Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    THE RUSSIAN “T” MYSTERY : ความนัยในใจความ (ตอนที่ 3)

    ตอนที่ 1 : http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W7893474/W7893474.html
    ตอนที่ 2 : http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W7920774/W7920774.html

    --------------------------------------------------------------------------------------------------------

    3.

    “ถึงจะไม่มีความรู้เรื่องวรรณกรรมรัสเซีย แต่พี่เชื่อว่าผู้หมวดช่วยเราในเรื่องไชคอฟสกี้ได้ใช่ไหมคะ”

    แม้มีร่องรอยของความหวาดหวั่นปรากฏอยู่ในแววตาของแพมาลาที่กำลังสบตาของคนที่เพิ่งกล่าวคล้ายตัดรอนและปฏิเสธจะให้ความช่วยเหลืออยู่เมื่อครู่ก็ตาม หากน้ำเสียงของเธอยังคงแสดงถึงความหวังที่ยังหลงเหลืออยู่

    “พี่มาที่นี่ก็เพราะพี่เชื่อว่าผู้หมวดจะช่วยเรื่องดนตรี เรื่องของนักดนตรีรัสเซียคนนี้ได้” เธอเอื้อมมือข้ามมาคว้ามือของเขาจับไว้แน่น ทำให้เขาสะดุ้งกับสัมผัสที่ไม่ทันเตรียมใจตั้งรับ และทำให้ชลทิชาที่มองดูเหตุการณ์อยู่ต้องยกสำเนาพินัยกรรมขึ้นปิดปากซ่อนยิ้มกับอาการลำบากใจของเพื่อน เพราะเธอรู้ดีว่า ถึงจะเป็นคนปากแข็งเกินไปสักหน่อย แต่เขาก็ไม่ใช่คนใจแข็งกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ อยู่แล้ว

    เห็นได้ชัดว่า หญิงสาวคนพี่คาดหวังอย่างมากและอยากให้ปัญหาเกี่ยวกับพินัยกรรมฉบับนี้จบสิ้นลงไป แล้วคนน้องที่ดูไม่ใส่ใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังคอยตีรวนอยู่เนือง ๆ เหมือนกับคิดว่าไขปริศนาได้ก็เท่านั้นอย่างมิ่งมาลีเล่า จะทำอย่างไร ในเมื่อประณตเองก็พูดเข้าทางเธออยู่มาก

    แต่แล้วทนายความสาวกลับต้องเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ เมื่อสไตลิสต์สาวขยับตัวเปลี่ยนท่าจากเอนหลังพิงพนักอย่างสบายขึ้นนั่งหลังตรงด้วยท่าทางจริงจังผิดไปจากที่เคย

    “พี่ขอร้องผู้หมวดด้วยอีกคนนะคะ... ในเมื่อมาถึงที่นี่กันแล้ว คงน่าเสียดายที่มาเสียเที่ยว อย่างน้อยที่สุด ถ้าผู้หมวดลองช่วยเรื่องนี้ดูสักครั้ง แพม... ไม่ค่ะ... เรา เราจะได้กลับไปด้วยความสบายใจว่า ทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว” เธอกล่าว ก่อนยิ้มน้อย ๆ ให้เขา “แต่พี่คิดว่าเมื่อกี้ ผู้หมวดคงพูดยังไม่จบดีละมั้งคะ”

    ถึงจะไม่ตอบคำถามตามตรง แต่ฟังเอาจากเสียงหัวเราะของเขา ชลทิชาก็มองออกทันทีว่ามิ่งมาลีจี้เพื่อนเธอเข้าถูกจุดพอดี

    สิ่งที่เห็นและเป็นไปในตอนนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจากเธอเคยรับรู้เกี่ยวกับฝาแฝดทั้งสองในสมัยเรียนมัธยมไม่น้อย และจะเรียกว่าเกือบตรงข้ามกับสิ่งที่เธอเคยคิดมาก่อนก็ว่าได้... นี่จะเป็นนิสัยที่แท้ของแต่ละคนแน่แล้วหรือเปล่า เธอยังไม่กล้าฟันธงลงไปเหมือนกัน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า นักวิจารณ์ดนตรีผู้ล่วงลับจะมองเห็นบางสิ่งในตัวของลูกสาวทั้งสองและเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจทำพินัยกรรมที่มีเงื่อนไขไม่ธรรมดาฉบับนี้ขึ้นก็เป็นได้

    “ผมจะลองดูก็แล้วกันครับ แต่ไม่ทราบจะถูกต้องตามที่ ดร. เจติยะท่านต้องการหรือเปล่า” นายตำรวจหนุ่มบอก “ผมขอบันทึกเสียงลงเทปนะครับ คุณแพมกับคุณมิ้งค์จะได้ไม่ต้องจด เอาเทปที่อัดไปใช้ได้เลย อาจจะโบราณไปหน่อย แต่สะดวกกว่าตรงที่เอาเทปไปได้เลย ไม่ต้องดาวน์โหลดลงคอมพ์ แล้วค่อยไรท์หรือจั๊มพ์ไป”

    เขาบีบมือของบรรณารักษ์สาวเบา ๆ และค่อย ๆ ถอนมือออกโดยไม่ให้เธอรู้สึกเขินว่าตัวเองเป็นฝ่ายเผลอตัวยึดมือเขาไว้ก่อน ลุกไปยังโต๊ะคอมพิวเตอร์ เลื่อนบานกระจกของตู้ใส่ซีดีและเทป เดินกลับมาพลางบรรจุเทปลงในเครื่องบันทึกเสียงไปพร้อมกัน กดปุ่มอัด แล้ววางลงกลางโต๊ะรับแขก

    “คุณแพมพาคุณมิ้งค์มาหาผม เพราะคุณแพมเชื่อว่า ผมน่าจะตีความเรื่องไชคอฟสกี้ออกเหรอฮะ” เขาถามเหมือนชวนคุยก่อนเข้าเรื่องธุระ แต่เป็นคำถามเดิมที่เคยถามมาหนหนึ่งแล้ว

    แม้คำถามนั้นจะเป็นคำถามเรียบ ๆ ตามนิสัยพูดจาช้า ชัดที่ติดมาจากการต้องสื่อสารกับเพื่อนที่มีปัญหาทางการได้ยิน หากจังหวะการพูดที่ช้าลงกว่าปกติและเน้นคำเป็นพิเศษเหมือนอยากให้อีกฝ่ายฟังให้ถนัดแล้วค่อยตอบคำถามฟังดูสะดุดหูคนเป็นเพื่อนสนิทอย่างเธออย่างประหลาด

    “ใช่ค่ะ” แพมาลาพยักหน้ารับ “ทำไมเหรอคะ ผู้หมวด”

    “ไม่มีอะไรหรอกครับ ผมกลัวว่าถ้ามาเพราะเรื่องวรรณกรรมรัสเซียละก็ ผมคงทำให้เสียเวลาเปล่า” เขาเอ่ยระหว่างหย่อนตัวลงนั่งบนเก้าอี้ทำงาน แต่ไม่มีเสียงเก้าอี้ลั่นเกิดขึ้นเหมือนในครั้งที่ผ่านมา “นึกไม่ถึงว่าคุณแพมจะตามหาผมจนเจอตัวจนได้”

    แทนที่จะเข้าเรื่องโดยไม่ชักช้าอย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่าตอนนี้ประณตกลับเป็นคนพาออกนอกเรื่องเสียเอง แต่คราวนี้คำที่เขารับปากจะช่วยทำให้หญิงสาวไม่แสดงทีท่าร้อนรนเช่นที่ผ่านมาและยังยินดีตอบคำถามนั้นด้วยสีหน้าที่ผ่อนคลายกว่าเดิม

    “ลองค้นหาจากเสิร์ชเอนจินดูน่ะค่ะ” เธอบอก “ส่วนใหญ่จะเจอในรายงานข่าวอาชญากรรมของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ แต่ในที่สุดก็เจอชื่อผู้หมวดในเว็บรุ่นนิติศาสตร์...”

    “พวกบรรณารักษ์เขาค้นกันเก่งค่ะ” แฝดน้องของเธอเสริมกึ่งกระเซ้าแฝดพี่ “พี่เคยงม OPAC* แทบตาย หายังไงก็ไม่เจอ พอให้คนที่ต้องเขาข้อมูลกับคำสำหรับสืบค้นอย่างแพมหาให้ แป๊บเดียวก็ได้มาแล้ว”

    “เสียดายคุณแพมไม่ได้อยู่เชียงใหม่ ไม่งั้นผมคงต้องได้ขอความช่วยเหลือจนเบื่อหน้าผมแน่ ๆ” เขากล่าวกลั้วหัวเราะ และยิ้มของเขาก็ทำให้คนที่นั่งอยู่ตรงหน้าต้องพลอยยิ้มตามไปด้วย “ผมไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงอะไรก็หายากหน่อย หาข้อมูลจากคีย์เวิร์ดไชคอฟสกี้คงง่ายกว่าหาจากชื่อผมเยอะ”

    “ขอยืมดูหนังสือทั้งสี่เล่มอีกครั้งนะครับ ผมคงต้องลองค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตดูบ้างแล้วละ เพราะมีหนังสือบางเล่มที่ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่”

    มิ่งมาลีหยิบหนังสือบนโต๊ะส่งให้ชายหนุ่มซึ่งลากเอาเก้าอี้กลับไปที่หน้าคอมพิวเตอร์ ส่วนเธอหยิบเอาเครื่องบันทึกเสียงเดินตามเขาไปยังโต๊ะทำงาน “ถ้าพี่ไปยืนดูใกล้ ๆ ผู้หมวดคงไม่รำคาญนะคะ”

    “ไม่รำคาญหรอกค่ะ ลงจับเรื่องดนตรีจริง ๆ จัง ๆ เข้าทีไร ณตเขาก็ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมแล้ว” ชลทิชาตอบแทน พร้อมยักคิ้วใส่เพื่อนบอกว่าเป็นการเอาคืนที่เขาบังอาจใช้ให้เธออ่านพินัยกรรมเจ้าปัญหา ส่วนคนถูกแก้แค้นก็พูดอะไรไม่ออก ได้แต่พยักหน้ารับอย่างเดียว

    “เท่าที่ฟังตะกี้ เหมือนนายคิดออกแล้วว่า หนังสือเล่มไหนในสี่เล่มที่ไม่เข้าพวกหรือแตกต่างจากเล่มอื่นมากที่สุด” เธอลุกขึ้นมาร่วมวงด้วยอีกคนด้วยความสนใจโดยไม่ลืมถือสำเนาพินัยกรรมติดมือมาด้วย

    นายตำรวจหนุ่มเงยหน้าขึ้นมองคนที่ยืนเกาะพนักเก้าอี้ของเขาอยู่ทางด้านหลัง แล้วทำเสียงอือในลำคอรับ ก่อนหันกลับไปพิมพ์คีย์เวิร์ดลงในช่องค้นหาของสารานุกรมออนไลน์ “ตอนเห็นชื่อก็คิดแล้วว่าน่าจะเป็นเล่มนี้ เพราะมันไม่เหมือนคนอื่นตั้งแต่ชื่อแล้ว แต่อยากรู้ว่ามีอะไรอย่างอื่นอีกไหมที่ทำให้มันไม่เหมือนคนอื่น เช่น รูปแบบการประพันธ์ดนตรี หรือเล่มอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับนักดนตรีคนไหน ยังไงหรือเปล่า”

    “รูปแบบ... เช่นอะไรล่ะ” ทนายความสาวซักต่อ “อย่างคอนแชร์โตที่พวกนายพูดกันตะกี้เหรอ”

