เถ้าแก่ชีกิมหยงกับคุณละม้าย
หลายปีก่อนได้เดินกลับบ้านร่วมกับพี่สาวและพี่ชาย
หลังจากไปเรียนภาษาจีนกับครูจีนคนหนึ่ง
สมัยนั้นต้องแอบ ๆ เรียน และเรียนแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ
เพราะรัฐบาลรังเกียจภาษาจีน หาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์
และโรงเรียนภาษาจีนในหาดใหญ่ก็ถูกปิดกิจการไปแล้ว
ผ่านไปทางถนนดินลูกรังมีสภาพเป็นเนินเล็ก ๆ
มีการปลูกผักอยู่รอบ ๆ ทางเดินที่จะตัดออกไป
ถนนศรีภูวนารถ(แถว ๆ ไดอาน่า) ปัจจุบัน
ข้างทางเจอฮวงจุ๊ยขนาดใหญ่
มีสระบัวและลำคลองไหลผ่านข้างหน้าฮวงจุ๊ย
(คลองเตยสมัยก่อน น้ำจะสะอาดกว่าปัจจุบันเหมือนสภาพฝนตกใหม่ ๆ
ในตอนนี้ที่เป็นทางระบายน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่)
พี่สาวกับพี่ชายเลยเล่าว่า เคยไปว่ายน้ำแถวหน้าฮวงจุ๊ย
แต่มีจะมีคนหรือคนงานมาไล่ไม่ให้ว่ายน้ำแถวนั้น
ตอนนั้นยังเด็กมากและว่ายน้ำไม่เป็น
ก็เลยไม่สนใจมากนักเลยเดินผ่านกลับบ้านไป
หลายปีต่อมาจึงทราบว่าฮวงจุ๊ยนั้นคือของเถ้าแก่ชีกิมหยง
แต่ภายหลังลูกหลานได้รื้อฮวงจุ๊ยออกมา
เพื่อเอาที่ดินบริเวณนั้นมาทำบ้านจัดสรรขาย
แล้วย้ายหลุมศพเถ้าแก่ชีกิมหยงไปฝังที่อื่นแทน
ทราบจากลูกสาวคนหนึ่งของแกว่า
มีการรื้อฮวงจุ๊ยออกมาแล้ว ศพของเถ้าแก่ชีกิมหยงต้อง
วางตากแดดตากฝนอยู่เป็นอาทิตย์
(ภาคใต้สมัยก่อน-ปัจจุบัน ถ้าในหนึ่งอาทิตย์ฝนไม่ตกถือว่าแล้งแล้ว)
กว่าจะมีการย้ายและนำไปฝังที่อื่นแทน
(ธรรมเนียมจีนการย้าย/ฝังศพ ต้องมีการดูวันเวลา
เพื่อไม่ให้ชงหรือเซียะ ไม่ก่อผลดีกับลูกหลานคนอื่น)
นี่คือเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหาดใหญ่
ที่ทำให้คนเก่าคนแก่ มักสั่งลูกหลานไม่ให้ฝังศพตนเองไว้
ในที่ดินสวนยางพาราของตนเอง
เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเถ้าแก่ชีกิมหยง
โครงการบ้านจัดสรรบนที่ดินของเถ้าแก่ชีกิมหยง
ก็มีปัญหามากมายตั้งแต่การจองบ้าน การขายบ้าน
และที่ร้ายที่สุดคือหุ้นส่วนคนหนึ่ง
มีการเบิกเงินก้อนหนึ่งกว่าสิบห้าล้านบาท
แล้วหนีหายไปที่อื่นเลย ทำให้ติดหนี้ติดสินบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
ทำขายใช้หนี้แต่อย่างเดียว (ดอกเบี้ยตอนนั้นร้อยละสิบห้าต่อปี)
หรือเดือนละเกือบสองแสนบาท เรียกว่า
สร้างเสร็จช้าโอนช้าก็จ่ายแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียว
สมัยนั้นขายบ้านหลังละห้าแสนถึงหกแสนบาทก็ถือว่าแพงแล้ว
สุดท้ายที่ดินแปลงใหญ่ของเถ้าแก่ชีก็หมดสภาพไป
เหลือแต่ชื่อภริยาเถ้าแก่ชีมกิมหยง (ถนนละม้ายสงเคราะห์)
