ความคิดเห็นที่ 68
อีกซักข่าว ดีกว่า เผื่อมีคนขยันอ่าน ...
อันนี้ย้าววว ยาว พุทรเองก็อ่านไม่จบ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - --
1 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สังคมไทยเรียนรู้อะไร?
สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ก่อนครบ 1 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร?” เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ดำเนินรายการ
“ระบอบอุปถัมภ์คืออุปสรรคต่อการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตย
และการสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม”
จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า 11 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เขาเรียนรู้มี 4 ข้อ คือ หนึ่ง ความขัดแย้งที่ฝ่ายภาคประชาชนเคยมีกับรัฐบาลทักษิณ กับความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว ในปัจจุบัน เป็นคนละเรื่อง
ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น องค์กรภาคประชาชนจำนวนมากต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณในหลายประเด็น ได้แก่ การที่รัฐบาลทักษิณพยายามควบคุมสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อมวลชน หรือพื้นที่เปิดรับฟังความเห็นของประชาชน โดยใช้อิทธิพลและสื่อของรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ที่องค์กรรัฐภายใต้รัฐบาลทักษิณฆ่าประชาชนจำนวนมาก กรณีกรือเซะ ตากใบ การสังหารทีมฟุตบอลสะบ้าย้อย การใช้นโยบายยาเสพติดเปิดไฟเขียวให้ตำรวจฆ่าประชาชน จนกระทั่งกรณีสงครามยาเสพติด ที่ประชาชนซึ่งถูกสังหารกว่า 2,000 รายไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความจริง การใช้อำนาจเข้าครอบงำระบบรัฐสภาอย่างผิดกฎหมาย เช่น เอาคนของตัวเองเข้าไปในองค์กรอิสระ ทำลายระบบตรวจสอบตัวเองทั้งหมด
นี่คือตัวอย่างของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มีคะแนนเสียงท่วมท้น สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างมาก แต่กลับอาศัยคะแนนเสียง อำนาจอิทธิพลสร้างฐานอำนาจของตัวเอง ลดพื้นที่รับฟังความเห็นภาคประชาชน ถึงขั้นผลักดันนโยบายจำนวนมาก โดยไม่สนใจว่า ประชาชนจะรับได้หรือไม่ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้า การผลักมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดังนั้น รัฐบาลทักษิณจึงไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐบาลที่อยู่ได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารที่เกิดขึ้น แม้ด้านหนึ่งโล่งใจที่รัฐบาลทักษิณหมดไป แต่ก็ไม่คิดว่าจะชอบการหมดไปด้วยวิธีการรัฐประหาร เพราะเชื่อมาตลอดว่า รัฐบาลทักษิณสามารถล้มได้ด้วยพลังภาคประชาชน ด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย การต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 เหตุการณ์ พ.ค. 35 มันพิสูจน์แล้วว่าพลังภาคประชาชนสามารถแก้วิกฤตในสังคมได้
แต่ปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นความขัดแย้งของ 2 ยักษ์ใหญ่ ระหว่างอิทธิพลของรัฐบาลทักษิณและกลุ่มคนที่อยู่ใต้อาณัติอุปถัมภ์ของรัฐบาลทักษิณ กับกลุ่มคนที่อยู่ใต้อาณัติอุปถัมภ์ของ คมช. เป็นการต่อสู้ที่จะยืดเยื้อ ไม่จบตอนเลือกตั้ง จะมีต่อไป แนวโน้มอาจจะต้องเกิดรัฐประหารอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าฝ่าย คมช. เสียเปรียบจากผลการเลือกตั้ง ความขัดแย้งนี้มีเดิมพันสูงมาก เพราะถ้าฝ่ายทักษิณแพ้ จะถูกเสียทรัพย์สิน แต่หาก คมช.แพ้ จะถูกเล่นงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความขัดแย้งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อการสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ทำให้เราต้องเผชิญกับรัฐบาลอ่อนแอ และความเสี่ยงในการเกิดรัฐประหารอีก
สอง ไม่ว่าทักษิณหรือ คมช. ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน โดยสิ่งที่เครือข่ายประชาชนติรัฐบาลทักษิณนั้น คมช. ก็ทำ แต่ต่างวิธีการ เช่น เสรีภาพของสื่อมวลชน ทักษิณใช้ระบบอุปถัมภ์ อำนาจ และอิทธิพล ส่วน คมช. ใช้การออกกฎหมาย โดยสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ควบคุมอำนาจประชาชนในระยะยาว มีกฎหมายลิดรอนสิทธิหลายฉบับ โดยรวมทั้งสองขั้วมีความอันตรายทั้งคู่
สาม ระบอบอุปถัมภ์คืออุปสรรคต่อการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยและการสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งทั้งทักษิณและคมช. ต่างก็ใช้ระบอบอุปถัมภ์ ควบคุมให้ประชาชนต้องมีสังกัด ทักษิณเข้าคุมระบบราชการ คมช.ก็เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการลงโทษผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผลประชามติไม่รับร่างฯ
สี่ เครือข่ายภาคประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องหลุดจากระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช่ว่าเจรจาต่อรองกับ คมช.ไม่ได้ ทำได้โดยเสมอภาคเหมือนที่ทำกับทุกรัฐบาล สามารถเสนอความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจ ผลักดันได้ แต่ต้องไม่เข้าไปอยู่ในระบอบอุปถัมภ์