    “อือ ใช่... จะอธิบายคร่าว ๆ ก็แล้วกัน” เขาบอกโดยยังกวาดสายตาอ่านข้อมูลที่ค้นมาได้บนหน้าจอ “คอนแชร์โตเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่ให้เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งหรืออาจจะมากกว่าเล่นประชันกับดนตรีวงใหญ่ อย่างไวโอลินคอนแชร์โตก็คือเอาไวโอลินมาเล่นประชันกับวงออเคสตรา ส่วนโซนาตาเป็นงานประพันธ์ที่มีประมาณสามหรือสี่ท่อน มักจะแต่งมาสำหรับเล่นด้วยเครื่องดนตรีหนึ่งหรือสองชิ้นน่ะ ถ้ามีเครื่องดนตรีเกินกว่านั้นก็จะใส่จำนวนกำกับไว้ว่าเป็นทริโอ ควอเต็ต สามชิ้น สี่ชิ้นอะไรก็ว่าไป”

    “แล้วอย่างมูนไลท์โซนาตากับครอยท์เซอร์โซนาตาล่ะ มันไม่ใช่จำนวนนับอย่างทริโอ ควอเต็ตนี่”

    “อันนั้นจะเรียกว่าเป็นชื่อเล่นของเพลงก็ได้” เขาอธิบายต่อ “ชื่อจริงของมูนไลท์โซนาตา คือ เปียโนโซนาตาหมายเลขสิบสี่ แต่ได้ชื่อมูนไลท์มาจากการเปรียบเทียบของนักวิจารณ์ดนตรีว่าให้อารมณ์เหมือนแสงจันทร์สะท้อนบนผิวน้ำ ส่วนครอยท์เซอร์โซนาตามีชื่อจริงว่า ไวโอลินโซนาตาหมายเลขเก้า ชื่อครอยท์เซอร์มาจากชื่อของนักไวโอลินที่เบโธเฟนอุทิศเพลงนี้ให้”

    “คอนแชร์โต โซนาตาเป็นเพลงบรรเลง ไม่มีเนื้อเรื่อง ไม่มีเนื้อร้อง ส่วนพวกเพลงประกอบการแสดงอย่างโอเปรา บัลเลต์ หรือ incidental music ที่มีเนื้อเรื่องด้วยก็เป็นลักษณะการประพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง...”

    “แสดงว่าผู้หมวดกำลังหาว่า หนังสือทั้งสี่เล่มเกี่ยวข้องกับดนตรีแบบไหนใช่ไหมคะ” มิ่งมาลีถาม

    “ครับ” เขาหันมาตอบ ก่อนโน้มตัวกลับเข้าหาจอคอมพิวเตอร์เมื่อพบข้อมูลบางอย่างที่สะดุดใจ และหยิบเอาปากกาจากแก้วใส่เครื่องเขียนมาจดข้อมูล “เพราะถ้าดูเฉพาะลักษณะหรือรูปแบบการประพันธ์ของแต่ละเล่มแล้ว มันไม่เหมือนกันสักเรื่อง…”

    ยูจีน โอเนกิน ของ อเล็กซานเดอร์ พุชกิ้น เป็นกวีนิพนธ์เรื่องยาว

    เดอะ ครอยท์เซอร์ โซนาตา ของ ลีโอ ตอลสตอย เป็นนวนิยายขนาดสั้น (Novella)

    เดอะ สโนว์เมเด้น ของ อเล็กซานเดอร์ ออสทรอฟสกี้ เป็นบทละคร

    อีเวนนิ่งส์ ออน อะ ฟาร์ม เนียร์ ดิกันกา ของ นิโคไล กอกอล เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น

    “ผู้หมวดหาได้ไวจังค่ะ” สไตลิสต์สาวออกปากชม ชะโงกหน้าไปอ่านตัวหนังสือหวัด ๆ ที่ดูเหมือนคนเขียนจะอ่านออกอยู่คนเดียว “ไวพอ ๆ กับบรรณารักษ์อย่างแพมเลย”

