พลังเหนือกาลเวลา
โดย
ปัทมนันท์
สิ่งที่เหนือกว่าชีวิตของคนในโลกก็คือกาลเวลา แต่สิ่งที่เหนือกว่ากาลเวลากลับเป็นความลึกลับและความรู้สึกของคน ที่ไม่อาจหยั่งรู้และสัมผัสถึงได้
พลังแห่งความคิด โลภ โกรธ หลง นับวันยิ่งมีมากขึ้นความเป็นคนเริ่มถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ตามยุคตามสมัย
ถ้าหากยังคงปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำ คุณค่าในตัวคนก็จะหมดไปอย่างไร้ค่า เมื่อคนเปลี่ยน โลกก็ย่อมเปลี่ยนไม่มีสัจธรรมอะไรที่แน่นอน โดยเฉพาะสัจธรรมของชีวิต
การใช้ชีวิตของคนมีทางเลือกแตกต่างกันไป สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดให้กับชีวิตได้นั่นก็คือ ผลของการเลือก จะสุขหรือทุกข์ จะหัวเราะหรือร้องไห้ ขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะเป็น
ผู้ใดเลือกสุขก็ย่อมเป็นสุข หากผู้ใดเลือกทุกข์ก็ย่อมเป็นทุกข์ ความเป็นจริงมีให้เห็นในสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบัน แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวแก้ไขชีวิตให้เป็นไปตามที่เราต้องการ
คำตอบไม่ง่ายนัก หากเราคิดดีๆ มันไม่ใช่การซื้อขาย เมื่อเราอยากได้ของ เราต้องเอาเงินไปแลกซื้อเพื่อให้ได้สิ่งของนั้นมา แต่ความรู้สึกของคนไม่มีไว้เพื่อขาย หาซื้อไม่ได้ในท้องตลาด ไม่สามารถจำแนกประเภทออกมาให้เห็นชัดเจนได้
ดังนั้นเราต้องสัมผัสด้วยใจถึงได้จะได้คำตอบ คำตอบมีไว้สำหรับคำถาม แต่คำถามจะมีก็ต่อเมื่อได้สัมผัส ชีวิตของคนเราผู้เขียนเชื่อว่าส่วนหนึ่งได้ถูกกำหนดมาแล้วอย่างชัดเจน
แต่อีกส่วนเขาต้องการให้เราเลือกเอง อาจจะแบ่งเป็นสัดส่วนตามความเหมาะสม หรือหากพูดในแง่ของพระพุทธศาสนาแบ่งตามบุญและกรรมของแต่ละคนที่ได้ทำมา ดังคำสอนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยกจะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น พึงสำนักข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด
.
คำว่าทุกข์มีความหมายกว้างมากแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ทุกข์กาย และทุกข์ใจ ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวในเรื่องทุกข์ใจ
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรัก ความอยู่รอดของชีวิต ครอบครัว การงาน แต่คนส่วนใหญ่จะหนักไปทางความรักมากกว่า ต่างคนต่างมีทางออกไม่เหมือนกัน บางคนทำใจให้ปลงกับชีวิต บางคนดิ้นรนเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองปรารถนาจะให้เป็น
บางคนปลดปล่อยตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หรืออีกหลายประการนอกเหนือจากที่ได้ยกตัวอย่าง จริงๆแล้วชีวิตของคนเราเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ใดที่ทำดีไว้เมื่อตายไปจะเข้าสู่นิพพาน
เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์อีกถ้ามีบุญกุศลและความดีพร้อมทั้งกายวาจาใจ มากเพียงไร ก็จะเกิดเป็นเทวดาชั้นสูงได้เพียงนั้น คือสามารถขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงได้เมื่อละโลกนี้แล้ว
