ผมจะเป็นพระที่ดี ตอน วิถีแห่งพระป่า
|
|
ตอนที่ 8 วิถีแห่งพระป่า 1 : กิจวัตรพระป่า =============================
สามวันมาแล้วที่ผมได้มาอาศัยพำนักพักพิงที่วัดป่าแห่งนี้
ก็พอเริ่มที่จะคุ้นชินกับวิถีแบบนี้ขึ้นมาบ้าง แม้จะยังเป็นแค่พระป่าฝึกหัด แต่ผมก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด กิจวัตรของพระที่นี่จะเริ่มตั้งแต่เสียงระฆังแรกตอนตีสาม เหมือนเป็นสัญญาณปลุกให้ลุกมาทำธุระส่วนตัวก่อนจะเข้าทำวัตรเช้าตอนตีสี่ ผมตื่นแล้วก็รีบไปแปรงฟันล้างหน้า แล้วครองจีวร (ต้องเอาผ้าสังฆาฏิติดตัวไปด้วย เพราะตามวินัยสงฆ์ ท่านไม่ให้อยู่ห่างไตรจีวรก่อนพระอาทิตย์ขึ้น) และบาตร เพื่อขึ้นไปสวดมนตร์ทำวัตรเช้า ไปถึงโบสถ์ก็ราวๆตีสามครึ่งกว่าๆ ผมก็จะนั่งสมาธิรอจนถึงตีสี่(ซึ่งบางครั้งก็เผลองีบหลับเพราะความง่วง ) ครั้นเมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาตีสี่ครั้ง ผมก็จะลืมตา(ตื่น)ขึ้น แล้วเตรียมตัวสวดมนตร์ สำหรับการสวดมนตร์ที่นี่นั้น จะเป็นการสวดแบบแปล คือสวดบาลีทีละประโยคแล้วก็สวดแปลไทยตาม จึงค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะสวดจบ แต่ก็ดีที่จะได้เข้าใจความหมายของบทสวด ซึ่งการสวดนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 45 นาที แล้วจึงนั่งสมาธิต่อ หลังจากทำวัตรเช้าเสร็จสิ้น ก็จะมีพระบางรูปอยู่ทำความสะอาดโบสถ์ ส่วนที่เหลือก็จะเอาบาตรไปวางไว้ที่ศาลาการเปรียญ จากนั้นก็แยกย้ายกันทำความสะอาดบริเวณนั้นพร้อมทั้งจัดอาสนะให้พร้อม โดยจะใช้จีวรและสังฆาฏิพาดบ่าไว้แล้วใช้ผ้าประคดอกรัดไว้อีกที ทั้งนี้เพื่อให้ทำงานได้คล่องตัว โดยที่มีผ้าสามชิ้น(สบง จีวร สังฆาฏิ)อยู่กับตัวถูกต้องตามพระวินัย
ใครเสร็จก่อนก็จะมาช่วยกันเอาน้ำกรอกบาตรและถอดฐานรองบาตรออกเตรียมพร้อมสำหรับการบิณทบาต ก่อนจะออกบิณฑบาต พระจะครองจีวรแบบห่มคลุมเตรียมไว้ แล้วรอให้พระอาทิตย์ขึ้น หรือ มีแสงพอที่จะสามารถเห็นลายบนฝ่ามือตัวเองได้ (หรือสามารถมองเห็นสีเขียวของใบไม้บนต้น) จึงจะสามารถออกบิณฑบาตได้ (ซึ่งในส่วนของการบิณฑบาตนี้ ผมขออนุญาตแยกออกไปเล่าเป็นอีกตอนนึงแล้วกันนะครับ) พอบิณฑบาตเสร็จก็จะเป็นเวลาประมาณเจ็ดโมงกว่าๆ
กลับมาถึงวัด ก็จะเอาของที่ได้มารวมกันและเอาไปวางไว้ที่โต๊ะเพื่อให้โยมยกประเคนอีกทีหนึ่ง จากนั้นเราก็จะกรอกน้ำ ล้างบาตรอีกครั้ง ถอดถลกบาตรออกและเอาไปตั้งไว้ที่อาสนะประจำที่ของพระแต่ละรูป
เสร็จแล้วก็แยกย้ายไปทำความสะอาดบริเวณวัด แล้วกลับมารับประเคนจากโยม และรอฉันจังหันพร้อมกัน ผมชักเริ่มทำเวลาได้ดีในการฉันเช้า
