Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    Prime ROBOT - หุ่นแรก

    คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓/๒๕๙๙
    วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๙๙


    เรื่อง ประธานรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คุณสมบัติของ นายบุญปกปกรณ์ เดชมนูมหาชัยโกมล เลเกอร์ นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๒๑๖ วรรคสอง

    ความเป็นมาแห่งคำร้อง


    ประธานรัฐสภา เสนอคำร้อง ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๙๙ กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนหนึ่งร้อยสามสิบห้าคน เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาว่า นายบุญปกปกรณ์ เดชมนูมหาชัยโกมล เลเกอร์ ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๒๐๖ เนื่องจากไม่มีสภาพบุคคล เนื่องจากถือว่าเป็นหุ่นยนต์ ตามพระราชบัญญัติหุ่นยนต์และสิ่งเทียมอวัยวะ พ.ศ. ๒๕๙๔ มาตรา ๓ (๑) และมาตรา ๖

    ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจรับคำร้องแล้ว พิจารณาเห็นว่าประธานรัฐสภานั้นมีอำนาจในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆได้ ตามบัญญัติแห่งมาตรา ๒๑๖ วรรคสอง ตามคำความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของแต่ละสภา หรือสองในห้า กรณีของสองสภารวมกัน ศาลจึงรับคดีเข้าไว้ในกระบวนพิจารณา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์

    ข้อเท็จจริงจากการพิจารณา

    คำร้องกล่าวหา :

    นายวิชัย นิยมธนากุล
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นข้อกล่าวหาเป็นเอกสารและด้วยวาจา รวมกันได้ความว่านายกรัฐมนตรี คือนายบุญปกปกรณ์ เดชมนูมหาชัยโกมล เลเกอร์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๗๓ (ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า นายปกรณ์ มหาชัยโกมล) ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังนิยมไทย ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายจากประชาชน แม้ว่าจะมีความพยายามกล่าวหา และตรวจสอบว่านายปกรณ์ได้รับเลือกตั้งมาเพราะการกระทำทุจริตก็ตาม

    อย่างไรก็ตาม เมื่อดำรงตำแหน่งได้สามปี นายปกรณ์ได้ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอดและหลอดอาหาร จึงต้องเดินทางไปเปลี่ยนปอดและหลอดอาหารจักรกล ที่ประเทศสหภาพยุโรป และได้เปลี่ยนชื่อจากปกรณ์ เป็น บุญปกรณ์ มหาชัยโกมล เพื่อเป็นศิริมงคล ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๗๖


    หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี หรือนายบุญปกกรณ์ในขณะนั้น ได้เข้ารับการรักษาและผ่าตัดหลายต่อหลายครั้งดังต่อไปนี้

    - ปี ๒๕๘๐ ได้เปลี่ยนระบบกล้ามเนื้อใหม่ทั้งหมดเป็นระบบกล้ามเนื้อกลทำจากไฮเปอร์ซิลิโคน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งเปลี่ยนนามสกุลเป็น มนูมหาชัยโกมล

    - ปี ๒๕๘๗ ได้เปลี่ยนระบบการย่อยอาหารเป็นระบบสังเคราะห์พลังงานอาหารให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ที่ประเทศสหรัฐเชื้อชนจีน  พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บุญปกปกรณ์

    - ปี ๒๕๙๐ ได้เปลี่ยนระบบกระดูกเป็นไทเทเนี่ยม และระบบหัวใจกล ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เฮลท์ รียูเนี่ยน ภายใต้การกำกับดูแลจากทีมแพทย์จากสหภาพยุโรปและสหภาพแปซิฟิก-สิปัง (ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เดิม)

    และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๙๙ นายบุญปกปกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนสมองเป็นระบบสมองอิเลกทรอนิกส์ รุ่น อิเมจิเนอร์ ดูอัล จากบริษัทอินเทล ที่โรงพยาบาลสระแก้วอินเตอร์เซอเจอรี โดนยคณะแพทย์จากประเทศกัมพูชา และวิศวกรจากอินเทล สหรัฐอเมริกา การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดี นายบุญปกปกรณ์เปลี่ยนนามสกุลเป็น เดชมนูมหาชัยโกมล เลเกอร์ โดยนำชื่อ เลเกอร์ มาจากหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ผ่าตัด นายบุญปกปกรณ์ประกาศว่า ด้วยการผ่าตัดครั้งนี้และที่ผ่านมา จะทำให้ตนสามารถมีชีวิตต่อไปได้อีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยปี และจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ตราบเท่าที่พ่อแม่พี่น้องจะไว้วางใจเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งก็เป็นไปได้ เนื่องจากนายบุญปกปกรณ์นั้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองไทยโดยไม่มีใครเทียบติด แม้ว่าจะไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเลยก็ตาม รวมทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดอายุสูงสุดของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

