Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สองปีในวังต้องห้ามของพระนางซูสี ตอนที่ 1 ติดต่อทีมงาน

พ่อ แม่ (Lord และ Lady Yu Keng) พร้อมทั้งฉันและน้องสาว รวมถึงทีมงานของพ่ออันประกอบด้วย เลขานุการเอก, เลขานุการโท, ผู้ช่วยฑูตทหารบกและทหารเรือ, นายเวร และครอบครัวของแต่ละคน บรรดาคนรับใช้ ทั้งสิ้นรวม 55 คน ออกเดินทางจากกรุงปารีสซึ่งพ่อประจำอยู่ในฐานะเอกอัครราชทูตเป็นเวลา 4 ปี มาถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 2 มกราคม 1903 โดยเรือกลไฟ ชื่อ Annam พวกเราดีใจมากที่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน ทั้งๆ ที่ขณะที่มาถึงนั้นฝนเทลงมาอย่างหนัก พวกเราวุ่นวายเรื่องขึ้นจากเรือ จัดการหาที่พักให้ผู้ติดตามทั้งมวล แล้วยังสัมภาระในการเดินทางอีกเป็นตันที่ต้องเฝ้าดู ซึ่งเราทราบดีอยู่แล้วว่าทีมงานของราชทูตนั้นมักไม่คล่องตัวในเรื่องการเดินทาง ดังนั้นความยุ่งยากทั้งหลายจึงตกเป็นภาระของแม่ผู้มีความสามารถจัดการได้ดีเยี่ยม

พอเรือเล็กไปรับเรามาจากเรือกลไฟเข้าเทียบท่าที่ French Bund แล้ว เราก็พบว่า Taotai (นายกเทศมนตรี) ของเมืองเซี่ยงไฮ้, ศาลเซี่ยงไฮ้ และข้าราชการอีกจำนวนมาก รอรับพวกเราอยู่โดยแต่งกายเต็มยศ Taotai บอกพ่อว่าได้จัดเตรียมให้พวกเราพักที่ Tien Ho Gung (Temple of Queen of Heaven) แต่พ่อได้ตอบปฏิเสธไป โดยบอกว่าได้ส่งโทรเลขมาจากฮ่องกงไปจองโรงแรม Colonies ซึ่งเป็นสัมปทานของฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว ที่จริงพวกเราเคยพักที่ Tien Ho Gung ครั้งนึงตอนที่พ่อจะต้องไปเป็นเอกอัครราชฑูตที่ญี่ปุ่น ในปี 1895 ก็ขยาดแล้ว เพราะตึกเก่ามากและไม่ได้ดูแลรักษาเลยทั้งที่ตัวตึกสวยเด่น เสียดายที่ปล่อยให้พังไปตามสภาพ อันที่จริงเป็นธรรมเนียมว่าเมื่อมีข้าราชการผู้ใหญ่มาถึงเมือง ผู้ปกครองเมืองนั้นๆ จะต้องจัดหาอาหารและที่พักให้ และผู้มาเยือนก็ไม่ควรปฏิเสธ แต่พ่อเป็นคนไม่ชอบขึ้นอยู่กับใครๆ จึงได้ขอบใจเขาที่ให้การดูแลช่วยเหลือและบอกปัดไปอย่างนุ่มนวล

ในที่สุดพวกเราก็มาถึงโรงแรมและพบว่ามีโทรเลขจากวังหลวงมาถึงพ่อสองฉบับ ข้อความมีว่าให้พ่อเดินทางไปกรุงปักกิ่งในทันที ขณะนั้นพ่อสุขภาพไม่ดีนัก ทั้งๆ ที่มีหมอคอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ การจะไปทางบกโดยผ่านเมือง Chinwangtao ซึ่งยากลำบากและกินเวลานานคงจะไม่ดีแน่ เราจึงควรจะเดินทางไปโดยทางเรือ แต่ช่วงที่จะไปเมืองเทียนสินแม่น้ำยังเป็นน้ำแข็ง พ่อจึงตอบโทรเลขไปว่า เมื่อแม่น้ำ Peiho ละลายเราจะออกเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ด้วยเรือกลไฟลำแรกที่ไปเทียนสิน

