ขอประเดิมร่างใหม่ของตัวเองที่ไม่ใช่หม่าม้า
ด้วยบทความจากวงเสวนาเรื่อง " ผีเสื้อและดอกไม้"
เอามาให้เพื่อนๆมาฟื้นความหลังกัน ตามนี้เลย
ความฝันแสนงามท่ามกลางควันปืน
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสไปเสวนาในรายการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่จัดขึ้นในกรุงเทพ ซึ่งมีผลงานการแสดงและกำกับจากชาติต่างๆเข้ามาฉาย หนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมฟื้นอดีตอีกครั้งก็คือ ผีเสื้อและดอกไม้ ภาพยนตร์ชื่อโรแมนติกที่เคยกวาดรางวัลระดับชาติและต่างประเทศ จากฝีไม้ลายมือผู้กำกับชื่อดัง ยุทธนา มุกดาสนิท นั่นเอง น่าภูมิใจที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า สมควรเป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่ต้องดู
ภาพยนตร์ที่ดีย่อมมีพื้นฐานจากบทประพันธ์ที่ดี ผู้เขียนเรื่องนี้คือ นิพพาน ( นามจริง คือ มกุฎ อรฤดี บรรณาธิการหนุ่มใหญ่แห่งผีเสื้อ อีกหนึ่งสำนักพิมพ์คุณภาพที่ให้ความประณีตในศิลปะการทำหนังสือ) เรียงร้อยเรื่องราวการต่อสู้กับบรรดาเด็กๆชาวมุสลิมในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่ตนคุ้นเคย ดูเหมือนจะเป็นวรรณกรรมไทยเรื่องเดียวที่ตีแผ่ความขัดแย้งของชนชาติในสี่จังหวัดภาคใต้ได้อย่างถึงแก่นโดยผ่านเสี้ยวประสบการณ์ของเด็กผู้ชายคนหนึ่งมาบอกกล่าว
เรื่องย่อ
ฮูยันเป็นเด็กมุสลิมเกิดในครอบครัวที่ฐานะยากจน มีพ่อเป็นกรรมกรรถไฟซึ่งกำลังจะตกงาน มีน้องๆอีก 2 คนในความดูแล ฮูยันต้องออกจากโรงเรียนเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ากระดาษสอบทั้งที่เป็นเด็กที่เรียนเก่ง จากนั้นก็ต้องดิ้นรนหาเงินมาจุนเจือครอบครัวด้วยวิธีต่างๆ เริ่มแรกจากเดินขายไอติมก็ไปไม่รอด จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในขบวนการกองทัพมดลอบขนข้าวสารข้ามประเทศ ในวัยที่เปรียบเสมือนดอกไม้แรกผลิ ฮูยันกลับต้องเผชิญภยันตรายเสี่ยงภัยต่างๆ ท่ามกลางความขัดแย้ง อาชญากรรมและควันปืนคุกรุ่นในชุมชนที่ยากจนซ้ำซาก
ผู้เข้าร่วมวงเสวนาครั้งนี้มี ยุทธนา มุกดาสนิท นิพพานและนันทขว้าง สิรสุนทร จากกรุงเทพธุรกิจ บทเสวนาที่นำมาสรุปประเด็นเป็นการผสมผสานระหว่างการพูดคุยและบทความสัมภาษณ์ที่ลงในกรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย
: ก่อนจะมาเป็น ผีเสื้อและดอกไม้ ฉบับฟิลม์