    ในการนี้ คณะทำงานกฎหมายของพรรคพิจารณาแล้วเห็นว่า นายบุญปกปกรณ์สิ้นสภาพบุคคลแล้ว เนื่องจากเป็นหุ่นยนต์ตามนิยามของ พระราชบัญญัติหุ่นยนต์และสิ่งเทียมมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๙๔ มาตรา ๓ (๑) และมาตรา ๖ จึงรวบรวมรายชื่อของสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เสนอความเห็นตามทางการต่อประธานรัฐสภา เพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากหมดความเป็นมนุษย์ ไม่มีสภาพบุคคล

    คำต่อสู้ให้การ :

    นายมาร์ติน สตีเฟนสัน
    ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ได้ต่อสู้ในประเด็นที่ว่า รัฐธรรมนูญไม่กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า ห้ามหุ่นยนต์ หรือมนุษย์ผู้ใช้สิ่งเทียมมนุษย์ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องยกประโยชน์ให้ผู้ถูกร้องตามหลักกฎหมายมหาชนทั่วไปที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ ที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลมิได้เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดแจ้ง นอกจากนั้น นายบุญปกปกรณ์ นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สิ้นสภาพมนุษย์ แม้ร่างกายส่วนใหญ่จะเป็นจักรกลเทียมมนุษย์หมดแล้วก็ตาม เนื่องจากแต่เดิมนั้น นายบุญปกปกรณ์ก็เคยเป็นมนุษย์ปกติผู้มีเลือดเนื้อ อย่างน้อยก็ก่อนสมัครรับเลือกตั้งวันแรกท่านนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาตลอดเวลากว่ายี่สิบปีที่อยู่ในวงการการเมือง การผ่าตัดร่างกายใส่จักรกลเทียมมนุษย์นั้นก็เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด ขอให้ศาลโปรดพิจารณาด้วยความเมตตาด้วย

    ประเด็นพิจารณา

    ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีประเด็นต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

    ๑. รัฐธรรมนูญห้ามหุ่นยนต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีหรือไม่

    ๒. นายบุญปกปกรณ์ ถือว่าเป็นหุ่นยนต์ ตามนิยามของพระราชบัญญัติหุ่นยนต์และสิ่งเทียมอวัยวะ พ.ศ. ๒๕๙๔ หรือไม่

    ประเด็นที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๕) บัญญัติคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ไว้ตามมาตรา ๒๐๖ ดังนี้

    “... มาตรา ๒๐๖ รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

    (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด หรือโอนสัญชาติไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี
    (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์
    (๓) (ยกเลิกตาม รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๕๐)
    (๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามคุณลักษณะของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๙ (๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง
    (๖) ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเนื่องจากลาออกมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
    (๗) ไม่เป็นเจ้าของ ผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือมีผู้ถือหุ้นแทน ในกิจการค้า ธุรกิจ หรือกิจการหากำไรในทางอื่นใด...”


    จะเห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น “มนุษย์” แต่ในหลักทั่วไปแห่งกฎหมายแล้ว ผู้ทรงสิทธิ  
    ในทางแพ่ง หรือทางมหาชนก็ตาม จะต้องเป็น “มนุษย์”
    ที่มีสภาพบุคคล เพราะหาไม่แล้วพืช สัตว์ และสิ่งของทั้งมีชีวิตก็จะมีสิทธิในทางกฎหมายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังมิเคยมีการยอมรับในระบบกฎหมายใดซึ่ง พระราชบัญญัติหุ่นยนต์และสิ่งเทียมอวัยวะ พ.ศ. ๒๕๙๔ มาตรา ๖ บัญญัติไว้ว่า

    “... มาตรา ๖ หุ่นยนต์ ตามนิยามแห่งมาตรา ๓ (๑) และหุ่นเทียมชีวิต ตาม (๒) มิให้ถือว่ามีสภาพบุคคล

