บันทึกของคนเดินเท้า
วันที่รอคอย
" เทพารักษ์ "
เมื่อ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๙ มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านที่ได้รับเลือกในครั้งนั้น ได้โฆษณาหาเสียง และให้คำมั่นสัญญาไว้หลายประการ คือ
กรุงเทพต้องน่าอยู่ มิใช่จำต้องอยู่
นโยบายขยะ ต้องเอาจริง เก็บ ๒ กะ แยกแล้วเผา
กทม.ร่มรื่น คืนธรรมชาติให้เมือง
เกือกม้ายกระดับ เกือกม้าใต้ดิน ลดการเลี้ยวขวา อีกพัฒนาหนึ่งของการแก้ไขจราจร
นโยบายรถรางเลียบคลอง ทำทันที ๓ ปีมีรถรางนั่ง ก่อสร้างได้ ไม่รบกวนจราจร
นโยบายถอนพิษ กำจัดภัย อุบัติภัย โศกนาฏกรรม สำรวจแล้ว พร้อมแก้ไข ทำได้ฉับไว เห็นผลทันที
พอถึง ๒๖ เมษายน ๒๕๔๑ มีการเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือเรียกย่อว่า ส.ก. ท่านผู้ว่ายังเป็นคนเดิม ท่านก็ช่วยคณะพรรคของท่านโฆษณาหาเสียง ด้วยนโยบายเดิม และที่สำคัญมากคือ นโยบายรถรางเลียบคลอง ท่านรายงานว่า
๓ มิถุนายน ๒๕๓๙ เริ่มแผนงาน
๓๐ กันยายน ๒๕๓๙ จัดงบประมาณ ๔๐ ล้านออกแบบ
๔ ตุลาคม ๒๕๓๙ ออกแบบแม่บท เสร็จใน ๑๐ เดือน
๔ เมษายน ๒๕๔๐ มหาดไทยเห็นชอบในหลักการ
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ กรุงเทพมหานครออกแบบก่อสร้างเสร็จใน ๖ เดือน
๖ สิงหาคม ๒๕๔๐ คจร.อนุมัติการสร้างรถรางเลียบคลองทั้งหมด ๑๑ สาย
๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ คจร.อนุมัติการก่อสร้างสายแรก ช่องนนทรี-พระราม ๓
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ กทม.ขึ้นทะเบียน ๑๐ บริษัท ที่จะประมูลการก่อสร้าง
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ กทม.ขออนุมัติไปยังคณะรัฐมนตรีเมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว ก็ดำเนินการคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง
เมื่อทำสัญญากับบริษัทแล้ว ๓๐ เดือนรถรางเลียบคลองสายแรกจะวิ่งได้
นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ ถึง ๒๕๔๓ อันเป็นปีที่ประชาชนทั่วโลก พากันตื่นเต้นในการขึ้นสหัสวรรษใหม่ของคริสต์ศักราชนี้ ชาวกรุงเทพมหานครได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ในทางที่จะเอื้อให้ประชาชนของมหานครนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
มีความสุขด้วยการปลอด จากมลพิษ ทั้งทางตาหูจมูกลิ้นกายใจมากขึ้น หลายอย่างหลายประการ อย่างเช่น
ความแปลกตาจากสองข้างทางเท้า และเกาะกลางถนน ที่มีต้นไม้ใหญ่น้อยทั้งที่ยืนต้นร่มรื่น และไม้ประดับสีสวยสดใส หลายสี่แยกได้มีป้ายโฆษณาแผ่นโตติดตั้งอยู่ และที่น่าสนใจก็คือสามารถเปลี่ยนแปลง ข้อความโฆษณาบนแผ่นป้ายนั้นได้ด้วย
