มาต่อจากคราวที่แล้วครับ หายไปนานทีเดียว ขออภัยบรรดานักเรียนมา ณ ที่นี้
ย้อนหลัง
บทเรียนที่ 1 "ว่าด้วยลักษณะแห่งคำ"
http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W7008644/W7008644.html
บทเรียนที่ 2 "การใช้คำ"
http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W7023637/W7023637.html
บทเรียนเสริม พื้นฐานการวิจารณ์นิยายแบบง่ายๆ
http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W7002343/W7002343.html
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
บทที่ ๓ ลักษณะแห่งประโยค
ท่านได้ศึกษามาถึงบทนี้ บางทีจะเกิดความสงสัยว่า คำ ประพันธศาสตร์ นี้หมายถึงอะไร คำประพันธศาสตร์นี้ได้บัญญัติขึ้นแทนคำภาษาอังกฤษว่า Rhetoric ซึ่งหมายถึง วิชาแห่งการจัดคำพูดให้เหมาะสมกับเรื่องและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง ศิลปะแห่งการใช้ถ้อยคำให้บังเกิดผลสมตามความมุ่งหมาย วิชานี้เป็นรากฐานของการประพันธ์ ไม่ว่าเราจะเขียนเรื่องอะไรต้องอาศัยหลักประพันธศาสตร์ทั้งสิ้น
คำว่า ประพันธศาสตร์ นี้ ฟังดูเป็นคำใหญ่โต แต่ตามธรรมดาศิลปะแห่งการเรียบเรียงถ้อยคำนี้ ย่อมมีอยู่ในตัวคนไม่มากก็น้อย ถ้าเราได้ฟังยายแก่ขอทานเล่าประวัติของแก เราได้ฟังจนเราเปล่งอุทานว่า โธ่ น่าสงสาร ดังนี้ แปลว่า ยายแก่ขอทานนั้นได้พูดปลุกอารมร์อย่างหนึ่งขึ้นในจิตใจของเราแล้ว แต่แกจะเข้าใจหรือเคยเรียนวิชาประพันธศาสตร์ก็หาไม่ อย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆ ที่เราปรารถนาจะให้เป็นหลักฐาน ให้มีลักษณะที่จะเจริญก้าวหน้า เราต้องจับเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาแยกแยะตั้งเป็นหลักวิชาขึ้น อาจารย์ทางประพันธ์ศาสตร์นับตั้งแต่อริสโตเติล (Aristotle) ซิเซโร (Cicero) เป็นต้นมา จึงได้พิจารณาวรรณคดีที่สำคัญๆ ศึกษาห้วงความนึกคิดของมนุษย์ แล้วตั้งเป็นหลักหรือกฏเกณฑ์ขึ้น แต่กฎนี้มิได้ตั้งขึ้นสำหรับบังคับ เป็นเพียงหลักแนะนำและชี้ให้เข้าใจเท่านั้น
บทวรรณกรรมต่างๆ ย่อมประกอบด้วย คำ เป็นหน่วยเล็กที่สุด นักประพันธ์เอาคำมาลำดับกันเข้าเป็นข้อความ เรียกในไวยากรณ์ว่า ประโยค แล้วก็เรียงประโยคต่างๆ ให้มีข้อความติดต่อกันเป็นลำดับ รวมเรียกว่า เนื้อความ หรือข้อความตอนหนึ่ง เนื้อความหลายๆ ตอนรวมกันเป็น เรื่องหนึ่ง บทวรรณกรรมต่างๆ จะพ้นไปจาก คำ ประโยค เนื้อความ ไปไม่ได้เลย สิ่งทั้งสามประการนี้ดูเผินๆ ก็เป็นธรรมดาสามัญ แต่ก็เปรียบเหมือนใบไม้ใบเดียว นักพฤกษศาสตร์ อาจให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์อาจให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เราได้มิใช่น้อย
ในบทก่อน ได้ชี้ให้ท่านเห็นความสำคัญของถ้อยคำ บัดนี้จะได้แสดงหลักแห่งการน้ำถ้อยคำมารวมลำดับกันเป็นข้อความ ซึ่งเรียกได้ว่า ประโยค ต่อไป