เราออกจากเซี่ยงไฮ้วันที่ 22 แล้วมาถึงเมืองเทียนสินวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และก็เช่นเดียวกับที่เซี่ยงไฮ้ Taotai ของเมืองและข้าราชการมากมายรอรับพวกเราอยู่

พิธีการอันน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะต้องปฏิบัติทันทีเมื่อกลับจากภารกิจในต่างประเทศ คือ การสักการะ Emperor of Peace (Ching Seng An) ซึ่งผู้จัดพิธีต้องเป็นข้าราชการระดับสูงกว่า Taotai ขึ้นไปอีก ที่เทียนสินนี่มีท่าน Yuan Shi Kai ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด Chili ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สวยมากคนหนึ่งมานัดแนะจัดเตรียมเวลาและสถานที่จัดพิธีกับพ่อ เมื่อถึงเวลาที่จะทำพิธี ทั้งพ่อและ Yuan Shi Kai ก็แต่งตัวเต็มยศ โดยสวมชุดมังกร คลุมทับด้วยเสื้อคลุมสีแดงดำ ยาวถึงเข่า สวมลูกประคำอำพัน (chao chu) สวมหมวกประดับด้วยขนนกยูงประดับกระดุมประการังสีแดง แล้วไปยังวังหมื่นปี (Wan Shou Kung) ซึ่งสร้างไว้เพื่อทำพิธีนี้โดยเฉพาะ ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยก็คอยอยู่เป็นจำนวนมากที่ด้านหลังของวัง เขาจัดโต๊ะยาววางป้ายของ จักรพรรดิ และพระนางซูสี ซึ่งเขียนว่า “”Wan sway, wan sway, wan wan sway” (หมื่นปี คูณ หมื่นปี คูณ หมื่นหมื่นปี) ผู้ว่า Yuan Shi Kai กับข้าราชการอื่นๆ มาถึงก่อน โดยผู้ว่าฯ ยืนอยู่ด้านซ้ายมือของโต๊ะ ส่วนข้าราชการที่เหลือตั้งแถวเรียงสองจากมุมโต๊ะด้านหน้า พอพ่อไปถึงก็ไปคุกเข่าที่หน้าโต๊ะ และกล่าวว่า “Ah ha Ching Sheng An” (ข้าพระบาทขอถวายบังคม) แล้วพ่อก็ลุกขึ้นยืน จากนั้นจึงหันไปถามท่านผู้ว่าฯ ถึงสุขภาพของทั้งสองพระองค์ และได้รับคำตอบว่าสบายดี เพียงเท่านี้ก็เสร็จพิธี

เราพักอยู่ที่เทียนสิน 3 วัน จึงมาถึงกรุงปักกิ่งในวันที่ 29 อาการของพ่อแย่ลงมาก จึงขอลางานสี่เดือนเพื่อรักษาตัวซึ่งพระนางซูสีได้ประทานอนุญาต เดิมทีเรามีคฤหาสถ์สวยมากอยู่ที่นี่ เพิ่งจะสร้างก่อนเราไปปารีสไม่นาน แต่ในปี 1900 มีกบฎนักมวยเข้ามาเผาเสียราบ มูลค่าเสียหายนับแสนตำลึง มาคราวนี้เราจึงต้องไปเช่าบ้านอยู่แทน ที่จริงบ้านที่ถูกเผาไปไม่ใช่บ้านสร้างใหม่ แต่เป็นบ้านแบบจีนสร้างบนพื้นดินของท่านขุนนางชั้นสูงแล้วปรับปรุงใหม่และก่อสร้างเพิ่มเติม จึงกลายเป็นบ้านแบบฝรั่งสวยงามแต่งด้วยไม้แกะสลักจีนเดิมโดยไม่ต้องรื้อทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนประตู หน้าต่าง ทางเดิน ตกแต่ง ให้เป็นแบบฝรั่ง ส่วนการจัดวางของบ้านและลานบ้านยังเป็นตามแบบจีน ซึ่งบ้านทั้งหลายในกรุงปักกิ่งที่ปรับปรุงให้ดูเป็นฝรั่งก็จะทำอย่างนี้กัน นอกจากตัวบ้านแล้วยังมีสวนอีกราวยี่สิบห้าไร่ ตอนที่บ้านสร้างเสร็จเรียบร้อย พวกเราย้ายเข้าไปอยู่เพียงแค่ 4 วันก็ต้องไปปารีส จึงนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของครอบครัวเราหลังจากที่ได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ก่อสร้างและตกแต่งคฤหาสถ์หลังนี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องอดกลั้น อดทน อย่างนี้เป็นสิ่งที่ข้าราชการชั้นสูงจะต้องยึดถือไว้

บ้านส่วนใหญ่ในกรุงปักกิ่งมักเป็นแบบฝรั่งปนจีนอย่างที่ว่ามา และมีสวนขนาดใหญ่ บ้านของเราก็เช่นกัน ตัวบ้านประกอบด้วยบ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก 16 หลัง มีห้องทั้งหมด 175 ห้อง จัดเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม หันหน้าทุกห้องเข้าหาลานบ้านตรงกลาง จึงเป็นไปได้ที่เราไม่ต้องออกจากตัวบ้านเลย เพราะมีระเบียงแล่นเชื่อมหน้าห้องทุกห้องถึงกันตลอด ทั้งระเบียงก็เป็นกระจกใสครอบไว้ ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่าห้องมากมายอย่างนี้ได้ใช้งานทั้งหมดหรืออย่างไร ก็เนื่องจากเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีเลขาจำนวนมาก ทั้งคนเขียนอักษรจีน คนส่งสาส์น คนรับใช้ คนขับรถม้า กุลีหามเก้าอี้เสลี่ยง จึงสามารถใช้ห้องทั้งหลายได้ไม่ยาก

สวนที่ล้อมรอบตัวบ้านจัดแบบจีน คือมีบึงย่อมๆ หลายบึง เลี้ยงปลาทอง ปลูกดอกบัวสีสวย มีสะพานเดินข้าม มีต้นหลิวปลูกอยู่ริมตลิ่ง มีสวนดอกไม้ประดับประดาระหว่างทะเลสาบ ตอนที่เราออกเดินทางไปปารีสเป็นช่วงเดือนมิถุนายนของปี 1899 สวนกำลังเต็มไปด้วยดอกไม้บานสะพรั่ง ไม้ใบหลากพรรณ ใครได้เห็นก็ชื่นชม

แต่ตอนนี้เราไม่มีบ้านพักของเราเองแล้ว พอมาถึงเทียนสินพ่อจึงส่งโทรเลขบอกเพื่อนให้ช่วยหาบ้านให้อยู่ หลังจากที่แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ลงได้ เราก็ได้เข้าพักที่บ้านของ Li Hung Chang ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นบ้านที่เขาลงนามสนธิสัญญากับกองกำลังต่างชาติหลังจากเกิดกบฏนักมวย และเขาก็สิ้นใจที่บ้านหลังนี้ เราจะเป็นพวกแรกที่เข้ามาอยู่หลังจากที่เขาตายไป เพราะคนจีนเชื่อเรื่องวิญญาน และกลัวว่าถ้าใครเข้าไปอยู่ก็อาจมีเรื่องไม่ดีเกิดแก่ผู้นั้น สำหรับพวกเราไม่ช้าก็ชิน และตลอดเวลาที่เราพักที่นั่น ก็ไม่มีเรื่องน่ากลัวแม้แต่เรื่องเดียว ไม่เหมือนกับที่เพื่อนๆ ผู้หวังดีเตือนเราไว้ อย่างไรก็ตามจากมุมของพวกเราที่เคยสูญเสียบ้านไปในกองเพลิงมาแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะคล้อยตามความเชื่อที่ว่าต่อๆ กันมานี้

