Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    สองผู้น่ารักในวงวรรณกรรม (บันทึกของคนเดินเท้า)

    บันทึกของคนเดินเท้า

    สองผู้น่ารักในวงวรรณกรรม

    “ เทพารักษ์ “

    เมื่อได้อ่านเรื่อง อาลัยการจากไปไม่มีวันกลับของ คุณวิลาศ มณีวัต โดย คุณสละ ลิขิตกุล ในต่วยตูน ฉบับมกราคม ๒๕๔๗ ปักษ์หลังแล้ว ก็ทำให้หวนระลึกนึกถึง คุณประหยัด ศ. นาคะนาท ด้วย เพราะท่านทั้งสองนี้ได้มีชื่อเสียงคู่กันมา ตั้งแต่เมื่อห้าสิบปีก่อน

    ครั้งที่เปิดชมรมนักประพันธ์ขึ้นที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ ของบริษัทไทยพานิชยการ ซึ่งมีคุณอารีย์ ลีวีระ เป็นเจ้าของ  คุณประหยัด ศ.นาคะนาท นั้นเป็นประธานชมรม และ คุณวิลาศ มณีวัต เป็น          เลขานุการชมรม

    คุณวิลาศได้บันทึกเรื่องราวของชมรมนักประพันธ์ ไว้ในหนังสือวงวรรณกรรมของ คุณประกาศ วัชราภรณ์ ว่า

    ชมรมนักประพันธ์ที่สีลม ได้เริ่มพบปะและอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เมื่อปลายเดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ โดยมี ประหยัด ศ.นาคะนาทเป็นประธานของชมรม กำลังสำคัญอีกคนหนึ่งในการวิ่งเต้นช่วยเหลือประสานงานของเราก็คือ ประจวบ กาญจนลาภ

    ทั้งนี้โดยการสนับสนุนของ คุณอารีย์ ลีวีระ ผู้อำนวยการของเครือหนังสือพิมพ์ สยามนิกร พิมพ์ไทย สยามสมัย สำหรับข้าพเจ้านั้น เพื่อนฝูงขอให้ช่วยเป็นเลขานุการวิ่งเข้า ๆ ออก ๆ อยู่ บางทีก็ต้องไปพบคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง แล้วก็นำความคิดเห็นของหลาย ๆ ฝ่ายมาพิจารณาดูว่า ชมรมนัดต่อไปที่จะมีขึ้นนั้น สมควรจะพูดกันเรื่องอะไร เพราะแม้จะจัดเป็นรูปกันเอง ก็ควรจะมีหัวข้อเสียหน่อย

    คุณวิลาศได้ยกคำพูดของประธานชมรม ที่กล่าวถึงความมุ่งหมายของชมรม มาบันทึกไว้ว่า

    เลขานุการของชมรมได้รับคำถามบ่อย ๆ เกี่ยวกับความมุ่งหมายของชมรมนักประพันธ์ ข้าพเจ้าขอแถลงอีกครั้งหนึ่งในที่นี้ว่า ชมรมนักประพันธ์เป็นแหล่งกลางของนักประพันธ์ เพื่อจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อประโยชน์แก่งานประพันธ์ ตั้งขึ้นก็เพื่อประโยชน์ของนักประพันธ์โดยแท้ เบื้องหลังนั้นไม่มีอะไร ชมรมอาจจะอยู่ต่อไปอีกสิบปี ก็จะมีความมุ่งหมายเพียงนั้น เราเคยได้รับคำถามบ้างเหมือนกันว่า ชมรมเป็นซ้ายหรือขวา ข้าพเจ้าขอตอบว่า ชมรมนี้เป็นแหล่งรวมความคิดเห็นทางการประพันธ์ ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ไม่ใช่พรรคก้าวหน้า และไม่ใช่พรรคถอยหลัง หรือพรรคที่ไปข้าง ๆ คู ๆ ก็ไม่ใช่

