โอบกอด
ผู้เขียน หลิวยง
ผู้แปล อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
เล่นเทนนิสบาดเจ็บที่หลัง จึงไปทำกายภาพบำบัด
คุณหมอใช้คลื่นความร้อนประคบให้ครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็สั่งให้ผมนอนคว่ำ กดจุดให้ สุดท้ายสั่งให้ผมลุกนั่ง แล้วก็กอดผมจากด้านหลังๆ แน่นๆ ประมาณห้าวินาที จึงพูดอย่างเหนื่อยหอบว่า
"เสร็จแล้ว! รู้สึกยังไงบ้าง"
ผมหันหน้ามา พูดว่า
"ไม่เลว! โดยเฉพาะตอนกอดแน่นๆ ช่วงสุดท้าย ผมเพิ่งเคยเจอวิธีบำบัดวิธีนี้ครั้งแรก รู้สึกผ่อนคลายได้จริงๆ"
คุณหมอหัวเราะ พูดว่า
"สงสัยคุณไม่ค่อยได้ถูกกอด คุณไม่รู้หรือว่าการสวมกอดรักษาโรคได้สารพัด กลับบ้านไปบอกให้เมียคุณกอดคุณเยอะๆ หน่อย เอาอย่างผม กอดแน่นๆ! การกอดช่วยคลายทุกข์!" พลางยักๆ ไหล่ แล้วพูดต่อว่า
"คนสมัยนี้นะ! งานยุ่งเกินไป กอดกันน้อยไป ละเลยธรรมชาติบำบัดที่ได้ผลที่สุดมาตั้งแต่โบราณ"
*
มิน่าละ เมื่องสองปีที่แล้ว หลังจากกิจกรรม "กอดฟรี" (Free Hugs) เริ่มต้นขึ้นที่ออสเตรเลีย พริบตาเดียวก็เป็นที่นิยมไปถึงทั่วโลก มักได้เห็นคนคนหนึ่งยืนอยู่กลางถนน ชูป้าย "Free Hugs" ใครที่ยินดีสวมกอด ก็แค่เดินเข้าไปหา ก็จะได้รับการสวมกอดที่อบอุ่น
บางคนพูดว่า เจ้าคนที่ชูป้ายนั่นแหละที่อยากให้คนกอด พวกเขาอยากได้รับการปลอบประโลมจากคนแปลกหน้าบนท้องถนน แต่ก็มีคนบอกว่าพวกเขาคือผู้ยินดีเสียสละอ้อมกอดโดยไม่มีเงื่อนไข ใครก็ตามที่อยากได้รับการกอด ก็ขอจากเขาได้ทุกคน
ผมรู้สึกว่ามีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่คนที่พูดได้เยี่ยมที่สุด น่าจะเป็นนักวาดการ์ตูนคอมมิกส์ชื่อดังชาวอเมริกา Bill Keane
"การกอดก็เหมือนกับการปาบูมเมอแรง จะได้รับการกอดกลับกลับมาในทันที"
*
ในหนังสือที่ชื่อ "SQ" (ความฉลาดทางสังคม) ของ Daniel Goleman มีเรื่องราวที่น่าประทับใจอยู่เรื่องหนึ่ง
เด็กหญิงวัยสามขวบคนหนึ่งอารมณ์ไม่ดี ว้ากใส่คุณอาของเธอ
เด็กหญิงพูดว่า "หนูเกลียดคุณอา!" (I hate you)
คุณอาตอบยิ้มๆ ว่า "แต่อารักหนู" (I love you)
เด็กหญิงพูดอีกครั้งว่า "หนูเกลียดคุณอา!" เสียงดังขึ้น แข็งกร้าวกว่าเดิม
คุณอาก็ยังตอบกลับอย่างอ่อนโยนว่า "อาก็ยังรักหนู"
เด็กหญิงตะโกนลั่นว่า "หนูเกลียดคุณอา!"
คุณอาพูดว่า "ไม่เป็นไร อาก็ยังรักหนูอยู่ดี" ว่าแล้วก็กางแขนออก กอดเด็กหญิงตัวน้อยเอาไว้
ในที่สุดเด็กน้อยก็อ่อนข้อลง "หนูก็รักอา" จมอยู่ในอ้อมกอดของคุณอา
ช่างเป็นภาพที่มีชีวิตเหลือเกิน! แทบจะเห็นเด็กหญิงคนนั้น กลายร่างจากปีศาจน้อยขี้โมโห เป็นลูกแพะน้อยที่แสนอ่อนโยน
สิ่งที่เปิดหัวใจของหนูน้อยคนนั้นจริงๆ คือสองแขนที่กางออก และอ้อมกอดที่แนบแน่น
*
มนุษย์เราเกิดมาก็ชอบให้กอด เด็กทารกร้องไห้ นอกจากท้องหิวแล้ว ก็คือรู้สึกขาดความปลอดภัย อยากให้กอด (อุ้ม) เคยเห็นเด็กทารกที่ไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่กอด (อุ้ม) บ้างไหม
การสวมกอดนั้น นอกจากสะท้อนความปรารถนาในรักของเด็กเท่านั้น ยังเป็นการแสดงความรักของเองอีกด้วย ดังนั้นหากเพื่อนของคุณส่งเด็กทารกให้คุณอุ้มครั้งแรก แล้วเด็กไม่ร้อง คุณจะรู้สึกภูมิใจมาก เพราะนั่นหมายความว่าเด็กน้อยแสดงออกให้รู้ว่าเขารักคุณ ถึงกับเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้รู้ ว่าคุณสนิทกับพ่อแม่ของเขาแค่ไหน ผู้เฒ่าผู้แก่หากได้เจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ ก็มักอดไม่ได้เอ่ยขึ้นอย่างดีใจว่า
"คนแปลกหน้าอย่างฉัน หนูน้อยยังยอมให้อุ้ม หมายความว่าฉันยังมีไออุ่น ยังอยู่ได้อีกหลายปี"
*
"อุ้มๆ" สำคัญกับเด็กเหลือเกิน ผลการวิจัยของนักจิตวิทยาบอกว่า
"เด็กที่ได้รับการกอด การอุ้มบ่อยๆ ก็เหมือนกับสัตว์ตัวน้อยที่แม่ของมันเลียมันบ่อยๆ เนื่องจากรู้สึกเสมอว่าแม่อยู่ข้างๆ รู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย จึงกินได้เยอะและโตได้ไว
แม้แต่ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องอยู่ในตู้อบ ถึงแม้จะอุ้มออกมากอดไม่ได้บ่อยๆ แต่ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่พยาบาลยื่นมือเข้าไปลูบคลำ การวิจัยใหม่ล่าสุดยังบอกว่า เด็กทารกแรกเกิดที่ได้รับการกอดบ่อยๆ พัฒนาการสมองจะดีกว่า เมื่อโตขึ้น จะมีความเป็นมิตรและสดใสร่าเริงกว่า
แต่จงอย่าคิดว่า เด็กน้อยชอบให้คุณอุ้มบ่อยๆ กอดบ่อยๆ ก็หมายความว่าคุณสำเร็จแล้ว เพราะเมื่ออารมณ์ของผู้ใหญ่ไม่มั่นคง เด็กทารกก็จะได้รับผลกระทบ รู้สึกไม่เป็นสุข จึงอยากให้คุณกอด/อุ้ม บ่อยๆ
คุณอุ้มเขา เขาจึงจะมั่นใจได้ว่าคุณยังรักเขา
*
ใครบอกว่ามีแต่เด็กเท่านั้น ที่จริงผู้ใหญ่เองก็ต้องการอ้อมกอด การสวมกอดไม่เพียงแต่แสดงความสนิทชิดเชื้อ ยังแสดงความเป็นมิตรด้วย คุณไม่เห็นหรือ ในภาพยนตร์ย้อนยุค เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ชัดว่ามิตรหรือศัตรู การศึกพร้อมจะปะทุได้ทุกเวลา แล้วอยู่ๆ ผู้นำของทั้งสองฝ่ายกระโดดลงจากหลังม้า กางแขนออกทั้งสองข้างอย่างเปิดกว้าง เดินเข้าหากัน สวมกอดกันอย่างแนบแน่น และแล้วกองทัพทั้งสองฝ่ายก็โห่ร้องยินดี จนถึงทุกวันนี้ บุรุษในชนเผ่าบางเผ่า ก่อนจะกอดกันก็ยังต้องทำท่า "กางแขนกว้าง" ขนาดนี้ เพื่อแสดงว่า "ฉันไม่มีอาวุธ!"
