ข้อเขียนชิ้นนี้ เขียนเพื่อระลึกถึงนิตยสารเยาวชนเล่มหนึ่งในอดีต
ที่ได้บ่มเพาะปัญญาของเด็กไทยร่วมสมัยรวมทั้งกูรูด้วย
นั่นก็คือ ชัยพฤกษ์
เนื่องในโอกาสอำลาอาลัย คุณวิริยะ สิริสิงห
หรือที่นักอ่านรู้จักกันดีในชื่อ โอภาส อาจอารมณ์
เจ้าของคอลัมน์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฝึกสมองลองปัญญา
และคอลัมน์คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์อื่นๆที่ปรากฏอยู่ในนิตยสารเล่มนี้
คุณวิริยะ สิริสิงหได้จากโลกนี้ไปแล้ว
พร้อมกับบทบาทของคนทำหนังสือคุณภาพสำหรับเด็กๆ
ที่รุ่นลูกรุ่นหลานเติบโตขึ้นมาทันอ่าน
อ่าน Link ที่
http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W6334496/W6334496.html
ชัยพฤกษ์ ชื่อช่างเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา ชูช่อเหลืองละออยามหน้าร้อน
คือนิตยสารที่รวมปกิณกะความรู้สำหรับเยาวชนที่เริ่มอ่านหนังสือแตก
และต้องการขวนขวายหาสิ่งเติมแต่งสติปัญญานอกเหนือจากในห้องเรียน
เป็นนิตยสารรายปักษ์ภาษาไทยออกทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน
จัดทำโดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2497
ส่วนฉบับสุดท้ายนั้นได้หยุดไปเมื่อไรไม่แน่ใจ (ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วย)
ต่อมามีการแตกกิ่งก้านสาขาเป็น ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์
อัดแน่นขุมพลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รอบตัว (มีคุณวิริยะ สิริสิงหเป็นหัวเรือใหญ่)
ชัยพฤกษ์การ์ตูน เป็นหนังสือการ์ตูนรุ่นแรกๆแข่งกับเบบี้และหนูจ๋า
ฝีมือทั้งเล่มของน้ารงค์ ( ณรงค์ ประภาสะโนบล)
ซึ่งปรากฏลายเซ็นต์พร้อมกบร้องโอ๊บๆที่มุมภาพทุกครั้ง
ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน เป็นเล่มเฉพาะกาล ไม่ได้ออกต่อเนื่อง
นักคิด นักเขียนหลายท่านเติบโตมาจากคอลัมน์ต่างๆในชัยพฤกษ์นี้เอง
ไม่ว่าจะเป็น อนุช อาภาภิรม บรรณาธิการใหญ่
(นักสังคมศาสตร์ผู้มีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาสมัยต่อมา)
สุภา ลือศิริ (โบตั๋น) วิริยะ สิริสิงห
ชูเกียรติ อุททกะพันธ์ (ตอนหลังได้เป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อมรินทร์)
สุภาวดี โกมารทัต ( ผู้บริหารนิตยสารแพรว)
ดาราวัลย์ เกษทองและคนอื่นๆอีกมากมาย
สมัยที่ยังเด็กๆ การหานิตยสารเล่มหนึ่งให้ทุกคนอ่านได้
อ่านสนุกในหนึ่งครอบครัวเป็นเรื่องที่ยากมาก
เพราะบรรดาพี่ๆน้องๆก็มีวัยที่แตกต่างกัน
โชคดีที่พี่ๆในบ้านอ่านชัยพฤกษ์กันและได้แบ่งปันมาให้กูรูอ่านด้วย
จึงรู้สึกค่อนข้างแก่แดดมากกว่าวัยเดียวกัน
เรื่องราวอะไรบ้างที่ยังบานสลอนในความทรงจำ
โลกของหนูแหวน โดย ศราวก
โลกใสๆ บริสุทธิ์ของหนูแหวน เด็กท้องทุ่งบ้านนา
ผู้ช่างคิด ช่างถาม หาเหตุผลให้กับสิ่งต่างๆนานา
จนบางทีผู้ใหญ่ก็จนปัญญาหาคำตอบให้ไม่ได้
ต่อมากลายหนังสือเด็กขายดีที่ตีพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า.
