โต้ว ร้านกาแฟที่หาดใหญ่ (ตอนที่ 2)
|
|
โต้ว ร้านกาแฟที่หาดใหญ่ (ตอนที่ 2)
หลังจากสามีตายไปแล้ว โต้วก็ต้องเปิดร้านกาแฟต่อไป โดยต้องทำซาลาเปาขายเพิ่มเติม อาศัยแรงงานตนเองและลูกสาวเป็นแรงงานหลัก เพราะคนจีนสมัยก่อนมักนิยมส่งเสริมลูกชาย ไปเรียนหนังสือมากกว่าผู้หญิง
เพราะมีวัฒนธรรม/ความเชื่อดั้งเดิมคือ ผู้หญิงต้องมีวิชาการบ้านการเรือนติดตัวไป ที่พอแต่งงานไปแล้วก็ต้องเป็นครอบครัวของผู้ชาย ดูแลการบ้านการเรือนของฝ่ายชาย รวมทั้งการทำพิธีกรรมตามวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การไหว้หลุมศพบิดามารดาก็ต้องเลิกร้างไป ไปไหว้หลุมศพบิดามารดาฝ่ายชายแทน รวมทั้งต้องสนับสนุนการต่อสู้ของครอบครัวชายแทนครอบครัวดั้งเดิม เช่น ในเมืองจีนสมัยก่อนนานมาแล้ว ผู้หญิงต้องส่งเสบียงอาหารและอาวุธให้ครอบครัวฝ่ายชาย มาสู้รบต่อสู้กับครอบครัวเดิมในสมัยก่อน ที่มักจะมีการสู้รบระหว่างเมือง หรือระหว่างตำบล หรือระหว่างหมู่บ้านของคนจีนในอดีต ที่มีการแย่งชิงทรัพยากรหรือศึกสายเลือดอะไรทำนองนั้น
ธุรกิจมียอดขายเพิ่มขึ้นก็ต้องจ้างแรงงานภายนอก มาช่วยเหลือในการชงชากาแฟ ทำซาลาเปา ล้างถ้วยล้างชาม ทำความสะอาดโต๊ะกาแฟ หรือเก็บเงินส่งให้โต้วในเวลาต่อมา และเมื่อคนงานทำงานไม่ได้ดั่งใจ แกก็มักจะด่าเป็นภาษาไหหลำว่า
บ้วยโด่หม่าย (คำด่าถึงฝ่ายพ่อ ที่คนจีนถือมากกว่าคนไทย) โต๊ะมี่ บ่โตีะกัง (ทำอะไร ถึงไม่ทำงาน)
เลยเป็นสโลแกนหรือ Motto ประจำร้าน ที่ติดปากคนงานและเพื่อน ๆ ของลูกโต้วร้านนี้ ไว้ทักทายหยอกเล่นระหว่างกัน หรือบ่งบอกว่าเคยผ่านการฝึกหัด/ทำงานจากร้านนี้มาก่อน
ต่อมาหลังจากผู้ให้เช่าร้านกับโตัว สร้างโรงแรมชั้นหนึ่งบริเวณถนนสายสี่ กิจการไม่ถึงกับดีมากนัก มีภาระหนี้สินที่สร้างรายจ่าย มากกว่ารายรับที่ได้รับมาแต่ละเดือน การบริหารงานภายในมีปัญหาการทุจริตหลายอย่าง ง่าย ๆ ก็คือ ร้านอาหารภายในโรงแรม คนงานก็สมคบคิดกับคนรับข้าวหมู โดยมีการนำช้อนซ่อมจานชามอย่างดี แอบโยนลงในเศษอาหาร-ข้าวหมู (ข้าวหมู คือ เศษอาหารที่มีคนจะไปขอหรือซื้อตามร้านอาหาร เพื่อนำไปต้มผสมกับรำข้าว หรือหยวกกล้วย ให้หมูกินแทนอาหารสำเร็จรูป เป็นการลดต้นทุนการผลิต/เลี้ยงสัตว์) บางครั้งก็พวกเนื้อ/อาหารที่ห่อพลาสติคโยนลงไปด้วยกัน กว่าจะจับได้ไล่ทันก็สูญเสียไปหลายเงินแล้ว ไม่รวมทั้งการบวกบิลค่าใช้จ่าย ค่าซ่อมแซม หรือ แฮป (ยักยอก) รายรับบางรายการ (ของดเว้นไม่เล่าถึงรายละเอียดในเรื่องนี้)
