SHUT UP AND WRITE by Donald Hamilton
From Colloquium on Crime (1986)
นักเขียนพูดมากเกินไป... อย่างน้อย พวกนักเขียนมือใหม่ก็พูดมากเกินไป ผมก็เคยเป็นไอ้หนุ่มช่างจ้อตอนตอนแรกที่เริ่มเขียน เดี๋ยวนี้ หลังจากเขียนมาได้ห้าสิบปี ผมกลายเป็นพวกที่มัดปากไว้ได้เกือบสนิท อย่างน้อยก็ตลอดเวลาการเขียนนั่นละ
ผมเรียนรู้การปิดปากเงียบในการเขียน เพราะผมได้ค้นพบว่า หลังจากเขียนนิยายมาได้สามสิบกว่าเล่ม ผมก็ยังคงไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับมันเลย... ไม่เลยสักอย่าง... ด้วยเหตุนี้ ผมถึงได้ต้องสื่อสารกับคนอื่นโดยการพูดด้วยปาก
ผมทึกทักเอาก็แล้วกันละว่า มันมีอยู่ในบรรดาหนังสือของผมอยู่แล้ว และถ้าคุณอยากได้สูตรลับของผมละก็ ไปหาอ่านเอาในหนังสือสิ อย่ามาคอยวนเวียนถามผมถึงมันเลย ผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร ผมไม่คิดว่านักเขียนคนอื่นเขาจะทำกันหรอก
สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ พวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ทั้งหลายที่กำลังเริ่มต้นเข้าวงการขีดเขียนดูจะต้องลำบากลำบนด้วยความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่พวกเขากระเสือกกระสนค้นหา คือ ทักษะที่สามารถสอนกันได้ ถ้าเพียงแต่เขาสามารถหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ได้ถูกคน พวกเขาคิดว่า มันก็เหมือน ๆ กันกับการเหวี่ยงไม้กอล์ฟ หรือยิงเป้าบินด้วยปืนลูกซอง หรือเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้น ให้ก้มหัวของคุณลงตอนจะตีกอล์ฟหรือยิงปืน เชิดหัวคุณขึ้นตอนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีด แล้วคุณก็จะเก่งอย่างกะแจ็ค นิคลอส (1) หรือรูดี้ เอ็ทเชน (2) หรือเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (3) งอข้อมือคุณให้เป็นรูปโค้งอย่างตอนจะจิ้มคีย์เปียโนหรือคีย์บอร์ดของเครื่องเวิร์ดโพรเซสเซอร์สิ แล้วคุณก็จะเป็นแพเดอรูว์สกี้ (4) หรือเชคสเปียร์ (5) ไม่งั้นก็จอห์น ดี. แมคโดนัลด์ (6)
มันคงจะง่ายอย่างงั้นอยู่หรอก!
ความจริงก็คือ ไม่มีใครสามารถบอกคุณได้หรอกว่า จะเอาคำไหนวางให้ถูกที่ ถูกหน้าเพื่อสร้างฉากหรือตัวละครที่น่าติดตามขึ้นมาอย่างไร แน่ละ ไม่มีใครที่สามารถบอกคุณได้ว่าจะเขียนออกมาให้มีสไตล์และอารมณ์ขันเพื่อจับความสนใจของคนอ่านเอาไว้ได้อย่างไรด้วย แล้วก็ไม่มีใครอีกนั่นแหละที่สามารถบอกคุณว่าให้เอาฉากกับตัวละครนี้ กับฉากโน้น ตัวละครนั้น มาผสมกันเข้าให้กลายเป็นพล็อตเรื่องที่สมเหตุสมผล น่าสนใจ ก็มันเป็นเรื่องของคุณนี่ คุณกำลังทำงานเพื่อตัวคุณเอง มีแต่พระเจ้านั่นละที่ช่วยอยู่
นี่ไม่ได้จะบอกว่าประสบการณ์ของนักเขียนคนอื่นจะไร้ประโยชน์กับคุณโดยสิ้นเชิงหรอกนะ มีอยู่หลายเรื่องเหมือนกันที่อัจฉริยะแรกผลิจะได้รับการช่วยเหลือจากมืออาชีพมือเก๋า ในด้านการตลาดของวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ด้านการปรับแต่งงานก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วในส่วนนี้เองที่มีปัญหาทางด้านจิตใจสุดสามัญเกิดขึ้น
