ทวดทองบรรพบุรุษของชาวหาดใหญ่
|
|
ชวดทอง บรรรพบุรษคนหาดใหญ่
ที่หาดใหญ่บริเวณโรงพยาบาลหาดใหญ่ จะมีศาลาทวดทอง ซึ่งมีการเขียนประวัติว่า เป็นต้นสกุลของคนหาดใหญ่หลายคน แต่ต้องแยกแยะให้ชัดว่าสายไหน เชื้อสายไหน เพราะหาดใหญ่ในช่วงก่อร่างสร้างเมือง ก็จะมีทั้งคนไทยพื้นเมือง และกรรมกรจีน อินเดีย ที่เดินทางมารับจ้างทำทางรถไฟสายเพชรบุรี ถึงปาดังเบซาร์ ในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่ได้กู้ยืมเงินส่วนหนึ่งจากอังกฤษ เพื่อมาสร้างรางรถไฟจากเหนือลงมาใต้ จุดเริ่มต้นช่วงเพชรบุรี ถึง สถานีปาดังเบซาร์(ฝั่งไทย) สถานีสุดท้าย หรือชาวบ้านแถวนั้นจะเรียกว่า สถานีสอง จะเป็นเส้นทางรถไฟเข้าไปเชื่อมต่อกับปัตเตอร์เวอธ์ เมืองท่าเรือของมาเลย์อยู่ฝั่งตรงข้ามเกาะปีนัง สมัยก่อนต้องนั่งเรือข้ามไปมาก่อนมีสะพานปัจจุบัน แต่ทางรถไฟไม่ข้ามไปถึงเกาะปีนัง
จากการสอบถามและข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ที่ดินบริเวณนี้สมัยก่อนเป็นที่จับจองของขุนนิพัทธ์จีนนคร มีการขอซื้อจากชาวบ้านดั้งเดิมที่ครอบครองหรืออ้างสิทธิ์ครอบครอง เหมือนอย่างปัจจุบันที่แถวสองข้างทางรถไฟ ก็มักจะมีเจ้าของที่ดินจับจองหรืออ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน แม้ว่าจะเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ตามแต่ ใครอยากจะได้หรือทำประโยชน์ก็ต้องจ่ายเงินค่าที่ดิน ถ้าไม่อยากจะมีเรื่องมีราวหรือใช้กำลังซึ่งกันและกัน ในส่วนของขุนนิพัทธ์จีนนคร ก็คงไม่อยากจะมีเรื่องเช่นกัน เดี๋ยวก็คงจะเป็นแบบคนรวยรังแกคนจน กอปรกับเป็นคนจีนต่างด้าว ในช่วงมาทำมาหากินใหม๋ ๆ น่าจะเกรงว่ามีปัญหาลุกลามมากมาย
เพราะสมัยนั้นใครต้องการที่ดินแปลงใดก็ไปแจ้งกรมการอำเภอ เพื่อขอจับจองทำประโยขน์ เช่น ล้มไม้ใหญ่ ปลูกผัก ปลูกมะพร้าว เมื่อครบระยะเวลาแล้วก็ให้เจ้าหน้าที่มารังวัดสอบเขตออกใบรับรองสิทธิ์ (เรียกว่าตราจองรับรองว่าทำประโยชน์ในที่ดิน หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ตราจอง) แต่บางคนก็ไม่ยอมแจ้ง เพราะเกรงว่าต้องเสียภาษีที่ดิน บทภ.5 ก็จะมีเจ้าหน้าที่มารังวัดสอบเขตให้แบบคร่าว ๆ เพื่อให้เสียภาษีที่ดิน (ใบทะเบียนภาษีบำรุงท้องที่) และมักจะแจ้งเนื้อที่น้อย ๆ จะได้เสียภาษีถูก ๆ เลยมีปัญหาลามมาถึงตอนออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ที่เนื้อที่น้อยกว่าความเป็นจริง เช่น แถวสะเดา คลองแงะ คลองหอยโข่ง ที่มีการเดินสำรวจครั้งใหญ่เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเป็น นส.3 ก.
อนึ่ง ในสมัยก่อนหน้านั้น คนต่างด้าว หรือ คนจีน สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือมีที่ดินได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนจะมีกฎหมายห้ามในปี 2486 และ 2493 เพราะรัฐนิยมเล็งเห็นว่า คนไทยไม่มีกำลังแรงงานและทรัพย์เหมือนคนต่างด้าว ดังจะเห็นได้จากที่สะเดา คนจีนจากปีนัง เข้าครอบครองทำประโยชน์สวนยางพาราจำนวนมาก เป็นกงสี 400 ไร่ 500 ไร่ ดังจะเห็นจากชื่อหมู่บ้านบางแห่ง เพราะรัฐยินยอมให้เข้ามาทำประโยชน์ รายละเอียดอ่านได้จาก เหตุเกิดที่บ้านทับโกบ ดังนั้น การที่เจียกีซี (ขุนนิพัทธ์จีนนคร) ครอบครองและจับจองที่ดินจำนวนมากได้ เพราะมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการรับเหมาสร้างรถไฟ ซึ่งสมัยนั้นเงินทองหายาก แรงงานท้องถิ่นก็หายาก แต่แรงงานจากเมืองจีนมีมาก พอหมดงานก็คงเหมือนผู้รับเหมาทั่วไป ต้องหางานเลี้ยงลูกน้องและเลี้ยงตนเองไปพลางก่อน จึงใช้แรงงานส่วนเกินจากคนงานสร้างทางรถไฟส่วนหนึ่ง มาพัฒนาที่ดินของตนเองที่ได้จากการซื้อสิทธิ์ต่อจากชาวบ้าน หรือที่ดินที่ไม่มีใครต้องการหรือสนใจจริง ๆ แล้ว หรือไม่มีใครมาอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ
ก็คงเหมือนกับ ชีกิมหยง ซึ่งเป็นทายาทคนจัดหางานสร้างทางรถไฟ ก็มีกำลังเงินและแรงงานจำนวนมาก ที่มาพัฒนาที่ดินเพื่อออกหนังสือตราจอง ไม่นับรวมพระเสน่หามนตรี พระยาอรรถกระวีสุนทร ที่มีเงินทองและกำลังแรงงานในการพัฒนาที่ดิน เพื่อออกหนังสือตราจองเป็นเจ้าของที่ดิน (รายละเอียดตามเอกสารด้านล่าง)
ต้องเข้าใจก่อนว่าสมัย รัชกาลที่ 5 - สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประชากรไทยมีประมาณแปดล้านคนเท่านั้นโดยประมาณ หรือตามหนังสือของไทยที่เคยเรียนสมัยเด็ก ๆ ก็บอกว่า ประเทศไทยมีประชากราวสิบหกล้านคน ดังจะเห็นว่าพระเครื่องยี่สิบห้าศตวรรษสร้างเพียงสองล้านองค์ ก็ถือว่ามากมายก่ายกองแล้วสมัยนั้น ที่มาขยายตัวมากขึ้นเพราะการแพทย์ดีขึ้นกว่าเดิม และมีการให้คนต่างด้าวเข้ามาตั้งหลักแหล่งและมีครอบครัวมากขึ้น หรือยอมรับให้มีสัญชาติไทยมากขึ้นแทนการถือใบต่างด้าว
ศาลาทวดทองตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลหาดใหญ่ เป็นที่ดินที่ขุนนิพัทธ์อุทิศให้หมอจำลอง ที่ขอที่ตั้งโรงพยาบาล ตรงข้ามเป็นโรงเรียนเอ็งเสียงสามัคคี ส่วนที่ตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ถึงดับเพลิงเป็นเปรวเก่า มีการเผาศพคนไทยกันที่นั่น สมัยนั้นคนใต้ไม่นิยมลอยอังคาร พอเผาเสร็จก็ห่อผ้าฝังแถวใกล้ ๆ กับที่เผาศพตรงนั้น ถ้าคนรวยจริง ๆ ก็ก่ออิฐถือปูนทำบัวไว้ (ยังไม่มีบัวหินขัดแบบปัจจุบัน) ป้ายบอกที่ฝังศพก็เป็นหลักหินหรือหมุดไม้เป็นหลักฐาน ยังมีแบบฉบับไปดูได้ที่วัดสัจจธรรมบ้านในไร่ จะมีหมุดหินหลายก้อนเป็นที่บอกว่ามีการใส่กระดูกคนไว้ นาน ๆ ไปก็ลืมเลือนว่าบรรพบุรุษฝังตรงไหน ก็เลยทำบุญเดือนสิบเหมารวมให้ไปเลย
ท้ายสุดก็มีการยกเลิกการใช้ทำเปรว เพราะมีวัดในหาดใหญ่มากขึ้น ความสะดวกในการนิมนต์พระทำบุณย์ก็น้อยลง จึงยกเลิกล้างป่าช้าบริเวณเป็นที่ทำการสถานีช่อง 11 ปัจจุบัน คือคำว่า ป่าช้า ถ้าฝังเผิน ๆ ก็นึกว่าใหญ่โตมโหฬาร แต่สมัยก่อนคนน้อยมาก ๆ หรือไปดูที่ใกล้กับ วิทยาลัยสวนหลวงประธานราษฏร์นิกร ก็มีป่าช้าของคนแถวคลองหวะ คลองเรียน อยู่แถว ๆ นั้น จำนวนก็ไม่ได้มากมายมหาศาลแบบที่คิดเองเออเองอะไรทำนองนั้น
ส่วนคนจีนจะไปฝังที่สุสานอนาถ้าบ้านพรุ สมัยก่อนถือว่านอกเมืองและไกลมาก ต้องอยู่บนที่ควน(เนินเขา) น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อป้องกันโรคระบาดจากศพไหลเข้าเมืองส่วนหนึ่ง
เท่าที่ทราบและจำได้ตรงศาลาทวดทอง จะมีมะม่วงคัน (มะม่วงป่าประเภทหนึ่ง) ขึ้นคู่กัน ยางของใบมะม่วงสีขาว ถ้าคนแพ้จะคันมาก ส่วนลูกจะมีกลิ่นหอมเหมือนกับกลิ่นขึ้ไตร้(บางคนไม่ชอบกลิ่นนี้) เนื้อจะสาก ๆ บ้างเล็กน้อย ก็พอกินกันได้สำหรับสมัยก่อน ส่วนตรงกลางมะม่วงจะมีจอมปลวกขึ้นมา ตอนนี้มะม่วงคันจะเหลือเพียงหนึ่งต้นเท่านั้นแล้ว แต่ต้นยังใหญ่มากและเก่าแก่มากต้นหนึ่ง อายุน่าจะมากกว่าร้อยปีแล้วพอ ๆ กับการสร้างเมือง สมัยก่อนจอมปลวกจะชื้นมาก เพราะที่ดินบริเวณนั้นเป็นป่ายาง และป่าพรุบางส่วน ปลวกก็จะมีอาหารและทางเดินหาอาหารมาก ผิดกับปัจจุบันมีถนนและปูนซีเมนต์ล้อมรอบ หรือนางพญาปลวกอาจจะสิ้นบุญไปแล้วก็ได้ เพราะความเจริญหรือยาของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ปลวกเลยไม่เจริญเติบโตหรือมีความชื้นมากกว่าเก่า อาจจะเป็นเพราะช่วงที่ไปสำรวจอากาศร้อนมากกว่าปกติ และ/หรือมีหลังคาคุมจอมปลวกและพื้นโดยรอบเป็นซีเมนต์
แก้ไขเมื่อ 01 ก.ค. 53 09:33:25
แก้ไขเมื่อ 21 มิ.ย. 53 09:52:53
จากคุณ |
:
ravio
|
เขียนเมื่อ |
:
20 มิ.ย. 53 21:05:54
|
|
|
|