    คุณประหยัด ศ.นาคะนาท เกิดเมื่อ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๕๗ เดิมชื่อ ประหยัดศรี นาคะนาท ในรายการครอบจักรวาล ของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เล่าไว้ว่า

    เมื่อตอนยุครัฐนิยม จอมพล ป. พิบูลสงคราม บังคับให้เปลี่ยนชื่อที่ไม่ตรงตามเพศ เช่นคำว่าศรี ต้องเปลี่ยนเสีย คุณประหยัดไม่มีทางเลี่ยงก็เลยไม่ใช้คำว่าศรี แต่ใช้คำว่า ศ ศาลาแทน เอาอีกละครับ ศ ศาลา ตอนนั้น จอมพล ป.ท่านก็ไม่ให้ใช้ ท่านบอกฟุ่มเฟือย มี ส เสือ ษ ฤๅษี ศ ศาลา เอามัน ส.เดียว ก็คือเหลือ ส เอาไว้ ประหยัดศรีก็เลยต้องเป็นประหยัด ส. พอหลังจาก จอมพล ป. หมดอำนาจก็กลับมาใช้ตัว ศ ศาลา ตามเดิม

    ส่วนผมนั้นเป็นชื่อพระราชทาน ชื่อถนัดศรี เปลี่ยนไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความขัดข้องติดขัด เป็นอุปสรรคหลายอย่าง จะไปเข้าที่โน่นเข้าที่นี่อย่างโรงเรียนทหารเขาก็ไม่รับ เพราะว่ามีชื่อเป็นผู้หญิง ผมก็ใช้ถนัดศรีมาตลอดเวลา

    แต่ทำไมเวลาผมเริ่มเขียนแนะนำอาหาร “เชลล์ชวนชิม” ถึงใช้นามปากกาว่า ถนัดศอ ก็ไม่ใช่คนอื่นไกลละครับ คุณประหยัดนี่เอง เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งเปิดคอลัมน์ให้ผมได้เขียน เมื่อปี ๒๕๐๔ เดือนตุลาคม

    คุณประหยัด ศ.นาคะนาท ใช้นามปากกาหลายนามเช่น “เกลือ”  “นายประโดก” ปรูม บางกอก และ “กา” แต่นามปากกาที่แพร่หลายที่สุด มีผู้รู้จักมากที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุดคือ       “นายรำคาญ”

    คุณประหยัดได้เริ่มเขียนหนังสือ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ใช้นามปากกาว่า “นายรำคาญ” โดยคิดขึ้นเองไม่มีความหมายอะไร เพียงแต่ให้เป็นนายอะไรสักคน เพราะเขียนเรื่องแบบเดียวกับ “นายฉันทนา” (มาลัย ชูพินิจ)

    ซึ่งท่านได้เล่าไว้ในเรื่อง ข้าพเจ้ามาเป็นนักเขียนได้อย่างไรก็ไม่รู้ ว่า

    ข้าพเจ้ายังแข็งใจยืนยันว่าไม่เคยนึกอยากเป็นนักเขียนมาก่อนจริง ๆ แต่ก็มารู้สึกว่าเป็นหน้าที่เอาในตอนที่ ประชาชาติรายสัปดาห์ เกิดขึ้นมา ดูเหมือนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ มีคอลัมน์ใหญ่เต็มหน้าอยู่คอลัมน์หนึ่งชื่อ “ตามใจท่าน” ก็เป็นข้อเขียนในแนวหัสการ คือทั้งเสียดสีตลกขบขัน ประเภทที่อ่านแล้วต้องยิ้มอยู่คนเดียว หรือบางทีก็ปล่อยก้ากออกมาคนเดียว ที่ท้ายคอลัมน์ลงนามปากกาว่า “นายอ๊อบ” ซึ่งพอข้าพเจ้าเห็นเข้าก็ตรัสรู้ทันทีว่า ต้องไม่ใช่ใครที่ไหน ต้องเป็นคุณครูอบ ไชยวสุ แน่ ๆ

