Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    แบ่งกันอ่าน : เสรีภาพของผู้อ่าน เป็นเสรีภาพที่ล่อแหลม (สมบัติทางวรรณศิลป์ : เจตนา นาควัชระ)

    สมบัติทางวรรณศิลป์

    เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในการศึกษาวรรณคดีแล้วว่า ผู้อ่านมีบทบาทสำคัญในการที่จะสกัดเอาความหมายของวรรณกรรมที่ตนอ่านออกมาให้ได้

    อันที่จริงความหมายที่ผู้เขียนจะถ่ายทอดออกมาด้วยภาษา กับความหมายที่ผู้อ่านตีความมาจากวรรณกรรมที่ตนอ่านนั้น จะเหมือนกันราวกับแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกันเป็นจะเป็นไปไม่ได้ การสื่อความระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านจึงเป็นการสื่อความที่ “ใกล้เคียง” เท่านั้น

    ปัญหาที่ตามมาก็คือว่า ในฐานะผู้อ่านเรามีสิทธิมากน้อยเพียงใดในการตีความไปในแบบที่เราเห็นว่าเหมาะว่าควร จะเป็นการเสียหายเพียงใดหรือไม่ถ้าเราตีความไม่ตรงกับที่ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้

    ผู้อ่านบางคนอาจจะคิดว่า วรรณกรรมแต่ละเรื่องเป็นสิ่งที่ผู้เขียนให้เราหยิบยืมมาเท่านั้น ถ้าเราทำสิ่งที่หยิบยืมมานั้นเสียหาย ก็นับว่าเป็นความผิดฉกรรจ์ ถ้าผู้อ่านคิดเช่นนี้ทุกนแล้ว ก็คงจะไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณคดี  วงหนังสือก็คงจะเงียบเหงา วรรณคดีวิจารณ์ก็คงจะรุ่งเรืองไม่ได้  วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ก็คงจะอับเฉา

    ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้อ่านส่วนมากใฝ่ใจที่จะตีความ และสนใจที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ตนอ่าน วงวรรณคดีก็จะตื่นตัวตามไปด้วย ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือ วรรณไวทยากร (บทที่ ๑๐) ว่า วรรณคดีวิจารณ์สามารถมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ได้ การที่เราส่งเสริมการแสดงความคิดเห็น ส่งเสริมวรรณคดีวิจารณ์นั้น เราจะต้องยอมรับสมมุติฐานสองข้อ คือ

    ๑. วรรณกรรมนั้น เมื่อผู้แต่งได้ตัดสินใจที่จะให้เผยแพร่แล้ว ก็หาได้เป็นสมบัติของผู้แต่งต่อไปไม่ แต่ได้กลายเป็นสมบัติของผู้อ่านไป

    ๒. ผู้อ่านทีกอปรด้วยวิจารณญาณและสำนึกในความรับผิดชอบของตน ควรมีเสรีภาพในการที่จะตีความวรรณกรรม หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ตนอ่าน

    ในส่วนที่เกี่ยวกับสมมุติฐานข้อแรกนั้น ผู้เขียนขอทำความเข้าใจเสียตั้งแต่ต้นว่า เราจะไม่พูดถึงสมบัติทางวรรณศิลป์ในแง่ของกฎหมาย เรื่องของลิขสิทธิ์เป็นเรื่องของการคุ้มครองผลประโยชน์ของงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์ เพื่อให้ศิลปินหรือผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ได้รับผลประโยชน์จากงานที่ตนสร้างขึ้นมา โดยป้องกันมิได้ผู้อื่นมาลอกเลียนแบบเพื่อนำไปหาผลประโยชน์ สรุปได้ว่าเป็นเรื่องทางโลก ในบางครั้งก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเงิน เรื่องของวรรณกรรมที่แปรสภาพจากสมบัติของผู้แต่ง ไปเป็นของผู้อ่าน เป็นเรื่องของการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เราจะถกเถียงกันไม่ได้ในแง่ของตัวบทกฎหมาย