การสูญเสียบ้านที่ถูกเผาไม่สามารถจะเรียกร้องเอาคืนจากใครได้ เนื่องจากพ่อจะกลายเป็นข้าราชการที่แย่มากหากพยายามจะหาทางเรียกร้องเงินทอง หรือแม้กระทั่งการสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ก็ตาม ข้าราชการไม่ควรจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและครอบครัวเหนือประเทศชาติ โดยเฉพาะการเสียทรัพย์สินของตนไปในงานราชการยิ่งไม่สามารถจะอุทธรณ์ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ

ในวันที่ 1 มีนาคม 1903 Prince Ching กับลูกชาย ชื่อ Prince Tsai Chen มาพบพวกเราที่บ้าน และแจ้งว่า พระนางซูสี มีพระประสงค์ให้แม่ น้องสาว และตัวฉันเข้าเฝ้าด่วน วันพรุ่งนี้หกโมงเช้า ที่พระราชวังฤดูร้อน (Wan Shou Shan) แม่บอก Prince Ching ว่าตลอดหลายปีมานี้พวกเราใส่แต่เสื้อผ้าอย่างฝรั่ง ไม่มีชุดแมนจูที่จะใส่เข้าเฝ้าได้ เขาตอบว่าเขาได้บอกพระนางซูสีถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับพวกเรา รวมถึงชุดแบบยุโรปที่เราใส่ด้วย พระนางซูสีบอกว่าไม่ต้องใส่ชุดแมนจูเข้าวังหรอก เพราะพระองค์อยากเห็นพวกเราใส่เสื้อผ้าต่างชาติมากกว่า จะได้ถือโอกาสศึกษาวิธีแต่งตัวของต่างชาติด้วย ฉันและน้องสาวตกลงใจไม่ถูกว่าจะใส่ชุดไหนเข้าเฝ้าดี น้องอยากใส่ชุดกำมะหยี่สีฟ้าอ่อนเพราะเธอคิดว่าสีนี้เข้ากับเธอที่สุด เนื่องจากแม่มักจับเราสองคนแต่งตัวเหมือนกันตั้งแต่ยังเล็ก แต่ฉันอยากชุดใส่กำมะหยี่สีแดงมากกว่า เพราะคิดว่าพระนางน่าจะชอบสีนี้ หลังจากถกเถียงกันเล็กๆ ก็ตกลงตามที่ฉันเสนอ เราจะได้สวมหมวกสีแดง แต่งขอบด้วยขนนก พร้อมรองเท้าสีเดียวกัน และถุงน่องเข้าชุด ส่วนแม่เลือกชุดผ้าชีฟองสีเขียวน้ำทะเล ปักลูกไม้เป็นดอกไอริสสีม่วงอ่อน แต่งขอบด้วยผ้ากำมะหยี่สีม่วงสด แล้วก็ใส่กับหมวกกำมะหยี่สีดำใบใหญ่ติดขนนกยาวสีขาว