ศาลาพักคนโดยสารรถประจำทางแบบใหม่ ซึ่งเข้ามาแทนที่แบบเก่าทำด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่เป็นสนิม มีที่นั่งยาวติดต่อกันทั้งหลัง เหมาะสำหรับให้ผู้ที่ไปบ้านไม่ถูก หรือไม่มีบ้าน ได้อาศัยนอนอย่างสบายตลอดคืน นอกจากแผงโฆษณาด้านหลังที่มีไฟสว่างไสวแล้ว ก็ยังมีนาฬิกาบอกเวลาที่เที่ยงตรง และตู้โทรศัพท์ ประจำทุกหลังอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีส้วมสาธารณะแบบทันสมัย เพิ่มขึ้นตามที่อันเหมาะสม อีกหลายแห่ง เป็นส้วมที่สะอาดโดยไม่ต้องมีคนเฝ้าดูแลบำรุงรักษา และอาศัยขายหนังสือพิมพ์กับขนมหรือของเบ็ดเตล็ดเหมือนที่มีอยู่เดิม ข้อสำคัญคือผู้พิการที่นั่งรถเข็นก็สามารถใช้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการอีกด้วย
ทางเท้าทั่วไปก็ได้รับการปรับปรุงให้เรียบร้อยขึ้น ที่เป็นแผ่นปูนซิเมนต์สี่เหลี่ยมใหญ่ ก็จะเปลี่ยนเป็นแผ่นตัวหนอน ที่เป็นตัวหนอนอยู่แล้วก็เปลี่ยนเป็น แผ่นปูนสี่เหลี่ยมเล็กที่มีขนาดหนากว่าเดิม และมีแผ่นสีเหลืองเป็นเส้น สำหรับขุดวางสายโทรศัพท์ หรือให้คนพิการทางสายตาเดินได้สะดวก และคนพิการที่นั่งรถเข็นใช้เป็นทางสัญจร
หรือใช้เป็นทางวิ่งของรถจักรยานสองล้อก็ได้ เพราะตรงส่วนที่เว้าปากตรอกซอกซอย ก็จะทำเป็นทางลาดลงและขึ้น เหมาะสำหรับรถ จักรยานผ่านได้อย่างสบาย
ถ้าทางเท้าเส้นนั้นไม่ได้กลายเป็นตลาดที่วางหาบเร่แผงลอยไปเสียก่อน
และบนทางเท้านั้นเอง ก็มีถังรองรับขยะหลายรูปแบบ ตั้งเรียงรายอยู่ มีทั้งขยะเปียกที่จะเน่าบูดเสีย ขยะแห้งที่สามารถไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ได้ และขยะที่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ให้ปะปนกัน รวมทั้งมีผู้ดูแลให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ในรูปแบบของเจ้าหน้าที่เทศกิจอีกไม่ใช่น้อย
และบนทางเท้าที่ได้รับการปรับปรุง ทั้งขยายและหดนั้น ก็ได้มีการเพิ่มตู้โทรศัพท์สาธารณะขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งโทรศัพท์หยอดเหรียญ โทรศัพท์ใช้บัตร ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และยังมีตู้โทรศัพท์สำหรับคนพิการที่นั่งรถเข็นเข้าไปใช้บริการด้วย
แม้จะไม่ทราบว่าผู้พิการที่นั่งรถเข็นจะออกมาที่ริมถนนนั้นได้อย่างไร เพราะ ขสมก.ก็เพิ่งจะคิดค้นรถโดยสารประจำทางที่มีทางลาด ให้รถเข็นชนิดนี้ขึ้นไปโดยสารได้ เพียงคันเดียว เท่านั้น