    ตอนนั้น(อีกที) ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักตัวครูอบ ไชยวสุ มีโอกาสได้รู้จักก็แต่คุณครูมาลัย ชูพินิจ เมื่อเอาต้นฉบับไปส่งด้วยตนเองที่ “ประชาชาติ” ถนนหลานหลวง ดูเหมือนเพียงสองครั้ง แต่ข้าพเจ้ารู้มาได้ยังไงก็ไม่รู้ว่า “ฮิวเมอร์ริสต์” ที่เขียนเรื่อง “ช้างหาย” ลงใน “สุภาพบุรุษรายปักษ์” ซึ่งข้าพเจ้าอ่านแล้วหัวร่อแทบชักนั้น คือคุณครูอบ ไชยวสุ

    นายอ๊อบ เขียนอยู่ไม่กี่ครั้งก็หยุดไป เพราะอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าไม่มีอะไรอ่านสนุก ๆ ก็เลยเขียนเสียเอง แล้วส่งต้นฉบับไปให้คุณครูมาลัย ชูพินิจ ไม่กล้าไปใส่ชื่อคอลัมน์เอาเองว่า “ตามใจท่าน” แต่แล้วในฉบับต่อมาคอลัมน์ “ตามใจท่าน” ก็กลับมาอีกโดยมีเรื่องเซี้ยว ๆ ของ “นายรำคาญ” ลงแทน “นายอ๊อบ” แล้วข้าพเจ้าก็เขียนในคอลัมน์ “ตามใจท่าน” มาเรื่อย ๆ

    คุณประหยัด ศ.นาคะนาท เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ บางกอกรายปักษ์ บางกอกรายวัน สยามสมัย พิมพ์ไทยวันจันทร์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และ สยามิศร์ รายวันและรายสัปดาห์

    นายรำคาญ เขียนทั้งบทขำขัน หัสนิยาย บทความการเมือง และสารคดี เคยเขียนหนังสือและรวมเล่มคือ เที่ยวไปกับนายรำคาญ, เที่ยวเขมรกับคึกฤทธิ์, ละคอนลิงแห่งชีวิต, ลิเกแห่งชีวิต, เรื่องอย่างว่า, เรื่องนี้นางเอกมีหนวด, พระเอกเป็นนักสืบตำรวจเป็นผู้ร้าย และ ผีโป่งที่ป่าร่อน

    คุณวิลาศ มณีวัต นั้นเกิดเมื่อ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๖๗ ที่อำเภอเมือง จังหวัด  สุราษฎร์ธานี อ่อนกว่าคุณประหยัด ศ.นาคะนาท เกือบสิบปี ท่านใช้หลายนามปากกาในการเขียนหนังสือ เช่น วิไล วัชรวัต “หมวกเบอร์เจ็ด“ “โอฬาร“ “รุ่งกานต์” “ฉางกาย”  เขียนหนังสือได้หลายแบบ ทั้งนวนิยายและเรื่องสั้น สารคดีชีวิต ผลงานของบุคคล สารคดีต่างแดน ปกิณกคดี ข้อคิดเชิงศาสนาและปรัชญา

    และท่านเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับเช่น นิกรวันอาทิตย์ นครสาร และ “ชาวกรุง” ซึ่งออกฉบับแรกเมื่อ ตุลาคม ๒๔๙๔  คุณประยอม ซองทอง ได้กล่าวไว้ว่า

