บันทึกของคนเดินเท้า
วรรณกรรมลอกเลียน
ผมไปอ่านเจอเรื่องสั้นในนิตยสารต่วยตูน ฉบับประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๓ ปักษ์หลัง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ผู้เขียนคงจะเป็นเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ในขณะนั้น ได้เขียนไว้ว่า
ผม(ผู้เขียน)คิดว่างานโทรทัศน์เป็นงานอดิเรก ไม่ใช่อาชีพยั่งยืนเหมือนงานหลักที่ทำทางสะพานแดง จึงทำไปกินไปใช้ไปไม่ได้เคยคิดสะสม ตั้งแต่เป็นสิบเอกจนถึงร้อยโท ในช่วงเวลา ๑๐ ปี จึงอยากจะเก็บออมไว้บ้าง จะเอาเบี้ยเลี้ยงฝากออมสินหรือ ก็ไม่ค่อยจะได้เหลือสักเดือน ก็เลยคิดหาวิธีใช้สิทธิ์กู้เงินออมทรัพย์ได้ครั้งละ ๑๐๐๐ บาท เอาไปซื้อสลาก ออมสินพิเศษ ฉบับละ ๒๐ บาท ชุดละ ๒๕ ฉบับ งวดละ ๒ ชุด ผ่อนใช้เงินกู้เดือนละ ๑๐๐ บาท ฝ่ายการเงินก็หักเบี้ยเลี้ยงไป เลยไม่รู้สึกอะไร
พอครบ ๑๐ เดือน ก็กู้ไปซื้อต่ออีก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าที่ฝากไว้แล้วจะอยู่ได้นาน ต้องตามไปกู้เอามาใช้อีก ดีที่ว่าหมายเลขที่เรากู้ไปแล้ว ยังมีโอกาสถูกรางวัลได้ตลอดเวลา ๓ ปี เป็นการเปิดช่องให้โชคได้มีหนทางเล็ดลอดเข้ามาเยี่ยมเยียนบ้าง ถ้าบังเอิญจะมี ถ้าไม่มีก็แล้วไปไม่ขาดทุน
ขณะนั้นผมเขียนกลอนไปลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร มีความยาว ๘ บท ผมจึงใช้กลอนเป็นนามแฝง ในการซื้อสลากออมสินทีละวรรค ซึ่งผมทำอยู่ได้หลายงวดจนถึงงวดที่ ๑๑
วันหนึ่งเพื่อนรุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นพนักงานแสงของสถานีโทรทัศน์ ก็แอบมากระซิบว่า ผมถูกสลากออมสินรางวัลที่ ๑
ผมยังไม่เชื่อเพราะใช้นามแฝงเขาจะรู้ได้อย่างไร เพื่อนก็ยืนยันว่าเขาไปฝากเงินกับเพื่อนที่เป็นร้อยโท เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นทหารสื่อสาร จึงถามถึงชื่อผมและบอกความลับให้
จนถึงตอนค่ำผมเป็นคนถ่ายผลการออกสลากรางวัลออมสินพิเศษ งวด ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๓ ออกอากาศ เห็นหมายเลขอะไรจำไม่ได้ อยู่ในกลุ่ม ท.๘๓๙๗๔๕๓ - ๘๓๙๗๔๗๗ นามแฝง
พอเลี้ยงท้องให้รอดตลอดไป
เท่านั้นแหละรีบฝากให้เจ้าเพื่อน ซึ่งเป็นพนักงานแสงคนเดิม ช่วยถ่ายกล้องแทนให้ที ตัวเองบึ่งกลับไปบอกแม่บ้านให้ช่วยดีใจ แถมยืมเงินมาตั้งวงฉลองอยู่ที่ร้านข้าวต้มสนามเป้า
แล้วก็เข้ามาบอกเพื่อนพ้องที่ร่วมงานคืนนั้นว่า ใครว่างให้ออกไปฉลองที่ร้านนั้น ถึงเวลาก็กลับมาทำงาน ผลัดเปลี่ยนกันไปฉลองทั้งคืนจนปิดสถานี ยังหมดไปไม่ถึงพันบาทเลย
ผมได้เงินรางวัลในคราวนั้น เป็นจำนวนสามแสนห้าหมื่นบาท ซึ่งช่วยให้ผมดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ขาดแคลนต่อมา จนถึงวันนี้ แต่ก็ไม่ได้งอกเงยออกไปเกินกว่านั้นเลย
และยังคงไม่มีที่ดิน ไม่มีบ้าน ไม่มีรถเก๋งเหมือนเดิม จนเพื่อน ๆ รุมกันหาว่าผมโง่ น่าเสียดายที่มีเงินแล้วใช้ไม่เป็น