เมื่อดอกไม้บาน โดย สิรินทร์ ช่วงโชติ
เรื่องราวของปุยฝ้าย กระต่ายตัวน้อยที่พาคนอ่านไปรู้จัก
และเข้าใจกับพรรณไม้ ใบหญ้า
ระบบนิเวศน์วิทยาใกล้ๆตัว ในยุคที่ทุ่งหญ้ายังเขียวขจีทุกหนแห่ง
ฝึกสมองประลองปัญญา
เลขคณิตคิดลัด ฝึกสมองและเชาวน์ปัญญาต่างๆ
เกมส์ซ่อนกล ตัวเลขมหาสนุกให้เด็กได้ขบคิด
(ซึ่งกูรูไม่ได้เรื่องเลย)
ภาษาภิรมย์ โดย นายตำรา ณ เมืองใต้
คอลัมน์ถาม ตอบ ภาษาและวรรณคดีไทยของปรมาจารย์ด้านภาษา
ผู้เคร่งครัดเรื่องการสะกด ผันคำตามวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง
เรียนภาษาอังกฤษจากหนังสือนอกเวลา
ที่ชัยพฤกษ์นี้เองที่ได้รู้จักวรรณกรรมเล่มเก่งของโลก
ไม่ว่าจะเป็น รีเบคก้า หรือ ฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็ครอย
หรือ หกนักฟิสิกส์ ซึ่งทั้งหมดเป็นหนังสือภาษาอังกฤษอ่านนอกเวลา
วรรณกรรมเอกของเยาวชน
เป็นนิตยสารรุ่นแรกๆที่แปลวรรณกรรมเยาวชนเผยแพร่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การผจญภัยของ ทอม ซอเยอร์ และเพื่อนพ้อง
โรบินสัน ครูโซ, เกาะมหาสมบัติ ฯลฯ
รวมทั้งเรื่อง เจ้าชายน้อย(อ่านครั้งแรก ไม่รู้เรื่องเลย)
ครูไหวใจร้าย ชื่นใจ บ้านน้อย พ่อเก้อ รัศมีเพ็ญ เดือนเด่น
ทั้งหมดนี้คือนิยายจากปลายปากกาของ ผกาวดี อุตตะโมทย์
ซึ่งต่อมาผันตัวเองมาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์กะรัต
ก่อนจะมอบไม้ต่อไปให้กับ มกุฎ อรฤดี (นิพพาน)
ในเสี้ยวของความทรงจำ
ได้รู้จักเด็กนักเรียนที่เก่งๆสอบได้ที่ 1 ของประเทศในแต่ละปี
ซึ่งมักจะถูกลงหน้าปก และสัมภาษณ์ข้างใน ไม่ว่าจะเป็น
ดร.ธีรยุทธ บุญมี/ ดร.วุฒิพงศ์ เพรียบจริยะวัฒน์/
อ. เมธินี บุญยประสพ (วณิกกุล)/ ดร.อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย
และคนอื่นๆอีกที่หลายท่านไม่ทราบไปอยู่แห่งหนตำบลไหน
กล่าวได้ว่า ชัยพฤกษ์เป็นนิตยสารเล่มหนึ่งที่บ่มเพาะ
เติมเต็มความคิด สติปัญญาและโลกทัศน์
ที่ทำให้เด็กธรรมดาคนหนึงแทนที่จะเล่นล้มลุกหกคะเมนไปวันๆ
กลับกลาย เป็นนักอ่านหนังสือในกาลต่อมา
มองหานิตยสารปัจจุบันก็ยังไม่เห็นว่า
จะมีเล่มไหนที่คล้ายคลึงหรือเปรียบเทียบได้เลย
เดินออกไปตามท้องถนนกลางเดือนร้อน
เห็นช่อชัยพฤกษ์เหลืองละออโบกสะพัดโต้สายลมแล้ง
นั่นคือกิ่งก้านแห่งปัญญาที่ยังหลงเหลือให้จดจำมาถึงวันนี้
ด้วยความเคารพอย่างสูง
สำหรับช่อชัยพฤกษ์แห่งปัญญา
และคุณวิริยะ สิริสิงห
แก้ไขเมื่อ 21 ก.พ. 51 07:23:55
แก้ไขเมื่อ 21 ก.พ. 51 07:22:45
แก้ไขเมื่อ 20 ก.พ. 51 22:58:45
จากคุณ :
กูรูขอบสนาม
- [
20 ก.พ. 51 21:53:46
]