เนื่องจากบ้านที่พักของเราอยู่ใจกลางเมืองซึ่งห่างจากวังฤดูร้อนราว 18 กม หรือราว 36 ลี้ และวิธีการเดินทางมีอย่างเดียวคือเสลี่ยงเก้าอี้หาม (ต้องใช้เวลาราวสามชั่วโมง) เราจึงต้องออกเดินทางตั้งแต่ตีสาม เพื่อไปถึงทันหกโมงเช้า เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่จะได้เข้าวัง พวกเราตื่นเต้นมาก อยากจะให้ดูดีที่สุดและไปถึงตรงเวลา ความจริงฉันนึกฝันมาตลอดว่าครั้งหนึ่งคงจะได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมพระราชวัง จนกระทั่งถึงบัดนี้ เพราะเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเราไม่ได้อยู่ในกรุงปักกิ่ง และไม่ได้อยู่ในประเทศจีนด้วยซ้ำไป และอีกสาเหตุนึงที่พวกเราไม่เคยได้เข้าวังเพราะพ่อไม่เคยแจ้งชื่อของฉันและน้องสาวในหนังสือทะเบียนเกิดของเด็กแมนจูแก่ทางราชการ ดังนั้นพระนางซูสีจึงเพิ่งจะทราบว่าพ่อมีลูกสาวสองคนก็ตอนที่กลับจากฝรั่งเศสนี่เอง พ่อบอกฉันว่าที่ไม่แจ้งทะเบียนเกิดพวกเราก็เพราะต้องการให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่ลูก และทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ ต้องไม่ให้พระนางซูสีทราบ นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมของแมนจูว่า ลูกสาวของขุนนางชั้นโทขึ้นไป เมื่ออายุครบ 14 ปี ต้องเข้าวังมาให้จักรพรรดิเลือก หากพระองค์มีพระประสงค์จะได้พระสนม แต่พ่อมีความไฝ่ฝันกับลูกสาวเป็นอย่างอื่นมากกว่า และนี่ก็เป็นเส้นทางของไทเฮาองค์ก่อนที่ถูกเลือกโดยจักรพรรดิ Hsien Feng

พวกเราออกเดินทางในความมืดมิดของเวลาตีสาม โดยนั่งไปในเก้าอี้เสลี่ยงหาม เก้าอี้หนึ่งตัวนั่งได้หนึ่งคน และหามโดยกุลีสี่คน ด้วยระยะทางที่ไกลอย่างนี้ต้องเตรียมกุลีหามเก้าอี้ไปสองผลัด นั่นหมายความว่าต้องมีกุลีหามเก้าอี้ทั้งหมด 24 คน และยังมีกุลีอีกหนึ่งคนเดินนำหน้าแต่ละเสลี่ยงเพิ่มมาด้วย นอกจากนี้ยังมีทหารขี่ม้าอีกสามนายนำเสลี่ยงแต่ละอัน และคนรับใช้ขี่ม้าตามหลังเสลี่ยงอีกอันละสองคน สุดท้ายเป็นเกวียนอันใหญ่ที่บรรทุกกุลีสำหรับผลัดเปลี่ยน ขบวนทั้งหมดจึงประกอบด้วยคน 54 คน ม้า 9 ตัว และเกวียน 3 เล่ม

ตัวฉันเองรู้สึกกลัวการนั่งเก้าอี้เสลี่ยงในความมืดอย่างนี้ เพราะไม่มีอะไรจะช่วยผ่อนปรนความไม่ไหวติงของยามวิกาลได้ จะมีก็แต่เสียงห้าวๆ ของกุลีหามเสลี่ยงข้างหน้าร้องบอกข้างหลังให้ระวังก้อนหินบ้างหลุมบ่อบ้าง และก็เสียงกุบกับๆ ของม้า ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยมีประสบการณ์นั่งเก้าอี้เสลี่ยงเป็นระยะทางไกลๆ ฉันอยากจะบอกว่านี่เป็นการเดินทางที่ไม่สะดวกสบายที่สุดอันหนึ่ง เพราะคุณจะต้องนั่งนิ่งๆ และนั่งตัวตรง ไม่อย่างนั้นก็จะพลัดตกเก้าอี้ได้ การเดินทางหนนี้ไกลนักพอถึงประตูวังฉันรู้สึกแข้งขาขยับไม่ได้เพราะทั้งตึงและอ่อนล้าไปหมด

แก้ไขเมื่อ 10 ก.พ. 54 01:06:44

จากคุณ : พวงแสด ลำปาง
เขียนเมื่อ : 10 ก.พ. 54 00:26:13




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com