เรื่องสั้น ชุดฉากชีวิต
ชีวิตกับโทรทัศน์ (๒)
เพทาย
ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๐๙ ได้ถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๕ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก คนกล้องมีเพียงหกคน มีกล้องสำหรับถ่ายทอดนอกสถานที่สี่ตัว รถถ่ายทอด ๒ คัน ไม่สามารถจะถ่ายทอดได้ครบถ้วน
จึงรวมการกับ ไทย ทีวีช่อง ๔ ช่วยกันถ่ายทอดกีฬาจากสนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศรัย และยิมเนเซียมที่อยู่บริเวณเดียวกัน สนามฟุตบอลของ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สนามกีฬาหัวหมากและสนามแข่งจักรยานเวโรโดม หัวหมาก ได้เป็นผลสำเร็จเรียบร้อย
ต่อมาจึงเป็น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน
และในปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๒๕๑๐ ก็มีการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง หรือ เซียพเกมส์ ครั้งที่ ๔ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง และได้เปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์อยู่ในปัจจุบัน
ในปีนี้เองที่เริ่มมีโทรทัศน์สีขึ้นในประเทศไทย โดยใช้สถานที่ห้องส่งของ ช่อง ๗ ขาวดำ มีเครื่องส่งและเครื่องควบคุมการออกอากาศ อยู่บนรถคันเดียว และผมก็ได้เริ่มถ่ายกล้อง โทรทัศน์สี เป็นครั้งแรก ณ เวทีประกวดนางสาวไทย สวนสราญรมย์ ในงานวชิราวุธานุสรณ์
แต่ต่อมาจึงได้ทราบว่า บริษัทกรุงเทพวิทยุโทรทัศน์ จำกัด ได้รับสัมปทานจากกองทัพบก ออกอากาศทาง ช่อง ๗ สี มีชื่อว่าสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ และจัดเจ้าหน้าที่ประจำครบหมด ทุกตำแหน่งผมก็เลยต้องกลับมาทำงาน ช่อง ๗ ขาวดำ ตามเดิม
พ.ศ.๒๕๑๒ มีการถ่ายทอดการส่งมนุษย์อวกาศ ไปลงบนดวงจันทร์ ซึ่งผมก็เป็นเพียงคนกล้องประจำห้องส่ง ที่มีการสัมภาษณ์นักวิชาการ ซึ่งมาบรรยายเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับอวกาศและดวงจันทร์ ประกอบการถ่ายทอดสัญญาณจากดาวเทียม เท่านั้น
พ.ศ.๒๕๑๓ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ ย้ายไปอยู่ที่หลังสถานีขนส่งสายเหนือเดิม แยกการทำงานออกจาก ช่อง ๗ ขาวดำ มาจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนช่อง ๗ ขาวดำของเราก็พยายามปรับปรุงเครื่องส่ง เตรียมออกอากาศเป็นภาพสี ตามกำลังงบประมาณที่มีอยู่น้อย เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน และไม่มีบริษัทเป็นผู้อุปถัมภ์
การถ่ายทอดโทรทัศน์นอกสถานที่ ขณะนั้นมีไม่มากนัก งานประจำก็คือถ่ายทอดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารสามเหล่าทัพ และพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการถ่ายทอดมวยจากเวทีราชดำเนิน เท่านั้น
ส่วนรายการละคร ก็ถ่ายสดกันในห้องส่งทั้งนั้น รายการสารคดีก็ใช้ภาพยนตร์เป็นส่วนมาก เพราะไม่มีกล้องถ่ายภาพขนาดเล็กที่แบกไปถ่ายไปได้เหมือนสมัยนี้
ในสมัยนั้นทุกเช้าวันอาทิตย์ จะมีรายการธรรมะ ซึ่งพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในการแสดงพระธรรมเทศนา มาเทศน์ออกอากาศในตอนเช้าเป็นประจำ
เช้าวันหนึ่งขณะที่ผมเป็นเวรถ่ายรายการพุทธประทีป เวลาแปดโมงเช้า กำลังเตรียม กล้องจะถ่ายทอดสด ท่านอาจารย์ชื่อดัง ทางปากเกร็ด อยู่ในห้องส่งเล็ก เพื่อนที่เป็นพนักงานแสงเข้ามาบอกว่า ไฟกำลังไหม้อยู่แถวสวนอ้อย ซึ่งเป็นหมู่บ้านของผม ก็เลยฝากให้เขาช่วยถ่ายกล้องให้ด้วย อีกหน้าที่หนึ่ง
ตัวผมเองก็รีบจับรถแท็กซี่กลับในทันที แต่ต้องลงเดินห่างจากบ้านมาก เห็นแต่รถดับเพลิงเต็มท้องถนน ผมมองผ่านบ้านที่ถูกไฟไหม้ราบลงแล้ว เห็นหลังคาบ้านผมยังอยู่ ใจก็ชื้นมาเป็นกอง
