Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจ(ห)มานุษย์

    ท่าน สุนทรภู่ มีชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเพราะได้ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรืองในยศฐาบรรดาศักดิ์ และตกต่ำดังคำกลอนในนิราศภูเขาทอง ที่ท่านแต่งไว้ว่า

    สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา..................วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์


    นิราศภูเขาทอง ได้รับยกย่องว่าเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมที่สุดของท่านสุนทรภู่ ท่านแต่งเรื่องนี้ เมื่อครั้งเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าไปในราวปี พ.ศ.๒๓๗๑ หลังจากเกิดมีเรื่องมีราวที่วัดราชบูรณะฯ ขณะนั้นท่าน มีอายุราว ๔๒ ปี

    นิราศเรื่องนี้ไม่ยาวนัก แต่พร้อมไปด้วยกระบวนกลอนอันไพเราะ และแง่คิดสำหรับการดำรงชีวิต อาจเป็นด้วยท่านสุนทรภู่ได้บวชมาหลายพรรษาแล้ว และได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น เส้นทางเดินทางจะคล้ายกับนิราศ พระบาท เพราะออกจากพระนครทวนแม่น้ำขึ้นไปทางเหนือ ขอให้สังเกตความเปรียบเทียบในนิราศภูเขาทองกับนิราศพระบาท ซึ่งท่านแต่งขึ้นเมื่อรุ่นหนุ่มอายุเพียง ๒๑ ปีว่า ท่านสุนทรภู่คิดเห็นสุขุมขึ้นอย่างไร

    นอกจากนี้ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตไปหลายปีแล้วก็ตาม แต่ความจงรักภักดีของท่านสุนทรภู่ ในพระองค์ก็มิได้เสื่อมคลายไปแม้แต่น้อย ด้วยท่านยังคร่ำครวญรำพันถึงพระองค์อยู่ตลอดการเดินทางในนิราศเรื่องนี้

    ๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
    รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
    ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย
    สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น
    โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
    เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
    จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
    จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ

    ๏ ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
    โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
    พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
    ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
    จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
    เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไปฯ

    ๏ ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
    เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
    เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
    จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
    เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
    สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ
    คัดลอกมาจาก http://www.geocities.com/tthida/


    สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ หมายถึงเมื่อผลัดแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ไม่ทรงโปรดในสุนทรภู่อีกต่อไป วาสนาอันหอมหวนเหมือนกลิ่นสุคนธ์ ก็พลอยมลายสิ้นไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโวหารที่คมคายไม่น้อยชีวิตอันผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความรุ่งโรจน์และผ่านความยากไร้ เช่นนี้ทำให้สุนทรภู่ มี มโนมยจักษุ ที่กระจะกระจ่างในการมองคน ดังจะเห็นได้จากพระอภัยมณีคำกลอนตอนที่ กล่าวถึง เกาะแก้วพิสดาร หลังจากพระอภัยมณีจากไปไม่นาน นางเงือกก็คลอดโอรสพระโยคีตั้งชื่อว่าสุดสาคร ครั้นสุดสาครเจริญเติบโตได้ร่ำเรียนวิชากับพระโยคี ต่อมาได้ม้านิลมังกรซึ่งสุดสาครจับได้ในทะเลเป็นพาหนะ และมีไม้เท้าวิเศษที่พระโยคีมอบให้เป็นอาวุธ สุดสาครลาพระโยคีออกตามหาพระบิดา ระหว่างทางผจญกับอันตรายต่างๆ ต้องต่อสู้กับพวกผีดิบ และพบชีเปลือยซึ่งต้องการม้ามังกรและไม้เท้าวิเศษ จึงหลอกสุดสาครว่าจะบอกมนต์ป้องกันตนบนภูเขา สุดสาครหลงเชื่อจึงถูกผลักตกลงไปในเหว ชีเปลือยได้ม้านิลมังกรและไม้เท้าแล้วเดินทางเข้าสู่เมืองการเวก ส่วนสุดสาครนั้นพระโยคีมาช่วยไว้ได้ แล้วสอนสุดสาครว่า

    แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์..................มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
    ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด...............ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
    มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน....................บิดามารดารักมักเป็นผล
    ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน....................เกิดเป็นคนคิดเห็นจึ่งเจรจา
    แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ...................ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
    รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา......................................รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

    จากนั้นสุดสาครเดินทางติดตามชีเปลือยไปเอาไม้เท้าคืนที่เมืองการเวก ท้าวสุริโยทัยเจ้าเมืองทรงรักใคร่สุดสาครมากรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม และมีเสาวคนธ์พระธิดาเป็นเพื่อนเล่น

    พฤติกรรมของชีเปลือยเหมือนนิทานเรื่อง หมาจิ้งจอกกะห่านฟ้า เรื่องมีอยู่ว่า
    หมาจิ้งจอกต้องการกินห่านฟ้า แต่ห่านฟ้าจะมี ห่านที่เป็นเวรยามคอยระแวดระวังภัยหมาจิ้งจอกจะไม่บุ่มบ่ามเข้าไปกัดฝูงห่านฟ้า แต่จะทำเป็นเอาหางตีพงหญ้าให้มีเสียงดัง สวบสาบๆห่านเวรก็จะร้องเตือนฝูงห่านฟ้า ทำให้ฝูงห่านฟ้าแตกตื่นบินขึ้นฟ้าอย่างสับสนอลหม่าน แต่หมาจิ้งจอกก็ยังไม่แสดงตัว มันจะเอาหางตีพงหญ้าอย่างนี้ประมาณ ครึ่งคืนค่อนคืนจนกระทั่งห่านฟ้าในฝูงเริ่มไม่เชื่อใจห่านที่เป็นเวรยาม หมาจิ้งจอกจะเอาหางตีพงหญ้าเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเห็นว่าฝูงห่านฟ้า ไม่บินหนีเหมือนครั้งก่อนๆ หมาจิ้งจอกก็จะ เข้ากัดกิน ฝูงห่านฟ้าได้อย่างง่ายดาย (คล้ายกรณีที่เด็กเลี้ยงแกะ ที่เห็นหมาจิ้งจอก เข้ามาในฝูงแกะเลยตามผู้คนในหมู่บ้านมาช่วยไล่หมาจิ้งจอกแต่หมาจิ้งจอกแกล้งซ่อนตัวอยู่ และทำเช่นนี้หลายๆครั้ง จนชาวบ้านไม่เชื่อ ในคำพูดของเด็กเลี้ยงแกะ สุดท้ายฝูงหมาจิ้งจอกก็จับแกะในฝูงกินอย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน) ด้วยเหตุนี้เองคนโบราณจึงใช้หมาจิ้งจอกเป็นสัญลักษณ์ ของคนที่มีอุบายคิดไม่ซื่อ เจ้าเล่ห์ อนึ่งในปัจจุบันมนุษย์หมาจิ้งจอกนั้นมีอยู่ไม่น้อย ห่านฟ้าบางตนอาจจะได้ยินเสียง พงหญ้าดัง แต่ก็ยังประมาท คิดว่าไม่มีอะไร ยกตัวอย่างเช่น

    อุทธาหรณ์แรก
    ทหารเมือง ก. ทำการรัวกลองรบ ทำเสียงอึกทึกคึกโครม ทำให้ทหารเมือง ข. ต่างเตรียมการขนานใหญ่ในการป้องกันแต่ก็ไม่ปรากฎว่าทหารเมือง ก. มารุกรานแต่อย่างใด ทหารเมือง ข. ซึ่งไม่คิดที่จะสู้รบด้วยก็ยังคงตั้งมั่นอยู่ในป้อมเช่นเดิม

    ทหารเมือง ก. ก็ใช้อุบาย รัวกลองรบอีก 7 วัน วันละ 3 เวลา โดยที่ไม่ทำการเข้ารบพุ่งชิงชัยแต่ประการใด ย่างเข้าวันที่ 7 นั่นแล ทหารเมือง ข. จักหละหลวมประมาทและถูกตีแตกในที่สุด

    อุทธาหรณ์ที่สอง
    มนุษย์หมาป่า/หมาจิ้งจอก มักจะแสดงตนว่ามีลูกมีเมียแล้ว และรักลูกรักเมีย หญิงใดที่คิดว่า ชายที่มีลูกมีเมียแล้วคงไม่มีพิษมีภัยอะไร ก็เท่ากับการได้ยินเสียงพงหญ้าดัง แต่กลับประมาทเหมือนห่านฟ้า นั้นแล

    จากอุทธาหรณ์ สองข้อที่กล่าวมามา เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้สะกิดใจ ท่านผู้อ่านมิให้ หลงเชื่อใจคนง่ายๆ เพราะนั่นคือที่มาแห่งความเสื่อม

    ท้ายที่สุดนี้ขอสรุปคำสอนของพระโยคี ที่สอนสุดสาครไว้ ดังนี้คือ

    1.จงอย่าไว้ใจมนุษย์ เพราะจิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง ดังโคลงโลกนิตย์ที่ว่า

    พระสมุทรสุดลึกล้น..........คณนา
    สายดิ่งทิ้งทอดมา.............หยั่งได้
    เขาสูงอาจวัดวา...............กำหนด
    จิตมนุษย์นี้ไซร้.................ยากแท้หยั่งถึง

    ทะเลยังหยั่งให้รู้ว่าลึกกี่ ฟาทอม ด้วยการใช้สายดิ่งวัด สมัยนี้อาจใช้ระบบโซน่า ซาวด์ (1. ฟาทอม [N] Meaning: fathom: มาตราวัดระยะทาง เท่ากับ 6 ฟุต หรือ 1.8 เมตร มักนิยมใช้วัดความลึกของทะเล)
    ภูเขาก็อาจจะใช้เชือกวัดวาได้ (1 วา เท่ากับ 4 ศอก หรือประมาณ 2 เมตร ) แต่จิตรมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง

    2.เถาวัลย์ พันเกี่ยวกระหวัดกกไม้ ที่เห็นว่าโค้งคด ก็ยังไม่โค้งและคดเท่าจิตใจของมนุษย์
    3.ผู้ที่รักเราอย่างจริงใจ ที่สุดก็คือ บิดามารดา พี่น้อง ส่วนผู้อื่นนั้น หายากเต็มทีที่จะรักเราอย่างจริงใจ
    4.การพึ่งพาคนอื่นนั้นมีความจำเป็น แต่เราไม่สามารถพึ่งพาคนอื่นได้ 24 ชั่วโมง ฉะนั้น ตนควรเป็นที่พึ่งแห่งตน (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ) ดังคำกลอนที่ว่า

    "ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด
    ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
    ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
    ตนแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ"

    5. เมื่อมีคนมารัก หรือมาทำดีต่อเรา ก็อย่าปลงใจเชื่อว่านั่น คือความจริงเสียทั้งหมด เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็นนั่นคือส่วนที่น้อย ส่วนที่เรายังไม่เห็นยังมีอีกมากที่จมอยู่ใต้น้ำ
    6. การศึกษาหาความรู้ คือสิ่งที่ดีที่สุด ความรู้ ความช่างสังเกตนี้จะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

    แก้ไขเมื่อ 13 ธ.ค. 50 17:09:18

     
     

    จากคุณ : กวินทรากร - [ 11 ธ.ค. 50 15:13:07 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom