บันทึกของคนเดินเท้า
กว่าจะสิ้นทศวรรษที่แปด
เทพารักษ์
ทศวรรษแรก
ผมเกิดเมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้าปีมะแม ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๗๓ เกิดมาแล้วก็จำอะไรไม่ได้อยู่ประมาณสี่ปี จึงพอจะรู้เรื่องว่าเข้าเรียนในโรงเรียนดำเนินศึกษา ตั้งแต่ชั้น ป.๑ อายุประมาณห้าปี
เรียนอยู่โรงเรียนนี้ถึงชั้น ม.๑
ทางการจะเวนคืนที่ริมถนนราชดำเนินนอก รวมทั้งตรอกโรงเรียนนายร้อย ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยคุณตาจนท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว
จนอายุจะครบ ๑๐ ปี ในพ.ศ.๒๔๘๓ เกิดทางราชการเปลี่ยนปฏิทินใหม่ ให้ขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๔๘๔ ตั้งแต่เดือนมกราคม ดังนั้นเดือน กุมภาพันธ์ และ มีนาคม ๒๔๘๓ จึงกลายเป็น พ.ศ.๒๔๘๔ไปด้วย
เมื่อย้ายบ้านจากถนนราชดำเนินนอก มาอยู่ที่ถนนสามเสนตรงข้าม รพ.วชิรพยาบาล ซึ่งเป็นบ้านของน้า ผมเข้าเรียนชั้น ม.๒ ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส พ.ศ.๒๔๘๔ จนถึงปลายปีก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นเป็นมหามิตรกับประเทศไทย ก็เข้ามาอยู่เต็มกรุงเทพ ปีนี้จึงยกชั้นโดยไม่ต้องสอบ เรียกว่า โตโจสงเคราะห์ เพราะโตโจเป็นชื่อของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
ทศวรรษที่สอง
พ.ศ.๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพขนาดถนนสามเสนหน้าวชิรพยาบาล สามารถให้เรือแจวเข้าแล่นรับส่งผู้โดยสารแทนรถเมล์ได้ ถึงปลายปีก็สอบชั้น ม.๓เป็นพิธีแล้วก็ยกชั้นอีก ตัวผมมีอายุ ๑๑ ปีแล้ว ต้องช่วยแม่ทำงานบ้านมากขึ้น
พ.ศ.๒๔๘๖ หลังจากภาวะน้ำท่วมลดลง สงครามก็เข้มข้นมากขึ้น กรุงเทพถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร เข้ามาทิ้งระเบิดมากขึ้น ทั้งกลางคืนกลางวัน ผู้คนอพยพจนกรุงเทพไม่ค่อยมีคนอยู่ นอกจากข้าราชการและทหาร ผมอายุ ๑๒ ปี สอบชั้น ม.๔ ได้เกือบตก ต้องหอบสัมภาระประจำตัว วิ่งลงหลุมหลบภัยจนขี้เกียจลงหลุมใ ช้วิธีนอนหงายอยู่บนพื้นดินปากหลุมดีกว่า
พ.ศ.๒๔๘๗ สงครามยกสุดท้ายโรงเรียนปิดทั่วประเทศ เตรียมรับสถานการณ์รบกับข้าศึกหรือกับญี่ปุ่นมิตรจอมปลอม ให้แตกหักกันไป ผมอายุ ๑๓ ปีจึงไม่ได้เรียนหนังสือ
พ.ศ.๒๔๘๘ สงครามได้สงบลงใน วันที่ ๑๕ สิงหาคม และประเทศไทยประกาศว่าสงครามนี้ไม่แพ้ไม่ชนะ เพราะมีทั้งทหารและพลเรือนที่เป็นฝ่ายญี่ปุ่น และเป็นเสรีไทยฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งด้านอังกฤษและอเมริกา แต่ก็ต้องถูกปรับพอสมควร ผมมีอายุได้ ๑๔ ปี กลับเข้าโรงเรียนในชั้น ม.๖ แต่พอถึงปลายปีก็สอบไล่เกือบได้ ต้องเรียนซ้ำชั้น ม.๖ อีก
พ.ศ.๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่แปด เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้สวรรคตเมื่อ ๙ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่เก้า ผมอายุ ๑๕ ปี ต้องลาออกจากโรงเรียนโดยไม่สำเร็จชั้น ม.๖ ไปทำงานเป็นลูกจ้างใช้แรงงานที่กรมพาหนะทหารบก
พ.ศ.๒๔๙๐ ๒๔๙๔ ได้เลื่อนเป็นข้าราชการวิสามัญ รับราชการที่เดิม แต่เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการขนส่งทหารบก
และผมก็ได้เริ่มเขียนเรื่องสั้นส่งหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ แล้วก็เขียนต่อมาอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีความก้าวหน้า และไม่มีค่าตอบแทน
ทศวรรษที่สาม
พ.ศ.๒๔๙๕ ผมอายุ ๒๑ ปี ครบเกณฑ์ทหาร แต่รับราชการที่กรมการชนว่งทหารบก จึงขอผ่อนผันเพื่อหาเลี้ยงมารดาซึ่งมีบุตรชายคนเดียว พอได้รับการผ่อนผันแล้ว ก็ลาราชการบวชเป็นภิกษุในพรรษานั้น ที่วัดบุรณศิริมาตยาราม ริมคลองหลอด ตรงข้ามกระทรวงยุติธรรม ออกพรรษาเดือนตุลาคม แม่ก็ถึงแก่กรรมใน ๕ ธันวาคม
พ.ศ.๒๔๙๖ ไปรายงานตัวเข้ารับราชการทหาร แต่เขาให้พักรอเรียกครั้งละสามเดือน รวม ๔ ครั้ง จึงได้เข้ารับราชการในเดือน เมษายน ๒๔๙๗
ปลายปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นทหารกองประจำการปีที่ ๒ โรคไส้เลื่อนซึ่งเป็นข้างขวามาแต่กำเนิดเกิดกำเริบขึ้น ถึงขั้นต้องผ่าตัด พอหายตอนปลายปี ก็สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเหล่าทหารสื่อสาร ที่ตั้งอยู่มุมสะพานแดง ตรงข้ามกับกรมการขนส่งทหารบกนั่นเอง
พ.ศ.๒๔๙๘ จบการศึกษาหลักสูตรนายสิบ ออกรับราชการในตำแหน่งเสมียน กองกำลังพล กรมการทหารสื่อสาร ได้รับยศสิบโท ตั้งแต่เดือน ธันวาคม ๒๔๙๘ และรับราชการอยู่ที่หน่วยนี้ต่อมาอีกสามสิบปี
พ.ศ.๒๕๐๐ สอบเทียบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ได้จากกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.๒๕๐๑ ได้เลื่อนยศเป็นสิบเอก
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้ไปช่วยราชการเป็นพนักงานกล้องถ่ายโทรทัศน์ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง๗ (ขาวดำ)
ส่วนการเขียนหนังสือที่ได้เริ่มเมื่อ ๑๐ ปีก่อนนั้น ก็ได้เป็นนักเขียนประจำของนิตยสารทหารสื่อสาร ตั้งแต่ปีนี้
พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เลื่อนยศสองครั้ง มกราคม เป็น จ่าสิบตรี ตุลาคม เป็น จ่าสิบโท
ทศวรรษที่สี่
พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นจ่าสิบเอก และจะต้องเป็นอยู่ ๕ ปี โดยไม่ได้ขึ้นเงินเดือน จึงจะมีสิทธิ์สอบเลื่อนเป็นนายทหารสัญญาบัตรใน พ.ศ.๒๕๑๐
พ.ศ.๒๕๐๗ แต่งงานกับ เสมียนแผนกเดียวกัน และมีบุตรชายคนแรก แต่เสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๖ วัน
พ.ศ.๒๕๐๘ เดือนพฤศจิกายน ได้บุตรชายคนต่อมา
พ.ศ.๒๕๑๑ เข้าสอบแข่งขันเพื่อเลื่อนเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้ที่ ๑ ใน ๕ จากผู้เข้าสอบ ๒๐๐ คน ได้รับพระราชทาน ยศร้อยตรี ตำแหน่งประจำแผนกกำลังพล ที่เก่าเพียง ๖ เดือน ก็ได้รับยศ ร้อยโท ตามเงินเดือนเดิมเมื่อเป็นจ่าสิบเอก
พ.ศ.๒๕๑๒ ได้บุตรชายคนสุดท้อง และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ.๒๕๑๓ โชคดี ถูกรางวัลที่ ๑ สลากออมสินพิเศษได้เงินสามแสนห้าหมื่น เป็นทุนสำรองไปชั่วชีวิต ในปีนี้โรคไส้เลื่อนที่เคยผ่าตัดข้างขวาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ได้เป็นข้างซ้ายอีก ต้องขอลาจากช่วยราชการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กลับไปทำงานทางกรมการทหารสื่อสาร เพียงด้านเดียว
ทศวรรษที่ห้า
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก ในตำแหน่งเดิม
พ.ศ.๒๕๑๗ ภรรยาได้เลื่อนยศเป็น จ่าสิบเอกหญิง และตนเองได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ.๒๕๑๘ภรรยาย้ายไปรับราชการทาง สำนักงานเลขานุการกองทัพบก
ผมได้เป็น ประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสาร และทำหน้าที่แทนผู้ช่วยบรรณาธิการแทบทุกอย่าง ในเดือนตุลาคมได้เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดไส้เลื่อนข้างซ้าย และป่วยเป็นโรคตับโต หมอรักษาด้วยวิธีให้ยามากิน ประมาณ ๑๒ เดือนจึงหยุด ไม่รู้ว่าหายหรือยัง
พ.ศ.๒๕๑๙ ได้ไปช่วยราชการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง ๕ สี) ในตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล และในเดือนตุลาคม ก็ได้เลื่อนยศเป็น พันตรี
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ.๒๕๒๒ ภรรยาสอบได้เลื่อนเป็นนายทหารสัญญาบัตร ยศ ร้อยตรีหญิง
ทศวรรษที่หก
พ.ศ.๒๕๒๕ น้าเสียชีวิตด้วยโรคชรา
พ.ศ.๒๕๒๖ ภรรยาได้เลื่อนยศเป็น ร้อยโทหญิง
พ.ศ.๒๕๒๘ ผมได้เลื่อนยศเป็น พันโท ตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิจัย กองวิทยาการและวิจัย กรมการทหารสื่อสาร แต่อยู่ช่วยราชการกองกำลังพลตามเดิม พร้อมกับภรรยา ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอกหญิง
พ.ศ.๒๕๒๙ ย้ายไปรับตำแหน่ง หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ กรมการทหารสื่อสาร
พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสาร ทำหน้าที่แทนบรรณาธิการตัวจริงทุกประการ และเป็นผู้ประสานงานการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ตั้งแต่ต้นจนประดิษฐานสำเร็จ ทั้งที่กรมการทหารสื่อสาร และที่กรมทหารสื่อสารที่ ๑ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และได้นำต้นแบบพระอนุสาวรีย์ครึ่งองค์ ไปประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์ด้วย
พ.ศ.๒๕๓๑ ภรรยาได้เลื่อนยศเป็น พันตรีหญิง
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้เข้าศึกษาหลักสูตร นายทหารพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ทหาร สองเดือน กลับมาจัดการปรับปรุงการลงทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาประมาณกว่าสองร้อยชิ้น ก็พอดีหมดเวลาที่จะทำต่อไป
พ.ศ.๒๕๓๓ ได้เลื่อนยศเป็น พันเอก ตำแหน่ง เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา และคงช่วยราชการกรมการทหารสื่อสาร เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดหวังอยากได้ รู้สึกว่าเป็นผลกำไรจากการทำงานมาตลอดเวลาสามสิบกว่าปี ที่มีค่ามากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนมีแค่นักเรียนสอบเทียบชั้น ม.๖ เท่านั้น ซึ่งต่อไปถ้าไม่มีปริญญาตรีจะไม่ได้เป็นนายทหาร และไม่ได้ปริญญาโทจะไม่ได้เป็นพันเอก
พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
ทศวรรษที่เจ็ด
พ.ศ.๒๕๓๕ ไปประจำกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๑ โดยพ้นจากช่วยราชการ กรมการทหารสื่อสาร และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
จนถึง ตุลาคม ๒๕๓๕ จึงเกษียณอายุราชการ เป็นนายทหารนอกราชการ และยึดอาชีพเป็นนักเขียนอิสระเพียงอย่างเดียว