แม้จะได้ฉันเป็นรูปสุดท้าย แต่ก็สามารถพลิกกลับขึ้นมาเสร็จเป็นรูปแรกๆ เนื่องจากผมพยายามตักให้น้อยลง ฉันให้เร็วขึ้นหน่อย และพยายามไม่ฉันน้ำ(จะได้ไม่อืด)
ก็ไม่ได้อยากจะแข่งกับใครเค้าหรอก แต่อยากจะได้มีโอกาสอุปถัมภ์อุปัฏฐากครูบาอาจารย์กับเค้าบ้าง
ซึ่งวันนั้นผมก็ได้ทำสมใจ (อาจจะทะเล่อทะล่าไปบ้าง แต่ก็สำเร็จได้ด้วยดีครับ) ^^ หลังจากฉันเสร็จ ก็จะไปล้างบาตรกันโดยพร้อมเพรียง (รวมไปถึงบาตรครูบาอาจารย์ด้วย)
..จากนั้นก็จะไปนั่งเช็ดบาตรกันต่อที่เพิงไม้ ขณะผมกำลังเช็ดบาตรอยู่
ครูบาชัยก็บอกว่าวันนี้จะให้ผมย้ายไปอยู่กุฏิ เดี๋ยวจะพาไปดูและเอากุญแจไปไขเปิดให้ ผมบอกท่านว่า ไม่เป็นไรหรอกครูบา ผมนอนใต้โบสถ์ก็ได้ แต่ครูบาชัยท่านบอกว่าให้ไปอยู่กุฏิน่ะแหละดีแล้ว มาอยู่วัดป่าทั้งทีควรอยู่ห่างไกลความสบาย เมื่อได้รู้จักความลำบากจึงจะปฏิบัติธรรมได้ดี ..ผมก็เลยยินยอม(ความจริงผมไม่ได้กลัวลำบากหรอก แต่รู้สึกเกรงใจมากกว่า) หลังเช็ดบาตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครูบาชัยก็นำผมไปยังกุฏิที่ว่า
เดินลัดเลาะไปตามทางเดินราวป่า ไม่นานนักก็ถึง กุฏิหลังนั้นเป็นเรือนไม้ใต้ถุนเตี้ย กว้างและยาวประมาณ 2 เมตรเศษๆ ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไปนักสำหรับอาศัยคนเดียว ด้านหน้ามีชานพักเล็กๆเอาไว้นั่งพักได้ มีหลังคายกสูงมุงด้วยจาก
ครูบาชัยเล่าให้ฟังว่าหลังคาที่ทำด้วยจากนั้นจะทำให้ตัวบ้านเย็น เพราะมันจะไม่เก็บความร้อนในตอนกลางวัน และทำให้บ้านถ่ายเทความร้อนได้ดีในช่วงหน้าร้อน (..อย่าลืมนะครับว่า กุฏิกลางป่าไม่มีไฟฟ้า เปิดพัดลมไม่ได้ ต้องอิงธรรมชาติอย่างเดียว ) จากนั้นครูบาชัยก็เดินขึ้นชานพัก แล้วเปิดประตูเดินนำเข้าไป ภายในดูกว้างขวางกว่าที่คิดมีชั้นวางหนังสือธรรมะ โต๊ะเล็กๆหนึ่งตัว และเสื่อปูเอาไว้ข้างๆ เหนือหัวนอนขึ้นไปหน่อย มีหิ้งพระยื่นออกมาจากผนัง
มีหน้าต่างด้านข้างอยู่ฝั่งละสองบาน เมื่อเปิดออกไปก็จะมีมุ้งลวดอยู่อีกชั้น ซึ่งก็มีรูโหว่เล็กๆอยู่ประปราย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกซ่อมแซมแปะสก๊อตเทปไว้แล้ว และนอกจากนั้นก็จะมีรอยปะรอยอุดอยู่ตามผนังบริเวณที่เป็นรอยแยกของไม้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าของเก่าเป็นคนพิถีพิถันพอสมควร ครูบาชัยบอกว่าเจ้าของเก่าท่านย้ายที่อื่นซักระยะ ระหว่างนี้ก็ให้ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ก่อนได้จนกว่าท่านจะกลับมา ถึงตอนนั้น ผมจะไปอยู่ไหน ค่อยว่ากันอีกที