    เมื่อกล่าวถึง ชาวกรุง แล้ว ย่อมจะเว้นกล่าวถึงผู้เป็นบรรณาธิการคนแรกมิได้ นั่นคือ วิลาศ มณีวัต ชายผู้มีใบหน้ายิ้มเยือกเย็นตลอดกาล เสมือนว่าแม้ยามนอนก็จะยิ้มพริ้มพราย ด้วยลักยิ้มที่แสดงอารมณ์ขันอันสุนทรีตลอด พิสูจน์จากผลงานของชายผู้นี้ ไม่ว่าในนามปากกา “ฉางกาย” “หมวกเบอร์เจ็ด” “นภาพร” วิไล วัชรวัต ย่อมทำให้ผลสรุปลงตามคำขวัญที่ว่า “หัวเราะทุกเวลา ปรมาลาภา”

    น่าเสียดายที่วัยวันทำให้ชายใจดี ไม่มีชื่อคอลัมน์ดี ๆ มาให้เราเห็นอีกเหมือนอย่าง “หยุดกรุงเทพฯหน่อยเถิดผมจะลง” “รถรางสายรอบเมือง” แม้ชื่อนวนิยาย “ความรักไม่มีพรมแดน” และที่ไม่มีใครลืมได้เป็นอันขาดคือชื่ออมตะ “สายลมแสงแดด” ซึ่งเป็นชื่อคอลัมน์อันจับใจ และเป็นหนังสือที่พิมพ์แล้วพิมพ์อีก จนนับครั้งไม่ถ้วน

    สำหรับคอลัมน์ “สายลม-แสงแดด” ของคุณวิลาศนั้น อาจารย์รัญจวน อินทร       กำแหง ได้วิจารณ์ไว้ว่า

    อาจจัดเข้าในประเภท “ธรรมะนอกวัด” ได้ คนฟังหรือคนอ่านจะไม่รู้สึกง่วงซบเซา เพราะผู้เขียนไม่ได้จงใจเทศน์ดังที่ได้กล่าวแล้ว ถ้าอยากจะมองโลกให้เป็นสีชมพู ในท่ามกลางสีเทาหรือสีดำ จะลองอ่าน “สายลม-แสงแดด” สักวันละหนึ่งหรือสองบท เชื่อว่าจะสามารถเปล่งเสียงหัวเราะออกมาได้ แม้ครั้งแรก ๆ จะฝืน แต่ไม่ช้าเสียงหัวเราะนั้น จะหลั่งไหลออกมาเอง แต่อย่างไรก็ตาม ลองเชื่อ วิลาศ มณีวัต สักอย่างว่า

    “ อย่าถกเถียงปัญญหาธรรมะกับใคร เถียงแล้วก็เกิดกิเลส เพราะอยากจะเป็นฝ่ายชนะ เรายึดหลักง่าย ๆ ว่าเมตตาตัวเดียวก็พอแล้ว ใครจะว่าเราไม่แตกฉานเรื่องธรรมะ…..ช่างเขา คนที่รู้แล้วไม่ปฏิบัติ น่าสงสารมาก เราจงแผ่เมตตาให้เขากันเถิด “

    ส่วนเรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในยุคปัจจุบัน ต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้ง ก็คือ “พระราชอารมณ์ขัน” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม ๒๕๓๙ โดยสำนักพิมพ์ บริษัท พี.วาทิน  พับลิเคชั่น จำกัด ซึ่งได้บรรจงจัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ห้าสิบ เพื่อเทิดรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อชาติและประชาชนไทย อย่างเอนกอนันต์

    คุณประหยัด ศ.นาคะนาท ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๕ อายุแปดสิบเจ็ดปีเศษ

    ส่วนคุณวิลาศ มณีวัต  ถึงแก่กรรมเมื่อ  ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ อายุเกือบแปดสิบปี ในเวลาที่บันทึกนี้ ท่านได้เสียชีวิตมาครบรอบปีพอดี

    ทั้งคุณประหยัด ศ.นาคะนาท และ คุณวิลาศ มณีวัต มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ

    ต่างก็มีอารมณ์ขันอันเหลือเฟือด้วยกันทั้งคู่.

    #########

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 18 พ.ค. 50 14:33:22 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom