Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ดูดาวตกพร้อมใครในเดือนนี้ บทกวีนี้ดาวใจไม่เคยร่วง  

เช้าวันใหม่ใจยามเช้าเจ้าสงบ
หนึ่งใจพบเคียงข้างนางนกเหิน
พิสูจน์โลกช้าช้าเริงร่าเพลิน
จะเผชิญบ่วงแร้วใดไม่พรั่นเลย

อย่างน้อยแววตาคู่หนึ่งซึ้งอักษร
สัมผัสเอื้ออาทรเสพเสวย
หนาวหน้าคอมฯยอมหนาวพร่างช่างคุ้นเคย
เอื้ออาทรทุกคำเอ่ยเฉลยใจ

เหมือนตัวจริงของหัวใจอยู่ในเนต
ห้วงฝันสุดขอบเขตช่างหมาดใหม่
เห็นสีส้มสายแสงสาดวาดสายใย
ดูดาวตกภายในใจราตรี

เหมือนเด็กน้อยดูดาวพรายกระจายกระจ่าง
รู้เห็นความสว่างดวงนั้นดวงนี้
โปรยเส้นเหลืองวูบหนึ่งตรึงฤดี
แสนวลีมิอาจทาบหนึ่งภาพงาม

งามข้างในใช่หรือไม่ให้รื่นรมย์
แสงสีเหลืองสีส้มผสมอร่าม
ฝนดาวตกวูบวับดับตัวตาม
กันและกันเหมือนมาถามความไม่มี

ความรักสร้างทางเนตเท็จจริงหรือ
ความจริงคือหัวใจอยู่ในนี้
ความงามคละทุกขณะทุกวลี
ความฝันและความดีล้วนที่ใจ

เมื่อตัวจริงของหัวใจอยู่ในเนต
ห้วงฝันสุดขอบเขตฟ้ากว้างใหญ่
เห็นสีส้มสายแสงสาดวาดสายใย
ดูดาวตกพร้อมใครเล่าใจเอย


อย่างน้อยแววตาคู่หนึ่งซึ้งอักษร
สัมผัสเอื้ออาทรอย่างเปิดเผย
หนาวหน้าคอมฯยอมหนาวพร่างช่างคุ้นเคย
ทุกคำเอ่ยคลายอ้างว้างใกล้ทางเดิน


เช้าวันใหม่หัวใจเช้าเจ้าสงบ
เช้าใจพบเคียงข้างนางนกเหิน
เช้าเริงร่าให้หัวใจได้หยอกเอิน
เช้าเพลิดเพลินมีเงาเราคู่กัน

ชวนมาชมดาวตกในวันที่ ๑๘ พ.ย.นี้ และบทกวี
มีรายละเอียดมาฝากขอรับ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชิญชวนคนไทยร่วมชมปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ "ฝนดาวตกจากกลุ่มดาวสิงโต" ที่หวนกลับมาให้เห็นกันอย่างชัดเจน-จุใจอีกครั้ง 17-18 พฤศจิกายน!

         กลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลกมากบ้างน้อยบ้าง โดยปีที่มองเห็นสูงสุดต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2541 และ 2544

         ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากเศษซากหลงเหลือของ "ดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล"

         มีวงโคจรรอบ "ดวงอาทิตย์" เป็นวงรี โดยหนึ่งรอบใช้เวลา 33.2 ปี

         และทุก ๆ 33 ปี ดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้เกิดฝนดาวตกมากเป็นพิเศษ เรียกว่า "พายุฝนดาวตก" (Meteor Storm) ซึ่งการโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 และจะเข้าใกล้ครั้งต่อไปในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2556

         อย่างไรก็ตาม สำหรับเดือนนี้ นักดาราศาสตร์พยากรณ์ว่า คนไทยทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจะมีโอกาสชม ฝนดาวตกลีโอนิดส์นับร้อยดวงแบบชัด ๆ อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 17 ต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเช้า 18 พฤศจิกายน เหตุเพราะเวลาเกิดปรากฏการณ์ตรงกับ "คืนเดือนมืด" พอดิบพอดี

         โดยช่วงเวลาที่คาดว่าจะมองเห็นฝนดาวตกสูงสุด คือ เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ตกราว ๆ 150-160 ดวงต่อชั่วโมง

         ขณะที่ "เจเรอมี่ โวเบลลอน" นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ช่วงก่อนตีห้าเล็กน้อยตามเวลาประเทศไทย ถ้าโชคดีชาวโลกอาจได้เห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ร่วม ๆ 500 ดวง พุ่งสว่างวาบบนฟากฟ้า!

         "นับเป็นความโชคดีที่จะได้ชมปรากฏ การณ์ฝนดาวตกในปีนี้ เนื่องจากวันที่ 17-18 พฤศจิกายน เป็นคืนเดือนมืด ท้องฟ้าค่อนข้างมืดสนิท แต่เหตุการณ์ฝนดาวตกช่วงที่ตกมากนั้นค่อนข้างสั้น และเกิดก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น 1 ชั่วโมงเท่านั้น" ประณิตา เสพปันคำ เจ้าหน้าที่สำนักบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. ระบุ

         สำหรับสถานที่ที่เหมาะสมกับการดูฝนดาวตกลีโอนิดส์ ถ้าจะให้ดีควรเป็นจุดที่ไม่มีแสงไฟรบกวน หรือห่างจากเมืองใหญ่ไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร หันหน้าไปทางดาวเหนือ

         ส่วนการถ่ายภาพควรตั้งความไวแสง ISO 400-800 ถ้าใช้กล้องสองตาควรมีหน้าเลนส์ไม่ต่ำกว่า 50 มิลลิเมตร และกำลังขยาย 7 เท่าขึ้นไป

 
 

จากคุณ : แสงแรก ประดับดิน
เขียนเมื่อ : 11 พ.ย. 52 08:32:53




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com