Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ชีวิตบรรณาธิการ (บันทึกของคนเดินเท้า)

    บันทึกของคนเดินเท้า

    ชีวิตบรรณาธิการ

    เทพารักษ์

    นิตยสารทหารสื่อสารได้เริ่มอุบัติขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์ของกองทัพบก เป็นปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๑ เป็นหนังสือราย ๒ เดือน ราคาขายปลีก เล่มละ ๓.๕๐ บาท คิดค่าบำรุงปีละ ๖ เล่ม เป็นเงิน ๑๘ บาทถ้วน

    นิตยสารทหารสื่อสารเคยมีบรรณาธิการมาแล้วกว่า ๑๐ คนในระหว่างเวลา ๕๒ ปีที่ผ่านมา ไม่นับคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก ฉบับพิเศษวันทหารสื่อสาร ซึ่งผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของท่านที่ ๘ พ.อ.บุญชัย รวยรุ่งเรือง และท่านที่ ๙ พ.อ. ขราวุธ เขมะโยธิน ซึ่งเป็นนักเขียนยอดเยี่ยม ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาการอันทันสมัยของ ทหารสื่อสาร ปัจจุบันท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และออกไปรับราชการนอกเหล่าทหารสื่อสารแล้ว แต่ก็ยังส่งเรื่องใหม่ ๆ มาให้เหมือนเดิม

    บรรณาธิการท่านแรกคือ พ.ท.ชิต อัมพะเตมีย์ เป็นบรรณาธิการอยู่ได้เพียงปีเดียว และไม่พบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติของท่านเลย ทั้งส่วนตัวและราชการ สำหรับท่านที่จะกล่าวถึงนี้เป็นท่านที่ ๒ เริ่มรับหน้าที่ในปีที่ ๒ ของ นิตยสารทหารสื่อสาร ในเวลาต่อมาท่านได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ของหนังสือพิมพ์ในกองทัพบก และได้เป็นบรรณาธิการ ยุทธโกษ วารสารหลักของกองทัพบก ซึ่งจัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก

    แต่ในช่วงแรกของการเป็นบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสารนั้น ท่านเล่าไว้ใน หนังสือเล่มที่ ๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๐๕ หลังจากได้พ้นหน้าที่ไปแล้วเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ว่ามีความลำบากทั้งกายและใจอย่างไร เป็นการเล่าอย่างเปิดอก จึงขอคัดลอกมาให้อ่านกัน ในสมัยที่ห่างจากยุคของท่านมากว่า ๕๐ ปี เพื่อเป็นกำลังใจแก่ท่านที่เป็นผู้จัดทำ และเป็นความรู้สำหรับผู้อ่าน ในยุคปัจจุบันด้วย ท่านเล่าไว้ว่า

    .......เริ่มตั้งแต่หนังสือ ทหารสื่อสาร เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก ผมก็ไม่มีความรู้เสียแล้ว ส่งหนังสือมาให้เล่มหนึ่งถามว่ากี่ยก ผมก็ตอบไม่ได้ ปก ๒ สีนั้นอย่างไร ๓ สี อย่างไรไม่เข้าใจทั้งนั้น ดัมมี่คืออะไรไม่รู้จัก ไม่เคยทำ ดูอะไร ๆ ก็จะไม่รู้ไม่ทราบไปเสียทั้งนั้น ต้องวิ่งวุ่นไปขอความช่วยเหลือจากท่านที่เคยเป็นบรรณาธิการ และท่านที่เคยทำหนังสือมาแล้ว ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ให้ช่วยแนะนำและให้ความรู้

    ฝ่ายทหารนั้น ในกรมการทหารสื่อสารขณะนี้ก็มีเหลืออยู่คนหนึ่ง คือคุณสุทิน (พ.ท. สุทิน สัมปัตตะวนิช) ได้ช่วยเหลือผมอย่างมาก ผมสังเกตุได้ว่า คนที่เป็นบรรณาธิการนั้น ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนมักจะมีอะไรคล้าย ๆ กันอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบคุย และไม่ค่อยปิดบังความรู้ พอรู้ว่าผมเป็นบรรณาธิการมือใหม่ ก็ช่วยประคับประคองเต็มที่ไม่มีรังเกียจเลย เวลาผมไปหาก็ ต้อนรับขับสู้ และแนะนำหรือสอนวิชาการทำหนังสือให้เป็นอย่างดีทุกครั้งไป.....

    ....บรรณาธิการทุกคนย่อมไม่พ้นที่จะต้องไปหาเรื่อง(คือขอเรื่องเขามาลงพิมพ์) ถ้าไม่ขยันไปหาเรื่อง เรื่องก็อาจไม่พอตีพิมพ์ให้เต็มเล่ม จะเขียนเองก็ไม่มีสติปัญญาจะทำได้ทัน และแม้จะมีสติปัญญาเขียนให้เต็มเล่มได้ ก็คงไม่มีใครอ่าน

    เรื่องการไปหาเรื่องของผม ได้ผลดีพอสถานประมาณ คือไปหาเรื่องสิบกว่าครั้ง ก็คงได้มาสัก ๒ - ๓ เรื่องไม่เหลวเปล่า นอกจากนั้นผมยังเป็นคนโชคดีอยู่ไม่น้อย คือบางครั้งที่ไปหาเรื่อง ก็ได้มาทั้งเรื่องและทั้ง แประ แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้เรื่องได้แต่ แประ

    อีกเรื่องหนึ่งก็คือการไปหาแจ้งความ ในสมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการนั้น ต้องอาศัยแจ้งความมาช่วยในการทำหนังสืออย่างมาก ผมเองก็อยากได้ค่าแจ้งความมาก ถึงกับครั้งหนึ่งออกไปหาแจ้งความ ที่บริษัทแห่งหนึ่งด้วยตัวเอง พาเพื่อนนายทหารไปด้วยคนหนึ่ง แต่งเครื่องแบบนายพันโก้ไปทั้งสองคน พอไปถึงผู้จัดการกุลีกุจอต้อนรับอย่างดี พอรู้ความประสงค์ว่ามาขอแจ้งความเท่านั้น รู้สึกว่าเข้าแสดงอาการคล้าย ๆ จะเสื่อมความนิยม หรือทำท่าคล้าย ๆ จะเบื่อหน่ายผมขึ้นมาทันที แต่ด้วยมารยาท ผู้จัดการถามผมว่า

    "หนังสือพิมพ์ทหารสื่อสารของท่านนี่ พิมพ์คราวละเท่าใด"

    ผมตอบไปว่าพิมพ์ครั้งละ ๑,๕๐๐ สองเดือนเล่ม ความจริงเวลานั้นผมพิมพ์ครั้งละ ๖๐๐ เท่านั้น เพราะมีสมาชิกเพียง ๕๐๐ เศษ ๆ แต่ที่ผมต้องพูดเท็จออกไปดังนั้น ก็เพราะมีผู้รู้คนหนึ่งแนะนำว่าเวลาไปหาแจ้งความให้บอกจำนวนพิมพ์มาก ๆ เข้าไว้ บริษัทห้างร้านจึงจะนิยมให้แจ้งความ

    ผมบอกแล้วก็เอากำหนดราคาค่าแจ้งความให้ผู้จัดการ ผู้จัดการขอตัวหายออกไปจากห้อง ปล่อยผมไว้กับเพื่อนนายทหาร ให้อยู่กับน้ำเย็น ๒ แก้ว ครู่ใหญ่ ๆ จึงกลับเข้ามาบอกว่า

    "ผมเสียใจมากครับ ปีนี้เราไม่มีงบประมาณค่าโฆษณาเหลืออยู่เลย เอาไว้โอกาสหน้าค่อยมาใหม่เถอะครับ"

    เอาไว้โอกาสหน้า ค่อยมาใหม่เถอะครับ ฟังดูคล้าย ๆ ไปข้างหน้าเถอะครับ เข้าไปเทียว

    ผมทราบดีว่า ที่ผู้จัดการบริษัทบอกว่า เสียใจมากนั้น ไม่ใช่ความจริง เพราะความจริงผู้จัดการคงดีใจมาก ในการที่ผมกับเพื่อนกลับมาเสียได้ ผมสิควรเสียใจอย่างมาก เพราะยอมบาปลงทุนโกหกทั้งที ก็ยังหาได้ค่าแจ้งความสักบาทหนึ่งไม่

    ตั้งแต่นั้นมา หัวเด็ดตีนขาด ผมก็ไม่ยอมไปหาแจ้งความที่ไหนอีก และไม่ยอมใช้หรือไหว้วานใครให้ไปหาแจ้งความอีก ตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้......

    สำหรับเรื่องที่ท่านเขียนขึ้นเป็นเรื่องแรกนั้นได้ลงพิมพ์ใน นิตยสารทหารสื่อสาร เล่ม ๓ ปีที่ ๑ ประมาณเดือนสิงหาคม ๒๔๙๑ ซึ่งได้รับคำชมเชยจากบรรณาธิการคนแรกว่า มีฝีไม้ลายมือคมขำ ชื่อเรื่อง เพื่อนทหาร.....ท่านจนนักหรือ นามปากกา ร.ด.

    ซึ่งท่านได้ปลอบใจเพื่อนทหารว่า ความจริงแล้วที่ว่าจนนั้น เรายังมีอีกหลายอย่างหลายสิ่ง ที่เป็นสมบัติของเราอยู่

    ..........ถ้ามองในแง่ดีก็พอค่อยยังชั่ว เลยลองนึกดูว่าเวลานี้เรามีสมบัติอะไรเหลืออยู่พอเป็นหน้าเป็นตากับเขาบ้าง บังเอิญโชคดียังมีสมบัติเหลืออยู่มากพอใช้

    ๑. มีลมอากาศหายใจได้โดยไม่ขาดแคลน ไม่ถูกขึ้นราคาไม่จำกัดโควต้า มีจำนวนเพียงพอแก่การที่จะหายใจไปได้อีกนาน จนกว่าเราจะตาย เห็นจริงว่าลมอากาศนี้ราคาแพง หาค่าบ่มิได้จริง ๆ โชคดีอะไรอย่างนี้

    ๒. มีแสงอาทิตย์ใช้โดยไม่จำกัด จะเลือกเอาอย่างอ่อน ๆ ก็ได้ ในตอนเช้าตรู่รุ่งอรุณ หรือตอนเย็นย่ำใกล้ค่ำ หรือจะเลือกเอาอย่างแรงจนแทบปิ้งปลาสุกก็ได้ ในตอนบ่ายเที่ยง แสงอาทิตย์นี้จึงเป็นสมบัติอันประเสริฐยิ่ง

    ๓. แม่พระคงคาหาได้ง่าย อาบกินชุ่มชื่นสบาย เมื่อไม่พอพระพิรุณท่านอุตส่าห์ส่งเพิ่มเติมมาให้ อาบก็เย็นดื่มก็ชุ่มอารมณ์ไม่ต้องซื้อหาเหมือนสุราโรงหรือแม่โขง

    ๔. ความสงบสงัด พอหาได้ไม่ยาก พระท่านว่า ความสงบ ความสงัด เป็นยอดของความสุขอันหนึ่ง เราอยากสุขดังทำนองนั้น ก็เลี่ยงไปตามวัดวาอาราม ตามสวน พอพ้นชุมชนสักหน่อยก็หาได้ นั่งไปคิดอะไรไปสบายดี

    ๕. มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ และจากดวงจันทร์ ดูได้ชมได้ไม่มีใครหวงห้าม หรือ เก็บค่าผ่านประตู แสงอาทิตย์อันอุดมด้วยสีหลาก ๆ สี มีไม่ซ้ำกันในวันหนึ่ง เปลี่ยนแปลงแสดงความงาม แข่งขันกันกับแสงจันทร์อันลมุลลมัยนิ่มนวลชวนตา งามกันไปคนละรูป และบังเอิญแท้ เราเป็นคนมีโชคดี มีสายตาทั้งสอง ได้มองเห็นแสงสว่างอันประเสริฐนี้อีกเล่า

    ๖. การที่เราได้มีเงินรายได้ประจำเดือนอยู่ทุก ๆ เดือนนี้ ก็สำคัญไม่ใช่เล่น เป็นสมบัติที่ไม่นึกว่าจะมีได้ถึง คล้ายกับได้รับมรดกมาเป็นจำนวนไม่น้อย อย่างคนใดได้เงินเดือน ๔๐๐ บาท คิดแล้วเปรียบเทียบดูว่า กว่าจะได้ดอกเบี้ยเดือนละ ๔๐๐ บาทนี้ เราจะต้องมีเงินต้น ถ้าคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อเดือน ก็ถึง ๔๐,๐๐๐ บาท เกิดมาโชคดีแท้ ๆ มีเงินต้นถึงสี่หมื่น อันจะทำดอกเบี้ยให้อย่างแน่นอน ไม่บิดพริ้วเหมือนลูกหนี้อื่น ถึงเดือนละ ๔๐๐ บาท

    ๗. เวลาอีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นเงินเป็นทองถึงอย่างนั้นแล้ว เราก็เรียกเอาเวลามาเป็นของเราได้ วันละ ๒๔ ชั่วโมงไม่แพ้ผู้ใดเลย แล้วเราจะใช้เป็นเวลานอนสักกี่ชั่วโมงก็ได้ ทำงานกี่ชั่วโมงก็ได้ ทอดทิ้งให้เสียไปเปล่ากี่ชั่วโมงก็ได้ เวลาไม่ว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นเงินเป็นทอง ใครใช้เวลาอย่างไร เราก็ใช้เวลาได้อย่างนั้น และใช้ได้โดยเสรี เท่าที่ใจเราอยากจะใช้ไปในทางใด

    ดังนี้ เพื่อนทหาร ใครจะยังแสดงว่าตนเป็นคนจนอีกหรือ.........

    เราคงจะเห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องแรกในชีวิตการเขียนหนังสือของท่านบรรณาธิการ ท่านที่ ๒ ของ ทหารสื่อสาร เมื่อ ๕๐ ปีก่อนนี้ มีสำนวนที่คมคาย ลึกซึ้ง และเป็นความจริงแท้แน่นอน อยู่จนถึงปัจจุบันนี้อย่างไร และจะเป็นความจริงอยู่อย่างนั้นตลอดไป

    ขอบันทึกชื่อเสียง และข้อคิดของท่านไว้ในความจดจำรำลึก ด้วยความเคารพอย่างสูง ท่านผู้นี้คือ พ.อ.พิพิธ แก้วกูร

    ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๔

    ##########

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 2 เม.ย. 52 19:03:07 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com