เป็นชื่อถนนบนบริเวณที่ดินเดิมของเถ้าแก่ชีกิมหยง
ลูกสาวแกก็พยายามแก้ไขหนี้สินจนวาระสุดท้ายก็ถูกยิงตาย
โดยไม่ทราบสาเหตุและคนยิงแต่อย่างใด
เถ้าแก่ชีกิมหยงกับคุณละม้าย
เป็นคนที่มีที่ดินมากที่สุดในหาดใหญ่สมัยหนึ่ง
เพราะพ่อเถ้าแก่ชีเป็นผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟสายใต้บางช่วง
ร่วมกับขุนนิพัทธ์จีนนคร ที่เป็นหัวหน้างานในการหาคนงานจีน
โดยคนงานจีนเป็นกรรมกรที่มารับเหมาแรงงานสร้างทางรถไฟสายใต้ช่วงหนึ่ง
เมื่อเถ้าแก่ชีแต่งงานกับคุณละม้ายซึ่งเป็นคนไทยก็ซื้อที่ดินเก็บไว้จำนวนหนึ่ง
และบุกเบิกที่ดินไว้ส่วนหนึ่ง เพราะมีคนงานคนเก่าคนแก่ช่วยบุกเบิกส่วนหนึ่ง
สมัยนั้นการจับจองที่ดินก็ไม่ยุ่งยากอะไรมาก
เพียงแต่ไปแจ้งอำเภอกับกำนันว่าจะจองที่ดินบริเวณไหน
ก็ปักหลักเขตและบอกเนื้อที่ดินจะทำประโยชน์โดยประมาณ
โดยที่ดินจับจองก็ต้องไม่ทับซ้อนที่คนอื่นหรือที่สาธารณะ
ใครสามารถครอบครองและทำประโยชน์ได้ครบสามปีขึ้นไป
ก็สามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ได้เลยเป็นตราจองรับรองว่าทำประโยชน์
ที่ไหว้ศาลเจ้าแป๊ะกง ที่ถนนเชื่อมรัฐหาดใหญ่
แกก็บริจาคให้ มีรูปถ่ายทั้งคู่ติดอยู่ในศาลเจ้า
โรงเรียนกุลบุตรและกุลธิดา เครือซาเลเซียนในหาดใหญ่สองโรงเรียน
(โรงเรียนแสงทองวิทยาและโรงเรียนธิดานุเคราะห์)
ก็เป็นที่ดินที่แกบริจาคให้ประมาณว่าก่อนปี 2500
ที่ดินในหาดใหญ่ยังไม่แพงมาก และพลเมืองไทยยังน้อยอยู่มาก
และโรงเรียนศรีนครตรงกันข้ามกับโรงเรียนกุลบุตรเครือซาเลเซียน
แกก็บริจาคให้เช่นกัน (มีรูปปั้นทั้งสองคนประดิษฐานไว้)
แต่เดิมโรงเรียนศรีนครนี้สอนภาษาจีน แต่ถูกรัฐบาลสฤษดิ์ สั่งปิดกิจการ
นักเรียนเลยต้องโยกย้ายไปเรียนที่อื่นอีกหลายแห่ง
มีช่วงหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดประมาณก่อนปี พ.ศ.2515 ก่อนหน้านี้ซักสองสามปี
ลูกหลานของเถ้าแก่ชีคนหนึ่งจะขอนำที่ดินโรงเรียนแห่งนี้คืน
เพื่อไปทำการจัดสรรค์ต่อ เพราะถือว่าไม่มีการเรียนการสอนมากว่าสิบปีแล้ว
และอาคารเรียนก็เป็นที่พักของคนยากไร้ หาเช้ากินค่ำ
(ถีบสามล้อ) เก็บของเก่า หรือ คนเป็นโรคร้าย(โรคเรื้อน)
หรือภาษาจีนไม่ทราบภาษาไหนเรียกว่า ปั้ดไท่ก่อ (ถ้าจำไม่ผิด)
สภาพสนามบอลก็เป็นปลักหรือหนองหญ้า มีหญ้าคาขึ้นแน่นหนา
และบางครั้งก็มีคนไปจับปลา หรือขุดดินหาปลา มักได้ปลาไหลจำนวนมาก
เพราะอยู่ใกล้กับที่ผมไปเรียนภาษาจีน และไปยืนดูตอนเขาขุดหาปลากัน
เด็กนักเรียนโรงเรียนฝั่งตรงข้ามมักจะนัดแนะกันไปชกต่อยกันที่นั่น
ช่วงสอบเสร็จประจำภาคหรือหลังเลิกเรียนประจำวัน กรณีหาข้อยุติความขัดแย้ง
