 |
ความคิดเห็นที่ 9 |
ซีไรต์ 2553 กับคำถามถึง "กรรมการ" และ "กวี"
ถึงปีนี้วิวาทะที่ว่ากันถึง "รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน" หรือ "ซีไรต์" จะเงียบเชียบกว่าเดิมไปบ้าง อาจเพราะความแรงของ "วรรณกรรม" ในบ้านเมืองนี้ โดยเฉพาะปีของ "กวีนิพนธ์" เทียบบอลโลกไม่ได้แม้เพียงผิว ก็เลยไม่สามารถเด้งตัวลอดผ่านจุดสนใจสำคัญอย่างกระแสความวุ่นวายของสังคมไทยไปได้
แต่พอช่วงใกล้ๆ วันประกาศ ซีไรต์ก็กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้ง ด้วยข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวลับ-- จากข้อมูลแบบเขาว่ากันว่า จนสร้างความปั่นป่วนให้กับคนคอยลุ้นได้พอสมควร เพราะไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรกับรางวัลนี้ ทั้งไม่เชื่อมั่นหรือไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาในบางครั้ง จนก่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา หรือบางเสียงก็ตั้งคำถามว่า เราให้ค่ากับซีไรต์มากเกินไปรึเปล่า?
แต่อย่างน้อยกระแสที่ว่าก็ชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วรางวัลนี้ก็ยังคงสำคัญทั้งในแง่ของกำลังใจ ยอดพิมพ์ ยอดขายแก่คนเขียนหนังสือ ในบ้านเมืองที่ร้านหนังสือเต็มไปด้วยนิยายหวานๆ ใสๆ กับกลวิธีแก้กรรมอยู่ดี
และเมื่อผลรอบคัดเลือกจาก 71 เล่ม (อีก 3 เล่มไม่เข้าเกณฑ์) ด้วยการพิจารณาจากคณะกรรมการ 7 ท่าน คือ โกศล อนุสิม ในฐานะประธานกรรมการ และกรรมการอีก 6 ท่านคือ อ.วรรณา นาวิกมูล, อ.พวงแก้ว ลภิรัตนกุล, ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีร, วชิระ ทองเข้ม (สุภาพ พิมพ์ชน), ดร.อารียา หุตินทะ และ ดร.ปรมินท์ จารุวร ปรากฏสู่สาธารณะ
ความรู้สึกทั้งยินดีต่อภาพรวมและอึ้งๆ กับการพลิกโผต่อกวีนิพนธ์ 6 เล่ม (น้อยจนน่าตกใจ) ก็ตามมาแบบติดๆ
6 เล่มที่ว่ามีทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า ซีรองมือรางวัล ซีไรต์คนเดิม คือ ""เดินตามรอย" โดย วันเนาว์ ยูเด็น แพรวสำนักพิมพ์, "เมืองในแสงแดด" โดย โกสินทร์ ขาวงาม สนพ.ผจญภัย, "ในความไหวนิ่งงัน" โดย นายทิวา สนพ.ออน อาร์ต, "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" โดย ซะการีย์ยา อมตยา สนพ.หนึ่ง, "ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง" โดย ศิริวร แก้วกาญจน์ สนพ.ผจญภัย และ "รูปฉาย ลายชีพ" โดย โชคชัย บัณฑิต สนพ.มิ่งมิตร"
แว่วว่า 6 เล่มนี้คือคัดมาแล้วจริงๆ ถึงสามรอบ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง แต่มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะในรอบสองคัดมาถึง 12 เล่ม แต่เมื่อคุยกันว่าถ้าเอาเข้ารอบสัก 7-8 เล่มจะได้ไหม แม้จะไม่มีกติกามากำหนดว่าควรเข้าไม่น้อยกว่ากี่เล่มก็เถอะ ก็มีเสียงมาว่า อย่างนั้นคงต้องรื้อใหม่หมดตั้งแต่รอบแรก เพราะที่จะเอาเข้ามาเพิ่มมีคุณภาพเท่ากับที่ 60 กว่าเล่มที่ตกไป