ก่อนหน้าที่คุณยุทธนาจะมาทำ ผีเสื้อและดอกไม้ ภาพยนตร์เรื่อง น้ำพุ ที่ออกฉายก่อนได้สร้างรายได้ถล่มทลาย จนทำให้นายทุนสบายใจพอที่จะให้ผู้กำกับคนเดิมสร้างหนังเรื่องไหนก็ได้ หลังจากได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของบทประพันธ์ พร้อมได้รับคำชี้แนะถึงสถานที่ที่เล่าเรื่อง ทีมงานจึงระดมสรรพกำลังเต็มที่ทำวิจัย ศึกษาลงพื้นที่จริงเพื่อสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอยู่ร่วมเดือน เฝ้าดูการใช้ชีวิตประจำวัน พิธีกรรมต่างๆและขบวนการลักลอบขนสินค้าข้ามชายแดน มีผู้เขียนบทคือ คุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง คอยติดตามรายละเอียดแต่ละบริบทให้สอดคล้องกับบทประพันธ์เดิม เป็นภาพยนตร์ที่ Set On Location ทั้งหมด จึงหมดเงินไปเยอะ ประมาณ 25 ล้าน เมื่อภาพยนตร์ฉายเสร็จก็ได้รายได้ประมาณนั้น เสมอตัว
: จาก น้ำพุ ถึง ผีเสื้อและดอกไม้ ความเหมือนที่แตกต่าง
ทั้งๆที่เป็นเรื่องของวัยรุ่นเหมือนกัน (น้ำพุอาจจะแก่กว่าหน่อย)แต่ตัวละครที่นำเสนอมีวิธีเอาตัวรอดไม่เหมือนกัน น้ำพุอยู่ในสถานการณ์ที่ภัยร้ายรอบตัวมีน้อยกว่า เติบโตในชนชั้นกลาง อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยในเมืองหลวง มีบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง มีครอบครัวพี่น้อง มีแม่ที่ทำงานหาเงินให้ใช้ได้พอสมควร ได้เรียนหนังสือและทำอะไรได้ตามใจฝัน แต่น้ำพุกลับจบชีวิตด้วยภัยในจิตใจของตัวเอง คือการติดยาเสพติด ขณะที่ฮูยันอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงและด้อยกว่าทุกอย่าง กลับฮึดมานะดิ้นหลุดให้พ้นจากบ่วงอาชญากรรมหวุดหวิด หันกลับมาดำเนินชีวิตปกติตามสถานภาพ
: Romantic Realism ความฝันในความจริง
ตัวละคร โรงเรียน บ้านและฉากต่างๆ ตลอดจนเหตุการณ์ที่ดำเนินไปในบทประพันธ์ ล้วนเกิดขึ้นบนพื้นฐานความจริง ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า เรื่องราวทั้งหมดไม่มีอยู่ในเขตแดนแคว้นไทย ปัญหาของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโดยเฉพาะเยาวชนที่ถูกละเลย ไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกับเยาวชนในภาคอื่นๆ หากวิธีการนำเสนอ แทนที่จะโจมตี ก้าวร้าว ปลุกปั่น เหมือนบทประพันธ์หรือภาพยนตร์ปลุกใจ กลับเป็นโทนเรื่องที่นุ่มนวล ผ่านการกรองและนิ่งมาชั่วระยะ เสียดทานลึกๆซุกอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันก็แฝงความฝัน ความหวังไว้ ซึ่งจะเห็นชัดยิ่งขึ้นในมิติของภาพยนตร์ที่ถ่ายออกมาในแนว Soft Tone ฟุ้งๆตลอด
: 20 ปีผ่านพ้น ความจริงยิ่งร้าวลึก
บทประพันธ์เขียนเมื่อประมาณปี 2518 ลงเป็นตอนๆในนิตยสารสตรีสาร ( นิตยสารที่ขึ้นชื่อว่าเข้มงวดและเคร่งครัดในการคัดเลือกเรื่องลงยิ่งนัก) และรวมเล่มเมื่อประมาณปี 2521 สร้างเป็นภาพยนตร์ปี 2528 สาระสำคัญของเรื่องราวที่สะท้อนออกตอนนั้น 20 ปีผ่านมา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย (ยกเว้นกองทัพมดที่ไม่มีแล้ว