เรื่องที่คัดลอกมาก็จบลงเพียงแค่นั้น ผม(ผู้ลอก)จึงไปค้นหาหนังสือที่ถูกอ้างถึง ในห้องสมุดทหารสื่อสาร ก็พบบทกลอนที่มีชื่อว่า พอเลี้ยงท้องให้รอดตลอดไป ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับประจำเดือน มกราคม ๒๕๑๔ มีความว่า
อันเงินทองนั้นหนาของหายาก
แสนลำบากสู้ทนเที่ยวขวนขวาย
ต้องตรากตรำลำเค็ญไม่เว้นวาย
เมื่อจะจ่ายควรดำริค่อยตริตรอง
ค่าเช่าบ้านการไฟฟ้าประปาก่อน
ค่อยผันผ่อนอย่าค้างขัดจัดสนอง
ด้วยเป็นหลักพักอาศัยได้ครอบครอง
เป็นหอห้องให้ซุกนอนไม่ร้อนใจ
ส่วนที่ สอง สำคัญกว่าเรื่องอาหาร
ตุนข้าวสารถ่านน้ำปลาอย่าเหลวไหล
"พอเลี้ยงท้องให้รอดตลอดไป"
ถึงยากไร้ยังไม่อดไม่หมดตัว
ส่วนที่ สาม เสื้อผ้าเครื่องอาภรณ์
ผ้าห่มนอนหมอนมุ้งกันยุงมั่ว
ทั้งข้าวของเครื่องใช้ในครอบครัว
ดูให้ทั่วหาไว้ใช้ให้ถาวร
ส่วนที่ สี่ เป็นค่ายารักษาโรค
ยังมีโชคไม่เจ็บไข้เก็บไว้ก่อน
ถึงคราวป่วยฉวยมาใช้ไม่ม้วยมรณ์
ไม่ต้องนอนงอก่อรอความตาย
ส่วนที่ ห้า ค่ารื่นเริงบันเทิงสุข
เที่ยวสนุกหนังละครทุกข์ร้อนหาย
ทั้งวิทยุทีวีดีมากมาย
เว้นอบายสี่ตัวอย่ามัวเมา
ส่วนที่ หก เก็บออมไว้อย่าใช้หมด
เผื่อคราวอดภายหน้าอย่าโง่เขลา
สะสมไว้ให้คุณอุ่นใจเรา
ต้องฝากเข้าออมสินไม่กินทุน
ส่วนสุดท้ายใช้เสริมสร้างทางกุศล
คราวอับจนบุญอำนวยช่วยเกื้อหนุน
ทำดีไว้ไม่เสื่อมศรีมีแต่คุณ
ช่วยค้ำจุนชีวิตใหม่ให้สุขเอย.
ก็แสดงว่าผู้เขียนเรื่องสั้นในนิตยสารต่วยตูน ได้ลอกบทกลอนของตนเองในนิตยสารทหารสื่อสาร เอามาเขียนเป็นเรื่องสั้น เผยเบื้องหลังบทกลอนนั้น รับทรัพย์ค่าเรื่องไปอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนผมนั้นเห็นว่าเรื่องนี้มีข้อความและข้อคิดที่น่าสนใจ จึงคัดลอกเอามาลงในถนนนักเขียนอีกต่อหนึ่ง จึงขออนุญาตไว้ในที่นี้ หวังว่าคงไม่เอาเรื่องเอาราวไปฟ้องร้องกัน แบบที่เห็นค่อนข้างถี่ในรอบปีที่ผ่านมานี้
ข้อความที่ว่านั้นก็คือ สมัย พ.ศ.๒๕๑๐ กว่า ๆ การติดมุ้งลวดตามบ้านน่าจะยังมีไม่แพร่หลายนัก จึงมีบทที่ว่า
ส่วนที่สามเสื้อผ้าเครื่องอาภรณ์
ผ้าห่มนอนหมอนมุ้งกันยุงมั่ว
และในสมัยเดียวกันนั้นเอง คงจะยังไม่มีอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มาจากประเทศญี่ปุ่นมากนัก จึงมีบทที่ว่า
ส่วนที่สองสำคัญกว่าเรื่องอาหาร
ตุนข้าวสารถ่านน้ำปลาอย่าเหลวไหล
ซึ่งเป็นสมัยนี้ก็ต้องว่า
ตุนยำยำมาม่าอย่าเหลวไหล
สำหรับข้อคิดนั้นผมสนใจการจัดแบ่งรายได้ของผู้เขียน ที่ยกเอาปัจจัยสี่มาดัดแปลงให้เป็นปัจจัยเจ็ด ซึ่งในสมัยโน้นรถดัทสันที่เอามาทำเป็นแท็กซี่ มีราคาเพียงแปดหมื่นบาทเท่านั้น และผู้คนยังไม่เคยเห็นโทรศัพท์พกพา (มือถือ) และไม่มีสิ่งฟุ่มเฟือยมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
การจัดสรรงบประมาณที่ยกมาเป็นคตินั้น ก็น่าจะเพียงพอสำหรับชีวิตของคนธรรมดาได้เป็นอย่างดี
เพราะในสมัยนั้น คนไทยในเมือง ยังไม่รู้จักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง กันเลย.
###########
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
6 ธ.ค. 49 05:31:42
]