การก่อสร้างอาคารสูงถัดจากทางเท้าเข้าไป ก็มีที่ว่างเพิ่มขึ้นระหว่างก่อสร้างก็ต้องมีการป้องกันทางด้านข้าง ไม่ให้ฝุ่นละอองหรือเศษวัสดุลอยออกมาถึงผู้คนที่สัญจรไปมาอยู่บนถนนและทางเท้าได้ มีการปักป้ายประกาศห้ามขุดถนน และทางเท้า เป็นการรับประกันว่า จะไม่มีหลุมมีบ่อให้ผู้ไม่เดียงสาหล่นลงไปได้
นอกจากพวกที่ได้รับอนุญาตแล้ว เช่นไฟฟ้าประปาโทรศัพท์และบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งทำกันเป็นประจำอยู่ตลอดปี
มีการกำหนดเส้นทางจราจร ให้รถแล่นได้บางเวลา ไม่ได้บางเวลาเพื่อลดพิษภัยของควันจากท่อไอเสีย มีป้ายขอร้อง ตักเตือน และป้ายบังคับ เกี่ยวกับการจราจร มากมายจนผู้ขับขี่ยวดยานอ่านไม่ทัน นอกจากเวลารถติด
ทุกสี่แยกและสามแยก จะมีป้ายบอกชื่อแยกนั้นให้ทราบ เพื่อใช้ในการอ้างอิง หรือแจ้งข่าวการจราจร ทางสถานีวิทยุที่มีอยู่หลายสถานี
ถึงบัดนี้รถไฟฟ้าที่แล่นบนรางลอยฟ้าสายแรก ก็ได้ออกวิ่งให้บริการแก่ประชาชนไปแล้วตั้งแต่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ส่วนรถไฟใต้ดินก็ขุดเจาะอุโมงค์ใหญ่ขนาดตึกสามชั้น อยู่อย่าง ขะมักเขม้น โดยผู้ที่อยู่บนพื้นดินไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไร นาน ๆ ก็จะมีการรายงานผลทางโทรทัศน์ ว่าได้เจาะจากไหนทะลุไปถึงไหนแล้ว
แต่รถรางเลียบคลองก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แม้จะยังดีกว่ารถไฟยกระดับ จากสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพงถึงรังสิต และจากหัวลำโพงถึงหัวหมาก ซึ่งคงเหลืออยู่แต่ฐานเสาคอนกรีตโด่เด่ เป็นอนุสรณ์ให้รกตา
และพื้นที่ว่างริมเสาเหล่านั้นได้กลายเป็นถนนสายใหม่ ที่เรียกชื่อเป็นฝรั่งว่า LOCAL ROAD ไปแล้วก็ตาม
และในที่สุด เมื่อถึง ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเจ้าของความคิดที่จะสร้างรถรางเลียบลำคลองถึง ๑๑ สาย ก็ได้พ้นหน้าที่ไปตามวาระ โดยมิได้สมัครต่อ
และประชาชนคนกรุงเทพก็ได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ ซึ่งชนะใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้คะแนนเสียงท่วมท้นกว่าล้านคะแนน ลบสถิติการเลือกตั้งทุกชนิดที่เคยมีมาในประเทศไทย
ท่านผู้ว่าราชการคนใหม่นี้ ได้วางนโยบายการทำงานไว้ในตอนหาเสียง เป็นบทเป็นกลอนไว้หลายประการ เช่น
พัฒนาชุมชนแออัด
เรื่องชุมชนแออัดต้องจัดใหม่
อยู่อาศัยแฟลตจำเพาะต้องเหมาะสม
สนามเด็กมีศาลาประชาคม
ที่เหลือถมสร้างสวนไว้ให้ร่มเย็น
การศึกษาของกรุงเทพมหานคร
กทม.ศึกษามีที่ ป.๖
ใหม่จะยกเป็น ๙ ปีที่ ม.๓
ถ้าเชิดชูการศึกษาสง่างาม
จะพยายามถึง ม.๖ อย่าตกใจ
ถนนรอบกรุง
ทั้งวงแหวนนอกในท่านได้รู้
