Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จระเข้ -- เรื่องมายาแห่งป่าเขาใหญ่  

ยืม log in  ของเพื่อนมาครับ
มาตั้งกระทู้เป็นครั้งแรก อยากให้วิจารณ์ แนะนำ นิชมให้หน่อยครับ

อาจจะยาวไปซักหน่อย ^^
----------------------------------------------

  เป็นเรื่องน่าดีใจในช่วงนี้ ที่มีคนสนใจเรื่องราวของสัตว์ป่า ไม่ว่าคุณจะติดตามข่าวหรือไม่ก็ตาม ผมเชื่อว่า หลายท่านคงได้ยินหรือไม่ก็ผ่านตาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตามหน้าจอโทรทัศน์ ที่มี ข่าวความว่า “จระเข้โผล่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งทีมเฉพาะกิจตามจับตัวจระเข้ ฯลฯ กันบ้างแล้ว”
     ใช่ครับ -- มีการพบจระเข้ ตามที่ข่าวรายงานจริงๆ มีจำนวน 2 ตัว อายุอยู่ที่ประมาณ 5 ปี พบบริเวณดงต้นบอนและลำน้ำบริเวณเส้นทางน้ำตกผากล้วยไม้ถึงน้ำตกเหวสุวัติ ใครที่เคยไปเขาใหญ่ แล้วเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นน้ำตกผากล้วยไม้ คงพอนึกภาพออกถึงสภาพพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งเป็นเส้นทางเลียบลำน้ำไปโดยตลอด
       ในช่วงหลังนี้เอง ที่บางคนอาจเจอเข้ากับจระเข้นอนผึ่งแดด หรือลอยตัวอยู่ในบริเวณนั้น ไม่ใช่ว่า เพิ่งมีคนพบแล้วจึงเป็นข่าวอึกทึกอย่างในขณะนี้ แต่หากใครเป็นนักท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ คงพอได้เห็นกันบ้างแล้ว กับรูปภาพตามเวปไซด์ต่างๆ ที่เพื่อนนักท่องเที่ยวนำมาโพสต์กันเป็นระยะ อีกทั้งตามบทความนิตยสารท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่แนะนำการท่องเที่ยวเขาใหญ่ มักปรากฏภาพจระเข้ ‘ปริศนา’ พวกนี้
        ที่กล่าวว่า ปริศนาก็เพราะว่า มีคนทราบมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนใจด้านธรรมชาติว่า มีจระเข้อาศัยอยู่ในป่าเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา แต่ที่เป็นปริศนา ไม่มีใครทราบว่า จระเข้นั้น เป็นจระเข้ที่เกิดในธรรมชาติเองแต่ดั้งเดิม หรือมีผู้ใดนำเอามาปล่อยหรือไม่ หลายคนอาจงงกับความสงสัยของคนกลุ่มนี้ -- ก็จระเข้ธรรมชาติสิว่ะ จะสงสัยไปทำไม ก็มันอยู่ในป่าขนาดนี้
         แท้จริงแล้วที่เป็นเหตุให้สงสัยก็คือ จระเข้น้ำจืด สายพันธุ์ไทย ที่หลงเหลืออยู่ในธรรมชาตินั้น มีประชากรน้อยเหลือเกิน เท่าที่มีรายงานและการสำรวจพบ ไม่รวมที่ป่าเขาใหญ่นี้ มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นในประเทศไทย คือมีที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณต้นน้ำเพชรบุรีในป่า ซึ่งมีการสำรวจล่าสุด พบไข่จระเข้ที่จระเข้วางไว้ด้วย หมายความว่า มีประชากรจระเข้ในระดับหนึ่ง แล้วมีที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ. สระแก้ว แต่ยังไม่ทราบประชากรที่แน่ชัด แล้วที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา มีเพียงตัวเดียว และที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่คลองชมพู ด้วยหลงเหลืออยู่น้อย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อมีการพบจระเข้ในป่าธรรมชาติ
       แต่ที่สำหรับป่าเขาใหญ่ที่เป็นข้อสงสัย ก็คือ หากมันมีอยู่ในธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไร ทำไมไม่มีใครพบใครเห็นมาก่อนหน้านี้ ทำไมเพิ่งมาพบเจอ ทั้งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็เป็นอุทยานแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดเกือบสี่สิบกว่าปีมาแล้ว อีกทั้งด้วยความรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีข่าวสาร ภาพจระเข้เขาใหญ่ได้เผยแผ่ไปทั่วในโลกอินเตอร์เน็ต และด้วยความที่ป่าเขาใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงมีการ ‘ระแวง’ ถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพราะบริเวณที่พบจระเข้นั้น เป็นบริเวณที่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่าน ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน อย่างที่เป็นข่าวดัง ไม่ต่างกับกันการ ‘ตีปี้บ’ กันอยู่ในช่วงนี้
         ตามที่ข่าวรายงาน ความเป็นไป คือ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงกับเดินทางไปดูตัวตนเอง และสั่งการตั้งทีม ฉก. (“เฉพาะกิจ” นะครับ ตอนแรก ผมนึกว่า “ทีมฉุกเฉินกันจัง” เพราะ แค่ไข่ปริศนาที่พบ ริมน้ำ ก็น่าจะระบุได้แล้ว ว่าเป็นไข่จระเข้หรือไม่ ถ้าทีม ‘รู้จัก’ จระเข้มากกว่านี้) รวมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เอง ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ถึงกับล่องเรือสำรวจกันให้ขวัก
         แล้วที่ทำล่วงหน้าไปก่อนนั้นแล้ว ก็คือ การติดป้ายจำนวนเกือบสิบป้ายเพื่อเตือน ให้นักท่องเที่ยว ‘ระวัง’ จระเข้ ด้วยความคิดเห็น มันหยาบไปไหม ในการกระทำอย่างนั้น เพราะมองอีกมุม นอกจากการเตือนไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย มันกลายเป็นทำให้จระเข้ที่พบกลายเป็น ‘สัตว์ร้าย’ อย่างไม่ต้องสงสัย เราไม่เถียงว่า ภาพของจระเข้ กลายเป็นสัตว์ร้ายมานานแล้ว แต่แทนที่เราจะมาสร้างทำความเข้าใจกันใหม่ หรือลบล้างความเชื่อนั้น เพราะแท้จริง ไม่ว่า สัตว์ป่าชนิดใดก็ตาม ไม่ได้เกิดมาเพื่อกิน ‘คน’ (ซึ่งน่ากลัวมากที่สุด ในเรื่องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อนร่วมโลก) พวกมันเหล่านั้น ย่อมมีหน้าที่ตามธรรมชาติอย่างชัดเจน—จระเข้ ย่อมมีหน้าที่ควบคุมปริมาณสัตว์น้ำและสัตว์ที่เป็นอาหารของมัน ให้มีปริมาณที่พอเหมาะ อย่างไม่ต้องสงสัย
          เรื่องราวเหล่านี้ มันทำให้ผมนึกถึงว่า มันไม่ต่างกันกับ เราพบเสือหลุดเพ่นพ่านในหมู่บ้านผู้คน หรือพบจระเข้ลอยคอ ตามแม่น้ำเจ้าพระยา ยังไงยังงั้น เรามองว่า เป็นอันตรายไปเสียหมด แต่นี้ มันในป่าธรรมชาติ จะ ‘พันธุ์ไทยแท้’ หรือ ‘พันธุ์ทาง’ ก็ตาม มันย่อมไม่สลักสำคัญ เท่ากับเราต้องไม่ชี้นำ ให้กับสังคม เชื่อในสิ่งที่ไม่จริงมากเข้าไปอีก
          นั่นคือ ประเด็นแรก ส่วนประเด็นในเรื่องถัดมา คือทีมเฉพาะกิจ ได้เฝ้าติดตามพฤติกรรม ของจระเข้ทั้งสองตัว และมีการวางแผนที่จะทำการจับจระเข้ดังกล่าว มาทำการพิสูจน์ดีเอ็นเอ เพื่อจะทราบว่า เป็นจระเข้พันธุ์ไทยแท้ หรือไม่ ตามข่าวรายงาน ถ้าไม่ใช่คงจับออกไว้ที่อื่น (อ่านถึงตรงนี้ แล้วอึ้งครับ—จะเอามันไปไว้ที่ไหน คิดไม่ออก ถึงมันไม่ใช่พันธุ์แท้ แต่มันก็มีชีวิตรอด เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศลำน้ำนี้แล้วไม่ใช่หรือ สำคัญแค่ไหนกัน ไม่ว่า จระเข้ปล่อยหรือจระเข้แท้ เพราะมันก็อยู่รอด มีหน้าที่ตามธรรมชาติแล้วนี่)
           แต่จนบัดนี้ ทางทีมงาน ก็ยังไม่ได้ทำตามที่กล่าวไว้ จากการสอบถามและพูดคุยกับบุคลากร อาจารย์ที่สอนด้านสัตว์ป่า และอาจารย์ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของผม ได้ความว่า ทั้งหลายต่างรู้ดีว่า จระเข้ที่พบที่เขาใหญ่นั้น เป็นจระเข้ที่มีคนนำมาปล่อยอย่างแน่นอน ด้วยบุคลากรท่านหนึ่ง กล่าวได้ความว่า “จากการเดินป่าเขาใหญ่มานาน ป่าเขาใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณที่พบจระเข้ ในปัจจุปัน ว่ากันจริง ตามธรรมชาติ ไม่มีทาง มีจระเข้อย่างแน่นอน เพราะแหล่งที่จระเข้ อาศัยต้องเป็นแหล่งน้ำนิ่ง เป็นวังน้ำ มีหาดหรือตลิ่งให้วางไข่ ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพที่พบจระเข้ของป่าเขาใหญ่ เพราะเป็นแหล่งน้ำไหล ไม่มีวังน้ำ”  