ผมก็เคยไปใช้บริการแถวนั้นในบางครั้ง
กลับบ้านก็มักจะถูกแม่ตีซ้ำเพราะหน้าตาบวมปูดกลับมา
หรือบางครั้งครูโรงเรียนก็ไปจับตัวมาทำภาคทัณฑ์ที่โรงเรียน
ทั้งนักมวยและนักเรียนที่ตามไปเป็นกองเชียร์
เมื่อลูกเถ้าแก่ชีคนหนึ่งจะขอนำที่ดินโรงเรียนศรีนคร
คืนกลับมาให้กองมรดกเถ้าแก่ชี เพื่อนำไปจัดสรรค์ต่อ
ทางกลุ่มคนจีน ศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งนี้ และบทบาทมากที่สุดคือ
สมาคมคนจีนแต๊จิ๋ว ก็ต้องแก้เกมส์
โดยรีบเร่งพัฒนาอาคารเรียนเป็นการใหญ่
หาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนใส่เข้าไปในอาคารเรียน
และไปซื้อกิจการโรงเรียนราษฏร์แห่งหนึ่งที่ทุ่งลุง
สภาพใกล้จะปิดกิจการแล้วมาทำการเรียนการสอนที่แห่งนี้
พร้อมให้มีรถประจำทางรับส่งเด็กนักเรียนจากหาดใหญ่ไปทุ่งลุง
ทำให้เงื่อนไขการไม่เป็นโรงเรียนหมดไป
พร้อมกับเริ่มรับสมัครนักเรียนชุดใหม่ ๆ เข้ามาสบทบการเรียน
โดยการเก็บค่าเล่าเรียนเล็กน้อยหรือให้เรียนฟรี
โดยสมาคมมูลนิธิของชาวจีนช่วยสนับสนุนค่าเล่าเรียน
จนมีการพัฒนาเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
ประเมินกันคร่าว ๆ ว่า สมบัติของเถ้าแก่ชีกิมหยงกับคุณละม้าย
ที่ได้บริจาคให้กับโรงเรียนทั้งสามแห่งในหาดใหญ่
ถ้ายังคงอยู่ปัจจุบันไม่น่าต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท
เฉพาะราคาประเมินของสำนักงานที่ดินอย่างเดียว
ยังไม่รวมรายได้จากธุรกิจของครอบครัวคือ
โรงภาพยนต์คิงส์(ถ้าจำไม่ผิด) ตลาดชีกิมหยง (โรงภาพยนต์เฉลิมไทยในอดีต)
ปัจจุบันเป็นร้านขายสินค้าข้างบน ข้างล่างเป็นตลาดช่วงเช้า
ทั้งสองแห่งหลังนี้ได้ขายกิจการไปหมดแล้ว
นี่ก็เป็นสัจจธรรมข้อหนึ่ง
คือ สมบัติผลัดกันชม
หรือ สม+วิบัติ คือ สะสมไว้รอวันวิบัติ แตกสลายไปเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
โจทย์ดังกล่าวก็น่าจะตอบปัญหาที่ว่า
ทำไมบิดามารดาทำบุญไว้มากมาย
แต่สุดท้ายเหลือแต่รูปถ่ายและอนุสาวรีย์
แล้วทรัพย์สมบัติที่มากมายทำไมถึงหายไปไหน
ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่า กรรมใดใครก่อคนนั้นรับไป
ไม่ได้ตกทอดสืบสายให้กับทายาทหรือลูกหลานมากนัก
เพราะต่อให้พ่อแม่สร้างสมบัติไว้มากมาย
แต่ลูกหลานไม่มีปัญญารักษาก็เท่านั้นเอง
เป็นธรรมชาติ ธรรมดา
เฉกดังท่านพุทธทาสกล่าวไว้
สมัยไปนั่งฟังท่านเทศน์ที่สวนโมกข์
เขียนไว้เป็นความทรงจำก่อนที่จะเลือนหายไป
ถึงบุคคลในตำนานของบ้านเกิด
แก้ไขเมื่อ 14 ก.พ. 52 09:48:33
จากคุณ :
ravio
- [
14 ก.พ. 52 09:24:29
]