แต่ถ้าหากผู้ใดก่อกรรมทำชั่วบาปนั้นก็จะส่งผลให้ต้องตกนรกอเวจี เพื่อชดใช้กรรมในสิ่งที่ได้ก่อไว้ในภพหรือชาติที่แล้ว ผู้ใดมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ ผู้นั้นก็ย่อมมีพระพุทธองค์คอยปกปักรักษา
พลังสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถหนีพ้นมือแห่งกรรมไม่ดีที่ติดตามตะครุบอยู่ได้ และเป็นพลังที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก คือการนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพุทโธ นึกไว้ให้คุ้นเคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ
สิ่งใดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็หมายถึงความจะไม่อาจแยกจากกันได้เลย ไม่ว่าเวลาใดก็ตามจะสุขจะทุกข์จะเป็นจะตาย ใจก็จะมีพุทโธ พุทโธ จะมีอยู่ในใจ
คนเราที่อยู่บนโลกนี้ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ปัจจัยนั้นคือ ปัจจัย 4 อันได้แก่
1. อาหาร
2. ที่อยู่
3. ยารักษาโรค
4. เครื่องนุ่งห่ม
ปัจจัยเหล่านี้แม้ว่าจะให้คุณประโยชน์หลายอย่าง แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอสำหรับคนบางกลุ่ม ที่ยังคงติดอยู่ในความโลภ ความเห็นแก่ตัว นึกถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม
ซึ่งข้อนี้คงยากต่อการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นการเมืองไทย หากเทียบกับคนยุคเก่าย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีชาวบ้านบางระจัน ที่ยอมพลีชีพเพื่อปกป้องพื้นแผ่นดินไทย ไม่ให้เสียแก่ศัตรู ไม่เกรงกลัวแม้ว่าตัวเองจะต้องตาย
หรือแม้แต่พระสุพรรณกัลยา พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ยอมทำทุกอย่างแม้กระทั่งสละชีวิตตัวเอง เพื่อให้สามารถกู้เอกราชของไทยกลับคืนมาได้
ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า บุคคลเหล่านี้คือวีรบุรุษและสตรีที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งประเทศ แล้วคนไทยยุคปัจจุบันเมื่อไหร่จะรักผืนแผ่นดินไทยกันสักที หรือต้องให้ตกเป็นเอกราชของชาติอื่นเสียก่อน ถึงจะยอมเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ คงยากเพราะมันคงจะสายเกินไป
ดังนั้นหากต้องการสุขอันแท้จริงต้องเริ่มจากการรู้จักความหมายของคำว่าพอเพียง ศัตรูตัวฉกาจก็คืออำนาจกิเลส หากตัดกิเลสไม่ได้ ความหมายที่ชัดเจนก็คงไม่มีสำหรับคนที่ยังไม่พร้อม หากจะเริ่มต้นสิ่งใด
ไม่ทำด้วยใจคงยากจะประสบความสำเร็จ อย่างเช่น การนั่งสมาธิ หากไม่ปฏิบัติทุกวันก็จะยังคงเข้าไม่ถึง ไม่รู้ว่าจิตที่สงบเป็นเช่นไร สัมผัสด้วยใจก็ไม่มีความสุข ผู้เขียนขอยกตัวอย่างอำนาจกิเลสที่มีในชีวิตของคนในโลกปัจจุบัน
ความรัก สิ่งที่ทุกคนโหยหาอยากได้มาเพื่อครอบครอง เพื่อเป็นกำลังใจแต่งเติมสีสันให้แก่ชีวิต เพื่อให้ชีวิตได้เรียนรู้ถึงความสมบูรณ์แบบของความเป็นคน เรียกอีกอย่างว่าความสุข
ตรงข้ามกับความสุขก็คือความทุกข์ ในที่นี้ประกอบไปด้วย ความปวดร้าว ความทรมาน ที่เกิดจากความไม่สมหวัง หรือผิดหวังกับสิ่งที่คาดหวังไว้ แต่ไม่สมปรารถนา เช่น รักกันแต่ไม่ได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ถูกนอกใจ แอบรักเขาข้างเดียว โดนหลอก หรือแม้แต่ตายจากกัน
ทั้งหมดทั้งมวลเรียกได้ว่า ความทุกข์ใจ พระพุทธองค์ท่านสอนว่าเมื่อเกิดทุกข์ก็ควรดับที่ต้นเหตุของทุกข์ เป็นคำพูดง่ายๆแต่ความหมายลึกล้ำ คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้เพราะยังละอำนาจกิเลสไม่ได้
เสียใจที่เขาจากไป ขาดเขาไม่ได้ นี่คือรักแท้ของฉัน ฉันรักเขา ฉันลืมเรื่องราวของเราสองคนไม่ได้ ประโยคเหล่านี้ท้ายสุดก็จะกลายเป็นคำถาม ทำไมเขาต้องไปจากฉัน เขาหมดรักฉันแล้วหรือ ทำไมเขาทำกับฉันแบบนี้ และบทสรุปจะคงเหลือแค่คำว่า เธอเลวที่สุด
สิ่งที่จะส่งผลภายในใจของคนที่โดนกระทำนั่นคือ ความโกรธ ความเคียดแค้นพยาบาท ตามมาด้วยคำสาปแช่ง และลงมือปฏิบัติด้วยการแก้แค้น จองเวรจองกรรมกันไปอย่างไม่มีสิ้นสุด แม้ตายจากกันก็ยังคงต้องไปชดใช้กรรมกันอีกต่อไปในภพชาติข้างหน้าดังคำสอนที่ว่า
ทุกคนผ่านชีวิตในอดีตชาติมาแล้วเป็นอันมาก นับภพชาติไม่ถ้วน มีความคุ้นเคยกับเรื่องราวหรืออารมณ์ต่างๆ มาแล้วมากมาย คุ้นเคยกับเรื่องราวหรืออารมณ์ใดมาก ใจยึดมั่นผูกพันข้องติดอยู่กับเรื่องใดอารมณ์ใดมากมาแต่อดีตชาติ ผลของความยึดมั่นผูกพันนั้น จะนำมาสู่ภพชาติปัจจุบัน ดูภพชาติของตนในปัจจุบันก็พอจะเข้าใจว่า อดีตนั้นตนผูกพันกับเรื่องใดอารมณ์ใดมามาก ดีหรือว่าไม่ดี เช่น ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำทานการกุศลมามากในอดีตชาติ ก็จะได้รู้จากปัจจุบันชาติ คือปัจจุบันชาติ จะสมบูรณ์พูนสุขด้วยทรัพย์สินเงินทอง
จะเห็นได้ว่าทุกข์ที่เกิดจากความรัก เป็นทุกข์ที่อยู่ภายใต้จิตใจ เมื่อคนสั่งให้จิตเศร้า ร้องไห้ คิดถึง ภาวะจิตใจก็จะปฏิบัติตาม
ผลที่ได้รับคือ เป็นโรคซึมเศร้า ไม่พูดจากับใคร หงุดหงิด หน้าตาไม่สดใส ข้าวปลาไม่กิน หนีปัญหาโดยหาทางออกในทางที่ผิด เช่น เสพยา ดื่มเหล้า ฆ่าตัวตาย เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน
ภาวะด้านจิตใจของคนอ่อนแอมากขึ้น ไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับยุคก่อน อาจเป็นเพราะปัญหาในโลกของยุคปัจจุบัน มีมากมายทำให้คนเกิดความท้อแท้ ส่งผลให้จิตใจถดถอยลงได้ง่าย
หากเราต้องการรักษาโรคทุกข์ใจ คงยากหากต้องเดินไปซื้อยาเพื่อมารักษา แต่ถ้าหากเป็นการบำบัดยังพอมีทางรักษาได้ เช่น บำบัดทางด้านจิตแพทย์ หรือบำบัดทางด้านพระพุทธศาสนา นำคำสอนของพระพุทธองค์มาวางไว้อยู่ในใจ ท่องพุทโธ เพื่อให้ระลึกเสมอว่า
สัจธรรมของชีวิตไม่มีอะไรเที่ยงแท้และแน่นอน
เพราะฉะนั้นการปลงกับชีวิตก็เป็นทางออกอีกวิธีหนึ่งที่ทุกคนทำได้ หากมีความตั้งใจอย่างแท้จริง
ความอิจฉาริษยา อำนาจกิเลสข้อนี้น่ากลัวยิ่งนัก หากผู้ใดมีอยู่ในใจอาจนำพาชีวิตไปในทางที่ไม่ดีนัก จุดจบของคนที่มีแต่ความอิจฉาริษยา ตามที่ผู้เขียนได้เห็นมา
เช่นโดนสังคมประณาม เป็นที่น่ารังเกียจของสังคม ไม่มีใครคบ ไม่มีเพื่อน โดยเฉพาะสังคมการทำงาน คนส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่นต่างที่ ร้อยพ่อพันแม่
หากกล่าวถึงนิสัย การวางตัว ก็คงจะพูดได้เลยว่า ทุกคนต่างกัน บางคนมีน้อย บ้างมีมาก ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการอบรมของครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมาไม่เหมือนกัน
แต่มาตรฐานของคนมีเท่ากันตรงที่
ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของความเป็นคน
.
