บันทึกของคนเดินเท้า
รำลึกถึงครูกวีศรีรัตนโกสินทร์
เทพารักษ์
เมื่อถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี นักเลงกลอนทั้งหลายก็จะนึกถึงครูกวีท่านหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงเป็นอมตะของเมืองไทย คือท่าน สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร รัตนกวีศรีรัตนโกสินทร์ เจ้าของนิทาน คำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี อันมีชื่อเสียง ซึ่งเกิดในเดือนมิถุนายน เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว
จากหนังสือ นิราศภูเขาทอง ซื่งพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางแก้ว ภวภูตานนท์ ฯ อัตถากร เมื่อ ๙ เมษายน ๒๔๙๗ ได้ระบุว่า ท่านสุนทรภู่เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙ ในรัชกาลที่ ๑ และเข้ารับราชการอยู่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ มีตำแหน่งเป็นอาลักษณ์ มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรโวหาร
ครั้งสิ้นรัชการที่ ๒ และขึ้นรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๗ ดูเหมือนท่านสุนทรภู่จะถูกถอดยศและออกจากตำแหน่ง ท่านก็เลยเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ใน พ.ศ.นั้นเอง แล้วคงจะมีกรณีไม่ถูกไม่ต้องกับพระเถระผู้ใหญ่รูปใดรูปหนึ่งในวัดนั้น ครั้นออกพรรษารับอนุโมทนากฐินแล้ว ท่านก็ขึ้นไปกรุงเก่าโดยทางเรือ ราวปี พ.ศ.๒๓๗๑ ภายหลังสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้วราว ๔-๕ ปี เวลานั้นท่านมีอายุได้ ๔๒ ปีและในการไปคราวนั้น ท่านได้แต่งนิราศภูเขาทองไว้
บทนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ได้แยกประเภทลักษณะบทกลอนของไทยเราไว้เป็นสี่ประเภท คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งฉันท์และกาพย์ ได้ตำรามาแต่ประเทศอินเดีย โคลงกับกลอนท ตำราเป็นของไทยเราเอง ถ้าว่าเป็นทางตำนานโดยอาศัยพิจารณาบทกลอนของโบราณที่ยังเหลืออยู่ในบัดนี้ หนังสือบทกลอนไทยที่แต่งเป็นโคลงกับกลอนเป็นของมีมาก่อน ฉันท์และกาพย์มีขึ้นต่อชั้นหลัง ในราวแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
แต่คนสมัยนั้นดูเหมือนจะถือกันเป็นคติว่าโคลงฉันท์เป็นของแต่งยาก กวีที่มีชื่อเสียงมักแต่งหนังสือเรื่องสำคัญเป็นลิลิตหรือโคลงฉันท์ทั้งนั้น กาพย์กลอนถือกันว่าเป็นของแต่งง่าย มักแต่งแต่เป็นหนังสือสวด หรือเป็นคำขับร้องลำนำ และเป็นเพลงยาวสังวาส มาจนถึงปลายสมัยครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
หนังสือจำพวกที่เรียกว่านิราศ เป็นบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุที่จะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะเวลาเดินทาง ที่มักต้องไปเรือหลาย ๆ วัน มีเวลาว่างมาก ได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ ไปจนเกิดเบื่อ ก็ต้องคิดหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้สันทัดในทางวรรณคดี จึงแก้รำคาญโดยกระบวนคิดแต่งบทกลอน
และในเวลาเดินทางเช่นนั้น เป็นธรรมดาที่จะพรรณนาว่าด้วยสิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะทาง ประกอบกับอารมณ์ของตน เช่นครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือนเป็นต้น กระบวนความในหนังสือนิราศ จึงเป็นทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้น ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ที่เรียกว่าหนังสือนิราศ ดูเหมือนจะบัญญัติขึ้น ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้
นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่งทั้งเป็นโคลงและเป็นกลอนสุภาพ ดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศในครั้งรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ จะถือคติต่างกันเป็นสองพวก พวกหนึ่งถือตามคติเดิม ว่าโคลงฉันท์เป็นของสำคัญและแต่งยากกว่ากลอน กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น กวีอีกพวกหนึ่งชอบเพลงยาว อย่างเช่นเล่นกันเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพทั้งนั้น
ถ้าว่าเฉพาะเป็นกวีคนสำคัญในพวกหลังนี้ คือ สุนทรภู่ แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพมากเรื่องกว่าใคร ๆ หมด กลอนของสุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย ก็ถือเอานิราศของสุนทรภู่ เป็นแบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕
นิราศภูเขาทอง ของท่านสุนทรภู่ มีอยู่กว่า ๒๐ บท แต่ละบทสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งจะได้นำบางบทมาวาง เป็นการรำลึกถึงท่าน ณ โอกาสนี้ ในตอนหน้า.
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
18 มิ.ย. 51 11:53:34
]