ส่วนวงกลางเค้าร่างอยู่ที่ตรงไหน
ใยแมงมุมโยงออกเชื่อมนอกใน
แม้งานใหญ่ผมก็กล้าเข้ามาทำ
ต้นไม้ริมทางและเกาะกลางถนน
พันธุ์ไม้งามตามถนนผู้คนชอบ
ทั้งเกาะกลางข้างขอบต้นไม้ใหญ่
ให้เขียวสดทั่วทุกย่านที่ผ่านไป
ยังปรับปรุงได้อีกมากผมอยากทำ
สนามกีฬาในกรุง
กรุงเทพมีที่เล่นกีฬาได้
แต่ยังขาดปัจจัยไว้ส่งเสริม
จะเกื้อหนุนทั้งเก่าใหม่ให้เพิ่มเติม
ไม่ฮึกเหิมแต่มั่นใจในกีฬา
สวนสาธารณะในกรุง
ทั่วกรุงเทพยังพอมีที่สร้างสวน
ถ้าชักชวนแลกที่ใหม่ให้เหมาะสม
สนามม้าสวนสัตว์ใหม่อีกหลายกรม
จะรื่นรมย์หากทุกฝ่ายร่วมใจกัน
โรงงานอุตสาหกรรม
เพราะโรงงานคนงานผูกกันไว้
หากแยกไปคนละทิศต้องคิดหนัก
เมืองบริวารบันดาลได้ไม่ไกลนัก
อุตสาหกรรมแบบไม่หนักจักคล่องตัว
คลองในกรุง
น้ำโสโครกนอนก้นคลองหมองหม่นจิต
ท้องคลองติดท่อใหญ่ต่ำน้ำคลำไหล
ไปปรับสภาพชลธารชานเมืองไกล
เป็นน้ำใสไหลกลับคลองไม่หมองมัว
มลพิษในกรุง
ทุกวันนี้มีกังวลเรื่องมลพิษ
ผมตามติดกลวิธีที่แก้ไข
เพียงเพิ่มท่อข้อต่อติดผลิตในไทย
ปลอดทั้งไอลดน้ำมันทันตาเห็น
ขยะในกรุง
ขยะล้นขนเท่าไหร่ถมไม่หมด
ลองกำหนดวิธีใหม่ใส่เตาเผา
ทั้งสามทิศชิดชานเมืองเรื่องไม่เบา
แต่ผมเฝ้าเกี่ยวข้องงานมานานปี
ยาเสพติด
ถ้าสังคมอ่อนแอแพ้ยาบ้า
จนพลังปวงประชาต้องหวั่นไหว
ขอชวนท่านพวกพ้องพี่น้องไทย
ฟาดมันให้หายหดหมดแผ่นดิน
ศูนย์อาหารในกรุง
พูดถึงเรื่องข้าวปลาและอาหาร
ทั้งคาวหวานถูกรสดีมีที่ไหน
ถ้าขายถูกแต่ขายดีมีกำไร
ศูนย์อาหารบันดาลไว้ใกล้ชุมชน
สุดท้าย
เพราะกรุงเทพวันนี้มีปัญหา
ผมสมัครขออาสาเข้าแก้ไข
เคยสั่งสมประสบการณ์มานานไกล
หวังทำงานเพื่อรับใช้ในคราวนี้
นโยบายทั้ง ๑๒ ข้อ ที่ผู้ว่าราชการคนหลังได้ตั้งไว้นั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนกรุงต้องการทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องรถรางเลียบคลองเลย
และเมื่อถึง ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็ได้มีรถไฟฟ้าใต้ดิน ให้บริการเป็นครั้งแรกแล้ว ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เปลี่ยนไปอีกคนหนึ่ง
ท่านผู้ว่าที่มีนโยบายจะสร้างรถรางเลียบคลอง ก็ได้ลงรับสมัครอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับเลือก
ดังนั้น ประชาชนหลายล้านคนในกรุงเทพมหานคร จึงต้องฝันถึงรถรางเลียบคลองกันต่อไป จนกว่าจะถึงวันนั้น
วันที่ชาวกรุงเทพสามารถจะเดินทางด้วยรถรางได้
ทั้งบนถนน บนฟ้า ใต้ดิน และริมคลอง
ซึ่งแม้จะนานสักเพียงใด ก็จะคอย.
##########
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
12 ก.พ. 50 06:10:12
]