ฝากบทความชวนคิด 'ธรรมชาติของนักเขียน'
|
 |
เป็นบทความที่ดีมากๆ ก็เลยนำมาแบ่งปันให้เพื่อนๆนักอ่านนักเขียนได้อ่านกันค่ะ
=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-
การเขียนหนังสือ แม้เป็นงานศิลปะ แต่ก็เป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่ต้องทำเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อจรรโลงโลก เพื่อแสดงด้านที่ดีงามของมนุษย์ เพื่อคนรอบข้าง ฯลฯ คนเรามีเหตุผลมากมายในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เหตุผลนั้นมีไว้เพื่อบอกตัวเอง ไม่จำเป็นที่เราจะต้องสาธยายเหตุผลของการเขียนให้คนอื่นๆรับรู้ เพราะเนื้อแท้ของ นักเขียน คือ ผลงานวรรณศิลป์ ไม่ใช่เหตุผลมากความ
โดยพื้นฐานของ นักเขียน จะเป็นคนที่มีอุปนิสัยรักงานศิลปะ รักการขีดเขียน รักที่จะถ่ายทอดเรื่องราว ช่างเล่า อาจจะเป็นคนอ่อนไหวในบางครั้ง เป็นคนที่มีความคิดสลับซับซ้อน ช่างจินตนาการ รู้จักเก็บ รู้จักจำ รู้จักการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ นักเขียน จึงเป็นผู้ที่คาดเดาได้ยาก ประมาณใจได้ยาก บางครั้งผลงานของ นักเขียน ไม่ว่าจะบทความหรือวรรณกรรม ผลงานเหล่านั้นมักจะห่อหุ้มตัว นักเขียน เป็นภาพมายาที่ซ้อนทับกับตัว นักเขียน จนคนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อุปนิสัยที่แท้จริงของ นักเขียน เป็นเช่นไร
การจะเป็นนักเขียนโดยธรรมชาติ อาจจะเริ่มต้นจาก
บอกเหตุผลแก่ตัวเองได้ว่า เขียนทำไม เขียนเพื่ออะไร เขียนด้วยเหตุผลใด ลองสอบสวนตัวเอง หาเหตุผลที่จรดปลายปากกาเล่าเรื่องต่างๆ ตอบแค่ตัวเองพอ ขออย่าให้เหตุผลนั้นเป็นเรื่องผิดบาป อย่าให้การเขียนอันเป็นอาวุธสำคัญต้องถูกใช้ในทางลบ เช่น เขียนเพื่อโจมตีทำให้ผู้อื่นเสียหาย เขียนเพื่อลบหลู่สถาบันต่างๆ หรือเขียนเพื่อก่อความขัดแย้ง จงพยายามหาเหตุผลที่ดีงามให้ตัวเอง เพราะงานเขียนถือเป็นสิ่งที่งดงามในทางศิลปะ
มีทัศนคติที่ดีต่องานเขียนทุกประเภท งานเขียนมีหลายประเภท เหมือนภาพวาด ที่มีทั้งภาพวาดแนว Realistic เป็นภาพสมจริง โดดเด่นที่ความสมจริง และภาพวาดแนว Abstract ซึ่งเป็นภาพวาดแนวนามธรรม สวยงามที่จินตนาการ ผลงานเขียนก็เช่นกัน นับเป็นผลงานศิลปะ มีหลากหลายประเภท บางเรื่องราวเราอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง หรือไม่ชอบ แต่จงรู้ไว้ว่ายังมีคนที่ชื่นชมผลงานนั้นๆอีกมากมาย นวนิยายไม่จำเป็นต้องมีแค่ผู้หญิงที่อ่าน เรื่องราวผจญภัยก็ไม่ใช่ว่าผู้ชายอ่านได้เท่านั้น บทความหรือเกร็ดความรู้ก็ไม่ได้เหมาะแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การจะเรียบเรียงตัวอักษรถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เป็นความสามารถพิเศษของ นักเขียน และทุกผลงานล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยในตัวเอง ในโลกนี้ ไม่มีงานเขียนใดที่ดีพอ และไม่มีงานเขียนใดที่เลวพอ เพราะการจะเขียนให้คนทั้งโลกพึงพอใจเท่ากัน มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนไม่ชอบ หากแต่ว่าเมื่อตัวเราเป็น นักเขียน เราต้องเคารพในวรรณศิลป์ นักเขียน จะไม่คิดเหมือนคนทั่วไป นักเขียน จะสามารถลดอคติต่องานเขียนที่ไม่ชอบ และ นักเขียน จะตระหนักเสมอว่างานเขียนทุกประเภท ล้วนมีคุณค่าในตัวมันเอง