ทั้งนี้ จอนเชื่อว่าพลังภาคประชาชนสามารถมีบทบาทได้ รัฐบาลทักษิณ แปรรูปการไฟฟ้าไม่ได้ เพราะภาคประชาชนเข้มแข็ง คมช.จะเอา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ เข้า ก็ไม่ง่าย แม้ภาคประชาชนจะกำหนดทิศทางไม่ได้แต่ต่อสู้กับความอยุติธรรมได้ ผลักดันได้ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าไม่มีความหวัง
“แม้ว่าอาจเข้าใจได้ว่า แกนนำบางคนของคณะรัฐประหารมีคุณธรรม
หรือเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง
แต่ไม่เคยเชื่อว่า ใครจะดีได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ”
อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ขอแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนเดิมว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับวิธีการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ทั้งนี้ เขาเห็นว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ส่งผลในด้านต่างๆ ดังนี้
หนึ่ง ด้านการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมือง หากไม่ยึดมั่นในหลักการและครรลองของระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนยุ่งยากขึ้น หลัง 19 กันยายน ความขัดแย้งเหมือนว่าจะจบ แต่ไม่ใช่ โดยกลับเป็นการกดปัญหาลง เนื่องจากเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล ที่ไม่ใช่แค่ไม่เอาทักษิณ เอา คมช. หรือเอา คมช. ไม่เอาทักษิณ ซึ่งจะเป็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทย โดยวิธีจัดการกับความขัดแย้งที่ดีที่สุดต้องอาศัยกระบวนการประชาธิปไตยและให้ประชาชนตัดสิน
สอง ด้านการต่างประเทศ รัฐประหาร 19 กันยา ได้ดึงปัญหาความขัดแย้งในประเทศไปสู่นานาชาติ เป็นการดึงประเทศอื่นมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นภาวะไร้พรมแดน ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นค่านิยมร่วม การเลือกตั้ง และสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกยอมรับ เป็นสิ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงกิจการได้ แม้สังคมไทยแก้ได้เอง แต่วันนี้อาจเกิดสภาวะไม่มั่นใจว่า สังคมไทยจะสร้างความโปร่งใสได้หรือไม่ จึงเกิดกรณีอียูขอเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งขึ้น
สาม รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐประหาร 19 กันยา ดูเหมือนมีกระบวนการร่างที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย มีพิธีกรรมคล้ายว่าเป็นของประชาชน โดยมีการลงประชามติ แต่เนื้อหาหลายประเด็นไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยนัก กลับรอมชอมอำนาจระหว่างนักการเมืองกับอำมาตยาธิปไตย ที่เห็นได้ชัดคือ ที่มาของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง แสดงว่า ไม่เชื่อมั่นในพลังประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงคะแนนโดยพิจารณาอย่างรอบคอบ คิดว่าประชาชนซื้อได้ รวมทั้งระบบการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพ จัดการอะไรไม่ได้ นักการเมืองจะแย่งเก้าอี้กัน ซึ่งทำให้ต่อไปจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก
สี่ เกิดนวัตกรรมทางการเมืองและวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ เนื่องจากรัฐประหารเป็นสิ่งล้าสมัยที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ จึงพยายามทำให้คนรู้สึกว่า เป็นเผด็จการที่ไม่เหมือนเผด็จการ แม้ว่าอาจเข้าใจได้ว่า แกนนำบางคนของคณะรัฐประหารมีคุณธรรม หรือเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่เขาไม่เคยเชื่อว่า ใครจะดีได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ
ห้า ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างนี้ อย่างน้อยที่สุด 10 ปี จึงจะคลี่คลาย โดยความขัดแย้งในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ 2 ขั้วระหว่างอำนาจเก่ากับคมช. แต่ในขั้วเก่าที่ไปสร้างแนวร่วมกับขั้วใหม่ก็แตกกันเอง โดยความขัดแย้งจะชัดขึ้นหลังการแต่งตั้ง ผบ.ทบ. คนใหม่ อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งนี้เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น การที่การแต่งตั้งนี้มีความสำคัญ จึงทำให้เห็นว่าเพราะทหารมีอำนาจทางการเมือง
หก การกำหนดวันเลือกตั้งนั้น แม้ พล.อ.สุรยุทธ์อยากให้เลือกตั้งเร็ว แต่ขั้วอำนาจใน คมช. บางขั้วไม่อยากให้เลือกตั้งเร็ว เนื่องจากอยากให้มั่นใจว่าอำนาจเก่ากลับมาไม่ได้
เขากล่าวว่า รัฐประหารเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่ง แต่การปล่อยให้ทักษิณผูกขาดก็ไม่ดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีผลทันทีต่อเศรษฐกิจ เพราะรัฐประหารนั้นล้าสมัยในประชาคมโลก จะเห็นว่า รัฐบาลและเศรษฐกิจไทยถูกคว่ำบาตร ไม่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนในหลายเรื่อง รวมทั้งเกิดความชะงักงันในภาคลงทุนด้วย
(ต่อ)
จากคุณ :
แค่ก้อนหินที่อยากบินได้
- [
14 ก.ย. 50 22:06:20
]
|
|
|