บันทึกของคนเดินเท้า
เรื่องของค่าลิขสิทธิ์
เทพารักษ์
ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ นั้นเอง คณะละครเวทีที่ลูกชายเป็นนักแสดงอยู่ในสังกัด คิดจะเปิดกิจการเพิ่ม เป็นสำนักพิมพ์จำหน่ายหนังสือขึ้นอีกแขนงหนึ่ง จึงร่วมมือกับบริษัทที่มีความรู้ในเรื่องการพิมพ์และจำหน่ายในตลาดหนังสือเล่ม หัวหน้าคณะทราบว่าผมเป็นนักเขียนสมัครเล่นกึ่งอาชีพ จึงขอให้ส่งต้นฉบับให้เขาพิจารณา ผมก็ยินดีตามเคย เขานัดประชุมวางแผน ในเดือนพฤษภาคม
ผมก็หอบเอาต้นฉบับเรื่อง ปกิณกะสามก๊ก เปาบุ้นจิ้น พระอภัยฉบับเร่งรัด ไปเสนอที่ประชุม เขาก็ยินดีรับไว้ดำเนินการทั้งหมด ตามลำดับ โดยกำหนดหลักการว่าจะพิมพ์ ปกิณกะสามก๊กก่อน เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว ประมาณว่าหนังสือจะหนา ๑๖๐ หน้าตั้งราคาไว้ ๑๔๐ บาท จะจ่ายล่วงหน้า ๓๐๐๐ บาทก่อน เมื่อขายได้ภายใน ๓๐๐๐ เล่ม จะได้ค่าเรื่อง ๑๒% แต่ไม่ได้ทำเป็นสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์ แบบสำนักพิมพ์อื่น ทำเป็นหนังสือข้อตกลงหน้าเดียวสั้น ๆ ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนว่าภายในกี่ปี
แม้ผมจะรู้สึกไม่มั่นใจว่า ผลประโยชน์จะคุ้มค่าหรือไม่ แต่ก็เลือกเรื่องที่เคยลงพิมพ์ในนิตยสารมีระดับมาแล้ว จำนวน ๒๐ ตอน ลงแผ่นดิสก์ให้เขาไปดำเนินการ แล้วก็เตรียมการเอาต้นฉบับเรื่อง เปาบุ้นจิ้น ลงแผ่นดิสก์เพื่อส่งให้เขาเป็นลำดับต่อไป ทางสำนักพิมพ์ที่ห้านี้ ก็ส่งต้นฉบับมาให้ปรู๊ฟ จัดหาภาพประกอบ ปรากฏว่าเป็นหนังสือ ๒๐๐ หน้า ตั้งราคาเป็น ๑๘๐ บาท ถ้าขายได้ ๑๐๐๐ เล่มจะได้ค่าเรื่อง ๑๒ % แม้จะลดจำนวนลงจากคราวก่อน แต่ก็ยังนึกสงสัยว่าจะขายได้ตามเกณฑ์ภายในกี่ปี แต่ก็ไม่ขัดข้องตามเคย
แต่พอถึงเดือนมิถุนายน เจ้าของคณะละครได้แจ้งให้ทราบว่า เขาจะเลิกร่วมมือกับทางโรงพิมพ์แล้ว เพราะถูกเอาเปรียบเรื่องการเงินมากไป สำหรับเรื่องของผมก็คงจะต้องรอไปก่อน ต่อมาทางโรงพิมพ์ก็ติดต่อมาว่า จะให้ดำเนินการพิมพ์ต่อไปหรือไม่ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับทางคณะละคร ผมก็ต้องตอบว่าขอระงับการดำเนินการทั้งหมด เพราะผมมีความสัมพันธ์กับคณะละคร มากกว่าทางโรงพิมพ์ ผลก็คือ เรื่องของผมไม่สามารถจะสำเร็จเป็นรูปเล่มได้ ทั้ง ๆ ที่ตรวจปรู๊ฟสุดท้าย และกำลังจะออกแบบปกแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผิดหวังเท่าไรนัก
แต่เรื่องนี้สำหรับผม ก็ยังไม่เลวร้ายเกินไป เพราะเจ้าของคณะละครเกรงใจผม จึงเอาต้นฉบับทั้ง ปกิณกะสามก๊ก และ เปาบุ้นจิ้น ไปให้สำนักพิมพ์ที่เขารู้จัก อยู่แถวหน้าวัดราชบพิตร รับไว้พิจารณา โดยผมไม่ได้ไปติดต่อเองเลย จนนึกว่าเขาจะทอดทิ้งเสียแล้ว รออยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ จึงได้รับการติดต่อ ให้ไปรับต้นฉบับมาตรวจปรู๊ฟ จึงได้พบกับ ผู้ช่วย บก. และประสานงานในเรื่องภาพประกอบ และภาพหน้าปก ซึ่งช่างเขียนของสำนักพิมพ์วาดเป็นรูป จิวฉอง กับ ลิโป้ สวยงามมาก
จนถึงเดือน เมษายน ๒๕๔๗ ปกิณกะสามก๊ก จึงสำเร็จเป็นรูปเล่ม ทางสำนักพิมพ์ติดต่อให้ไปรับค่าลิขสิทธิ์ และเซ็นสัญญาย้อนหลังไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ กำหนดอายุเพียงสองปี หนังสือหนา ๑๘๐ หน้า ราคา ๑๓๐ บาท จำนวนพิมพ์ ๒๐๐๐ เล่ม ได้รับค่าลิขสิทธิ์ ๘ % ครบถ้วน และรับมอบหนังสืออีก ๕๐ เล่ม
และแม้จะส่งต้นฉบับ เปาบุ้นจิ้น สำรองไว้ ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์นี้อีกเลย
(ยังมีต่อ)
จากคุณ :
เจียวต้าย
- [
28 พ.ค. 52 08:56:54
]