Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    At The End of Autumn (1) กลางฤดูใบไม้ร่วง

    First day of spring—
    I keep thinking about
    the end of autumn.
    Matsuo Basho (1644 – 1694)

    ตอนที่ 1 กลางฤดูใบไม้ร่วง

    “ดีจังที่ได้เจอก่อนที่คุณจะแวบหายไปอีก”

    อัญญาเงยหน้าขึ้นมองเจ้าของคำพูดที่ยืนค้ำประตูห้องเรียนอยู่ เลิกคิ้วน้อย ๆ  และยิ้มให้แบบเสียไม่ได้กับคำพูดของอีกฝ่าย แต่ก็ไม่ได้ว่ากระไร

    ไฮน์ริค... เพื่อนร่วมรุ่นคนนี้ เป็นทนายความที่มีสำนักงานของตัวเองอยู่ในมิวนิค ประสบการณ์ในการทำคดีไม่น้อย  แล้วเท่าที่เรียนด้วยกันมาในวิชา Legal Research and Writing ซึ่งเป็นวิชาที่ออกแบบมาให้นักศึกษาต่างชาติทำความรู้จักกับระบบกฎหมายอเมริกัน ทั้งระบบคำพิพากษาบรรทัดฐาน (precedent) วิธีการค้นคำพิพากษา (research) และการร่างบทวิเคราะห์ข้อกฎหมายในคดี (memorandum) รวมถึงวิชาสัมมนา จัดว่าเขาเป็นคนที่มักจะมีคำถามเข้าท่า ๆ และความเห็นดี ๆ มาถามอาจารย์อยู่เป็นประจำคนหนึ่ง

    “ตอนเที่ยง ๆ หลังเลิกเรียนแบบนี้ คุณไปอยู่ที่ไหน” เขาถาม

    เธอยังยิ้มอยู่ ทั้งที่ออกจะเคืองอยู่นิด ๆ ... ฉันจะไปไหนก็เรื่องของฉันนี่

    “ห้องสมุดค่ะ” เธอตอบสั้น ๆ

    จะย้อนถามกลับไปตรง ๆ ว่า “อยากรู้ไปทำไม” ก็ดูจะรุนแรงไปหน่อย เพราะอีกฝ่ายก็คุยด้วยดี ๆ แล้วก็คงจะอยากรู้อยากเห็นตามประสาฝรั่ง... แล้วด้วยความที่เป็นคนไทย จะพูดกับคนที่อายุมากกว่าตัวเองไปแบบนั้น ก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อย

    สงสัยตานี่จะเริ่มกลายเป็น Americanized German ซะแล้ว... และนี่ก็จัดเป็นนิสัยอย่างหนึ่งของพวกอเมริกันที่เธอไม่ค่อยชอบเสียด้วย คือ ไม่รู้หาเรื่องอะไรมาชวนคุยกันได้ตลอดเวลา แล้วก็ทำท่าเป็นสนใจเรื่องที่อีกฝ่ายพูดมาก แต่ใจจริงแล้วอาจจะไม่สนใจก็ได้...

    ถ้าจะตอบไปตามตรงว่าจะรีบไปออนเอ็มเอสเอ็นคุยกับเพื่อนที่เมืองไทย ประเดี๋ยวพ่อคุณถามว่าคุยกับใครบ้าง เรื่องอะไร ทำไมไม่คุยกับเพื่อนที่เรียนในโปรแกรมปริญญาโทด้วยกัน เดี๋ยวตอบไปตอบมา เกิดพาลโมโหไปว่าอะไรเขาเข้า จะเสียเพื่อนไปเปล่า ๆ เก็บเอาไว้เป็นเพื่อนสักคนดีกว่าจะสร้างศัตรูตั้งแต่ยังเรียนไม่ทันจบ...  ยังต้องเห็นหน้ากันไปอีกตั้งสองเดือนนี่นา

    นั่นสิ เหลือเวลาที่เธอจะอยู่ที่อเมริกานี่อีกสองเดือน...  แต่ทั้งเทอมมีตั้งสี่เดือน... เพิ่งจะมาสงสัยว่า ฉันทำอะไร อยู่ที่ไหน ตอนผ่านไปครึ่งเทอมแล้วเนี่ยนะ

    พิลึกคน...  

    “ไม่ทานข้าวกลางวันเหรอ” เขายังถามไม่เลิก

    โอ๊ย... เลิกถามซะทีสิยะ... ฉันจะได้ไปตามทางของฉัน

    “ไม่หิวค่ะ” เธอตอบ ก้าวเท้าออกเดินไปทางประตูเข้าออกอาคาร แอบหวังไว้หน่อย ๆ ว่า คนที่ชวนคุยจะได้ไป ๆ เสียที แต่พอเอื้อมมือจะผลักประตูเปิด เขาก็ดันประตูกระจกบานใหญ่ออกให้ แล้วก็เดินตามมาเสียอีก

