Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ค่าแรงของนักเขียน(เก่า) (บันทึกของคนเดินเท้า)

    บันทึกของคนเดินเท้า

    ค่าแรงของนักเขียน(เก่า)

    เทพารักษ์

    ผมเคยเล่าไว้แล้วว่า ผมเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้ลงพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ก็ได้เงินค่าเรื่องเป็นจำนวนถึง ๒๐ บาท ซึ่งในสมัยเมื่อ ๖๐ ปีก่อน เงินจำนวนนั้นก็นับว่าไม่น้อยจนเกินไปนัก สำหรับนักหัดเขียน แต่เรื่องต่อ ๆ มาของผมก็ไม่ได้รับค่าเรื่องเป็นปกติ เหมือนเพื่อนนักเขียนหน้าใหม่ทั่วไปในยุคนั้น

    แต่ก็ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะเขียนเรื่องต่อมาอีกห้าปี มีเรื่องสั้นได้ลงพิมพ์ร่วม ๔๐ เรื่อง ในหนังสือพิมพ์รายวัน รายลอตเตอรี่ รายสัปดาห์ และรายเดือน กว่าสิบชื่อ แล้วจึงได้รับค่าเรื่องอีกเป็นครั้งที่สอง จำนวน ๕๐ บาท จากนิตยสารรายเดือน รัตนโกสินทร์ และอีกสามปีต่อมาจึงได้อีกสองครั้งจากนิตยสารกระดึงทอง จำนวน ๑๐๐ บาท และ ๑๒๐ บาทในปีถัดไป ซึ่งขณะนั้นดูเหมือนว่าเป็นเงินมากมายเสียเหลือเกิน

    จากนั้นก็รับราชการเป็นนายสิบทหารสื่อสาร จึงเขียนเรื่องสั้น สารคดี และ ขำขัน ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสารเท่านั้น โดยไม่ได้รับค่าเรื่อง เป็นเสมือนการปฏิบัติงานประจำไปในตัว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ จนถึงเวลาเกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นเวลาสามสิบกว่าปี แต่มีจำนวนเรื่องสั้นเพิ่มขึ้นอีกเพียง ๓๐ เรื่องรวมเป็น ๗๐ เรื่องเท่านั้น

    เมื่อเตรียมตัวจะเป็นทหารนอกราชการ ก็มีความตั้งใจว่าจะเอาการเขียนหนังสือนี้ มาเป็นอาชีพหลัก และได้ลงมือปฏิบัติก่อนที่จะครบเกษียณอายุประมาณหนึ่งปี โดยการส่งนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊กฉบับลิ่วล้อ ไปให้วารสารของเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบก คราวนี้จึงได้รับค่าเรื่องเป็นประจำทุกตอน ตามเกณฑ์การคิดของแต่ละหน่วย ซึ่งคล้ายกัน คือนับความยาวของเรื่องเป็นหน้า แล้วให้ค่าเรื่องหน้าละ ๕๐ บาทเป็นส่วนมาก ผมกะเรื่องของผมให้ยาวตอนละ ๔-๕ หน้า เอ.สี่ จึงได้ค่าเรื่องตอนละ ๒๐๐ อย่างมากไม่เกิน ๓๐๐ บาท

    หนังสือทหารที่ลงพิมพ์เรื่องของผมนั้น มีทั้งรายเดือน สองเดือน สามเดือน และสี่เดือน ทั้งหมดกว่าสิบชื่อ ผมจึงต้องผลิตต้นฉบับอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ๑๐ กว่าปี โดยไม่คำนึงว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้น มากกว่าที่เคยได้เมื่อ ๓๐ ปีก่อนเพียงนิดเดียว ทั้งที่มาตรฐานการครองชีพได้สูงขึ้นถึงสิบเท่าจากเวลานั้น

    เมื่อส่งเรื่องไปลงพิมพ์ในวารสารของทหาร จนเกือบจะครบทุกเหล่าแล้ว จึงได้ขยายออกไปถึงวารสารภายนอก เช่นหนังสือในแวดวงของตำรวจ จนกระทั่งได้มีโอกาสส่งเรื่องไปให้วารสาร สยามอารยะรายเดือน ของสยามสมาคม เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ และได้รับการพิจารณานำลงพิมพ์เป็นประจำทุกเดือน เป็นเวลาปีกว่า จึงได้รับค่าเรื่องสูงที่สุดที่เคยได้ คือตอนละ ๒๐๐๐ บาท ต่างกับที่เคยได้รับอยู่อย่างมากมายก่ายกอง และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นทหาร ได้รู้จักกับข้อเขียนของผมเพิ่มขึ้น และอาจจะเป็นหนทางที่จะได้เข้าถึงสำนักพิมพ์ ที่จัดพิมพ์นิยายเล่มโต ๆ กับเขาบ้าง