        อีกทั้งอาจารย์บางท่าน ยังกล่าวว่า ในหลายปีก่อน ก็มีการจัดโครงการ ปล่อยจระเข้คืนสู่แหล่งธรรมชาติที่เขาใหญ่ นี้ ซึ่งเป็นโครงการของกรมฯ เอง แล้วมีรายงานการปล่อย ชัดเจน ซึ่งตรงกับข่าวในช่วงหลังที่ ทางอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ออกมากล่าวว่า “จระเข้ที่พบนั้น น่าจะเป็น จระเข้ปล่อย” เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว การจับตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ คงไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำอีกต่อไปแล้ว
            สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ ในความคิดเห็น ผมมองว่า สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ยุติการไล่จับทั้งหลายแหล่นั้นเสียก่อน แล้วเรามาตั้งทีม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจใน ‘ชีวิตของจระเข้’ แล้วติดตามหรือทำการวิจัยในเรื่องพฤติกรรมการกินการอยู่ของมัน ให้เราทราบในข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งในประเทศไทยเรา ไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชีวิตจระเข้ในธรรมชาติเลย ทั้งนี้ ยังเป็นเรื่องง่าย (ง่ายกว่าป่าอื่นๆ ที่มีจระเข้อาศัยอยู่ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งนานๆ จะพบตัวในธรรมชาติสักครั้ง) ในเรื่องการติดตาม ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ จะมีประโยชน์ต่อความอยู่รอดของพวกมันในอนาคต
         อีกสิ่งที่น่าคิด ก็คือ เมื่อไม่ใช่พันธุ์แท้ แล้วการคงอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น มีผลกระทบอย่างไร อาหารที่มันกินเข้าไป เป็นชนิดพันธุ์ประจำถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไม่  เรื่องนี้ คำตอบอยู่ที่การศึกษาวิจัยต่อไป เพราะในเรื่องของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alians species) ที่แปลกปลอมไปจากสัตว์ในป่าธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิมแล้ว อาจส่งผลกระทบหรือไปเบียดเบียนแก่งแย่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ของสัตว์ดั้งเดิมก็ได้ ยิ่งในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เอง ที่เป็นมรดกทางธรรมชาติ เรื่องนี้ ยิ่งน่าเฝ้ามอง เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีคนพบอีกัวน่า กิ้งก่ายักษ์ ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่น ที่มีคนเอามาปล่อยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นี้แล้ว
          ส่วนในเรื่องของนักท่องเที่ยว สำหรับ บ้านเมืองเรา ที่จระเข้ถูกมองว่า เป็นสัตว์ร้าย ผมเสนอให้ ปิดเส้นทางดังกล่าวเสีย เปิดอนุญาตเฉพาะผู้ที่สนใจจริงๆ โดยที่เราต้องไม่ลืมถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของพวกมันด้วย ส่วนเรื่องทำเป็นที่ซุ้มดูพฤติกรรม หรืออย่างไร มากไปกว่านี้ ในความคิด เชื่อว่า กระทรวงหรือกรม ที่รับผิดชอบ น่าจะ ‘คิดได้’ บ้าง
         การพบเจอจระเข้บนป่าเขาใหญ่ ในครั้งนี้ คงฝากแง่มุม ‘อะไร’ ไว้บ้างกับสังคมไทย โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้โดยตรง เพราะ เราคงต้องยั้งคิด มากกว่าการ ‘ตื่นตูม’ ไปตามการประโคมข่าว เพราะสุดท้าย เราอาจต้องเสียงบประมาณลงไปกับการจับจระเข้ ตรวจดีเอ็นเอ และขนย้าย ไม่ใช่น้อย โดยที่บางครั้ง ชีวิตของสัตว์ป่าไทย อาจไม่ได้มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิมเลย

-อุเทน ภุมรินทร์-

แก้ไขเมื่อ 12 ก.ย. 52 23:12:13

จากคุณ : เด็กหญิงมะเดี่ยว
เขียนเมื่อ : 12 ก.ย. 52 23:10:12




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com