 |
จริยธรรม
|
|
จริยธรรม.....มีความหมายเหมือนที่ท่านคิดหรือไม่ ?
เมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ได้รับบำนาญสำหรับเดือนมีนาคม ซึ่งโดยปกติมักจะได้รับประมาณ วันที่ ๒๔ อย่างเร็วก็วันที่ ๒๒ แต่คราวนี้เป็นเดือนที่มี ๒๘ วัน และวันที่ ๒๘ เป็นวันอาทิตย์ บำนาญจะต้องออกก่อนวันรับเงินเดือนของข้าราชการ ๕ วันทำการ จึงมาออกวันที่ ๑๙ ซึ่งเร็วผิดปกติ ในวันนั้นรับเงินจากการกด ATM แล้วก็ส่งไปช่วยงานกุศล สนับสนุนโรงเรียนสองโรงในจังหวัดกาญจนบุรี ของห้องไร้สังกัด เวปพันทิป
แล้ววันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ เป็นวันอาทิตย์ ได้ไปทำบุญบริจาคเงินเป็นค่าอาหารถวายพระภิกษุสามเณรนักศึกษา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ตามวงรอบ ได้หนังสือ พุทธจักร ประจำเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ มาเล่มหนึ่ง เปิดอ่านดูเห็นมีเรื่องที่น่าสนใจ คือ คุณธรรม จริยธรรม :นามธรรมที่ยังร่วมสมัย ของ วิเชียร เส้นทอง มีความตอนหนึ่งว่า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงสภาพคุณงามความดี ส่วนคำว่า จริยธรรม ให้ความหมายว่า ธรรมที่ที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้นิยามว่า คุณธรรม คือ ธรรมที่เป็นคุณงามความดี สภาพที่เกื้อกูล ส่วนคำว่า จริยธรรม มาจากคำว่า พรหมจรรย์ ซึ่งในพระพุทธศาสนาหมายถึง มรรค คือ วิธีการปฏิบัติสายกลาง ประกอบด้วยองค์ประกอบสี่ประการ บางครั้งก็เรียกว่า ไตรสิกขา คือการศึกษา ๓ ประการ อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น จริยธรรม หรือพรหมจรรย์ หรือมรรค และ ไตรสิกขา ทั้งหมดนี้เป็นทางปฏิบัติเพื่อนำมนุษย์ ไปสู่จุดหมายในชีวิต
พุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า จริยธรรม แปลว่า เป็นสิ่งที่พึงประพฤติ จะต้องประพฤติ ส่วนศีลธรรมนั้นหมายถึง สิ่งที่ยังประพฤติอยู่ หรือประพฤติแล้ว จริยธรรม หรือ ethics อยู่ในรูปของปรัชญา คือ สิ่งที่ต้องคิดต้องนึก ส่วนเรื่องศีลธรรม หรือ morality นี้ต้องทำอยู่จริง ๆ เพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า
ระวี ภาวิไล ให้ความหมายว่า จริยธรรม เป็นหลักกำหนดว่า ตนมุ่งอะไรในโลก และพึงปฏิบัติอย่างไร จึงแบ่งจริยธรรมออกเป็น ๓ ข้อ คือ ๑)รู้จักโลก ๒) รู้จักทุกข์ รู้จักชีวิต ๓) รู้จักทุกข์ในชีวิต
วิทย์ วิศทเวทย์ อธิบายว่า จริยธรรม คือ ควมประพฤติตามค่านิยมที่พึงประสงค์ โดยใช้วิชาจริยศาสตร์ ศึกษาพฤติกรรมด้านคุณค่า สามารถวิเคราะห์ค่านิยมที่เป็นคู่กัน (dichotomy) สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดดีควรกระทำ และสิ่งใดควรละเว้น
สาโรช บัวศรี กล่าวว่า จริยธรรมคือ หลักความประพฤติที่อบรมกิริยา และปลูกฝังลักษณะนิสัย ให้อยู่ในครรลองของคุณธรรม หรือศีลธรรม
กล่าวโดยสรุป นักวิชาการส่วนใหญ่เหล่านี้ ลงความเห็นว่า จริยธรรม คือ หลักการที่มนุษย์ในสังคมยึดถือปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคมนั่นเอง
คัดเอามาเพียงแค่นี้ พอให้รู้ว่าจริยธรรม ที่พูดถึงกันมาตลอดเวลานั้น คืออะไรเท่านั้น ส่วนใครจะมีจริยธรรมสูงส่งหรือน้อยนิดเพียงใด เราไม่ใช่ผู้ตัดสิน ปล่อยให้สังคมตัดสินกันเองดีกว่า ซึ่งน่าจะเข้ากับธรรมะหลังปกของหนังสือฉบับเดียวกันนี้ ที่มีข้อความว่า
อนุปุพฺเพน เมธาวี โถกํ โถกํ ขเณ ขเณ กมฺมาโร รชตสุเสว นิทฺธเม มลมตฺตโน.
Gradually, little by little, From time to time, let the wise Remove his own impurities, As a smith removes dross.
ผู้มีปัญญาพึงขจัดมลทินของตน ทีละน้อย ๆ ทุก ๆ ขณะ ตามลำดับ เหมือนช่างเงินช่างทอง ไล่ขจัดขี้เงินขี้ทองออกฉะนั้น.
###############
จากคุณ |
:
เจียวต้าย
|
เขียนเมื่อ |
:
23 มี.ค. 53 07:48:25
|
|
|
|  |