น ๓ ครั้งว่า เรายกธิดาสมุททชาให้ท้าวธตรฐ ๆ ๆ ดังนี้
นาคทั้งหมดได้ฟังพระดำรัสแล้ว จึงล่าถอยไปรวมกันยังที่ห่างประมาณ ๑ คาวุต เนรมิตนครขึ้นแห่งหนึ่งงดงามราวเทพนคร จัดแต่งบรรณาการมายังพระเจ้าพาราณสีเพื่อรับพระราชธิดา พระราชารับบรรณาการแล้วส่งพวกนาคกลับไป ดำรัสว่า เราจะส่งบุตรีตามไปในความคุ้มครองของอำมาตย์มนตรีแห่งเรา
ครั้นแล้วตรัสเรียกพระลูกเธอขึ้นมา พาเสด็จไปปราสาทชั้นบน เผยสีหบัญชรให้พระกุมารีทอดพระเนตรดูทิพย์นครของพวกนาค มีพระดำรัสด้วยว่า ลูกเอย จงดูนครอันงดงามนั้น เจ้าจะได้เป็นอัครมเหสีของเจ้านครนั้น นครนั้นอยู่ไม่ไกลเลย หากเจ้าไปอยู่ที่โน่นแล้วเบื่อหน่ายไม่พอใจ ก็กลับมาหาพ่อได้
ทรงให้พระธิดาสรงสนาน แต่งพระองค์ด้วยอาภรณ์และรัตนทั้งหลาย เสด็จโดยสีวิกากาญจน์อันปกคลุมแล้ว ขบวนอำมาตย์แวดล้อมไปส่ง
เหล่านาคต้อนรับพระธิดาอย่างสมพระเกียรติ อัญเชิญขบวนเสด็จสู่พระนคร รางวัลหมู่อำมาตย์ที่มาแล้วส่งกลับไป อัญเชิญพระธิดาให้ขึ้นสู่ปราสาท บรรทมบนพระที่อันเป็นทิพย์ บริษัทนาคทั้งหลายแปลงกายเป็นคนค่อม คนเตี้ยบ้าง ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ดั่งนางกำนัลสาวใช้ในเมืองมนุษย์ พระกุมารีบรรทมบนพระแท่นทิพย์มินานก็ทรงหลับสนิท
ท้าวธตรฐพาพระธิดาพร้อมปวงนาคหายไป ณ ที่นั้น ลงปรากฏในภพนาค ณ พระราชฐานทีเดียว เมื่อพระธิดาบรรทมตื่น พบพระองค์อยู่บนที่บรรทมทิพย์ ในปราสาทแก้วมณีปราสาททอง ประกอบด้วยอุทยานและสระโบกขรณีดั่งแดนสวรรค์ ทรงถามนางกำนัลทั้งหลายว่า นครนี้ช่างตบแต่งได้งดงาม ไม่เหมือนพาราณสีของเรา นครนี้เป็นของผู้ใดหรือ ?
ข้าแต่พระเทวี เมืองนี้เป็นของพระสวามีของพระนางเพคะ พระนางเปี่ยมด้วยบุญญาธิการจึงได้เสวยสมบัติสมบูรณ์ปานนี้ ผู้มีบุญน้อยทั้งหลายไร้โอกาสแม้เพียงได้เห็น
ท้าวธตรฐรับสั่งให้ป่าวประกาศทั่วภพนาคทั้ง ๕๐๐ โยชน์ว่า นาคทั้งปวงไม่พึงแสดงร่างงูแก่พระนางสมุททชาโดยเด็ดขาด ผู้ใดล่วงพระโองการจักต้องโทษทัณฑ์ เช่นนี้ ราชธิดาย่อมมิได้ทอดพระเนตรเห็นนาคปรากฏในร่างงูเลยแม้แต่ผู้เดียว สำคัญว่าภพนาคนั้นคือภพมนุษย์นั่นเอง ทรงพึงพระทัยท้าวธตรฐ เป็นพระมเหสีอยู่ด้วยกันกับพระองค์ด้วยความรักสืบมา
จบนครกัณฑ์ 
กาลต่อมาพระนางสมุททชาก็ทรงพระครรภ์ ประสูติพระโอรสองค์แรกชื่อว่า สุทัสสนะ เพราะเห็นแล้วให้เกิดความรัก พระโอรสองค์ที่สองให้นามว่า ทัตตะ พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ พระโอรสองค์ที่สามให้ชื่อว่า สุโภคะ และพระองค์ที่สี่ให้ชื่อว่า อริฏฐะ
แม้จะมีโอรสถึง ๔ องค์แล้ว พระนางก็ยังไม่ทราบว่านี่เป็นภพนาค ภายหลังวันหนึ่งพวกนาคหนุ่มๆ บอกแก่พระโอรสอริฏฐะว่า มารดาของพระองค์เป็นมนุษย์มิใช่นาค พระโอรสไม่เชื่อจึงทดลองดู ขณะเสวยนมนิรมิตสรีระเป็นงู เอาปลายหางลูบหลังพระบาทพระมารดา พระนางเห็นร่างพระโอรสดังนั้นตกพระทัย กรีดร้อง ทิ้งพระโอรสลงที่พื้น นัยน์ตาของพระโอรสองค์น้อยก็แตกไป โลหิตไหล
พระราชาสดับเสียงเสด็จมาทรงทราบดังนั้นกริ้วพระโอรส จะให้เขานำไปประหาร พระนางสมุททชารักสงสารบุตรจึงทูลขออภัยต่อพระองค์ ว่า นัยน์ตาลูกแตกไปแล้ว โปรดทรงอภัยให้ลูกของเราเถิดเพคะ พระราชาก็พระราชทานอภัยให้ ตั้งแต่วันนั้นมา พระมเหสีจึงทราบว่าประทับอยู่ในภพนาค ส่วนพระโอรสองค์เล็กนั้นพระเนตรบอดไปข้างหนึ่ง จึงเรียกกันว่า อริฏฐะบอด
เมื่อพระโอรสทั้งหลายเจริญวัยขึ้นแล้ว พระเจ้าธตรฐก็พระราชทานรัชสมบัติแบ่งให้แด่พระลูกเจ้าทุกๆ พระองค์ พระองค์ละ ๑๐๐ โยชน์ พร้อมเหล่าบริจาริกา ๑๖๐๐๐ ส่วนพระบิดาเองนั้นทรงรัชสมบัติเพียง ๑๐๑ โยชน์เท่านั้น พระโอรสทั้งหลายจะมาเฝ้าพระมารดาบิดาทุกๆ เดือน เว้นพระโพธิสัตว์เสด็จมาทุกกึ่งเดือน
พระทัตตะทรงมีปัญญาอันเปรื่องปราด สามารถพิจารณาแก้ไขปัญหาทั้งหลายในภพนาคได้ดียิ่ง เมื่อเสด็จสู่ที่เฝ้าของท้าววิรูปักข์มหาราช พระองค์ก็วินิจฉัยปัญหาของพวกนาค ณ ที่นั้นได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อท้าววิรูปักข์พร้อมด้วยนาคบริวารไปยังไตรทศบุรีพิภพดาวดึงส์สวรรค์ สู่ที่เฝ้าของท้าวสักกะเทวราช ได้ถกปัญหาขึ้นในระหว่างหมู่เทพทั้งหลาย ไม่มีผู้สามารถตอบปัญหานั้นได้ เว้นพระโพธิสัตว์เท่านั้น