    เจ้าของหุ่นยนต์อาจมีสิทธิเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด หรือเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีที่มีผู้กระทำการอันละเมิดต่อกฎหมายแก่หุ่นยนต์ของผู้นั้นได้

    กรณีที่หุ่นยนต์มีภูมิปัญญาพอที่จะเข้าร้องทุกข์แจ้งความหรือฟ้องคดีตามกฎหมาย ท่านว่าอาจทำได้ โดยให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้เป็นเจ้าของผ่านการดำเนินการของหุ่นยนต์นั้น... “


    ดังนั้นในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงพิจารณาแล้วเห็นว่า หุ่นยนต์นั้นมิได้ มีสภาพบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิใดๆในทางการเมืองการปกครอง ดังนั้นหุ่นยนต์จึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

    ประเด็นที่สอง การพิจารณาว่าบุคคลเป็นหุ่นยนต์หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติหุ่นยนต์และสิ่งเทียมอวัยวะ พ.ศ. ๒๕๙๔ มาตรา ๓ ดังนี้

    “...มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
    (๑) “หุ่นยนต์” หรือ “โรบอต” หมายถึง เครื่องจักรกลที่มีระบบอัตโนมัติ สามารถตัดสินใจในการดำเนินการตามหน้าที่เองได้ด้วยระบบตรรกะภายใน หรือโดยการควบคุมของมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ มิให้รวมถึงยานพาหนะที่มีระบบนำร่อง หรือระบบขับอัตโนมัติ และไม่รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์  
    (๒) “หุ่นเทียมชีวิต” หรือ “แอนดรอยด์” หมายถึงหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเลียนแบบมนุษย์ สัตว์ หรือพืช  

    (๓) “สิ่งเทียมอวัยวะ” หมายถึงอวัยวะจักรกล หรืออวัยวะในระบบหุ่นยนต์ที่สามารถใช้แทนที่อวัยวะของบุคคล ทั้งนี้อวัยวะดังกล่าวจะสามารถทำงานเองได้โดยระบบตรรกะภายใน หรือโดยการควบคุมของมนุษย์ก็ได้...”


    พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้อวัยวะส่วนใหญ่ของนายกรัฐมนตรีนั้นจะเป็นเครื่องจักรกล รวมทั้งสมองด้วย แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า เครื่องจักรที่ประกอบเข้ากับนายกรัฐมนตรีนั้น ถูกประกอบเข้าไปในร่างกายภายหลัง เป็นครั้งคราวไป ดังนั้นเท่ากับว่านายกรัฐมนตรีคือมนุษย์ซึ่งใช้สิ่งเทียมอวัยวะ คืออวัยวะจักรกลทั้งหลายเท่านั้น ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ประกอบโดยตรงจากโรงงาน


    นอกจากนี้ตามรายงานของแพทย์ แม้อวัยวะภายในเกือบทั้งหมดของนายกรัฐมนตรีจะถูกทดแทนด้วยสิ่งเทียมอวัยวะ แต่ก็ยังมีอวัยวะภายในอวัยวะหนึ่งที่ยังเป็นอวัยวะแท้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นคือไส้ติ่ง ซึ่งยังคงไว้ในช่องท้องต่อกับระบบลำไส้จักรกล จึงเป็นหลักฐานที่ดีที่ยืนยันว่านายกรัฐมนตรียังมีความเป็นมนุษย์อยู่ เสมือนผู้ใช้แขนขาเทียม ซึ่งในพระราชบัญญัติหุ่นยนต์ฯ มิได้ระบุว่าใช้สิ่งเทียมอวัยวะได้ไม่เกินเท่าไร จึงสิ้นสภาพบุคคล

    ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจึงตัดสินว่า นายบุญปกปกรณ์ เดชมนูมหาชัยโกมล เลเกอร์ยังไม่สิ้นสภาพบุคคล เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นหุ่นยนต์ ตามพระราชบัญญัติหุ่นยนต์และสิ่งเทียมมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๙๔ จึงไม่กระทบกระเทือนต่อสถานภาพและการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

    วินิจฉัยยกคำร้อง.

    นายทรงธรรม จาตุรรรรัศมี

    ประธานศาลรัฐธรรมนูญ


    ............................................................

    แก้ไขเมื่อ 07 พ.ค. 50 16:24:19

    แก้ไขเมื่อ 07 พ.ค. 50 09:14:38

    จากคุณ : Players - [ 7 พ.ค. 50 09:14:16 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom