บันทึกของคนเดินเท้า
เรื่องที่น่าจดจำ
วันเฉลิมฉลองครบ ๖๐ ปี การครองสิริราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ผ่านไปแล้วเมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
เราก็ควรจะรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอีกพระองค์หนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับเดือนมิถุนายน เหมือนกัน แต่เป็นการระลึกถึงด้วยความรู้สึกตรงข้ามกัน
พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นก็คือ พระเปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๘ แห่งบรมราชจักรีวงศ์
พระองค์ท่านมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้า อานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ตรงกับรัชกาลที่ ๖
ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ประกาศสถาปนาให้ยกขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ตั้งแต่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๐
และได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาล ที่ ๘ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ เนื่องจากรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ
ซึ่งขณะนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมายุ ๘ พรรษาเศษ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานัทมหิดล ขณะที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันประกอบด้วย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานัทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาเยี่ยมประเทศไทยครั้งแรก โดยเรือเดินสมุทรชื่อ เมโอเนีย ตั้งแต่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๘๑
ถึงเกาะสีชังเช้าวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๑
แล้วเสด็จลงประทับเรือหลวงศรีอยุธยา มาถึงท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เป็นเวลา ๕๙ วัน จึง เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ได้เสด็จออกจากกรุงเทพมหานคร โดยเรือหลวงแม่กลอง เมื่อ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๑ (ขณะนั้นขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน) เวลา ๐๗.๐๔ นาฬิกา
แล้วเปลี่ยนไปประทับเรือเดินสมุทรชื่อ ซีแลนเดีย ที่เกาะสีชัง ไปขึ้นบกที่เมืองท่ามาเซลล์ เสด็จต่อทางรถไฟถึงเมืองโลซานน์ ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑
ต่อมาถึง ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานัทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้ง โดยกองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินถวายเป็นพระราชพาหนะรับเสด็จจากเมืองกัลกัตตาประเทศอินเดีย เสด็จถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา
ในคราวนี้ทรงมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษาเศษ รัฐบาลได้ตระเตรียมที่จะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้แล้ว และทรงมีกำหนดจะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙
เมื่อได้ปฏิบัติพระราชกรณีกิจต่าง ๆ จนถึง วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ก็ได้เสด็จสวรรคต โดยไม่มีผู้ใดคาดฝัน ยังความทุกข์โศกให้แก่ปวงพสกนิกรทุกถ้วนหน้าอย่างหาที่เปรียบมิได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์แล้ว ได้เฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานัทมหิดล ว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๙
และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๙๓ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ท่านกลางพสกนิกรที่จงรักภักดีและเทิดทูนบูชา อย่างเนืองแน่นมืดฟ้ามัวดิน
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงอัญเชิญพระบรมราชสริรางคาร มาประดิษฐานในผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระพุทธปฏิมาประธาน ในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม
เรื่องทั้งหมดนี้ได้เก็บมาจากหนังสือที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก สำราญ แพทยกุล องคมนตรี จัดพิมพ์โดย มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๙
ท่านที่สนใจในรายละเอียด โปรดหาอ่านได้ในหอสมุดแห่งชาติ.
##########
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
9 มิ.ย. 50 14:18:27
]