พระเทวราชาทรงสรรเสริญยกย่องและตอบแทนการวิสัชนาของพระโพธิสัตว์ด้วยทิพย์บุปผามาลาและคันธชาติต่างๆ แล้วตรัสว่า พ่อทัตตะ ท่านประกอบด้วยปัญญาอันบริบูรณ์เสมอแผ่นดิน แต่นี้ไปท่านจงมีนามว่า ภูริทัต เถิด
พระภูริทัตไปเฝ้าท้าวสักกะเทวราชเสมอ เห็นเวชยันต์ปราสาทและทิพย์สมบัติอันงดงามประณีตน่าอภิรมย์ยิ่ง แล้วล้วนด้วยเทพอัปสร ทรงคิดว่า ความเป็นนาคนี้ยังเป็นอัตภาพอันด้อย น่าดูหมิ่นว่ามีกบเป็นอาหาร เราบำเพ็ญศีลเป็นบุญแล้ว จักได้บังเกิดในเทวโลกบ้าง
ดังนี้แล้วทรงกลับมาภพนาค ทูลลาพระมารดาบิดาจะรักษาอุโบสถศีล พระมารดาบิดาทรงยินดี ตรัสสั่งว่า เจ้าจงรักษาอุโบสถในภพนาคของเรานี้ อย่าไปภายนอกเลย เพราะว่าเมื่อเจ้าไปรักษาศีลอยู่ภายนอกภพเรา จะมีอันตรายได้มาก
พระโพธิสัตว์รับคำ ทรงถือศีลอยู่ในราชอุทยานอันว่างแห่งหนึ่ง
ขณะทรงศีลนั้น เหล่านางนาคก็มักเข้าไปหา บรรเลงดนตรีขับกล่อมพระองค์ให้ทรงสำราญดังกาลก่อน พระภูริทัตดำริว่า รักษาศีลให้บริบูรณ์ในที่นี้ยากนัก มักถูกรบกวน เราควรไปถือศีลในถิ่นมนุษย์จะดีกว่า
ไม่ทรงบอกพระมารดาบิดาเพราะกลัวจะถูกห้าม ตรัสบอกแต่กับพระชายาว่า เจ้าเอย พี่จะไปยังมนุษย์โลก ขดขนด(เข้าสมาธิ)บนจอมปลวกที่ใกล้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำยมุนา อธิษฐานรักษาอุโบสถศีลตลอดราตรี เจ้าจงให้พวกนางดนตรีครั้งละ ๑๐ นาง ไปหาในเฉพาะเวลาอรุณรุ่ง นำสุวคนธชาติและบุปผามาลาไปให้พี่
สั่งแล้วพระองค์เสด็จขึ้นไปที่ต้นไทร นิรมิตกายนาค ร่างประมาณเท่างอนไถ วงขนดบนจอมปลวกแล้วอธิษฐานอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๔ ว่า ผู้ใดปรารถนา หนัง เอ็น กระดูก หรือโลหิตของเรา ผู้นั้นจงนำไปได้ตามปรารถนาเถิด เราจักไม่หวงแหนปกป้อง ยินดีสละให้แล้ว
ทรงรักษาอุโบสถดังนี้ตลอดราตรี ณ เวลาอาทิตย์ขึ้น นางนาคมาณวิกาทั้งหลายก็มาปรนนิบัติพระองค์ตามพระบัญชาแล้วกลับไปยังภพนาค
ทรงกระทำอุโบสถกรรมเช่นนี้ผ่านระยะกาลอันยาวนาน
จบอุโบสถกัณฑ์ 
**********************************************
ผู้เรียบเรียง ศรีสุรางค์ จันทัน ตัวไม้เครื่องบนที่รับแปลานอยู่ตรงกับขื่อ คาวุต คาพยุต มาตราวัดทางยาวโบราณ เท่ากับส่วนที่ ๔ แห่งโยชน์, ชั่วสุดเสียงที่วัวร้อง ( ๒๕ วา เป็น ๑ อุสภะ, ๘๐ อุสภะ เป็น ๑ คาวุต, ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์ ) สีวิกา เสี่ยง คานหาม วอ ท้าววิรูปักข์ หนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ผู้ประจำทิศตะวันตก เป็นใหญ่ในหมู่นาค ท้าวสักกะ พระอินทร์ จอมภพดาวดึงส์สวรรค์ ท้าวโกสีย์ คันธชาติ เครื่องหอม สุวคนธ เครื่องหอม สุคนธ์ กลิ่นหอม
จากคุณ :
ศรีสุรางค์
- [
26 ก.ย. 49 09:35:10
]
|
|
|