 |
ความคิดเห็นที่ 92 |
โคลงห้าเป็นสุดยอดแห่งโคลง ใครควบคุมโคลงห้าได้ ก็เขียนโคลง ๒ โคลง ๓ โคลง ๔ ได้?
จากข้อสันนิษฐานของ จิตร ภูมิศักดิ์ นับได้ว่าโคลงห้า มีมาก่อนโคลงไทยชนิดอื่น และ โคลงอื่น ๆ ขยายออกไปจากโคลงห้า โดยจิตรได้เขียนไว้ว่า
โคลง เป็นรูปแบบวรรณคดีของชนชาติตระกูลไท หรือ ไต หรือ ลาว มาแต่ครั้งโบราณเก่าแก่, และจะต้องเกิดขึ้นนานก่อนหน้าสมัยศรีอยุธยา ... รูปแบบดั้งเดิมของโคลงนั้น ไม่มีสัมผัส หากสนใจจังหวะคำและระดับเสียงสูงต่ำ (เอก-โท) และก็โคลงอย่างนี้แหละที่พัฒนามาจนมีสัมผัสเล็กน้อย ขึ้นอย่างโคลงดั้นวิวิธมาลี และเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างบาทกุญชรของไทยภาคกลาง หรือ วิชชุมาลีของลาวล้านช้าง สุดท้ายก็พัฒนามาเป็นโคคลงที่มีสัมผัสเต็มที่อย่างโคลงสี่สุภาพของไทยภาคกลาง หรือที่ทางลาวล้านช้างเรียกว่า มหาสินธุมาลี ... ทางภาคเหนือของไทย ในหมู่ชาวไตโยนนั้น เขามีโคลงสี่สุภาพมาแต่โบราณ และดูเหมือนเขาจะได้พัฒนาโคลงชนิดนั้นขึ้นก่อนทางอยุธยาก็เป็นได้ เพราะในสมัยอยุธยา กวีของไทยอยุธยาก็ได้นำเอา โคลงนิราสหริภุญชัย ของไทยเหนือ มาแปลงออก เป็นโคลงสำนวนไทย, ซึ่งผู้แปลง ก็ได้รับสารภาพไว้ชัดเจนว่า :
เปลี่ยนแปลงร่างรื้อยาก โคลงลาว นี้แฮ [หน้า ๒๙๘ - ๒๙๙] ... ในโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ก็มีโคลงอยู่บทหนึ่ง (และก็บทเดียวเท่านั้น) ที่มีคำเพิ่มหน้าครบหมดทั้ง ๔ บาท คือ
สมมติ แกล้วตั้งอาทิ์ เดิมกาล สายท่าน ทรงธรณิน เรื่อยหล้า วันเสาร์ อังคารวัน ไอยอาทิ์ กลอยแรก ตั้งฟ้ากล่าว แช่งผีฯ
โคลงบทนี้ ถ้าไม่บอกว่าอยู่ในกระบวนโคลงห้าแล้ว ก็จะมีผู้เข้าใจว่าเป็นโคลงดั้นวิวิธมาลีหรือบาทกุญชรเราดี ๆ บทหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่จะเขียนคำเพิ่มหน้านั้น ให้ติดกันเป็นวรรคเดียวกับข้างหน้าเสียเท่านั้นเอง !
ข้อที่จะส่อร่องรอยว่า โคลงอื่น ๆ ขยายออกไปจากโคลงห้า โดยผ่านการเพิ่มหน้าบาทนี้ ก็คือ : ในสมัยก่อน การอ่านโคลงของเรา แม้โคลงสี่สุภาพก็ตาม การอ่านที่ถูกต้องดังที่ครูเก่า ๆ สอนมาจะต้องอ่าน สองคำแรก แล้วหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงจะอ่านต่อไป ถ้าจะเขียนตัวอย่างแสดงก็ต้องใช้จุดลูกน้ำแบ่งจังหวะเสีย ดังนี้ :
สงคราม, ความเศิกซึ้ง แสนกล อย่าพ่อ, อย่ายินยล แต่ตื้น อย่าลอง, คะนองตน ตามชอบ ทำนา การศึก, ลึกเล่ห์พื้น ล่อเลี้ยวหลอกหลอน ฯ (เตลงพ่าย, ๒๗)
การอ่านอย่างนี้ มีร่องรอยเหลือให้เห็นอยู่บ้างว่า เดิมตัวโคลงแท้คือโคลงที่มีบาทละห้าคำ อย่างโคลงห้า. แต่การอ่านโคลงในสมัยปัจจุบันนี้ ดูเหมือนจะละเลยกฎที่ว่ากันนี้เสียแล้ว. [หน้า ๒๗๓ - ๒๗๔] ... โคลงมณฑกคติ ที่เรียกว่าโคลงห้า เห็นจะเรียกตามคำ ที่มีวรรคละห้าคำ ไม่ได้เรียกตามบาทเหมือนโคลง ๒ โคลง ๓ หรือ โคลง ๔ เรื่องของโคลง ๒ โคลง ๓ และโคลง ๔ นี้น่าสนุกอีกเหมือนกัน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโคลงสองและโคลงสามนั้น แจกลูกออกไปจากโคลงสี่ ไม่ว่าจะเป็นอย่างดั้นหรืออย่างสุภาพ ...
ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพในลิลิตพระลอ
๏ เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับไหล ลืมตื่น ฤๅพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ
วิธีแปรรูปเป็นโคลงสอง ตัดเอาบาทที่สองห้าคำหลัง ต่อเข้ากับบาที่ ๔ ดังนี้ :
๏ ยอยศใครทั่วหล้า สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ
ถ้าจะให้เป็นโคลงสาม เอาบาทต้นเพิ่มเข้าไปอีก ๕ คำดังนี้ :
๏ เสียงเล่าอ้างอันใด ยอยศใครทั่วหล้า สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ
[หน้า ๕๑๑ - ๕๑๒]
(จิตร ภูมิศักดิ์ - โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา)
ศาลายาหาเรื่องเวียนเฮดมาให้ท่านอีกแล้วหละ 555+
ใครที่รู้แล้ว หรือไม่สนใจเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยก็ข้ามไปได้ครับ
โคลงห้าพัฒนา
๏ เชียร์บอลด้วย เบียร์ลาว หยอกผู้สาว ส่ำน้อย ฟันขาวขาว น่าฮัก ถามฝากถ้อย ฝากคำ ๚
๏ ญี่ปุ่นได้ แค่เสมอ ต้องมาเอ๋อ นั่งลุ้น จุดโทษเธอ ทำพลาด โอผี้หยุ้น ขาดใจ ๚
๏ อยู่ดึกได้ เหมือนละเมอ ทนง่วงเบลอ อยู่เฝ้า สเปนเจอ โปรตุเกส กระทิงได้เข้า รอบสาม ๚ะ๛
สาวส่ำน้อย แปลว่าอะไรต้องถามคุณเสกคาถา อิอิ
แก้ไขเมื่อ 30 มิ.ย. 53 07:25:59
จากคุณ |
:
ศาลายา
|
เขียนเมื่อ |
:
30 มิ.ย. 53 06:48:00
|
|
|
|
 |