หรือไม่จริง อวัยวะที่สำคัญของมนุษย์นั้นอยู่ด้านหน้าทั้งหมด จะมีอะไรแสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ ยิ่งกว่าการ "สวมกอด" อย่างเปิดเผยเช่นนี้ได้อีก แม้แต่กีฬาชกมวยก็ยังเป็นเช่นนี้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างหมดเรี่ยวแรง ชกต่อไปไม่ไหว และไม่อยากถูกชกอีก วิธีที่ดีที่สุดก็คือสวมกอด
*
อาจเป็นเพราะบ้านเราไม่นิยมธรรมเนียมการสวมกอด ตอนที่ผมไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ จึงปรับตัวยากมาก เมื่อเพื่อนเก่ามาพบกัน หรือแม่กระทั่งศิษย์อาจารย์ที่ไม่เจอกันพักหนึ่ง ต้องนึกในใจก่อนว่าจะกอดหรือไม่กอดดี บางทีอีกฝ่ายกางแขนออกสองข้าง แต่ผมกลับยื่นมือออกไปเพียงข้างเดียว ก็จะเห็น "เขา" อึ้งไปสักครู่ แล้วค่อยหุบแขนลง เปลี่ยนเป็นยื่นแขนออกมาจับมือเช็คแฮนด์ กระอักกระอ่วนมาก แต่พอคราวหน้า ผมกางแขนบ้าง แต่เขากลับจำบทเรียนครั้งก่อนได้ กลายเป็นยื่นมือออกมาเพียงข้างเดียว
เรื่องที่ลืมไม่ลงเลยคือภรรยาเจ้าของบ้านเช่าชาวโรมาเนียของผม ทุกครั้งที่กอดผมเธอจะหอมแก้มซ้ายที หอมแก้มขวาดี เสียงดังฟอดใหญ่ แต่พอผมทำกิริยาอย่างเดียวกันกับสามีของเธอ คุณผู้เฒ่ากลับแสดงสีหน้าประหลาดใจ ภายหลังจึงรู้ว่าที่แท้ผู้ชายกอดกันแค่เอาแก้มแตะกันก็พอ ไม่ต้องหอมเสียงดัง
ที่แย่กว่านั้นก็คืองานเลี้ยงสุราสไตล์อังกฤษ ผู้ชายกับผู้ชายจับมือกัน ผู้หญิงกับผู้หญิงกอดกัน ชายกับหญิงจะกอดหรือไม่กอดก็ได้ ธรรมเนียมพวกนี้ก็พาปวดหัวอยู่แล้ว ที่ไหนได้ยังต้องกอดโดยมือข้างหนึ่งถือแก้วไวน์ แล้วกอดด้วยมือข้างเดียว แค่นี้ยังไม่พอ ยังต้องแนบแก้มกับแก้มขอบคุณผู้หยิง โดยห้ามไม่ให้ "แป้ง" บนหน้าของเธอหล่น ให้สุภาพสตรีหอมแก้ม แต่ก็ต้องไม่ให้ลิปสติกของเธอติดแก้ม นี่มันเป็นการกอดที่ไหนกัน มันเป็นการแสดงกายกรรมชัดๆ!
*
ผมกลับรู้สึกว่า การสวมกอดระหว่างเพื่อน ที่ชาวจีนนำมาใช้ในหลายปีมานี้ เป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่ต้องอ้าแขนกว้างๆ เพื่อแสดงว่าฉันไม่มีอาวุธ ไม่ต้องแตะแก้มแตะปาก เจอกันในงานเลี้ยง ขอแค่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นพอ สามารถไปหาที่ว่างสักที่ วางแก้วไวน์ลงก่อน แล้วค่อยสวมกอดกันแนบแน่น
จำได้ว่าครั้งหนึ่งผมกลับไต้หวัน สองเดือนต่อมาก็กลับมาที่นิวยอร์ก เพื่อนที่เล่นเทนนิสด้วยกันสองผัวเมียมาเยี่ยมผม พอก้าวเข้าประตูบ้านเท่านั้น ภรรยาของเขาก็สวมกอดผม ฝ่ายสามีก็ร้องอย่างรีบร้อนอยู่ข้างหลังว่า "ผมกอดด้วยๆ" ถัดมาเขาก็กอดกับผมแนบแน่น