ด้วยเหตุความเหมาะควรด้านการตลาด ผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่าคุณจะเอาเรื่องของคุณไปเสนออย่างไร ที่ไหน มันนานเหลือเกินแล้วตั้งแต่ผมขายเรื่องแรกของผมได้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมาถึงนิวยอร์ก และสิ่งที่ดีที่สุดที่นักเขียนหน้าใหม่พอจะทำได้ คือ การหาคำชี้แนะจากที่ไหนสักที่หนึ่ง อย่างจากนักปรับแต่งงานเขียนซึ่งได้รับการว่าจ้างให้มาทำหน้าที่นี้ แล้วอันไหนล่ะที่ว่ามันเกี่ยวกับปัญหาทางด้านจิตใจ
การอยู่ในดินแดนแห่งจินตนาการเป็นเรื่องโดดเดี่ยว และง่ายมากที่จะเกิดอาการจิตตก แล้วเริ่มสงสัยว่าเราหลงทางไปแล้วใช่ไหมนี่ หรือไม่อย่างนั้น บางทีคุณก็กำลังหลงยึดติดอยู่กับแผนที่ขุมสมบัติงี่เง่าและคำบรรยายเกี่ยวกับเพชรนิลจินดาที่มาค้นพบเอาทีหลังว่ามันไม่มีอยู่จริง หรือกลายเป็นของคนอื่นไปซะอย่างนั้น เอาละ ก็อย่างที่ผมระบุเอาไว้นั่นละ มันเป็นดินแดนอันเปล่าเปลี่ยวและเป็นดินแดนของนักเขียนที่กำลังเรียนรู้ ไม่มีใครนำทางคุณได้นอกจากตัวคุณเอง แต่บางที มันก็คงจะช่วยให้คุณรู้ว่า คุณไม่ได้โดดเดี่ยวโดยแท้หรอก เพราะมีคนอื่นที่ก้าวข้ามความยากลำบากผ่านไปได้ก่อนหน้าคุณแล้วตั้งเยอะ
ผมจำไม่ได้ว่า ผมเขียนเรื่องแรกของผมเมื่อไหร่ ผมจำได้แค่ว่าตอนอายุน้อยมาก ผมเคยแกล้งน้องสาวของผม (ทั้งหมดสามคน) ในคืนพายุจัด ทำให้พวกเธอกลัวโดยการปั้นเรื่องสยองขวัญเหมาะ ๆ มาเล่าให้ขนหัวลุกเล่น ผมอาจจะเคยเขียนตอนเรียนมัธยมปลายด้วยก็ได้ เพราะผมจำได้อย่างชัดเจนว่าซื้อหนังสือคู่มือชื่อ พิมพ์อย่างไร หรือ พิมพ์สัมผัสช่วยให้อะไรง่ายขึ้น หรืออะไรเทือกนั้นมา และพยายามปล้ำกับเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้ออันเดอร์วู้ดเครื่องยักษ์ของพ่อกับแม่ ซึ่งค่อย ๆ กลายเป็นของผมในที่สุด ผมแทบไม่เคยมีปัญหาในการทำรายงานส่งเลย แม้ว่าผมจะใช้ทักษะชนิดใหม่นี้เพื่อการนั้นด้วยก็ตาม (ในตอนแรก เอกสารประกอบการเรียนที่ผมทำออกมาแทบจะอ่านไม่ออก แถมมีรอยกากบาทกับรอยลบอีกเพียบ แต่บรรดาคุณครูก็ไม่ได้บ่นออกมาดัง ๆ เพราะลายมือของผมก็ห่วยพอกัน)
ผมเขียนเรื่องในสมัยที่เรียนวิทยาลัยด้วย ซึ่งความจริงก็คือ ผมใช้เวลาไปกับมันซะส่วนใหญ่จนผลการเรียนของผมออกมาอนาถจิตและต้องเรียนเพิ่มอีกปีเพื่อให้จบปริญญา
ผมจบปริญญาทางเคมี เพราะคุณพ่อของผมบอกว่าการทำงานเขียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมควรจะเรียนรู้ในสิ่งที่จะทำให้ผมทำมาหากินได้ด้วย ท่านพูดถูกต้องทีเดียว วิชาเคมีเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเลี้ยงตัว และต่อมาก็เป็นครอบครัวของผมเองได้ในตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่ผมยังคงรัวแป้นพิมพ์ดีดอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาว่าง พยายามเรียนรู้การเขียนต่อไป
ในเวลานี้ เครื่องพิมพ์ดีดอันเดอร์วู้ดรุ่นโบราณถูกแทนที่ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันชนิดกระเป๋าหิ้วที่ปราศจากเสียง เป็นเจ้าเครื่องกลตัวเล็ก สงบปากสงบคำที่เกือบจะได้ครองสถิติโลกสำหรับต้นฉบับที่ไม่ได้เคยตีพิมพ์เลยเอาไว้ ผมยังคงโม่งานออกมาและส่งออกไปโดยสอดซองให้ส่งกลับมาแนบไปด้วย ในช่วงวันเวลาเหล่านั้น บรรดาต้นฉบับทั้งหลายของผมได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพแต่ไม่ได้รับความกระตือรือร้นสนใจนักเสมอไป ผมขุดพวกมันขึ้นจากกองมาดู ไม่มีต้นฉบับอันไหนเลยที่ถูกส่งคืนพร้อมประทับตราว่า ส่งคืนโดยไม่ได้เปิด อย่างที่ผมได้รับในทุกวันนี้ แต่ที่สุดแล้ว ผมก็พบว่ามันถูกส่งกลับบ้านมาพร้อมกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ว่า ปฏิเสธไม่รับพิมพ์ ผมเคยพยายามส่งงานไปที่หนังสือเริงรมย์ราคาถูกที่เขาเรียกกันว่า pulp magazine(7) ในช่วงที่หนังสือแนวนี้เฟื่องฟูสุด ๆ ด้วยซ้ำ แต่ในวันหนึ่ง แรงบันดาลใจหนึ่งก็ซัดผมเข้าให้... ให้ตายเถอะ ไหน ๆ แล้วถ้าเราจะต้องสะสมใบบอกปฏิเสธพวกนี้ต่อไปละก็ ผมก็น่าจะเก็บใบบอกปฏิเสธที่มันชั้นสูงหน่อยสิ
ดังนั้น ผมก็เลยหยิบเอาเรื่องรักพิลึก ๆ สั้น ๆ ที่ผมเพิ่งเขียนเสร็จขึ้นมา ไอ้ที่ว่ามันพิลึกก็เพราะผมไม่เคยเขียนเรื่องพรรค์นี้มาก่อนเลย ผมพิมพ์มันซ้ำอีกครั้งด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง นับจากนี้ เรากำลังจะมุ่งความสำเร็จอันสูงสุดกันแล้ว ผมส่งต้นฉบับไปพร้อมกับซองติดแสตมป์สำหรับส่งคืนกลับมาอย่างที่เคยทำเป็นปกติ ผมบอกตัวเองไม่ให้คาดหวังมากเกินไปนัก และแน่นอนว่า อีกสักสองสามสัปดาห์ต่อมา เจ้าซองคุ้นตาของผมซองนั้นก็กลับมาทางไปรษณีย์ ก็โอเคละนะ มันอาจจะเป็นความคิดที่น่าสนใจ แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะสำเร็จ ผมเปิดซองออก อยากรู้นักว่าใบตอบปฏิเสธของคอลลิเยร์ส (Colliers) มันจะดูดีมีระดับกว่าใบตอบปฏิเสธของพวกแบล็กแมสก์ (Black Mask) หรือ ไดม์เวสเทิร์น (Dime Western) หรือเปล่า แต่สิ่งที่อยู่ในซอง หนีบติดมากับต้นฉบับของผม ไม่ใช่ใบตอบปฏิเสธเลยสักนิด
มันเป็นจดหมายที่สุดแสนจริงใจจากบรรณาธิการสุภาพสตรีที่มีตัวตนในชีวิตจริง เธอเขียนบอกว่า เรื่องของผมไม่ค่อยตรงกับความต้องการของทางนิตยสารสักเท่าไหร่ (ซึ่งผมก็เคยได้ยินอย่างนั้นมาก่อนแล้ว) แต่เธอยังเขียนต่อไปว่า แม้นิตยสารคอลลิเยร์สไม่มีเจตนาที่จะชี้บอกให้นักเขียนต้องเขียนอะไร อย่างไหน แต่ถ้าผมนำกลับไปแก้ไขใหม่ในแบบที่นิตยสารรับ ทางเธอก็ยินดีที่จะรับไปอ่านอีก แต่ถ้าผมรู้สึกว่ามุมมองทางศิลปะของผมสมบูรณ์ในแบบที่มันเป็นอยู่แล้ว และเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แล้วนำไปส่งให้ที่อื่นพิจารณา ทางนิตยสารก็พร้อมจะเข้าใจ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทางนิตยสารปรารถนาที่จะได้เห็นงานผมอีกในโอกาสต่อไป
ว้าว! ผมติดโผด้วย! แบบว่า... ก็เกือบ ๆ แล้วน่ะนะ
ผมรีบแจ้นไปที่เครื่องพิมพ์ดีดแล้วปรับแก้ตามที่ได้รับคำชี้แนะ (ผมคิดว่างั้น) และส่งเรื่องกลับไปที่นิตยสารพร้อมกับไขว้นิ้ว หวังว่ามันจะเป็นไปอย่างที่ผมคาดหวัง ไม่นานนัก มันก็กลับมาที่ผมอีกครั้ง ผมแทบคิดอะไรไม่ออกเลย แต่ผมก็จะพยายามดูอีก...
