สำหรับสวนยางรายใหญ่ หรือรายย่อยที่ขยันขันแข็ง มักจะนิยมทำยางแผ่นมากกว่าการขายน้ำยางสด เพราะจะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 กิโลกรัม ทั้งนี้มีน้ำปะปนอยู่ในเนื้อยางพาราส่วนหนึ่งด้วย ทำให้เวลาขายก็จะได้ราคาต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม มากกว่าราคาต่อน้ำหนักน้ำยางสดที่โรงงานรับซื้อน้ำยางสด ให้ในอัตรา 17.5 กิโลกรัมต่อเปอร์เซ็นต์น้ำยางแห้งที่ร้อยละ 35 (คำนวณจากน้ำยางพารา 50 ลิตร คูณ .35 = 17.5 กิโลกรัม) แต่ถ้านำน้ำยางพารา 50 ลิตรมาทำยางแผ่น จะได้น้ำหนักเกือบ ๆ หรือประมาณ 20 กิโลกรัม
แม้ว่าในช่วงแรก ๆ นั้น จะมีการบอกเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า น้ำยางราคาดีให้ขายน้ำยางสด ถ้าน้ำยางสดราคาไม่ดีให้ทำยางแผ่นขาย แต่สุดท้ายพอขายน้ำยางสดนานเข้า ๆ เลยพาลเลิกทำยางแผ่นขายไปเลย เพราะสะดวกรวดเร็วและได้รับเงินเลย ส่วนเครื่องจักรรีดยาง พอไม่ใช้งานนาน ๆ ขาดการบำรุงรักษาก็เสื่อมสภาพไปอย่างช้า ๆ พอสุดท้ายก็กลายเป็นเศษเหล็กประจำบ้าน จะทิ้งก็เสียดายจะซ่อมใหม่ก็หลายตังค์ ทำไปทำมาเลยกลายเป็นของเก่าประดับบ้าน
การทำยางพาราแผ่นของชาวบ้าน เมื่อรวบรวมน้ำยางพารามาได้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะนำน้ำยางพาราจำนวนสามลิตร ผสมกับน้ำสะอาดจำนวนสองลิตร ใส่ลงในตะกง (ถาดอลูมีเนียมสี่เหลี่ยม) คนให้เข้ากันก่อนใส่น้ำส้มยางผสมน้ำเปล่า ขนาดประมาณครึ่งแก้วหรือหนึ่งแก้ว ยี่ห้อยอดนิยมสมัยก่อนคือ ตราเสือ ของร้านกิมฮง ในตลาดหาดใหญ่ ที่สั่งหัวน้ำส้มเป็นไหมาแบ่งขวดขาย ราคาขายช่วงนั้นขวดละหกบาท
จริง ๆ แล้วน้ำส้มยางจะใช้น้ำตาลโตนดที่บูดแล้วก็ได้ หรือที่ชาวบ้านมักจะมาทำเป็นหวาก(น้ำเมา)กินก็ได้ เพราะน้ำส้มคือ ตัวทำปฏิกิริยาที่แยกน้ำกับน้ำยางให้ออกจากกัน หรือเมื่อยางพาราจับกันเป็นก้อนแล้ว เหมือนก้อนเลือดหมูหรือเลือดไก่ที่เป็นก้อน ก็ยังสามารถรินน้ำที่เหลือในตะกงออกมาใส่ไห หรือถังเก็บไว้ใช้อีกในวันหลังได้ เพียงแต่ต้องเติมปริมาณน้ำส้มยางให้มากกว่าเดิมอีกเล็กน้อย
เมื่อยางเริ่มจับตัวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ ตามรูปตะกง ก็จะใช้มือคลึง แต่จริง ๆ แล้วใช้เท้าเหยียบเร็วกว่า เพื่อรีดน้ำให้ออกมากที่สุดเท่าที่รีดได้ จากนั้นก็นำเข้ารีดด้วยเครื่องจักรหน้าเรียบ เครื่องจักรบางเจ้าใช้แรงงานคน บางเจ้าใช้เครื่องยนต์หรือไฟฟ้าแทนในช่วงหลัง ๆ นำยางแผ่นที่รีดน้ำออกมากแล้ว รีดด้วยเครื่องจักรหน้าเรียบสามครั้ง จะมากกว่านั้นก็ได้แต่เสียเวลา เพราะยางมักจะแบนเรียบแล้ว
ต่อมาก็นำมารีดด้วยเครื่องจักรลายดอกอีกครั้งหนึ่ง ที่ต้องรีดด้วยเครื่องจักรลายดอกที่แผ่นยางพารา เพราะเวลาแผ่นยางพาราแห้งซ้อนกันแล้ว จะสามารถดึงออกจากกันง่ายกว่า ยางพาราที่เป็นแผ่นเรียบที่จะชิดติดกันสนิท เพราะไม่มีร่องอากาศเป็นรู ๆ ทำให้ดึงออกเป็นแผ่น ๆ ได้ยากมาก
แก้ไขเมื่อ 17 มิ.ย. 54 15:27:16
จากคุณ |
:
ravio
|
เขียนเมื่อ |
:
16 มิ.ย. 54 23:06:57
|
|
|
|