ลักษณะของประโยค
ประโยค คือคำหลายคำรวมกันแสดงข้อความจบลงเพียงข้อความเดียว
ตัวอย่าง
๑. ทรัพย์นั้นเป็นผลของความอยู่ในธรรม
๒. ความสุขเป็นผลของความมีทรัพย์
เมื่ออ่านตัวอย่างนี้ ท่านจะได้ข้อความสองอย่าง คือ ๑ และ ๒ ข้อผิดของนักเขียนในเรื่องนี้มักจะเกิดจากความเลินเล่อ คือ พูดข้อความไปด้วนเสียเฉยๆ ผู้อ่านยังไม่ทราบเรื่องบริบูรณ์ก็ขึ้นข้อความใหม่ ฉะนั้นเมื่อเขียนเรื่องจงระวัง อ่านประโยคทุกประโยคที่เขียนลงไป ว่าได้ความสมบูรณ์หรือขาดห้วน
ถ้านำเอาประโยคต่างๆ มาพิจารณา จะเห็นลักษณะต่อไปนี้
ประโยคสามัญที่สุด ซึ่งเรียกในภาษาไวยากรณ์ว่า เอกัตถประโยค ประโยคชนิดนี้ย่อมมี
ก. ประธาน กริยา
โจโฉ โกรธ
แม่ฉวี ยิ้ม
ข. ประธาน กริยา กรรม
เขา ถอด เสื้อ
นายบรรจง ยิง นก
ค. ประธาน กริยา คำประกอบกริยา
รถ ตก คลอง
นายขจร เป็น นักมวย
นี่เป็นแบบประโยคอย่างสามัญทีสุด เป็นความรู้ของนักเรียนชั้นประถมสามประถมสี่ แต่พี่พบเขียนผิดนั้นคือในข้อ ข. ซึ่งเกิดจากความไม่รอบคอบเป็นส่วนมาก ถ้าท่านใช้ ประธาน กับ กริยา แล้ว กริยานั้นยังไม่บอกความบริบูรณ์ก็ต้องหาก กรรม หรือคำประกอบ มาเติมให้ได้ความ และ ถ้ามี กริยา ก็ต้องมีประธาน
ประโยคที่ผู้เริ่มเขียนมักจะผิดเป็นดังนี้
๑. งานฉลองรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีทั่วพระราชอาณาจักร
งานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมของกริยา จัด ความเอาไว้ติดหลัง จัด และการที่เอามาไว้ข้างต้นประโยคดังนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ความเด่นขึ้นเลย
๒. รองเท้า มันเป็นเครื่องแต่งกายที่จำเป็น
มัน เป็นประธานที่ใส่เข้าไปโดยไม่มีประโยชน์ เพราะคำ รองเท้า ก็มีอยู่แล้ว
๓. ความสุข ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าสักครู่นี้ มันได้หายไปสิ้น
ความสุข เป็นประธาน แต่ไม่มีกริยา ตัวกริยาของความสุข คือ ได้หาย แต่คำว่า มัน มาเป็นประธานซ้อนอยู่ เช่นนี้ผิด คำว่า มัน ไม่ต้องใช้
๔. ศรีปราชญ์ ที่คนทั้งหลายยกย่อง เขาเป็นปฎิภาณกวีที่รุ่งโรจน์
เช่นเดียวกับข้อ ๓ คำว่า เขา ไม่ต้องใช้
๕. เขานึกถึงเรื่องอิเหนาที่ได้คุยกับเพื่อนๆ เมื่อตอนเช้า
ประโยคนี้ไม่ชัด ต้องเติม เขา ระหว่างคำว่า ที่ กับ ได้ เพราะคำ ได้คุยไม่มีประธาน
แต่ประโยคสามัญย่อมไม่พอกับความต้องการของนักเขียน ที่จะขยายข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเราจึงขยายประโยคออกไป ซึ่งจะทำได้ ๒ วิธี คือ
ก. หาคำมาขยาย
ข. หาข้อความมาขยาย
