ย้อนอดีต
ผมไม่อยากเป็น (แค่) ที่ปรึกษา
พ.สมานคุรุกรรม
มีคำกล่าวไว้ว่าในชีวิตของคนที่รับราชการนั้น จะต้องอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง คือ ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้อง ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้านาย และ ครู หรือ นักเรียน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง หรือทุกอย่างก็มี
ผมเคยเล่ามาแล้วว่า ครั้งแรกผมเป็นลูกจ้างใช้แรงงาน ก็ต้องเป็นลูกน้องที่มีเจ้านายมากมาย ต่อมาก็ไปเป็นพลทหารเกณฑ์ ซึ่งก็มีฐานะเหมือนเดิม ต่อมาได้เป็นครูฝึกทหารใหม่ จนเข้าสมัครเป็นนักเรียนนายสิบ ต่อมาจึงเป็นนายสิบและนายทหาร จนได้เป็นหัวหน้าแผนก ก็มีทั้งลูกน้อง และเจ้านายพร้อม ๆ กันตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปี
นอกจากนั้นผมยังเคยมีตำแหน่งที่ไม่ใช่ที่กล่าวมาข้างต้น คือเป็นที่ปรึกษา ซึ่งไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานในหน่วยงานใดใดที่ผ่านมาเลย ตำแหน่งนี้ใคร ๆ ก็ไม่ชอบเป็น เพราะไม่มีงานทำ แต่ตำแหน่งนี้ของผม ไม่ยักว่างเหมือนที่เขาว่ากัน คือ เมื่อผมไปรับราชการพิเศษที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ครั้งหลัง ผมได้อยู่ในตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล
คำว่ากำลังพลเป็นศัพท์ทางทหาร หมายถึงบุคลากรในหน่วยนั้น ถ้าเป็นพลเรือนก็คงจะเป็นฝ่ายบุคคลนั่นเอง ผมเป็นรองหัวหน้าฝ่ายนั้นอยู่ ๑๔ ปี ตั้งแต่มียศร้อยเอก จนถึงพันโท พอได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ก็เกินตำแหน่ง นายจึงเอาออกจากตำแหน่งรอง ให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายกำลังพล และแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นใหม่
ตำแหน่งที่ปรึกษานั้น ความจริงโดยปกติไม่มีใครมาปรึกษาหรอกครับ เป็นตำแหน่งที่นายเมตตาที่อยู่มานานยังไม่อยากเอาออก ก็ให้นั่งเล่นอยู่สักพักหนึ่งก่อนจะเกษียณอายุ แต่สำหรับผมการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ขณะนั้น ททบ.๕ กำลังให้บริษัทมาติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้งานในทุกฝ่าย ท่านเห็นผมอยู่ว่างจึงส่งไปเรียนคอมพิวเตอร์ที่บริษัทแถมให้ และให้นำความรู้มาสอนลูกน้องที่เป็นเสมียนในฝ่ายด้วย
ผมก็กัดฟันเรียนไปโดยไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะภาษาอังกฤษสมัยก่อนกึ่งพุทธกาลของผมนั้น มันใช้ไม่ได้เลยสำหรับ พ.ศ.นั้น เคราะห์ดีที่มีลูกน้องของฝ่ายอื่น ที่เรียนอยู่ด้วยกันเห็นใจผม จึงทำบทย่อให้ผมในแต่ละวันที่เรียน จนสามารถจบมาสอนลูกน้องในฝ่าย ตามความประสงค์ของนายได้สำเร็จ
แต่ยังไม่หมดกรรมแค่นั้น ทางฝ่ายเทคนิคได้รับคำสั่งให้จัดทำโปรแกรม ที่จะใช้ในแต่ละฝ่าย ท่านหัวหน้าฝ่ายเทคนิคในขณะนั้น จึงเชิญหรือความจริงเรียกให้ผมไปร่วมงานด้วย เป็นผู้ออกแบบการบันทึกประวัติกำลังพล ซึ่งผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากเขียนเป็นภาษาไทยธรรมดา แล้วท่านไปจัดทำให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์อีกทีหนึ่ง พอเริ่มใช้ยังไม่ทันทราบผลว่าขัดข้องหรือไม่ประการใด ผมก็พ้นหน้าที่ไปเสียก่อน
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อไปช่วยราชการที่ ททบ.๕ แล้ว ความที่ได้คลุกคลีอยู่กับนิตยสารทหารสื่อสารมานาน ท่านก็ให้เป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึก วันสถาปนา ๒๕ มกราคม ของทุกปี โดยให้ตำแหน่งเป็นเลขานุการของคณะผู้จัดทำ
ผลก็คือต้องเป็นผู้ประสานติดต่อกับคณะบรรณาธิการ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการผลิตนิตยสารชื่อดังในท้องตลาด เป็นผู้ติดตามขอเรื่องจากผู้เขียนที่เป็นเจ้าหน้าที่ ททบ.แต่ละฝ่าย ตรวจพิสูจน์อักษรทุกเรื่องที่จะนำลงพิมพ์ ไม่ให้ผิดนโยบายของผู้บังคับบัญชา จัดเรียงภาพของผู้บริหารของสถานีระดับกองทัพบก ไม่ให้ผิดพลาดเพราะเป็นระยะเวลาการปรับย้ายประจำปี รวบรวมภาพข่าวของสถานีตลอดปีเพื่อประชาสัมพันธ์ โดยท่านผู้เป็นประธานคณะผู้จัดทำ คอยรับรายงานจากผมเมื่อมีข้อขัดข้องเท่านั้น
ผมก็ทำหน้าที่นั้นอยู่เกือบสิบปี โดยมีข้อผิดพลาดบกพร่อง น้อยบ้างมากบ้าง แต่ก็รอดจากการงดบำเหน็จมาได้อย่างเฉียดฉิว พอถึงปีสุดท้าย ท่านผู้เป็นประธานครบกำหนด เกษียณอายุราชการ ก่อนหนังสือจะเสร็จ นายขี้เกียจตั้งคนใหม่เลยเลื่อนชื่อผมขึ้นไปเป็นประธานให้โก้ไปเลย
แต่เมื่อผมเกษียณออกมาบ้าง พอถึงปีที่ ททบ.มีอายุครบ ๓๖ ปี คณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกที่เป็นนายทหารนอกเหล่าทหารสื่อสาร ต้องการประวัติของสถานีตั้งแต่ก่อกำเนิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ และประวัติของผู้อำนวยการสถานี ตั้งแต่ท่านแรกซึ่งจัดจากเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ถึงปีนั้นรวม ๑๐ ท่าน เลขานุการของคณะผู้จัดทำ ก็อุตส่าห์ดั้นด้นมาหาผมที่บ้าน โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย
ท่านเป็นพันเอกหญิง ที่ได้รับคำแนะนำจากท่าน โฆษกพิธีสวนสนามรักษาพระองค์ในปัจจุบัน ให้มาเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษาคณะจัดทำ เพื่อจะได้ให้ผมช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ ผมก็ยินดีรับเชิญ เพราะผมยังมีข้อมูลที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ สามารถเอามาแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยสำหรับ พ.ศ.๒๕๓๗ ได้อย่างเหมาะเจาะพอดี ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับจะค้นคว้าหาข้อมูล การจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ ของกองทัพบกได้ต่อไปในอนาคตอันไกลไปถึงรอบ ๑๐๐ ปีทีเดียว
(จบตอนที่ ๑)
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
12 ธ.ค. 51 18:22:20
]