ดูหมอหงวน หวลรำลึกถึงตึกสันท์
|
|
กระทู้ต่อเนื่องจากละคร หมอหงวน..แสงดาวแห่งศรัทธา ในละครฉากแรกๆได้เอ่ยอ้างถึงตึกกิจกรรมสมัยที่นักศึกษามหิดลยุคนั้น ใช้เป็นสถานที่ทำงาน หลบมุมมาสังสรรค์สนทนา นั่นก็คือ ตึกสันทนาการ หรือที่พวกเราเรียกสั้นๆว่า "ตึกสันท์"
อันว่าตึกสันท์นี้อยู่ที่ไหนหรือ ก็ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ถนนพญาไท รั้วเดียวกับโรงพยาบาลรามาธิบดีนั่นแหละ เป็นตึกสองชั้น ไม่ใหญ่โตมากมาย แต่ละชั้นซอยเป็นห้องเล็กๆสำหรับชมรมต่างๆ รวมทั้งเป็นทำการของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยด้วย ทุกคนสนิทสนมรู้จักกันหมด รุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก เพราะมีกิจกรรมที่ต้องร่วมหัวจมท้ายกันบ่อยมาก ไม่ว่าเป็นการประชุมในวาระพิเศษต่างๆ การขอยืมอุปกรณ์และแรงงานคนจัดกิจกรรม การรวมพลคนกวนกาวสำหรับแปะโปสเตอร์ยามค่ำคืน ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความสนิทสนมมากขึ้น เพราะทุกคนจะต้องเวียนแยกสายไปแปะโปสเตอร์ ณ ชุมชนต่างๆ เวลาไป ต้องไปเป็นทีม เพื่อความปลอดภัย หลังเสร็จสิ้นภาระกิจ หากไม่ดึกเกินไปสมาชิกก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
จำได้ว่า รั้วด้านหน้าของคณะวิทยาศาสตร์มีซี่กรงที่กว้างมาก อ้วนเบอะขนาดไหนก็สามารถลอดข้ามได้ ปัจจุบันนั่งรถผ่านเห็นแวบๆ ซี่รั้วรู้สึกเล็กลง คงมีการเปลี่ยนขนาดให้ดูปลอดภัยมิดชิดมากขึ้น
กลางดึกที่ตึกสันท์ หากยังไม่ง่วงเหงาหาวนอน มานั่งที่สนามหญ้าด้านนอก จะรู้สึกถึงสายลมเย็นสบาย บางอารมณ์ที่สุนทรีก็เกากีตาร์ ร้องเพลงร่วมกัน ...พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล... แค่วรรคทองของเพลงนี้ดังขึ้นก็มีพลังพอที่จะเรียกเพื่อนๆทั้งหลาย ที่เหนื่อยล้าจากตำราเรียนและกิจกรรม มาร่วมวงขับกล่อม สลับกับเสียงรถไฟนอกรั้วด้านหลัง วิ่งแทบทุกสิบห้านาที ..เสียอารมณ์จังโว้ย...ต้องตะเบ็งเสียงแข่งดังขึ้นอีก แต่ถึงตอนนี้กลับนั่งคิดถึงเสียงรถไฟเสียนี่
นั่งล้อมวงสักพัก กำลังจะสับปะหงก ก็ได้ยินเสียงเจ้าพ่อเจ้าแม่ตึกสันท์(คนจริงๆ) ตะโกนโหวกเหวกปลุกให้ตื่น ไล่กลับบ้าน ถ้ายังกลับได้ หรือไล่ให้ไปนอน ถ้าหมดสภาพจริงๆ
จากหนังสือ "ปูมประวัติศาสตร์ มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาคที่ 2 ประสานประชาชน อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์. หน้าที่ 155 บอกเล่าเก้าสิบถึงบรรดาเหล่าเจ้าพ่อ เจ้าแม่แห่งตึกสันท์ อย่างเห็นภาพกระจ่างในความทรงจำดีทีเดียว
"นอกจากห้องชมรมต่างๆของตึกสันทนาการ จะเป็นที่ซุกหัวนอนของนักกิจกรรมทั้งหลายแล้ว ห้องเรียนไบโอ ตึกปรีคลีนิก ตลอดจนหอพักนักศึกษาพยาบาล และหอพักนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ก็เป็นที่พักพิงยามจำเป็นได้เป็นอย่างดี
ในท่ามกลางความเป็นไปดังกล่าว ตึกสันทนาการมีผู้ที่ทำหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อยทั่วไป ทั้งยังเป็น"พี่ใหญ่"ที่คอยเป็นที่ปรึกษาในแทบทุกเรื่องให้เพื่อนๆและน้องๆ จนได้สมญาว่าเป็น"เจ้าพ่อตึกสันท์" ซึ่งคือ "ชัยธวัช ยืนยง"หรือ"จุ๊ย" (เสียชีวิตแล้วระหว่างการต่อสู้ในเขตป่าเขา) ด้วยบุคลิกอบอุ่น สุขุมลุ่มลึกและมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างยิ่งของเขา ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รักของเพื่อนๆและน้องๆ แม้กระทั่งยามและแม่บ้านของมหาวิทยาลัย
ส่วนเจ้าของสมญา "เจ้าแม่ตึกสันท์" อย่างแพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ ซึ่งคอยดูแลความเรียบร้อยทั่วไปประสานกับชัยธวัช
มองย้อนกลับไปช่วงนั้นนั้นอาจถือได้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยมหิดลมีความใจกว้าง ที่ยอมให้ใช้ตึกสันทนาการเป็นที่รวมพลของฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น
ชีวิตในตึกสันทนาการมีรสชาติมากทีเดียว จากการที่ได้อยู่ร่วมกันทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลางและรุ่นเล็กๆ อย่างน้องๆศูนย์นักเรียนที่มาช่วยสร้างสีสันให้รุ่นพี่ๆอย่างมาก โดยเฉพาะในการรวมพลไปติดโปสเตอร์ในช่วงกลางคืน โดยไม่ได้หลับไม่ใด้นอน คนที่ไปตึกสันท์บ่อยๆคงจำเสียงดิฉันได้ดี (พญ.จันทร์เพ็ญ) เพราะเป็นพวกชอบว๊ากจนหลายคนไม่ชอบหน้า แต่ในท่ามกลางกิตติศัพท์ว่าดุ ดิฉันก็คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกคน ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดลยุคแรก
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแล้วก็ตาม แต่เธอก็ยังคงรู้สึกผูกพันและขอบคุณตึกสันทนาการ เพราะถือว่าเป็นสถานที่ที่ช่วยหล่อหลอม ให้นักกิจกรรมยุคนั้นมีวิธีมองโลก และเข้าใจโลกได้มากกว่ายุคสมัยใดๆ
และจนถึงทุกวันนี้ สมาชิกของตึกสันท์ส่วนใหญ่ ก็ยังคงพยายามทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมตามภาระ หน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ต่างก็ยังพยายามรักษาอุดมคติอันดีงาม ที่ได้ช่วยกันปลูกฝังไว้ภายใต้บรรยากาศของการใช้ชีวิตร่วมกันดังกล่าว"
วันนี้ ไม่มีตึกสันท์แล้ว เพราะถูกรื้อถอนออกไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างใหม่ ถ้ามีโอกาสเดินกลับเข้าไป กวาดสายตามองโดยรอบ คงอดไม่ได้ที่จะเห็นภาพชุลมุนของเหล่าคนหนุ่มสาว ขมีขมันกวนกาวข้างๆตึก พร้อมกองโปสเตอร์ซิิลค์สกรีนปึกเบ้อเร่อ ที่พร้อมจะเอาไปติดคืนนี้
ตึกสันท์ อีกหนึ่งตึกในเสี้ยวประวัติศาสตร์ของความทรงจำคนกิจกรรม (ที่ไม่จำเป็นต้องเดือนตุลา)
จากคุณ |
:
กูรูขอบสนาม
|
เขียนเมื่อ |
:
31 มี.ค. 53 21:18:59
|
|
|
|