คำ ที่มาขยายนั้นได้แก่คำวิเศษณ์ หรือที่เคยเรียกกันว่าคำคุณศัพท์และกริยาวิเศษณ์ ส่วนข้อความที่มาขยายได้แก่ประโยคอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกัน และการที่ความจะเกี่ยวเนื่องกันได้ก็ต้องอาศัยคำต่อ ซึ่งเรียกในไวยากรณว่า คำบุพบท สันธาน ประพันธสรรพนามและประพันธ์วิเศษณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อความในประโยคก็จะซับซ้อน ถ้าไม่รู้จักวางรูปประโยค ไม่เข้าใจการลำดับความ ก็จะทำให้เรื่องที่เราประสงค์จะกล่าวหย่อนรส ทำให้ความหมายคลุมเครือ หรือทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปจากความประสงค์ของเราก็ได้
สำหรับการตั้งประโยค มีหลักที่ควรยึดถือดังนี้
๑. หลักแห่งความใกล้ชิด
ข้อความใดที่จะต้องพูดรวมกัน ต้องพยายามเรียงข้อความนั้นให้อยู่ใกล้ชิดติกัน
ตัวอย่าง
๑. ไหมเป็นสินค้าสำคัญ ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ
ประโยคนี้ ถ้าฟังเผินๆ ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ทว่าไม่ชัดเจนเท่ากับ
ไหม ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ เป็นสินค้าสำคัญ
ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ เป็นข้อความที่จะขยายคำว่า ไหม ฉะนั้นต้องเรียงข้อความนี้ไว้ติดกับคำ ไหม การที่แยกห่างจากคำ ไหม ไปไว้ข้างหลับ สินค้าสำคัญ ทำให้คิดเขวไปได้ว่า ซึ่งมาจากตัวหนอนเล็กๆ นี้ ขยายคำว่า สินค้าสำคัญ
หลักข้อนี้เกี่ยวพันกับห้วงความคิด คือ ความอันใดที่คิดควบกัน ต้องให้ความนั้นอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้าเราเอาความนั้นไว้เสียคนละที่แล้ว ห้วงความคิดก็ขาดระยะ ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปได้
๒. จะมีซัพเพอร์ และเต้นรำต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทย ซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่โรงโขนหลวง
การลำดับความในประโยคนี้ ผิดหลักที่กล่าวแล้ว ที่ถูกควรลำดับความใหม่ดังนี้
ก. ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ จะมีซัพเพอร์และเต้นรำที่โรงโขนหลวง ต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทยซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ
หรือ
ข. ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่โรงโขนหลวงจะมีซัพเพอร์และเต้นรำ ต่อจากการเล่นรีวิวของจักเรียนไทยซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ
๓.
ก. นายแสงถูกฟ้องฐานวิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา
ข. นายแสงถูกฟ้องในศาลอาญา ฐานวิ่งราวทรัพย์
ความใน ก. และ ข. ต่างกันมาก ใน ก. ในศาลอาญา อยู่ชิดกับ วิ่งราวทรัพย์ ฉะนั้นทำให้เข้าใจว่า วิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา แต่คนอ่านอาจฉงนว่า ท่านต้องการพูดว่า วิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา หรือ ฟ้องในศาลอาญา ถ้าประโยคใดมีความกำกวมเช่นนี้ ท่าจะต้องตรวจรูปประโยคทันที เพราะท่านอาจเขียนประโยคโดยละเมิดหลักที่กล่าวแล้ว
แก้ไขเมื่อ 07 ต.ค. 51 15:42:52
จากคุณ :
ณัฐกร
- [
วันเกิด PANTIP.COM 15:35:00
]