พ.ศ.๒๕๓๖ เรียบเรียงสามก๊กฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ให้เป็นฉบับลิ่วล้อ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ ลงในวารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ กว่า ๑๐ แห่ง
พ.ศ.๒๕๓๗ ภรรยาได้เลื่อนยศเป็น พันโท
จนถึง ตุลาคม ๒๕๓๗ ภรรยาจึงเกษียณอายุราชการ เป็นนายทหารนอกราชการเหมือนกัน
ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการของเราทั้งสองคน ก็ดำเนินไปอย่างปกติเช่นเดิม ไม่ได้ตกต่ำลงไปกว่าเดิม
ตนเองก็เขียนหนังสือส่งให้วารสารและนิตยสารต่าง ๆ มากขึ้น ได้ค่าตอบแทนพอสมควร แต่เมื่อรวมแล้วก็ทำให้มีรายได้พิเศษทุกเดือน และช่วยให้มีงานทำทุกวันเหมือนยังรับราชการอยู่
พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบ ๕๐ ปีของการเป็นนักเขียน อายุ ๖๗ ปี ได้พิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อ รวม ๓ เล่ม โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
พ.ศ.๒๕๔๔ อายุครบ ๗๐ ปีเริ่มจะเข้าเกณฑ์เป็นคนแก่
ทศวรรษที่ แปด
ช่วงนี้มีลาภจากการพิมพ์หนังสือรวมเล่ม หลายครั้ง แต่ก็มีทุกข์เพราะความป่วยไข้ในวัยชราสลับกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งสองอย่าง
พ.ศ.๒๕๔๕ ได้พิมพ์ ซ้องกั๋งวีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เดือนพฤษภาคม เส้นโลหิตในสมองด้านซ้ายตีบ แขนขวาใช้การไม่ได้ รักษาอยู่สิบวันก็หายไป
พ.ศ.๒๕๔๖ ได้พิมพ์ นักรบสองแผ่นดิน และ อวสานสามก๊ก สำนักพิมพ์อินฟอร์มีเดียบุ๊ค
พ.ศ.๒๕๔๗ ได้พิมพ์ ปกิณกะสามก๊ก สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รู้จักอินเตอร์เนต เข้าเวปไซท์ พันทิป และเอาเรื่องต่าง ๆ ไปลงใน ถนนหนังสือ แทนการส่งให้วารสารต่าง ๆ ซึ่งลดลงจนเหลือเพียงสามสี่แห่ง
พ.ศ.๒๕๔๙ ได้พิมพ์ บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องอภัย สำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์ และเปาบุ้นจิ้นผู้ทรงความยุติธรรม สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
พ.ศ.๒๕๕๐ ใช้เงินที่ได้จากการพิมพ์หนังสือเล่มสุดท้าย จัดพิมพ์หนังสือที่จะแจกในงานศพตนเอง ชื่อ สิ่งที่ยังเหลืออยู่ ถ้าตายก่อนอายุแปดสิบก็แจกได้เลย ถ้าอยู่ถึงก็จะแจกในงานทำบุญวันเกิดก่อน
พ.ศ.๒๕๕๑ ครบรอบ ๖๐ ปีของการเป็นนักเขียน อายุ ๗๗ ปีสุขภาพเสื่อมลงไปมาก สรุปแล้วมีโรคประจำตัวคือ โรคกระเพาะ เคยมีอาการเส้นโลหิตในสมองตีบ และกระดูกก้านคอข้อที่ ๔-๕ ชำรุด ส่วนแข้งขาและข้อเข่า ก็อ่อนกำลังวังชาล้าลง ขึ้นลงรถเมล์ลำบากขึ้น
และได้พิมพ์หนังสือแจกงานศพเป็นเล่มที่สอง ชื่อ เรื่องเล่าของคนวัยทอง
พ.ศ.๒๕๕๒ ครบรอบ ๗๘ ปี ใน ๑๙ มีนาคม
พ.ศ.๒๕๕๓ ชีวิตจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้
พ.ศ.๒๕๕๔ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีอายุครบ ๘๐ ปี เป็นอันสิ้นสุดทศวรรษที่แปด ถ้ายังมีกรรมเหลืออยู่ก็จะไม่บันทึกต่ออีกแล้ว ขออนุญาตลาทุกท่านที่รักและเคารพนับถือกันตรงนี้เลย.
###########
แก้ไขเมื่อ 20 มี.ค. 52 18:36:11
แก้ไขเมื่อ 20 มี.ค. 52 13:57:18
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
20 มี.ค. 52 13:54:08
]