เขาอุตส่าห์ร้องขอกอดด้วย หมายความว่าคิดถึงผมมาก มีเรื่องอยากจะคุยด้วยมากมาย การสวมกอดคราวนั้น ผมปลาบปลื้มใจมาก
*
การโอบกอดเป็นคำพูดที่ไร้เสียง จากกันนานกลับมาพบกันใหม่ อำลาอาลัยก่อนเดินทาง สายตาทั้งสี่สอดประสาน เมื่อไม่รู้จะพูดอะไรดี วิธีที่ดีที่สุดก็คืออ้าแขนออก ก้าวเข้าไปหา และสวมกอดกันอย่างเปิดใจ
หลายปีมานี้ ทุกครั้งที่ผมจะออกจากบ้าน นอกจากจะกอดกับภรรยา ลูกสาว ผมจะกอดกับพ่อตา แม่ยายด้วย สองสามครั้งแรกๆ ท่านผู้เฒ่าไม่คุ้นเคย ก็เอาแต่หัวเราะแห้งๆ เหมือนขวยเขิน แต่พอบ่อยครั้งเข้า พวกท่านรู้ว่าผมจะกอดท่าน ก็เตรียมตัวแม้กระทั่งท่ายืน ผมแค่ขยับตัวเท่านั้น ท่านก็กางแขนคอยแล้ว
ผมพบว่า ปกติเราอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน แต่กลับไม่สู้สวมกอดกันยามจะจาก เพราะทำให้รู้ว่าท่านผอมลง ท่านอ้วนขึ้น หรือท่านอ่อนแอลงอีกแล้ว ผมยังพบว่า การกอดหนึ่งวินาที กับการกอดห้าวินาทีนั้นไม่เหมือนกัน หนึ่งวินาทีแรกคือมารยาท เป็นธรรมเนียม แต่ถ้ากอดกันนานอกนิด แน่นขึ้นอีกหน่อย ข้างในนั้นมันส่งผ่านความรัก ความสัมพันธ์มากมายที่นอกเหนือคำพูด และไม่ต้องพูด
*
นึกถึงคุณแม่ที่เสียไปแล้วของผม วันหนึ่ง ท่านนั่งอยู่บนเก้าอี้โซฟา เป็นตำแหน่งเดิมที่ท่านนั่งประจำ มักจะมีกลิ่นประจำของท่านเสมอ ผมกำลังก้มหาปากกาด้ามหนึ่ง หาไปจนถึงโซฟาของท่าน ท่านจะลุกขึ้น ผมบอกว่าไม่ต้อง ยื่นมือไปควานหาบนเก้าอี้รอบๆ ตัวท่าน ซ้ายที ขวาที แล้วก็ถือโอกาสกอดท่านหน่อยนึง
ท่านอายุมาก เก้าสิบกว่าแล้ว แต่ยังมีเนื้อมีหนัง ผมออกแรงเป็นพิเศษ กอดท่านแน่นๆ หลายวินาที พูดยิ้มๆ ว่า
"ใช้ได้! ยังมีเงินทุน อยู่จนร้อยปีไม่มีปัญหา"
ท่านว่าผมนิดหน่อย แล้วก็หัวเราะ ลูบหัวผมเบาๆ พูดว่า
"ขนาดลูกชายยังแก่ป่านนี้แล้ว!"
ผมลุกขึ้นยืน หมุนตัวเดินจากไป หาปากกาต่อที่โซฟาตัวอื่น แต่กลับได้ยินเสียงกึกกึกกึกจากด้านหลัง หันหน้ากลับมาดู เห็นคุณแม่กำลังมองออกไปนอกหน้าต่าง พลางใช้ไม้เท้าของท่านเคาะพื้นอย่างกับมือสั่น
"เป็นอะไรละแม่" ผมเดินไปถาม
"ไม่มีอะไร!" คุณแม่ยังคงมองไปนอกหน้าต่าง ผ่านไปหลายวินาที จึงเอ่ยตอบด้วยเสียงแหบๆ ว่า
"แม่ไม่ได้กอดลูกนานแล้ว ลูกก็ไม่ได้กอดแม่นานแล้ว..."
ว่าแล้ว น้ำตาของท่านก็หยดลงบนที่เท้าแขนของโซฟา...
ที่มา
http://www.syzbooks.com/archives/484_news.php?lang=big
edit
แก้คำผิด
ใส่เครดิตเพิ่ม
แก้ไขเมื่อ 30 มิ.ย. 51 22:25:17
จากคุณ :
beer87
- [
30 มิ.ย. 51 11:53:48
]