ความอดทนของบรรณาธิการนั้นยิ่งใหญ่มาก เราปรับแก้ไอ้เรื่องรักตะหวักตะบวยนั่นด้วยกันซ้ำไปมาอยู่สักเจ็ดครั้งโดยประมาณ และผมเริ่มจะหมดหวัง... แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้นจริง ๆ หรอก ไม่ว่าอย่างไรผมจะพยายามทำต่อไปไม่ว่ามันจะยากเย็นแค่ไหนก็ตาม และในวันหนึ่ง มีจดหมายมาจากคอลลิเยร์ส ไม่ใช่ซองกระดาษมะนิลาสีน้ำตาลอย่างเคย แต่เป็นซองขนาดจดหมายติดต่องานแบบธรรมดา แม้ว่าคำว่า ธรรมดา มันไม่ใช่คำที่ตรงนักก็เถอะ พอผมรีบฉีกซองเปิดออก เช็คจำนวนเจ็ดร้อยห้าสิบเหรียญก็ร่วงลงมา
นอกจากเช็คแล้ว ยังมีจดหมายจากบรรณาธิการบริหารของนิตยสารแนบมาด้วย โดยขอบคุณสำหรับงานเขียนของผม และเตือนผมเรื่องการรับมือกับความเสี่ยงในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าจับตา ผมควรจะระมัดระวังในการเลือกสังกัดตัวแทนจำหน่าย และไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพวกตัวแทนขี้ฉ้อบางพวกที่จะดักเอานักเขียนแรกบินมากักขังไว้ ผมเอาข้อแนะนำที่ได้รับมาไปปรึกษาพี่เขยที่ทำงานในธุรกิจการพิมพ์ และได้ติดต่อกับตัวแทนที่เขาแนะนำให้ ซึ่งเป็นสุภาพสตรีแสนน่ารักที่ทำงานให้ผมอย่างดีตลอดมาจนกระทั่งเธอเสียชีวิตไปในอีกสามสิบกว่าปีต่อมา
อย่างไรก็ตาม ผมได้เป็นนักเขียนแล้ว ให้ตายสิ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. Jack Nicklaus อดีตนักกอล์ฟมือหนึ่ง ชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นโปรกอล์ฟที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
2. Rudy Etchen นักกีฬายิงปืนประเภทเป้าบินชาวอเมริกัน
3. Ernest Hemingway (21 กรกฏคม 1899 2 กรกฎาคม 1961) นักประพันธ์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์และโนเบลสาขาวรรณกรรม มีผลงานที่ได้รับรางวัล เช่น The Old Man and The Sea เป็นต้น
4. Paderewski หรือ Ignacy Jan Paderewski (18 พฤศจิกายน 1860 29 มิถุนายน 1941) คีตกวี นักเปียโน และนักการทูตชาวโปแลนด์ ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สามของโปแลนด์
5. William Shakespeare (26 เมษายน 1564 23 เมษายน 1616) กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ ผู้ประพันธ์บทละครเรื่อง โรมีโอกับจูเลียต เวนิสวาณิช
6. John D. McDonald (21 กรกฏคม 1899 2 กรกฎาคม 1961) นักเขียนนิยายเขย่าขวัญชาวอเมริกันที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนรหัสคดีชั้นครู ผลงานเด่น คือ The Executioners (Cape Fear)
7. Pulp magazine คือ นิตยสารนิยายราคาถูกซึ่งมีการตีพิมพ์จำหน่ายอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 1920-1950) มีด้วยกันหลายแนว เช่น แฟนตาซี สืบสวนสอบสวน
(มีต่อค่ะ)
แก้ไขเมื่อ 21 ก.ย. 51 00:57:02
จากคุณ :
ปิยะรักษ์
- [
21 ก.ย. 51 00:56:11
]