การขนสินค้าข้ามแดนทำอย่างเปิดเผยมากขึ้นโดยการจ่ายเงินอย่างเป็นระบบ) ซ้ำร้ายยิ่งหนักสาหัสซ้ำเติมลงอีก ตั้งแต่ เรื่องความยากจน การถูกละเลยด้านสาธารณสุขตลอดจนการศึกษาพื้นฐาน การเอาชีวิตรอดท่ามกลางอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประจำวัน ฮูยันรุ่นใหม่ๆเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงจนเห็นเป็นความเคยชิน แล้วจะหาทางหลุดพ้นจากวังวนลวดหนามเหล่านี้ได้อย่างไร จะมีกำลังใจอะไรบ้างที่จะให้พวกเขายึดถือเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและความหมาย (มีการแซวกันว่า รัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมา ควรจะดูหนังเรื่องนี้กันบ้าง เหมือนกับที่ดูเรื่องสุริโยทัย นเรศวร )
: ถ้าจะนำมากลับมาทำใหม่จะเสนอประเด็นอะไรบ้าง
คงไม่มีการกลับมาทำอีกแล้ว หากใครจะทำก็สุ่มเสี่ยงกับการถ่ายทำพอสมควร โดยเฉพาะถ้าอยากจะใช้สถานที่จริงๆ เพราะขนาดที่ยังไม่มีความขัดแย้งรุนแรงเมื่อยี่สิบปีก่อน ก็ยังเกิดปัญหาความยุ่งยากขณะถ่ายทำ ฉากหนึ่งที่ฮูยันและน้องๆเข้าไปในสุเหร่าเพื่อขอพรศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพ่อซึ่งกำลังนอนป่วยในโรงพยาบาล ฉากถ่ายเกือบเสร็จแล้ว เกิดการมุงล้อมของชาวบ้านที่ไม่ต้องการให้กองถ่ายเข้ามายุ่มย่ามในสถานที่ต้องห้ามสำหรับคนนอกศาสนา แม้จะอ้อนวอนขอความเห็นใจก็ตาม ในที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องบานปลาย กองถ่ายรีบจัดแจงขนอุปกรณ์ออกไปในที่สุด อันนี้เป็นเรื่องระเบียบของศาสนาซึ่งทุกคนเข้าใจ แต่ปัญหาปัจจุบันคือเรื่องของความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ลามออกไปทุกตารางนิ้วออกนอกสุเหร่า
:ผ่านมานับสิบๆปี ตัวละครทั้งหมดป่านนี้เป็นอย่างไร
บทประพันธ์ : ทุกคนน่าจะมีชีวิตอยู่ ดิ้นรนเอาตัวรอดเหมือนชาวบ้านชายแดนธรรมดาๆ อีกทั้งต้องระแวดระวังภัยจากความคลางแคลงใจที่ถูกจุดเชื้อทั้งหลาย
ภาพยนตร์ : นักแสดงนำแต่งงานมีลูก มีครอบครัวไปหมด ยกเว้นผู้ที่เล่นเป็น นาคา (ผู้ร้ายที่กลายเป็นมิตรภายหลัง) ได้ผูกคอฆ่าตัวตายอย่างน่าเสียดาย
: อยากจะบอกอะไรสั้นๆหลังจากอ่านหรือชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ
ไม่ว่าจะยากดีมีจนเช่นไร ทุกคนต้องมีความฝัน ความฝันนี่แหละที่จะหล่อเลี้ยงให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ พยุงให้จิตใจใฝ่หาคุณธรรมท่ามกลางความแร้นไร้และหดหู่ทั้งปวง
จบเสวนาวันนั้น ได้หนังสือ ผีเสื้อและดอกไม้ เล่มใหม่พร้อมลายเซ็น คุณนิพพาน และได้เสื้อยืดลายเขียนวิจิตรฝีมืออาจารย์ช่วง มูลพินิจ ซึ่งผลิตสำหรับแฟนผู้ร่วมเสวนาวันผีเสื้อโบยบินและดอกไม้บาน อีกครั้ง
จากคุณ :
กูรูขอบสนาม
- [
2 พ.ย. 50 14:03:56
]