มีทัศนคติที่ดีต่อสังคม นับตั้งแต่ครอบครัว คนรอบข้าง และโลกทั้งใบ นักเขียน จะต้องระลึกไว้เสมอว่า วรรณศิลป์ เป็นเครื่องมือสร้างความสงบสุขให้แก่โลก วรรณศิลป์ ช่วยเยียวยาจิตใจที่มืดดำของมนุษย์ วรรณศิลป์ เป็นอารยะธรรมที่เจริญแล้ว วรรณศิลป์ ช่วยให้คนบาปกลับตัวเป็นคนดีได้ วรรณศิลป์ ช่วยชี้ทางสว่างให้อีกหลายคนที่กำลังหลงทาง ประโยชน์ของ วรรณศิลป์ ก่อเกิดจากบทความที่ดี มีคุณค่า แม้ภาษาไม่สวยหรู แต่เจตนาของนักเขียนจะถูกถ่ายทอดผ่านผลงานนั้นๆ หากนักเขียนเป็นผู้ที่มองโลกใบนี้ในทางลบ ผลงานที่ถูกรังสรรค์ออกมา ก็ไม่ต่างอะไรกับอาวุธมหาประลัยที่จะทำลายสังคมให้เน่าเฟะลงไปอีก
มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เคารพตัวเอง รักตัวเอง ไม่ดูถูกตัวเอง และไม่หยิ่งผยอง ถนนนักเขียน คือเส้นทางอีกเส้นหนึ่งที่นักเขียนเลือกด้วยตัวเอง ถนนนักเขียน อาจนำมาซึ่งอุปสรรค ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ แต่ที่สุดแล้ว ผู้ที่เป็น นักเขียน ย่อมไม่ล้มเลิกกลางทาง แม้ล้มลุกก็จะคลุกคลานจนถึงสุดฟากถนน นักเขียน เคารพในความเป็นตัวเองมากเท่าไร ไอเดียก็จะยิ่งชัดเจนและจรัส นักเขียน จะไม่ทำตัวเองแคระแกร็นเพียงเพราะปมด้อยหรืออุปสรรค หากเขลาก็จะขวนขวายหาความรู้ หากฉลาดก็จะไม่อวดตนให้ดูผยอง นักเขียน จะเป็นผู้ที่สง่าผ่าเผย ถ่อมตนพองาม สมกับภูมิความรู้ในตัวเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ในสมัยโบราณ ผู้คนจะเรียกนักเขียนว่า ปราชญ์ – กวี หมายถึงผู้ที่มีความรู้ สามารถสอนสิ่งที่ดีงามได้ และจรรโลงใจคนทุกระดับชั้นให้รู้สึกสำเริงสำราญด้วย วรรณศิลป์
จงมองหาหอคอยงาช้าง คือการปลดเปลื้องภาระทุกอย่างและเหตุผลทุกประการ เพื่อเดินเข้าสู่หอคอยอันห่างไกล นักเขียน บางคนมีเหตุผลมากมายในการเขียนเรื่องราวสักเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อลงมือเขียน เขาก็ต้องละทิ้งเหตุผลต่างๆ ไม่ให้มันมาเป็นภาระ ไม่ให้มาเป็นเครื่องกีดขวางจินตนาการ ยิ่ง นักเขียน เติบโตบน ถนนนักเขียน มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีประสบการณ์ในการเขียนมากเท่านั้น ซึ่งการเขียนหนังสือก็คือการถ่ายทอดประสบการณ์สั่งสมของตัวนักเขียน นักเขียน จะต้องโยนใจออกจากโลกภายนอก แล้วมุ่งมั่นจดจ่ออยู่ที่งานเขียนของตนเท่านั้น การเขียนหนังสือ ไม่ใช่แค่นำตัวอักษรมารวมกันมั่วซั่ว แต่มันคือความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงต่อผลงานที่เขียนขึ้นมา นักเขียน จึงต้องตั้งสมาธิแน่วแน่ที่การเขียน
การจะเป็น นักเขียน โดยธรรมชาติ อาจจะกล่าวถึงวิธีการได้อีกมากมาย บทความนี้ก็คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยชี้ทางให้ นักเขียน อีกหลายคนมีแนวทางในการทำงานเขียน ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ก้าวเล็กๆ สำหรับผู้ที่อยากจะเปิดประตูสู่ ถนนนักเขียน
คำว่า นักเขียน ไม่ใช่แค่ขีดเขียนเป็น ไม่ใช่การมีวุฒิการศึกษาสูงส่ง ไม่เกี่ยวอะไรกับชาติกำเนิด ไม่เกี่ยวกับโชคชะตา ทุกคนเป็น นักเขียน ได้ในตัวเอง จากจิตสำนึกภายในของการเป็น นักเขียนโดยธรรมชาติ การดำรงคุณค่าของการเป็น นักเขียน จะต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกตัวอักษร ทุกผลงาน ทุกประโยคที่เรียงร้อย ทุกความรู้ที่ซึมซับอยู่ในเรื่องราว
รู้คุณค่าในวรรณศิลป์ และรู้คุณค่าในตัวเอง นั่นคือ นักเขียน โดยธรรมชาติที่แท้จริง
=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=- ที่มา:http://www.krungkaew.com/index.php?option=com_content&view=article&id=10:2011-06-06-08-05-58&catid=1:writing-tips&Itemid=7
แก้ไขเมื่อ 06 มิ.ย. 54 16:35:39
จากคุณ |
:
CaesarNote
|
เขียนเมื่อ |
:
6 มิ.ย. 54 15:27:59
|
|
|
|