ปรากฏว่าไฟได้ไหม้ห่างจากบ้านผมออกไป เพียงหลังเดียวเท่านั้น มีคนอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันก็จริง แต่ลูกชายสองคนยังเล็กนักช่วยอะไรไม่ได้เลย แม้แต่จะเฝ้าของ ซึ่งได้ช่วยกันขนออกไปห่างจากบ้านอีกสองซอย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นึกว่าคงไม่รอดแล้วคราวนี้
ผมก็ปลอบใจกันไปตามเรื่อง แล้วก็ช่วยกันขนของกลับ ห่อผ้าปูที่นอนห่อใหญ่ใส่เสื้อผ้า ที่แม่บ้านของผมลากไปคนเดียวจนด้านล่างขาดเป็นรู ขากลับต้องสองสามคนช่วย
เพื่อนที่เป็นคนกล้องด้วยกันแต่อยู่ห่างมาก ก็พาเพื่อนอีกคนมาช่วยขนเอาตู้เย็นขนาดห้าคิว พร้อมด้วยของเต็มตู้ ช่วยกันลากลงบันไดไปได้ถึงสองซอย ขากลับต้องสี่คนหามจึงจะขึ้นบ้านได้
ต่อมาผมมียศ ร้อยโท โรคไส้เลื่อนที่เป็นข้างขวา และผ่าตัดไปแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ก็เป็นข้างซ้ายขึ้นมาอีก และอักเสบมาก จนแทบจะยืนถ่ายกล้องไม่ได้ จึงต้องขอลาออกจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ประมาณกลางปี ๒๕๑๔ กลับมาปฏิบัติราชการทาง กรมการทหารสื่อสาร เพียงทางเดียว
ผมได้ปฎิบัติงานถ่ายทอดการเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของทหารสามเหล่าทัพ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในพระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อ ๘ มิถุนายน เป็นงานสุดท้าย
แต่พอถึง พ.ศ.๒๕๑๙ ผมมียศเป็นร้อยเอก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล ทั้ง ๆ ที่มียศน้อยที่สุด ผมจึงได้กลับไปเป็นผู้บริหาร ททบ. อย่างไม่คิดฝัน
ขณะนั้นสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ ขาวดำ ได้ออกอากาศเป็นสีทั้งระบบ และเปลี่ยนเป็น ช่อง ๕ แล้ว ผมจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกอากาศของสถานี นอกจากเป็น นายทหารเวรกำกับการออกอากาศ ประจำวันตามคำสั่งเท่านั้น ไม่ต้องลงแรงแบกหามเหมือนครั้งก่อน
ผมได้ทำงานที่สำคัญคือ การจัดทำอัตราการจัดและภารกิจ ของฝ่ายต่าง ๆ ใน ททบ. และรวบรวมระเบียบคำสั่งทุกฉบับ ที่ใช้บังคับใน ททบ. เย็บเล่มเป็นเอกสารราชการ ที่ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติต่อมา เป็นเวลาร่วมยี่สิบปี
ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ จัดทำหนังสือที่ระลึกวันสถาปนา ททบ.เดือนมกราคม ของทุกปี จนอีกสิบปีต่อมา จึงได้เป็นประธานกรรมการโดยบังเอิญ เพราะประธานคนเก่าเกษียณอายุราชการ
ได้จัดทำประวัติของ ททบ.ขึ้นให้เป็นหลักฐานทางราชการ และบันทึกประวัติของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งขณะนั้นรวมทั้งที่พ้นหน้าที่ไปแล้ว มีอยู่ประมาณ พันกว่าคน
สุดท้ายได้ถูกส่งเข้าเรียนคอมพิวเตอร็ เมื่อมีอายุ ๕๙ ปี และได้กลับมาช่วยหัวหน้าฝ่ายเท็คนิค จัดทำโปรมแกรมใช้งานในด้านต่าง ๆ ของ ททบ.เป็นครั้งแรก
รวมเวลาที่ผมทำงานในสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สองเทอมเป็นเวลา ๒๗ ปี และพ้นจากหน้าที่ทางกรมการทหารสื่อสาร และสถานีวิทยุโทรทัศน์ เนื่องจากเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
แล้วก็ใช้งานอดิเรก คือการเขียนหนังสือ มาเป็นอาชีพหลัก และส่งข้อเขียนให้กับ วารสารของเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบก รวมทั้งทหารปืนใหญ่ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงบัดนี้
ทำให้สมองยังไม่ฝ่อ แม้จะมีอายุผ่านหกรอบไปแล้วก็ตาม.
#############
นิตยสารทหารปืนใหญ่
กรกฎาคม ๒๕๔๘
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
20 ก.ย. 50 09:09:54
]