จะดีหรือเลวอย่างไรแล้ว หากทุกคนมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ จะรู้สึกว่าตัวเองผิดเมื่อปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดี
ดังตัวอย่างที่ว่า คนที่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เกิดจากการประจบประแจงสอพอ ทำงานก็อย่างนั้น ได้เลื่อนขั้นได้อย่างไรกัน คนที่ดีต้องดีใจเมื่อเพื่อนร่วมงานประสบความสำเร็จ หากเขาหรือเธอไม่มีความสามารถพอ ผู้บังคับบัญชาคงไม่เล็งเห็นความสำคัญตรงนั้น
ดังนั้น คนที่คิดแบบนี้ได้แสดงว่า คุณกำลังตกเป็นทาสของอำนาจกิเลสของ ความอิจฉาริษยา
คำๆนี้ทำร้ายชีวิตของคนบนโลกมามากพอสมควร แต่ไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะสาเหตุเกิดมาจากจิตใต้สำนึกของคนในแง่ของความคิด
หากคิดดีก็จะดี ทั้งตัวเองและเพื่อนรอบข้าง หากคิดไม่ดี ก็จะไม่ดีเช่นกัน ทุกคนย่อมมองว่าตัวเองดีเสมอ ถ้าหากต้องการรู้ว่าอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง ลองให้คนอื่นวิจารณ์จะได้คำตอบที่ชัดเจน
อย่าโกรธในสิ่งที่ได้รับฟัง นำสิ่งนั้นมาแก้ไขและพัฒนาตัวเอง ในจุดที่บกพร่องเมื่อทำได้ ทั้งตัวเองและเพื่อนรอบข้างย่อมมีความสุข ดังคำสอนที่ว่า
เมื่อใดมีความคิดว่าเราทำดีไม่ได้ดี หรือเขาทำดีไม่ได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำดีต้องได้ดีเสมอ ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น
ความอยากเป็นหนึ่ง ในที่นี้หมายถึง คนที่มีความเก่ง ฉลาด ไหวพริบดี มีความสามารถ อาจจำแนกความแตกต่างออกได้ 2 ประเภทดังนี้
1.เป็นหนึ่งในใจเพื่อนร่วมงาน ในข้อนี้ความหมายชัดเจน เป็นการใช้ความเก่งไปในทางที่ถูกที่ควร สามารถครอบครองความรู้สึกในใจ และเป็นที่ยอมรับที่ดีของเพื่อนร่วมงานได้ ไม่ลุ่มหลงตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานด้วยความจริงใจ
หรือคนที่มีอุดมการณ์ในการทำงาน โดยยึดหลัก ผลของงาน ทำงานเป็นทีม ไม่คิดเล็กคิดน้อย เพราะอำนาจกิเลสที่จะตามมา คือความอิจฉาริษยา จะเกิดขึ้นภายในใจ
หากต้องการพ้นทุกข์ในเรื่องนี้ควรปฏิบัติสิ่งที่ดี คิดดี ไม่คิดมาก คิดแค่เพียงว่า สิ่งที่ร่วมกันทำคือความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ผลที่ได้มาก็คือ ความสุข และความภาคภูมิใจกับความสำเร็จ ถ้าทำสิ่งใดแล้วด้วยใจ ผลของใจก็ย่อมมีความสุขตามมาเช่นกัน
2.เป็นหนึ่งในใจของเจ้านาย ข้อนี้สำคัญถ้าหากผู้ใดยังคงมีความคิดแบบนี้ หาความสุขได้ยาก ยากตรงที่คิดทุกเรื่อง คิดทุกอย่าง คิดแม้กระทั่งว่าใครคือคู่แข่ง ใครคือศัตรู อำนาจตรงนี้ต้องตกเป็นของใครไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนา
พลังจิตใต้สำนึกน่ากลัวเป็นอย่างมาก เรียกคนประเภทนี้ว่า คนเห็นแก่ตัว หรือคนโลภ การได้มาซึ่งปราศจากความถูกต้อง ความชอบธรรม หาได้ใช่สิ่งที่ดีไม่
ผลของกรรมไม่ดี คือประสบความหายนะ เช่น เสียสติบ้าคลั่งอย่างไม่ทันที่จะรู้ตัว สิ้นเนื้อประดาตัว ต้องเศร้าโศกเสียใจจนขาดสติสัมปชัญญะ
จะเห็นได้ว่ากรรมนั้นแรงมาก ควรระลึกเสมอว่า การเป็นที่รักของเจ้านายด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ทำร้ายใคร ไม่ใส่ร้ายใคร ไม่คิดว่าใครคิดไม่ดี ไม่คิดว่าใครคือศัตรู ก็ย่อมเป็นกรรมดีส่งผลที่ดีในวันข้างหน้าต่อไป
ธรรมประจำใจอันประเสริฐ (พรหมวิหาร 4 )
ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ
1.เมตตา ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