    จะขอขยายความต่อไปด้วยตัวอย่างง่ายๆ คำพูดที่เราเปล่งออกมาเป็นสิ่งที่หลุดลอยไปจากตัวผู้พูดเรียกกลับคืนมาไม่ได้ แก้ไม่ได้ ลบไม่ได้ ผู้ที่เป็นปราชญ์จึงย่อมจะต้องรับผิดชอบในคำพูดของตนวรรณกรรมก็อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน หากแต่ว่า “การเขียน” อาจเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ดีกว่า “การพูด” เพราะผู้เขียนมีเวลาไตร่ตรองขัดเกลาสิ่งที่ตนต้องการจะแสดงออกด้วยวาทะ เขียนแล้วลบได้ถ้าไม่ถูกใจ เขียนแล้วฉีกทิ้งได้ถ้าไม่พอใจ

    ถ้าเขียนแล้วยอมนำออกเผยแพร่ต่อบุคคลอื่นแม้เพียงคนเดียว วรรณกรรมนั้นก็ตกอยู่ในสภาวะที่คล้ายกับวาจาที่เปล่งออกไป คือหลุดลอยไปจากตัวผู้เขียน กลายเป็นสมบัติของ “ผู้อื่น” ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ผู้อ่าน” การเผยแพร่นั้นจะเป็นไปในรูปใดก็ได้ ในยุคก่อนที่จะมีการพิมพ์หนังสือ ก็อาจจะมีการอ่านสู่กันฟัง หรือเล่าสู่กันฟัง หรือไม่ก็คัดลอกกันด้วยลายมือ ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องคติชาวบ้าน และผู้ที่สนใจวรรณคดีโบราณย่อมจะเข้าใจดีว่า ต้นเรื่องเพียงหนึ่งเรื่องอาจจะแตกเถาเหล่ากอไปได้เป็นสิบเป็นร้อยเล่าต่อกันไปเป็นร้อยเป็นพันปีจนไม่มีใครรู้ได้ว่า ต้นเรื่องที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราจึงจะต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “วรรณกรรมเป็นสมบัติของใครกันแน่”

    เราอยู่ในยุคของการเผยแพร่วรรณกรรมด้วยการพิมพ์ เรื่องของการเผยแพร่จึงเป็นเรื่องที่กระทำได้รวดเร็ว ซึ่งมีทั้งผลได้และผลเสีย คนโบราณดื่มด่ำในวรรณกรรมที่ตนได้อ่านได้ฟัง เพราะกระบวนการถ่ายทอดเป็นกระบวนการที่ยากลำบาก เมื่อได้มายากก็ลืมยาก เมื่อได้มายากก็รักมาก เราจะเห็นผู้เฒ่าผู้แก่จำกลอนอิเหนา หรือพระอภัยมณี ได้เป็นช่วงยาวๆ บางคนท่องได้เป็นชั่วโมง บางคนเป็นวัน ในยุคใหม่เราอาจจะมีเวลาน้อยกว่า แต่การถ่ายทอดสมบัติทางวรรณศิลป์ ก็กระทำได้รวดเร็วขึ้น และในวงที่กว้างขึ้น ดังจะได้อธิบายต่อไป

    สำหรับสมมุติฐานข้อที่ ๒ ที่เกี่ยวกับเสรีภาพของผู้อ่านนั้น เป็นเรื่องของเสรีภาพทางปัญญา วรรณกรรมเป็นสิ่งที่มากระทบอารมณ์เรา ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ของปัจเจกบุคคล วรรณกรรมเรื่องเดียวไปถึงมือผู้อ่านร้อยคนก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสมบัติของคนร้อยคนไป แต่ละคนก็เข้าครอบครองสมบัติทางวรรณศิลป์ชิ้นนี้ด้วยวิธีการของตนเอง ผู้ประพันธ์จะหวงแหนว่าเป็นสิทธิของตนต่อไปอีกไม่ได้

    แม้ผู้อ่านบางคนอาจจะตีความไม่ตรงกับที่ผู้แต่งคิดไว้ ก็เป็นกติกาอย่างหนึ่ง อันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงวรรณศิลป์ว่า มิใช่หน้าที่ของผู้แต่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของผู้อ่านและของนักวิจารณ์ ที่จะต้องแก้กันเองในวงผู้อ่าน

    เครื่องมือสื่อสารอันได้แก่ภาษานั้น เป็นเครื่องมือที่อาจจะไม่สมบูรณ์นัก คำคำเดียวกันที่มาจากภาษาเดียวกัน อาจจะสื่อความหมายไปได้หลายนัย การสื่อสารทางวรรณศิลป์จึงเป็นการสื่อสารที่ได้ความหมายใกล้เคียงเท่านั้น ในระยะหลังๆ มีนักเขียนบางคนกระโดดลงมาตอบโต้กับนักวิจารณ์ ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำ เพราะวรรณกรรมที่สร้างข้นและได้ตีพิมพ์ไปแล้ว ก็นับว่าได้กลายเป็นสมบัติของผู้อ่านไปแล้ว

    ในเรื่องสิทธิของผู้อ่านและเสรีภาพในการตีความนั้น ผู้เขียนใคร่ขอยกอุทาหรณ์จากเรื่องของดนตรีมาให้ความกระจ่างอีกครั้งหนึ่ง

    ผู้ที่สนใจดนตรีสากลย่อมจะทราบดีว่า คีตกวีบันทึกงานดนตรีที่เขาแต่งขึ้น ลงเป็นโน้ตเพลง ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเผยแพร่คีตนิพนธ์ได้อย่างดียิ่ง การบันทึกงานดนตรีแบบนี้เป็นเครื่องมือสืบทอดวัฒนธรรมในทางคีตศิลป์ให้แก่คนรุ่นหลังได้อย่างดีอีกด้วย

    ผู้ประพันธ์ดนตรีนั้น เมื่อได้ตีพิมพ์คีตนิพนธ์ของตนไปแล้ว ก็เรียกได้ว่ามิได้ครอบครองสมบัติอันเป็นคีตศิลป์บทนั้นต่อไปอีก (แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะมีผลคุ้มครองอยู่) เรื่องของศิลปะเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของปัญญา ดนตรีชิ้นนั้นตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เล่นดนตรี ของผู้ฟังดนตรี นักดนตรีร้อยคนจะเล่นเพลงเพลงเดียวกันด้วยวิธีการร้อยอย่าง แต่ก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะ “ตีความ” คีตนิพนธ์บทนั้นไปในแนวที่เขาต้องการ

    จริงอยู่นักดนตรีคนหนึ่งฝีมืออาจจะด้อยกว่าอีกคนหนึ่ง หรือนักดนตรีคนหนึ่งอาจจะมีความเชี่ยวชาญในการ “ตีความ” น้อยกว่าอีกคนหนึ่ง แต่เราจะต้องให้เสรีภาพแก่เขาในการเล่นเพลงนั้น แม้แต่ในกรณีที่เขาเล่นผิด ก็เป็นความรับผิดชอบของเขา นักดนตรีจะต้องรับผิดชอบคีตนิพนธ์ที่ตนบรรเลงไม่น้อยกว่าตัวศิลปินเอง

    ในเรื่องของวรรณคดีก็เช่นกัน เสรีภาพของผู้อ่านเป็นเสรีภาพที่ล่อแหลม ผู้อ่านที่ด้อยสติปัญญาหรือด้อยประสบการณ์ก็เปรียบได้กับนักดนตรีที่ฝีมือยังอ่อน อาจจะไม่สามารถเข้าถึงงานศิลปะได้อย่างเต็มที่ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมจึงควรจะกระทำด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ยิ่งผู้ที่เป็นนักวิจารณ์วรรณคดีด้วยแล้ว ภาระความรับผิดชอบก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น  ถ้าวิจารณ์ไปด้วยความไม่รู้หรือด้วยอคติ ก็เหมือนกับนักดนตรีชั้นเลว ที่เอาเพลงดีมาทำเสียจนหมดรส

    การอ่านและการวิจารณ์เป็นได้ทั้งการสร้างสรรค์และการทำลาย  เสรีภาพที่ให้แก่ผู้ด้อยปัญญาหรือผู้เต็มไปด้วยอคติ เป็นเสรีภาพที่ไม่สนับสนุนเกื้อกูลศิลปะแต่ประการใด...

    เจตนา นาควัชระ ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี บทที่ ๒ สมบัติทางวรรณศิลป์ หน้า ๙ สนพ.ศยาม ๒๕๔๒


    คิดว่าเป็นข้อเขียนที่น่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งนักเขียนและนักอ่านนะครับ

    จากคุณ : SONG982 - [ 11 มิ.ย. 52 13:56:09 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com