Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    วิธีเอาชนะอุปสรรคในการเขียนงานต่างๆ

    อาการตื้อๆ เขียนไม่ออก ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้เขียนทั่วไป  ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอุปสรรคต่างๆ ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย  คือ เราอาจจะกังวล เครียด หรือรู้สึกล้า จนไม่สามารถเขียนต่อได้ และเพื่อป้องกันแก้ไขอาการเขียนไม่ออกนี้ เราจึงควร

    - ทำความกระจ่างกับตัวเราเองว่า อะไรคือสิ่งที่เราควรจะทำ โดยการย้อมกลับไปดูวัตถุประสงค์ในการเขียน และความต้องการของผู้อ่าน

    - อย่ากลัวคำวิจารณ์ของผู้อ่าน บางทีผู้เขียนก็กลัวว่าผู้อ่านจะไม่พอใจสิ่งที่ตนเขียน ดังนั้นจึงได้แต่จดๆ จ้องๆ ไม่ลงมือเขียนเสียที หรือไม่ก็เขียนๆ ลบๆ อยู่ตลอดเวลา จนงานไม่คืบหน้าไปไหน

    - ปรึกษาหารือคนใกล้ตัวเมื่อเกิดอาการติดขัด นี่เป็นวิธีที่จะช่วยให้เรามองเห็นความคิดของตัวเองชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังอาจได้ความคิด หรือข้อมูลใหม่ๆ มาเสริมอีกด้วย

    - เลือกหัวข้อที่คิดว่าตอนนั้นสามารถเขียนได้ขึ้นมาเขียน ไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงตามลำดับหัวข้อ

    - ลืมหัวข้ออื่นๆ ไปให้หมด ให้คิดถึงแต่หัวข้อที่เรากำลังเขียนเท่านั้น

    - เขียนให้เรียบง่ายไว้ก่อน เหมือนกับว่าเรากำลังพูดกับผู้อ่าน อย่าพยายามเขียนให้มันซับซ้อน ดูเป็นทางการ เพื่อทำให้ผู้อ่านประทับใจ หรือเพียงเพราะว่าคิดว่าควรจะเขียนแบบนั้น

    - ไม่ต้องกังวลเรื่องความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

    - อย่าบังคับตัวเองให้เขียนเรื่องเดียวตลอดทั้งวัน ถ้าเป็นไปได้ลองหางานเขียนเรื่องอื่นหรือหัวข้ออื่น เพื่อที่เราจะได้สามารถเปลี่ยนเรื่องเขียนบ้าง เมื่อเรารู้สึกล้ากับเรื่องเดิม

    - พักไว้ก่อน ถ้าไม่สามารถเริ่มต้นเขียน หรือไม่สามารถเขียนให้เสร็จได้

    - ทำอย่างอื่นสลับกับการเขียนบ้าง เช่น ตรวจแก้สิ่งที่เขียนไปแล้ว หรือค้นข้อมูลเพิ่มเติม

    - อ่านทวนสิ่งที่เขียน ว่าตรงกับวัตถุประสงค์ในการเขียนหรือไม่

    - หาสถานที่ที่เราสามารถเขียนได้ดี เช่น ห้องประชุมที่ไม่มีคนใช้งาน ห้องสมุด ฯลฯ

    - ก่อนเข้านอนให้ดูสิ่งที่เขียนไปแล้วแบบผ่านๆ ถือเป็นการสั่งให้จิตใต้สำนึกของเราคิดถึงเรื่องที่กำลังเขียนต่อไปในขณะที่เราหลับ

    - ให้รางวัลแก่ตัวเอง หลังจากเขียนงานบางส่วนเสร็จแล้ว โดยการไปเดินเล่น ฟังเพลง (พักผ่อนแบบไหนก็ได้ที่ไม่ต้องใช้สายตาและความคิด)

    - ปรับแสงสว่างในบริเวณที่เขียนหนังสือให้สบายตา

    - ปรับหรือเปลี่ยนเก้าอี้ ให้เหมาะสมกับสรีระของเรา เวลานั่งนานๆ จะได้ไม่เมื่อย

    - ยืดแข้งยืดขาบ้าง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังจากนั่งอยู่นานๆ

    - หายใจลึกๆ ช้าๆ ไม่ต้องคิดอะไรสักพักหนึ่ง หัวสมองจะได้กลับมาปลอดโปร่งอีกครั้ง

    “ผู้เขียนที่ดีไม่ใช่คนที่สามารถใส่คำศัพท์ยากๆ ลงในงานเขียนของตนได้มากมาย แต่เป็นคนที่สามารถใช้คำได้ง่ายๆ และเชี่ยวชาญ”
            - Gustav Hasford

    จากหนังสือ “ฟัง คิด อ่าน เขียน”
    สำนักพิมพ์เอ็กซเปอร์เน็ท

    จากคุณ : CreativeWay - [ 2 เม.ย. 50 15:24:02 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom