องก์หนึ่ง
เองก์หนึ่ง
เวลา 02.46 นาฬิกา
แสงสีแดงจากจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ สาดส่องใบหน้าที่เขม็งเคร่งเครียดของชายวัยยี่สิบปลายๆ
เป็นจังหวะๆ เดียวกับการกระพริบตาของสิ่งมีชีวิตที่คนกลัวเกรง สีแดงที่ฉาบฉายอยู่บนใบหน้าที่เคร่งเครียด ขับเน้นหน้าตาที่เครียดขึ้งมากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก บุคคลิกที่ขัดแย้งกับแววตาที่อ่อนโยนเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้คนที่พบเห็น ชายผู้นี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร.เจนภพ มาลัยกุล
ตีสองกว่าแล้ว แต่เขายังไม่กลับไปพักผ่อนเหมือนเพื่อนอาจารย์ร่วมคณะคนอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเขากำลังเตรียมรายงานนำเสนอผลงานการค้นคว้าเรื่อง “ข้อสรุปนรก ในอารยธรรมมนุษย์: นรก มีจริงหรือไม่มี”
ด็อกเตอร์หนุ่มเป็นอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ คณะศาสนศึกษา ภาควิชาเทววิทยา แต่ความสนใจและความเชี่ยวชาญจริงๆของเขาอยู่ที่สาขาวิชา อภิปรัชญา ในหัวเรื่อง ภพภูมินอกเหนือมิติการรับรู้ของมนุษย์ งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เขาทำคือการรวบรวม หาความเหมือนและความต่างของนรกในการรับรู้ของคนในวัฒนธรรมต่างๆจากทุกๆอารยธรรมเท่าที่มี
การบันทึกและสืบค้นได้ เป็นงานวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับนานาชาติ และเป็นเทียบเชิญ นำเขาเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ไฟแรงในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ งานนำเสนอในครั้งนี้
เป็นการต่อยอดวิทยานิพนธ์ของเขา และเป็นผลงานที่วงวิชาการระดับโลกตั้งตารอคอย รวมถึงด็อกเตอร์เจนภพเช่นกัน เขายังไม่มีข้อสรุป จนกว่านาทีสุดท้าย
ที่จะประมวลข้อมูลทุกๆอย่างเข้าด้วยกัน
ด้วยวัยเพียงยี่สิบปลายๆ ฐานะทางบ้านดี ชาติตระกูลเก่าแก่ หน้าตาดี มารยาทงาม นิสัยสุภาพเรียบร้อย วัตรปฏิบัติไร้ข้อด่างพร้อย แต่ก็พร้อมต่อต้านความไม่ถูกต้องในการบริหารราชการ
ทำให้เขากลายเป็นดาวเด่นในหมู่อาจารย์หนุ่มสาว และนักศึกษา
และในขณะเดียวกันก็เป็นหมาหัวเน่าที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจับตาดูแบบเกรงๆ
แต่สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นที่สุด กลับเป็นความสนใจและผลงานของเขา จากประชาคมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก ที่ต่างตั้งตารอผลงานการค้นคว้าที่จะออกมานำเสนอใน
การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ รวมถึงบรรดาศาสตราจารย์ นักวิจัยจากประเทศต่างๆที่คุ้นเคย
และเคยอ่านผลงานของเขา สื่อมวลชนระดับนานาชาติในแวดวงเรื่องเหนือธรรมชาติ ลงข่าวในแนวว่า ไม่มีใครในโลกนี้ทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าเรื่องนรกมากเท่าเขาคนนี้อีกแล้ว ในโลกนี้.. ในภพภูมินี้..
รายงานการนำเสนอบนจอคอมพิวเตอร์บนพื้นหลังสีแดง กำลังขมวดถึงบทสรุป
“ในท้ายที่สุดแล้ว.. นรกในอารยธรรมต่างๆนั้น คือภาพของการตอบสนองต่อสภาวะจิต
โดยมีพื้นฐานมาจาก สิ่งที่อยู่ในคำสอนของศาสนา ลัทธิพิธี และความเชื่อต่างๆ ตลอดจน
คนกลุ่มที่เรียกว่า –ตายแล้วฟื้น- ที่ได้อ้างว่าไปเห็นนรกมาแล้ว นรก คือการรวมกันของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับร่างกาย
จิตใจ และสังคม ซึ่งเป็นสามองค์หลักที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นมนุษย์”
“ภาพพบพานของผู้ผ่านประสบการณ์หลังความตายนั้นขึ้นกับภูมิหลังทางอารยธรรม และวัฒนธรรมของผู้นั้น เช่น โลกหลังความตายแบบไทยๆก็จะมีนรกในการรับรู้ที่เขาคนนั้นเคยรับรู้มาก่อน มียมทูต
(ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจเหนือ)มีกระทะทองแดง อีกาปากเหล็ก ฯลฯ
ส่วนโลกของคนที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะเป็นเทวทูตสวมชุดขาวมีปีก มีวงแหวนเหนือศีรษะ
น่าแปลกที่โลกหลังความตายของคนไทย ไม่มีชาวตะวันตก หรือ คนผิวดำ หรือคนชาติพันธุ์อื่นๆเลย
เหมือนกับคนตะวันตกที่แทบไม่ได้พบพานคนชาติพันธุ์อื่นๆ
ก็จะไม่มีคนชาติพันธุ์อื่นในโลกหลังความตายของเขาเลย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า
ภาพพบพานหลังความตายเป็นเรื่องส่วนบุคคลตามพื้นเพทางวัฒนธรรม”
“สิ่งที่เหมือนกันในทุกคน ทุกชาติพันธุ์ คือ มียมทูต หรือผู้มีฐานะ อำนาจเหนือ และมีการตัดสินความ อันจะเลือกไปสู่ภพภูมิของการลงทัณฑ์ที่แย่ลง หรือดีกว่า”
“การลงทัณฑ์ ในนรก ไม่ว่าวัฒนธรรมใดๆ จะมีลักษณะการลงทัณฑ์ หรือ
การให้สภาพที่ไม่พึงประสงค์ของการเจ็บปวดทางร่างกาย การตายไม่ทำให้จบลง
จะมีฟื้นขึ้นมาเวียนว่ายอยู่ด้วยความเจ็บปวดทางกาย ความหวาดกลัวทางจิตใจ การมีสภาพอันทนได้ยาก
ทุรนทุราย ใฝ่หาการพ้นสภาวะนั้นๆ ของโทษทัณฑ์ต่างๆ ในระดับสังคมจะไม่มีสังคมที่ดี
จะมีลักษณะที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเจ็บปวด และหวาดกลัว”
“ต่อคำถามว่า นรกที่เป็นสถานที่ เป็นภพภูมิ มีจริงหรือไม่ คำอธิบายน่าจะ ตอบว่า “ไม่มี” ที่เรียกกันว่านรก ล้วนแต่เป็นสภาวะจิตทั้งสิ้น”
เสียงพิมพ์หยุดลงพร้อมกับความไม่แน่ใจ “นรกมีไม่ได้มีจริงหรอกหรือ?” บางสิ่งบางอย่างลึกๆภายในใจของเขาบอกว่าไม่ใช่ แต่เขาก็คิดไม่ออก ว่าจะเคาะแป้นพิมพ์อย่างไรไปแทน ประโยคนี้
เขาเคลื่อนมือขวาที่ค้างอยู่ที่แป้นพิมพ์ มานวดขมับ คืนนี้อาจจะดึกเกินไป การทำงานต่อเนื่องสิบชั่วโมง อาจจะนานเกินไปจนสมองล้า บางทีการผ่อนคลายอาจช่วยลดอาการเขม็งเกลียวลงบ้าง เขาคลิกเข้าไปที่ปุ่มสั่งการ เข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต..
... เพื่อแสวงหาการผ่อนคลาย
องก์ที่สอง
ณ ภพภูมิอีกแห่งหนึ่ง หนึ่งวันย้อนหลังจากเวลาปัจจุบันในระบบเวลาของมนุษย์ ในสถานที่ที่นอกเหนือการรับรู้และเข้าใจของมนุษย์คนใดๆ “ผู้ปฏิบัติงาน” กำลังนำเสนอรายงานต่อ
“ผู้ตัดสินใจ” มีเนื้อหา ที่พอจะอ่านในภาษามนุษย์ได้ว่า
รายงานสรุปทัณฑสถาน ภพภูมิ 247 รอบเวลากัลป์ 29456.23490
• ยอดผู้รับการลงทัณฑ์ปัจจุบัน 6329134569 ราย
• บรรจุใหม่ 323927 ราย มาจากเวียนว่าย 321,348 ราย รวมเข้าใหม่สุทธิ 2579 ราย
• ครบวาระลงทัณฑ์ 6709 ราย ส่งมอบกลับคืน ภพภูมิ 246 ทั้งหมด
• สถานการณ์ สงบเรียบร้อย
• ไม่มีการ หลุดพ้นภพภูมิด้วยกรณีพิเศษ พบกรณีกึ่งเข้าข่าย 48928 ราย
กรณีสงสัยพิเศษ 1 ราย กรณีค้นพบตัวตนและการมีอยู่ภพภูมิ 0 ราย
• จัดรายการลงทัณฑ์บรรจุเข้าใหม่ใหม่ตามหมวด ชีวะ – จิตตะ – สังคม ดังนี้
o ชีวะ – ไวรัส 489 , แบคทีเรีย 2098, ปรสิตภายใน 285, ปรสิตภายนอก 286, โรคภูมิแพ้ 329, โรคเป็นแต่กำเนิด 221
o จิตตะ – อาการหลงลืม แบบสมองฝ่อแบบ 297, ฆาตกรรมแบบ 599, จิตเภทแบบ902, โลภแบบ 852
o สังคม – สังคมเสมือนจริงทางสื่อโยงใยทั่วโลก 124, เงินผันผวน 2945, ก่อการร้าย 113, การไม่ต้องรับผิดชอบ ในการแสดงความคิดเห็น 12490395, ลดปริมาณพลังงานเชื้อเพลิง 145, สัตว์สูญพันธุ์ 2234
• ฯลฯ
แก้ไขเมื่อ 04 ก.พ. 51 00:13:28
จากคุณ :
winterdaydream
- [
3 ก.พ. 51 05:35:08
]