.ท่านยังบอกด้วยว่า สาเหตุหนึ่งของการให้พระมาอยู่กุฏิ ก็เพื่อจะได้ให้ช่วยดูแลทำความสะอาดไปด้วย กุฏิจะได้ไม่ถูกทิ้งร้างจนเสื่อมโทรม เสร็จแล้วครูบาชัยก็ขอตัวไป
.ผมจัดแจงปัดกวาดทำความสะอาดกุฏิให้เข้าที่เข้าทาง เปิดหน้าต่างด้านข้างออกให้ลมผ่านเข้ามาได้ ( ที่บานหน้าต่างแต่ละบานก็จะมีเสื่อเล็กๆผูกเอาไว้ด้านบน สามารถม้วนขึ้นม้วนลงได้โดยมีเอ็นยึด เหมือนเป็นม่านกันฝนกันลมไปในตัว นับเป็นไอเดียที่เก๋ไก๋จริงๆ) กวาดพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยขี้จิ้งจก (หรือตัวอะไรก็ตามแต่) และเอาผ้าเปียกเช็ดถูในส่วนที่ฝุ่นจับเยอะ
ไม่นานนักก็ได้กุฏิก็สะอาดเอี่ยมอ่องพร้อมเข้าอยู่ทันที!! จากนั้นผมก็เดินสังเกตุรอบๆบริเวณกุฏิ
มีห้องน้ำพระสามห้องอยู่ไม่ไกลนัก ในห้องน้ำก็ท่าทางจะไม่มีไฟฟ้า สังเกตุได้จากเชิงเทียนที่มีเทียนใช้แล้วครึ่งแท่งอยู่บนชั้นวาง มีก๊อกน้ำ ฝักบัวพร้อมสรรพ ผมลองเปิดดูก็ยังไหลได้ดี(โชคยังดีที่มีน้ำนะเนี่ย) ไหนๆก็มาห้องน้ำแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยว ผมก็เลยแวะทำธุระซักหน่อย
กำลังจะนั่งลงบนส้วมหลุม จู่ๆก็มีกบตัวเล็กๆกระโดดผ่านหน้า
ผมก็ต๊กกะใจอะดิครับ ตัวสีเขียวๆไม่รู้จะมีพิษรึเปล่า ก็เลยพยายามฉีดน้ำไล่เค้าให้ออกประตูไป (ฉีดแบบไม่ให้โดนตัวน่ะครับ) กว่าจะออกก็เล่นเอาเหนื่อย
. พอทำธุระเสร็จ กำลังจะเดินออก ปรากฏเห็นเค้ารออยู่หน้าห้อง = =(ทำหน้าประมาณว่า เอ็งเสร็จยังวะ รอนานแล้วนะเฟ่ย)
เอาวะ ในเมื่อห้องนี้เค้ามีเจ้าของแล้ว คราวหลังไม่เข้าห้องนี้ก็ได้ ว่าแล้วก็เลยแวะไปดูห้องข้างๆซะหน่อย เปิดประตูเข้าไป
จ๊ะเอ๋ แมงมุมตัวบักเอ้กเกาะอยู่บนกำแพง ผมปิดประตูทันทีเลยครับ
ไปดูอีกห้องก็ได้วะ ค่อยๆเปิดประตูออกมาดู (เสียวเจอแจ๊คพ็อตอีก) อ้า!!
โล่งอก ห้องนี้ไม่มีอะไร
พอสอดส่ายสำรวจไปเรื่อย
ก็ได้เจอสมใจ ทากตัวเบ้อเร่อเกาะอยู่บนกำแพงข้างๆถังน้ำ ครับ
.ทั้งสามห้องล้วนแล้วแต่มีเจ้าของจับจองกันแล้วทั้งนั้น ไอ้ผมเองก็เป็นเพียงผู้อาศัยครับ ก็เลยต้องเจียมเนื้อเจียมตัวกันบ้าง นี่ยังไม่ใช่แค่นั้นนะครับ หากเดินไปอีกหน่อย(ก็ไกลเหมือนกันแหละ)จะเจอห้องน้ำใหญ่ที่มีทั้งห้องน้ำชายหญิงแยกฝั่งกัน ฝั่งละหลายห้อง พอเปิดเข้าไปดูก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นห้องน้ำที่ค่อนข้างดูดีมีระดับแถมสะอาดอีกด้วย
.. แต่หากท่านโชคดีเหมือนผม (ตอนเปิดห้องที่ 2) ท่านจะได้พบกับงานชุมนุมรวมญาติของตุ๊กแก ทั้งใหญ่และเล็กแบบคละไซส์
จากคุณ |
:
ซงย้ง
|
เขียนเมื่อ |
:
24 เม.ย. 53 22:43:31
|
|
|
|