คณะกรรมการให้ข้อสังเกตถึงภาพรวมกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ว่า ในแง่รูปแบบนั้น นอกจากจะมีทั้งฉันทลักษณ์และกลอนเปล่าแล้ว ยังมีการใช้ร้อยกรองพื้นบ้าน เช่น เพลงกล่อมเด็ก ผญา กลอนหัวเดียวอีกด้วย และบางเล่มก็มีการผสานทั้งฉันทลักษณ์และกลอนเปล่าอยู่ในเล่มเดียวกัน
ที่น่าสนใจคือ "ประเด็นเนื้อหา" เพราะแม้จะหลากหลาย แต่สถานการณ์ทาง "การเมือง" และ "จังหวัดชายแดนภาคใต้" เหมือนจะมาแรงกว่าเพื่อน ซึ่งในแง่การเมืองนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะผู้แต่งเองก็มีแบ่งสีแบ่งฝ่ายไม่ต่างจากคนอื่น เพราะงั้นเลยเห็นบทกวีที่วิพากษ์วิจารณ์สภาพการเมืองไทยจากผู้แต่ง แต่เป็นไปตามมุมมอง ความคิด ความเชื่อของตัวเองที่มีต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งอาจจะไม่สามารถข้ามผ่านกาลเวลาไปได้ และหลายๆ เล่มที่ส่งเข้ามาก็พิมพ์ในเดือนมีนาคมปีนี้ คงรีบเขียนรีบรวมกันน่าดู
ส่วนที่ว่าด้วยปัญหาภาคใต้นั้น ผู้แต่งมีทั้งคนที่อาศัยในพื้นที่และชาวใต้ในเมืองอื่น โดยจะถ่ายทอดภาพจริงทั้งทุกข์-สุขผ่านมุมมองและความรู้สึกของตนอย่างน่าสนใจและมีนัยสำคัญ ซึ่งหลายๆ ภาพก็ต่างจากข่าวสารในสื่อกระแสหลัก
นอกจากนี้ ยังมีบางอย่างที่คณะกรรมการอยากฝากถึงผู้แต่งกวี ในประเด็นที่ว่าด้วย "บรรณาธิการ" และ "การเขียนคำนิยม"
เพราะกวีนิพนธ์หลายเล่มมีเนื้อหาน่าสนใจ แต่ขาดการบรรณาธิกรดีๆ แนวคิดก็เลยขาดเอกภาพ แนวคิดเลือนราง เหมือนกับรวมทุกอย่างในชีวิต ตั้งแต่ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง จนมาถึงความคิดต่อสังคมในวันฉันโต อาจเพราะเสียดายไม่กล้าที่จะทิ้ง เลยเลือกที่จะรวบมาไว้หมดในเล่มเดียว เลยทำให้ความโดดเด่นเลือนหายไป นอกจากนี้ ยังพบคำผิดเยอะมากในหลายเล่ม ราวกับไม่ได้พิสูจน์อักษรทั้งที่ไม่ใช่หนังสือทำมือ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับงานละเอียดอ่อนอย่างบทกวีเลยสักนิด
ในบางเล่มที่ผสานรูปแบบฉันทลักษณ์หลากหลายมาไว้ด้วยกัน ถ้าไม่สามารถแสดงฝีมือให้อยู่ในระดับเท่าๆ กันได้ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดก็จะฉุดคุณค่าของงานให้ลดลง
ส่วนของคำนำหรือคำนิยมนั้น ถ้าเชียร์กันๆ ไปโดยข้อมูลที่นำมากล่าวถึงไม่ได้ถูกตรวจสอบว่าถูกต้องทางวิชาการ หรือเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาสาระในกวีนิพนธ์และระดับฝีมือของผู้แต่งแล้วนั้น ก็อาจจะเป็นการทำลายโดยไม่รู้ตัว
และถ้าถามว่า กวีนิพนธ์ในวันนี้ก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหน ก็มีเสียงจากกรรมการมาว่า ไม่ค่อยมีความขยับเขยื้อนก้าวหน้า เมื่อเทียบกับวรรณกรรมประเภทอื่น อาจเพราะผู้แต่งไม่เปิดโลกทรรศน์มากนัก และยังยึดติดกับกรอบบางอย่างจนทำให้ไม่กล้าที่จะก้าวพ้นเรื่องเดิมๆ
"ว่าถึงประเด็นนี้ ก็มีคำถามจากกวีกลับไปยังกรรมการเหมือนกันว่า จริงใจกับการเปิดกว้างและก้าวพ้นกรอบมากน้อยแค่ไหน"
เพราะแม้มองเผินๆ เหมือนจะกว้างให้บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" โดย ซะการีย์ยา อมตยา ที่ล้อเล่นทั้งกับกลวิธีและเน้นหนักในเนื้อหาที่เสียดเย้ยเข้ารอบ แต่ในมุมหนึ่งโคลงโลกนิติ "เดินตามรอย" โดย วันเนาว์ ยูเด็น ที่แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา กับคำประกาศที่ว่า "เป็นวรรณกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการเป็นสะพานแห่งยุคสมัยที่เชื่อมต่อระหว่างวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าในอดีตกับปัจจุบันซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถใช้เป็นหลักคิดได้ และอาจย้อนกลับไปอ่านโคลงโลกนิติเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม" ก็ต้องทำให้มีคำถามถึงความคิดแฝงเร้นที่มีต่อรางวัลวรรณกรรม
และเมื่อประกอบกับคำแนะนำที่กรรมการว่า
"คำประพันธ์ประเภทอื่นๆ เช่น โคลง พบว่านอกจากจะมีข้อบกพร่องในเรื่องตำแหน่งคำเอก คำโท และคำสร้อยในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 แล้ว ยังมีที่แต่งโคลงดั้นโดยขาดโทคู่ในบาทสุดท้าย นอกจากนี้ การจัดรูปแบบของโคลงกระทู้ หรือแม้แต่โคลงสี่สุภาพ ยังพบว่าผิดไปจากขนบการประพันธ์ ส่วนคำประพันธ์ประเภทฉันท์ พบว่ามีการเลือกคำมาใช้ในตำแหน่งครุและลหุ โดยเปลี่ยนแปลงรูปคำไปจนผิดหลักไวยากรณ์และไม่สื่อความ"
ดังนั้น ผู้แต่งจึงควร "หากต้องการยึดฉันทลักษณ์ตามขนบ ควรระมัดระวังเรื่องสัมผัสเนื่องจากเป็นหลักสำคัญที่ทำให้บทกวีมีฉันทลักษณ์ที่ถูกต้องและไพเราะงดงาม อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ความรู้รอบทางภาษาของผู้แต่งได้อย่างแท้จริง"
ทำให้เกิดคำถามว่าสรุปแล้ว "แต่ผู้แต่งมีสิทธิสร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ขึ้นใหม่ และในการนำเสนอควรแสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์นั้นอย่างชัดเจน สามารถสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจฉันทลักษณ์ของตนได้" ที่กรรมการบอกนั้น มีความหมายอย่างไรกันแน่
เมื่อไม่เกิดการทดลอง การสร้างสิ่งใหม่ การอธิบายขยายความในสิ่งสร้าง แล้วจะนำไปสู่การขยับเขยื้อนได้อย่างไร
อาจฟังแล้วเหมือนกำลังขัดแย้งทางความคิดของสองฝ่าย แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองความเห็นคงหวังให้เกิดก็คือ "วัฒนธรรมการวิจารณ์" ที่จะสร้าง "การก้าวต่อ" ได้อย่างแท้จริง
************************* หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 17 กรกฏาคม 2553 หน้า 4
ที่มา: http://203.151.20.17/news_detail.php?newsid=1279337410&grpid=01&catid=08
จากคุณ |
:
ศาลายา
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 53 08:30:37
|
|
|
|
 |