    “ผมก็ไม่หิว...” คนตัวโต ตาสีฟ้าบอก “ตั้งแต่เรียนด้วยกันมา คุณเป็นคนเดียวที่ผมได้คุยด้วยน้อยที่สุด เราได้คุยกันคราวละไม่กี่คำเอง... ถ้าไม่นับตอนที่คุณสอนผมค้นฐานข้อมูล Westlaw ใน research class”

    ถ้ามาก่อนเวลาเรียนตอนเช้าบ่อย ๆ ก็ได้คุยด้วยเยอะเหมือนคนอื่นไปแล้ว... เธอค่อน… แล้วถ้าวันนั้น ไม่มาสายเอง ฉันก็ไม่ต้องช่วยสอนวิธีค้นฐานข้อมูลหรอก

    นี่ยังดีนะที่อาจารย์ประจำแผนกห้องสมุด (Reference librarian*) ใจดี... ถ้าเป็นลูกศิษย์ฉันที่เมืองไทยละก็... ฉันจะล็อกประตูห้องคอมพิวเตอร์ แล้วปล่อยให้นั่งฟังบรรยายอยู่ข้างนอกนั่นแหละ

    ที่ช่วยก็เพราะรู้หรอกว่า การค้นคำพิพากษาของศาลอเมริกาออกมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย... สำหรับนักเรียนอเมริกันเองกว่าจะผ่านวิกฤติปีแรกไปได้ก็แทบตาย คนที่มาจากประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แล้วต้องทำให้เป็นทำให้ได้ในเวลาจำกัด อย่างนักศึกษาปริญญาโทที่มีเวลาเรียนแค่ปีเดียว และมาจากต่างชาติต่างภาษาด้วยยิ่งแล้วใหญ่

    การค้นคำพิพากษาก็มีขั้นตอนไม่ใช่น้อย หลังจากศึกษาข้อเท็จจริง รวบรวมประเด็นทางกฎหมายออกมาได้แล้ว ก็ต้องจัดกลุ่มคำสำหรับค้น (Keyword) เอาไว้ใช้ในการค้นหาคำพิพากษาต่อไป โดยการค้นคำพิพากษาจะเริ่มจากการทำความรู้จักกับ Key number ซึ่งเป็นหมายเลขของประเด็นกฎหมายแต่ละเรื่อง แล้วตามไปค้นในหนังสือสรุปประเด็นสำคัญของหลักกฎหมายในแต่ละคดี (digest) และในหนังสือดังกล่าว ก็จะให้หมายเลขคำพิพากษาไว้ (Case Citation) แล้วจดหมายเลขของคดีที่น่าจะเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงของคดีในมือของตัวเองไปหาคำพิพากษาฉบับเต็มจากหนังสือรวมคำพิพากษาของศาล (reporter)

    จบเรื่องขั้นตอนที่ว่ามาแล้ว เรื่องที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าสำหรับ ‘มือใหม่หัดค้น’ ประการต่อมา คือ สารพัดคำย่อต่าง ๆ ที่ใช้ในหมายเลขคำพิพากษาที่กว่าจะรู้ว่า คำย่อนั้นหมายถึงเอกสารฉบับใด ก็เสียเวลาไปนานโข นี่ยังไม่นับเรื่องห้องสมุดกฎหมายที่อุทิศพื้นที่ชั้นหนึ่ง และชั้นสองของห้องสมุดให้กับคำพิพากษาเล่มหนาที่อัดแน่นอยู่บนชั้นวางสูงเทียมเพดานเหล่านี้ไปเกือบหมด

    นอกจากค้นคำพิพากษาแล้ว การค้นบทความทางวิชาการ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คำพิพากษา เช่น American Law Review และ Corpus Juris Secundum ซึ่งสรุปหลักกฎหมายในแต่ละประเด็นเอาไว้ และ Law Review ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนอกจากใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการทำรายงานแล้ว บางครั้ง คดีที่ถูกกล่าวถึงในบทความยังเป็นทางลัดไปยังคำพิพากษาบรรทัดฐานเรื่องที่ค้นหาอยู่ได้อีกด้วย

    เพราะแบบนี้ การค้นคำพิพากษาถึงมีคำที่ใช้เรียกเล่น ๆ ในสมัยก่อนว่า “Paper Chase” หรือ ตามล่าหาเอกสาร ซึ่งเป็นคำที่ให้ความรู้สึกชุลมุนเอาเรื่อง... และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เสียด้วย

    --------------------------------------------
    * ห้องสมุดกฎหมาย จะมี Reference Librarian ซึ่งจบมาทางด้านกฎหมาย เป็นอาจารย์ (Professor) ประจำอยู่ นอกจากสอนวิธีการค้นหาคำพิพากษาและเอกสารต่าง ๆ ก็จะอยู่ประจำห้องสมุดที่ Reference Desk เพื่อให้คำปรึกษากับนักศึกษาเกี่ยวกับการค้นคำพิพากษา และการใช้ฐานข้อมูลต่าง ๆ

    (มีต่อนะคะ)

    แก้ไขเมื่อ 26 พ.ย. 49 07:32:57

     
     

    จากคุณ : ปิยะรักษ์ - [ 25 พ.ย. 49 22:53:54 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom