ถ้าจะเปรียบแม่น้ำท่าจีนคือเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงผู้คนภาคกลางแล้วละก็ รางไอ้เกตุที่ถูกขุดต่อจากคลอง ทางหลวง เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้าสู่หมู่บ้านและใช้เป็นทางสัญจรเล็กๆ ก็คือเส้นเลือดฝอยที่รับเลือดแดงไปเลี้ยง ทุกเซลล์ของร่างกาย
นั่นเป็นความคิดของละไม เพราะเมื่อเธอเกิดและเป็นเด็กเล็กอยู่พ่อแม่ของเธอใช้คูน้ำรอบบ้านและราง ไอ้เกตุเป็นที่รับน้ำและปลาจากธรรมชาติ ใช้เลี้ยงลูกนอกจากข้าวผลผลิตในนารอบโคก
เมื่อวันหนึ่งละไมต้องทิ้งหมู่บ้านเข้าไปเรียนในเมืองและได้ทำงานที่นั่นเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นกระดูก สันหลังของชาติเช่นบรรพบุรุษ เยื่อใยของมนุษย์ที่มีต่อน้ำ ทุ่งนาและธรรมชาติก็ถดถอยไป ความเจริญทาง วัตถุเข้ามาแทนที่ เงินที่เธอส่งเสียให้พ่อแม่ถูกนำไปเป็นค่าต่อน้ำปะปา ไฟฟ้าเข้าบ้าน ซื้อตู้เย็น โทรทัศน์ รวมถึงมอเตอร์ไซค์ให้น้องชายขี่ อาหารที่เธอเคยชอบให้แม่ทำเมื่อเด็กๆเช่นยำพังพวย ทอดมันกุ้ง สายบัวจิ้ม
น้ำพริก แกงส้มผักบุ้งหรือขนมดอกโสนไม่เคยเข้ามามีบทบาทบนโต๊ะกับข้าวอีกเลย เพราะสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ เหล่านี้ลาจากธรรมชาติไป
รางไอ้เกตุและคูรอบบ้านเหือดแห้ง ไม่มีปลาหมอให้แกงส้ม ไม่มีกุ้งให้ช้อนมาทอดมันอีกต่อไป
ในปีที่ละไมอายุ 50 พ่อแม่ของเธอลาโลกไปแล้ว ไร่นากลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา คลองทางหลวง และรางไอ้เกตุตื้นเขิน จะมีน้ำอยู่บ้างก็เป็นน้ำเหม็นเน่า เกรอะมาจากบ่อเลี้ยงกุ้ง ปลา
กาแฟ โอยั๊วะ โอเลี้ยงนั้นไม่ต้องรอเจ็กฮงพายเรือมาขาย หากแต่มันรออยู่สำเร็จรูปในตู้เย็นยี่ห้อต่างๆกัน
รางไอ้เกตุที่เคยนำเลือดแดงมาหล่อเลี้ยงกลับกลายเป็นเส้นเลือดดำที่รับของเสียไปถ่ายเท... ไปถ่ายเท ที่ไหนไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่ามันก็ยังวนเวียนอยู่ในหมู่บ้านนั่นเอง
ขอความกรุณาเพื่อนๆช่วยอ่าน วิจารณ์ไม่ต้องเกรงใจค่ะ
จากคุณ :
obst
- [
23 ม.ค. 51 00:58:16
]