    “มีข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือของนักเขียนรัสเซียยุคนี้เยอะน่ะครับ เลยหาได้ไว เวลาอ่านก็ขี้โกงหน่อย อ่านเฉพาะหัวข้อกับประโยคแรก หรือพิมพ์ กด Control F ใส่คำที่ต้องการหาลงไปว่ามีไหม จะได้ประหยัดเวลาอ่านอีกนิด” ชายหนุ่มว่า คลิกไปที่หัวข้อรายชื่องานคีตนิพนธ์ของไชคอฟสกี้ กวาดสายตาไล่อ่านอยู่ครู่ใหญ่

    “ที่ ดร. เจติยะท่านแนบบทความนั้นมาให้ด้วยไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเท่าที่ฟังจากที่คุณแพมเล่าถึงความเห็นเรื่องนิตยสารของท่าน ผมคิดว่าท่านเป็นคนไม่ชอบสิ่งที่เปล่าประโยชน์ และเท่าที่ผมจำได้ ท่านเป็นนักวิจารณ์ที่ให้ความสำคัญกับการตีความดนตรีโดยใช้ภูมิหลังของผู้ประพันธ์และที่มาของเพลงเป็นพื้นฐาน..” เขาพูดโดยไม่ละสายตาจากหน้าเว็บ “หนังสือพวกนี้เกี่ยวข้องกับไชคอฟสกี้จริง ๆ ... คุณแพมคิดถูกแล้ว”

    เธอมองตามปลายปากกาที่เขาใช้ชี้ไล่ลงมาตามชื่อโอเปราแต่ละเรื่อง “ผู้หมวดคิดว่าเป็นเล่มไหนคะ”

    “เป็นเล่มที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับรูปแบบดนตรีเล่มเดียวในบรรดาสี่เล่ม เป็นเล่มที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับไชคอฟสกี้ และชื่อเรื่องของเล่มก็เป็นรูปแบบการประพันธ์ดนตรีที่ต่างจากรูปแบบการประพันธ์ที่ไชคอฟสกี้ใช้กับเรื่องอื่น ๆ อย่างชัดเจน” นายตำรวจหนุ่มยืดตัวขึ้นนั่งหลังตรง หมุนเก้าอี้จากโต๊ะทำงานออกมาหาผู้มาเยือนซึ่งนำปริศนาชวนสงสัยในพินัยกรรมมาหาตนถึงที่ “คุณแพม คุณมิ้งค์อยากลองทายดูเองไหมครับ”

    มิ่งมาลีเลิกคิ้วน้อย ๆ ก่อนหัวเราะชอบใจ แล้วส่ายหน้าปฏิเสธทันที พร้อมพยักพเยิดไปที่แพมาลาว่ายกให้อีกฝ่ายตอบ แฝดพี่ของเธอขยับปากจะตอบ หากต่อมากลับฉุกใจได้

    “ถ้าใครตอบก่อน ก็หมายความว่าคนนั้นเป็นคนได้มรดกไปทั้งหมดน่ะสิคะ” เธอว่าสีหน้าตื่น ๆ ที่เพิ่งรู้ตัวว่าเกือบหลงกลเขา “ผู้หมวดเฉลยให้เราฟังพร้อมกันเถอะค่ะ…”

    ประณตไม่ได้ตอบคำถามหญิงสาวทั้งสอง ทว่าเลือกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งจากบรรดาสี่เล่มบนโต๊ะยื่นให้ชลทิชารับไปแทน เธอเหลือบตาลงมองหนังสือภาษาอังกฤษในมืออยู่ชั่วอึดใจ เงยหน้าขึ้นมองอีกฝ่ายเป็นเชิงถามว่าให้เธออ่านชื่อของหนังสือเล่มดังกล่าวใช่หรือไม่ และได้รับคำตอบจากเขาเป็นการพยักหน้า

    “เดอะ ครอยท์เซอร์ โซนาตา ของตอลสตอยค่ะ”


    (มีต่อนะคะ)



    --------------------------------------------------------------------------------------------------  
    * OPAC – Open Public Access Catalogs ระบบสืบค้นข้อมูลออนไลน์ของห้องสมุด

    จากคุณ : ปิยะรักษ์ - [ 12 มิ.ย. 52 02:39:59 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com