ชีวิตชาวบ้านหาดใหญ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง-น้ำมันจากยางพารา
|
 |
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่หาดใหญ่ ขาดแคลนน้ำมันกันอย่างมาก เพราะเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง กองทัพญี่ปุ่นต้องการมากในการใช้ขนส่งสินค้าส่วนหนึ่ง กับใช้ในกิจการทหารเพื่อการสงครามด้วย รวมทั้งน้ำมันแต่เดิมที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ยี่ห้อ mobil (ม้าแดงบนพื้นสีขาว) ตราม้าบิน ก็ไม่มีการนำเข้าจากเมืองนอกหรือเป็นสินค้าขาดตลาดด้วยเลย เพราะภาวะสงครามเลยไม่มีการซื้อขายสินค้านี้ ที่แต่เดิมนำเข้ามาจากปีนัง (มาเลย์) หรือสิงคโปร์แล้วมาขึ้นที่ท่าเรือปีนังได้ ก่อนจะทะยอยขนส่งเข้ามาขายที่หาดใหญ่
ขุนนิพัทธ์จีนนคร จึงได้ทดลองริเริ่มนำยางพารามาทำเป็นน้ำมัน ข้อมูลในการเขียนครั้งนี้จะได้จากคำบอกเล่าของ ลุงกิตติ จิระนคร (บุตรชายคนสุดท้องของท่าน) การผลิตน้ำมันจากยางพาราของท่าน น่าจะได้มาจากการสังเกตกลุ่มชาวบ้าน ที่นำเศษหรือขี้ยางพารามาผสมกับน้ำมันก๊าดแล้วจุดไฟ จะสามารถจุดไฟก่อเตาได้ดีมาก เด็ก ๆ ที่ก่อเตาไม่ถนัดมักจะใช้ก่อเตาฟืนหรือเตาถ่านด้วยวิธีนี้เช่นกัน ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้แกสจนชักลืมเลือนวิธีการก่อเตาฟืนกันหมดแล้ว
กับการที่ชาวบ้านโยนขี้ยางลงในเตาไฟ แล้วมีการหลอมละลายมีกลี่นน้ำมันโชยออกมา ท่านเลยลองสังเกตโดยการต้มดูก่อน ปรากฏว่ามีกลิ่นน้ำมันโชยออกมาเช่นกัน โดยการสังเกตจากคาบน้ำที่ติดตามขอบฝา มีกลิ่นน้ำมันส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน รวมทั้งมีประสบการณ์ร่วมส่วนหนึ่งจาก การสังเกตการกลั่นเหล้าของชาวบ้าน และได้เรียนรู้จากฝรั่งที่มาทำเหมืองแร่ปีนังติล (Penang Tin) ที่เหมืองแร่ บ้านดินลาน ในเขตอำเภอหาดใหญ่ ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าอยู่ในเขตอำเภอบางกล่ำ หรือไม่ ทราบว่าการกลั่นน้ำมันจะสามารถกลั่นเป็นชั้นต่าง ๆ กัน โดยทราบจากการพูดคุยและสอบถามฝรั่งที่เป็นวิศวกรเหมืองแร่ ก่อนที่จะหนีหายไปหรืออาจจะถูกจับเป็นเชลย สมัยที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้วก็ได้
ท่านจึงได้ทดลองนำยางพารามาต้มกลั่น โดยใช้ถังเหล็กทรงกระบอกสองร้อยลิตรจุดไฟข้างใต้ แล้วใส่ยางพาราแผ่นหรือผืนไว้ในถังสองร้อยลิตร ประมาณสามส่วนสี่ของถังน้ำมัน ด้านข้างบนสุดใช้กะทะเหล็กใส่น้ำไว้ด้านบน เป็นน้ำเย็นที่จะคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ ด้านข้างกะทะที่วางบนถังเหล็กสองร้อยลิตร จะใช้เศษผ้าชุบน้ำอุดแน่นไม่ให้ไอน้ำระเหยออกมา เมื่อยางพาราที่ถูกความร้อนเพราะการต้ม จะระเหยไอน้ำขึ้นไปจับบนปลายล่างกะทะ พอกระทบกับความเย็นจะจับตัวรวมเป็นหยดน้ำไหลลงมา ตรงข้างล่างกะทะก็จะมีถาดหรือกรวย ไว้รองรับไอน้ำที่หยดลงมาตรงปลายโค้งของกระทะ ก่อนจะไหลออกด้านข้างของถัง ซึ่งทำเป็นไส้ไก่ขดพันกันไว้ แช่ในน้ำเย็นที่หมุนเวียน เหมือนการกลั่นน้ำหรือกลั่นสุรา น้ำที่หยดออกมาจากการกลั่นนี้ จะมีสีเขียวเหมือนปีกแมลงทับและเย็นกว่าปกติมาก เป็นน้ำเชื้อหัวแรกของการทำน้ำมันจากยางพารา จะนำไปเทรวมกันในถังขนาดสี่พันลิตร หมายเหตุ ยางพาราที่ต้มในถังสองร้อยลิตร แทบจะไม่มีเศษหลงเหลืออยู่ในถังเลย
เมื่อรวบรวมได้หัวเชื้อน้ำมันจำนวนสี่พันลิตรแล้ว จะนำมาเพื่อทำการกลั่นอีกรอบหนึ่ง ด้วยการให้ความร้อนข้างใต้ถังหัวเชื้อดังกล่าว การกลั่นครั้งนี้ก็เหมือนเดิมคือ ความร้อนที่ให้จะทำให้เกิดไอน้ำไหลออกด้านบนท่อ ท่อที่ทำเป็นไส้ไก่หลาย ๆ ขด ก่อนจะผ่านการควบแน่นด้วยน้ำเย็น ก็จะหยดออกมาเป็นชั้น ๆ คือ ชั้นแรก คือ น้ำมันเบนซินประมาณเก้าห้า (ปัจจุบัน) ต่อมาก็เป็น น้ำมันก๊าด ถัดมาคือ น้ำมันโซล่าหรือดีเซล ท้ายสุดคือ ยางมะตอย ซึ่งต้องขูดออกมาทิ้งข้างนอก
การกลั่นน้ำมันใช้ความร้อนที่กะด้วยสายตา จะได้น้ำมันตามความร้อนที่ให้ ส่วนนำ้มันก็ดูที่สีเป็นหลักก่อน ตามด้วยกลิ่นของน้ำมัน โดยค่อย ๆ แยกถังเก็บตามสีและตามกลิ่นของน้ำมัน
น้ำมันดังกล่าวที่ผลิตได้สามารถใช้งานได้เหมือนน้ำมันทั่วไป แต่จะมีปัญหาคือ หัวนมหนูมักจะอุดตันได้ง่าย มีเขม่าจับมาก หรือสกปรกกว่าน้ำมันจากการกลั่นน้ำมันดิบแบบปัจจุบัน แต่เครื่องจักรยนต์หรือเครื่องรถยนต์ในสมัยก่อน ไม่สร้างสลับซับซ้อนมากมายเหมือนตอนนี้ ดังนั้นการซ่อมและการบำรุงรักษา ค่อนข้างจะทำได้ง่ายกว่าในปัจจุบันมาก ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัญหาหลักมากนัก ปัญหาหลัก ๆ คือ กลัวไม่มีน้ำมันใช้มากกว่า
แก้ไขเมื่อ 21 มิ.ย. 54 19:40:35
แก้ไขเมื่อ 20 มิ.ย. 54 22:07:17
จากคุณ |
:
ravio
|
เขียนเมื่อ |
:
20 มิ.ย. 54 21:39:17
|
|
|
|