สุดท้ายกิจการโรงแรมดังกล่าวก็ ขายให้กับโรงแรมกลุ่มศูนย์กลางไป แล้วทุบทิ้ง Renovate ใหม่เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง ที่มีศูนย์การค้าภายในห้าชั้น ที่จำได้ดีเพราะอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการนำตั๋วแลกเงิน มูลค่าสองร้อยล้านบาทจากธนาคารดอกบัว มายื่นเรื่องขอไถ่ถอนจำนอง (จริง ๆ แล้วมีการประสานกันล่วงหน้าหลายเพลาแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมาจริงเมื่อใด) แต่เมื่อมีการนำเงินดังกล่าวมาดำเนินการ ก็ต้องมีการยืนยันว่าเป็นของจริงหรือไม่ จากเจ้าหน้าที่ของธนาคารไทยแห่งแรก ก่อนอนุมัติให้ไถ่ถอนจำนองแล้ว ไปจดทะเบียนจำนองใหม่ที่ธนาคารที่มาติดต่อ เป็นอะไรทีฮือฮามาก Talk of the town ในวงการธนาคารและสำนักงานที่ดิน ในวันนั้นทำให้มีการเกินดุล/ขาดดุลทางบัญชี ระหว่างธนาคารพาณิชย์ในหาดใหญ่กันมโหฬาร ที่สมัยนั้นต้องเคลียริ่งกันที่ธนาคารชาติหาดใหญ่
ก่อนที่จะมีการขายกิจการให้กับกลุ่มโรงแรม/ศูนย์การค้าที่กรุงเทพฯ ทางผู้ให้เช่าก็มีการปรับปรุง/แปลงสินทรัพย์เป็นทุนหลายครั้ง เช่น การขายที่ดิน การขายบ้านย่านสายสาม สายสอง สายหนึ่ง ให้กับผู้เช่าเดิมที่ต้องการซื้อต่อ หรือรายใหมที่ให้ราคาดีกว่า โตัวก็ซื้อในราคาห้าแสนบาทต่อหลัง รวมสองหลังก็ล้านบาท เป็นอะไรที่ถือว่าแพงมากในสมัยนั้น เพราะบ้านเมืองก็ยังไม่เจริญมากหรือจะใช้เวลากี่ปีจึงจะคืนทุน สายสามสมัยนั้นยังมีโรงหนังโอเดียน อยู่ใกล้ ๆ กับร้านโต้ว ผู้คนก็จำกัดในหาดใหญ่สมัยนั้น การค้าขายที่พอมีกำไรมากก็พวกบุหรี่ เหล้าชายแดน และส่วนต่างจากการแลกเปลี่ยนเงินตรามาเลย์ แต่โต้วก็กัดฟันสู้โดยไปกู้เงินธนาคารดอกบัว เพราะบัญชีเดินมาไม่มีปัญหาตลอด ส่วนเงินบางส่วนก็จากการเล่นแชร์ โดยการเป็นเท้าแชร์หรือลูกแชร์ เพื่อนำเงินบางส่วนมาสมทบซื้อบ้านดังกล่าว บ้านที่ซื้อก็ใส่ชื่อลูกชายที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ให้เป็นผู้ค้ำประกัน/จำนองที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน
จากคุณ |
:
ravio
|
เขียนเมื่อ |
:
18 มิ.ย. 53 23:10:54
|
|
|
|