    ในตอนแรกมีเพื่อนของลูกชายได้อ่านต้นฉบับ ที่ผมถ่ายเอกสารเย็บเล่ม แจกเพื่อนฝูงอ่านกันทุกปี เขาเกิดความสนใจสามก๊กฉบับลิ่วล้อของผม และขอเอาไปเสนอให้สำนักพิมพ์ยาดอง ซึ่งเขามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย พิจารณาอยู่หลายเดือน ผมก็หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า นามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” น่าจะเหมาะสมกับสำนักพิมพ์ยาดอง อย่างผีคู่กับโลงศพนั่นกระมัง แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สำนักพิมพ์นี้กำลังร่อแร่จะอยู่จะไป จึงงดรับเรื่องใหม่ไว้ก่อน แต่เพื่อนของลูกชายคนนั้นก็ยังมีน้ำใจ เอาต้นฉบับไปฝากไว้อีกสำนักพิมพ์หนึ่ง คราวนี้เงียบไปเกือบปี ผมเดินไปหาที่สำนักงานก็ปรากฏว่าปิดไปแล้ว เล่นเอาเกือบสิ้นหวังไปทีเดียว

    แต่เผอิญยังมีความมุมานะที่จะหาหนทางอยู่ จึงนำต้นฉบับไปเสนอเอง กับสำนักพิมพ์ที่เคยพิมพ์เรื่องกำลังภายในหรือเรื่องสามก๊กมาแล้ว คราวนี้ผ่านไปสองสามแห่ง ก็ถึงสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ซึ่งขอรับไว้พิจารณาก่อน โดยให้ความหวังไว้อย่างน่าสนใจ พอดีกับสำนักพิมพ์ใหญ่โตของวงการหนังสือของบ้านเรา ได้นำสามก๊กฉบับของท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ออกมาพิมพ์ใหม่สามเล่มจบ และทางสถานีโทรทัศน์ช่องไหนก็จำไม่ได้ นำภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องสามก๊กฉบับสมบูรณ์ ที่สร้างจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มาฉายในเมืองไทย จึงเป็นโอกาสอันดี ที่สำนักจะได้เริ่มดำเนินการเรียงพิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ได้เร็วกว่าที่คาดไว้มาก

    ผมขนต้นฉบับทั้งหมดที่มีในขณะนั้น ร้อยกว่าตอน ๆ หนึ่งยาวประมาณสี่หน้า ให้เขาคัดเลือกเอาตามชอบใจ แต่เขาเอาไว้ทั้งหมด ซึ่งประมาณว่าจะเป็นฉบับพ็อกเก็ตบุคส์ได้ ร่วมหกร้อยหน้า ถ้าพิมพ์เล่มเดียวจะหนาเกินไป จึงแบ่งออกเป็นสามเล่ม ผมต้องช่วยเขาตรวจพิสูจน์อักษรตาเปียกตาแฉะ เป็นเวลาแรมเดือนจึงได้สำเร็จเป็นเล่ม ผมเอาสัญญาเช่าลิขสิทธิ์วรรณกรรม กับหนังสือตัวอย่างมาพลิกหน้าพลิกหลังที่บ้าน ด้วยความดีใจจนน้ำตาไหล ความพยายามอดทนบากบั่นในการเขียนหนังสือ ได้ประสบความสำเร็จลงใน พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบปีที่ ๕๐ ของการเป็นนักเขียนพอดี

    ส่วนผลประโยชน์จากการเขียน ที่เคยได้เป็นเงินเพียงจำนวนสิบ จนเพิ่มเป็นเงินร้อย และเป็นเงินพันอยู่เพียงปีเดียว ก็ได้กลายเป็นเงินหมื่น ด้วยอัตราสากล และเต็มจำนวนพิมพ์ทั้งสามเล่ม

    และบัดนี้เวลาได้ล่วงมาอีกสิบปี ครบรอบหกสิบปีของการเขียนหนังสือ ก็มีผลงานพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุคส์ รวมเก้าเล่ม อายุของผู้เขียนก็ได้ล่วงเลยไปจนเกือบจะสิ้นทศวรรษที่แปดแล้ว ผมยังจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีกเล่า ท่านผู้อ่านที่รัก.

    ############

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 29 มี.ค. 52 06:51:17 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com