2.กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือนร้อนของปวงสัตว์
3.มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
4.อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือ มีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง
พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมควรกับความรับผิดชอบของตน
ความเหงา อำนาจกิเลสตัวนี้แหละที่ทำให้ชีวิตของหลายๆคนยุ่งเหยิงพบแต่ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว รักร้าว และแยกทางกัน คำว่า คุณธรรม และศีลธรรม สำคัญยิ่งนัก
หากแต่ผู้ใดขาดข้อนี้ไปก็ย่อมส่งผลที่ไม่ดีตามมาเช่นกัน โลกแห่งยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
ลองย้อนมองกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน แม้ว่าแผ่นดินจะเปลี่ยนการปกครอง วัฒนธรรม ประเพณีการแต่งกาย วิถีชีวิต แต่สิ่งเดียวที่คนไทยยุคก่อนไม่เคยเปลี่ยนและยึดถือปฏิบัติกันมา คือพระพุทธศาสนา
คนเราจะดีได้สุขได้ต้องมีคำว่าคุณธรรมและศีลธรรมอยู่ในใจ ในโลกของยุคปัจจุบันวิถีชีวิตของคนได้เปลี่ยนไป ผู้หญิงที่เป็นได้แค่แม่ศรีเรือน ไม่นิยมให้ออกไปทำงานนอกบ้าน
ปัจจุบันไม่ใช่อีกแล้ว ความเท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง มีมากจนทำให้ในบางครั้งคำว่า ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไม่เสมอไป ผู้หญิงเก่งทำให้เกิดทางเลือกได้มากขึ้น
ส่งผลให้การเลือกใครสักคนมาร่วมชีวิตคู่ก็ยากขึ้น หรือแต่งงานแล้วเกิดสามีนอกใจ เกิดการหย่าร้างกันง่ายขึ้น ความอดทนของผู้หญิงยุคใหม่ไม่เหมือนยุคก่อน แค่คำว่าไม่รู้จักพอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากอำนาจกิเลสที่เรียกว่า
ความเหงา
นั่นเอง การที่จะพ้นทุกข์ข้อนี้ได้ต้องยึดถือศีล 5 ให้จงมั่นเพื่อเป็นการย้ำเตือนไม่ให้เราปฏิบัติกรรมไม่ดี เพราะถ้าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องก็จะส่งผลพ้นมือแห่งกรรมไม่ดีที่ตามอยู่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมทำและย่อมไม่ปฏิเสธ
ศีล ๕
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
การนินทาว่าร้ายผู้อื่น ขอยกคำสอนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บทหนึ่งที่ผู้เขียนอ่านแล้วประทับใจมาก
เมื่อมีเหตุย่อมมีผล เมื่อทำเหตุย่อมได้รับผล และผลย่อมตรงตามเหตุเสมอ ผู้ใดทำผู้นั้นจักเป็นผู้ได้รับผล เที่ยงแท้แน่นอน
เมื่อผู้มีปัญญาได้เข้าใจความหมายแล้ว เรื่องไหนๆ เรื่องใดๆ ของๆใคร ก็จงปล่อยเขาไปซะ อย่าไปหลงอำนาจกิเลสที่เรียกว่า การนินทาว่าร้ายผู้อื่น
ไม่ว่าใครเขาจะเป็นเช่นไร เหตุไม่ดีที่ได้ทำไว้ จะส่งผลให้ผู้ทำเหตุไม่ดีได้รับผลแห่งเหตุนั้น ความทุกข์และความเดือดร้อนก็จะตามมา
ดังนั้นจงยืนอยู่ในความเป็นกลาง ให้ยึดเหตุและผลเป็นหลัก ไม่ตัดสินแค่เพียงภายนอก อย่ายุยงหรือส่งเสริมนำพาไปซึ่งกรรมไม่ดี เพราะกรรมไม่ดีนั้นก็จะตามมาหาเราเช่นกัน
การทำบุญด้วยใจไม่บริสุทธิ์ การทำบุญควรทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ อานุภาพจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีความตั้งใจทำแท้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อให้ตนพ้นกรรมไม่ดี เพื่อหวังให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนาสัมฤทธิ์ผลนั้นยิ่งเป็นไปได้ยาก กลับเป็นการเพิ่มกรรมมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
แต่ถ้าทำเพื่อช่วยเสริมบุญให้กรรมตามมาไม่ทัน หรือผ่อนหนักเป็นเบาในชาตินี้นั้นถือว่าใช่ ยิ่งทำบุญมากยิ่งจะส่งผลที่ดีในชาตินี้ และภพข้างหน้าต่อไป ในการทำบุญทำกุศลทุกครั้งจึงพึงทำใจให้กว้าง
เอื้ออาทรไปถึงผู้อื่นแม้จะอยู่ต่างภพต่างภูมิกัน ตั้งใจอุทิศให้อย่างจริงใจ ให้ด้วยสำนึกในความผิดพลาดก้ำเกินที่ตนอาจได้กระทำแล้วต่อใครๆ
ดังคำเทศนาของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิต หลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว ๑00 กว่าปี
บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า
ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใดเจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนล้นตัว เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง
จงจำไว้นะ
เมื่อยังไม่ถึงเวลา เทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้
ครั้นถึงเวลา
ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่
จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า
ทุกชีวิตไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ไม่ได้มีเพียงเฉพาะชีวิตนี้ แต่ทุกชีวิตมีทั้งชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต
ผู้มีปัญญาทั้งหลายจงเลือกเถิด เลือกให้ดี เลือกให้ถูกต้องและชอบธรรม สิ่งเหล่านี้ตัวผู้เขียนเองเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จึงได้ใคร่รู้ว่าในโลกกลมๆใบนี้ ยังมีพลังที่เหนือกว่ากาลเวลา
แต่จะแสดงพลังแห่งความรู้สึกให้เห็นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการได้สัมผัส และการค้นหา
ผู้เขียนหวังไว้อย่างยิ่งว่า หากผู้ใดได้เข้าใจคำว่า
สัจธรรมไม่มีอะไรเที่ยงแท้และแน่นอน
. เมื่อนั้นให้รู้ไว้ว่าได้ค้นพบพลังที่เหนือกว่ากาลเวลาแล้ว
สุดท้ายฝากคำสอนดีๆของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกให้กับท่านผู้อ่านทุกท่าน
การที่จะป้องกันตัวเองมิให้หลงใหลเลื่อนลอย ไปเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาแม้โดยมิได้ตั้งใจ จำเป็นต้องมีหลักยึด และยึดหลักไว้ให้มั่น กระแสใดๆก็จะพัดพาไปไม่ได้ หลักที่น่าจะมั่นคงแข็งแรง สามารถรับการยึดเหนี่ยวได้ทุกเวลานั้น น่าจะเป็นหลักแห่งความกตัญญูกตเวที ยึดกตัญญูกตเวทีไว้ให้เป็นหลักประจำใจมั่น ผลที่เกิดตามมานั้นจะไม่มีเสียหายแม้แต่น้อย
ทางแห่งกุศลกรรม ทางแห่งการทำความดี กรรมดีอันเป็นทาง นำไปสู่สุคติ
กายกรรม ๓ (การกระทำทางกาย)
1. เว้นจากการปลงชีวิต การทำร้ายเบียดเบียนชีวิตอื่น
2. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยการขโมย
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
วจีกรรม ๔ (การกระทำทางวาจา)
1. เว้นจากการพูดเท็จ
2. เว้นจากการพูดส่อเสียด
3. เว้นจากการพูดคำหยาบ
4. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
มโนกรรม ๓ (การกระทำทางใจ)
1. ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของชีวิตอื่น
2. ไม่คิดปองร้ายพยาบาทใคร
3. มีความเห็นชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ขอขอบคุณ
บทพระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
คำเทศนาของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ขอบคุณพระพุทธองค์ที่ยังคงอยู่ในใจของปวงชน
แก้ไขเมื่อ 24 มี.ค. 52 23:10:13
แก้ไขเมื่อ 24 มี.ค. 52 22:56:11
จากคุณ :
ปัทมนันท์
- [
24 มี.ค. 52 22:54:55
]