ป้ายจราจรของไทย แต่ใช้คำศัพท์มลายูว่า Awas แปลว่า ระวัง อยู่ระหว่างเส้นทางถนนกาญจนวนิชย์ จากอำเภอสะเดามุ่งหน้าเข้าหาดใหญ่ ช่วงเทศบาลตำบลปริก กับเทศบาลตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ให้สังเกตอยู่ด้านซ้ายมือ
ถนนเส้นนี้เป็นสายหลักจากตอนเหนือมาเลย์ วิ่งเข้าสู่ประเทศไทย
ซึ่งมาได้สองทางคือ ปาดังเบซาร์ ที่น่าจะเป็นตำบลเดียวในโลก ที่มีชื่อเหมือนกันทั้งสองประเทศ และสะกดเหมือนกันด้วย ดังนั้นเวลาระบุตำบลปาดังเบซาร์ ต้องระบุว่า ฝั่งไทย หรือ ฝั่งมาเลย์ หรือระบุว่า อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือ ด่านนอก หรืออีกชื่อว่า จังโหลน มาจากภาษาไทยของคนสยามในมาเลย์ว่า จังหล่น คือ ใบจังที่ใช้มุงหลังคาได้หล่น หรือบางคนว่า ช้างหล่น หรือตกเขาลงมา เพราะบริเวณนี้มี บูกิต (ภูเขา) อีตำ (สีดำ) เป็นป่ารกทึบมีภูเขาหลายลูก มีต้นไม้ขนาดใหญ่มากพื้นที่สีเขียวจัด เวลากลางวันเรียกว่าแทบไม่เห็นแสงตะวันใต้ต้นไม้
จังโหลนเป็นจุดสุดท้ายของประเทศไทยในจังหวัดสงขลา ที่มีการรับแจ้งว่าเป็นคนไทยหรือคนสยาม สมัยรัชกาลที่ 5 เสียดินแดนให้อังกฤษ ให้มารายงานตัวที่จุดนี้ว่า จะอยู่ในบังคับสยาม หรืออังกฤษ บางคนก็มารายงานตัวไม่ทัน เพราะไม่รู้ข่าวสาร สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์ อินเตอร์แนต หรือโทรโข่ง ต้องอาศัยผู้ใหญ่บ้านหรือผู้รู้ไปป่าวประกาศ บางคนก็ไม่สนใจ เพราะเข้าออกเป็นเรื่องธรรมดา หรือมีครอบครัว มีที่ดินทำกินในฝั่งมาเลย์แล้ว ทำให้มีคนสยามตกหล่นในห้ารัฐเดิมของไทย ประมาณการว่าไม่น้อยกว่าสองล้านคน มีบางคนก็กล่าวหาว่า ประเทศไทยทอดทิ้งพวกเขาไว้ในมาเลย์
ตอนนี้ คนสยามในมาเลย์ มีสิทธิ์เท่าเทียมคนภูมิบุตรา หรือคนพื้นเมือง หรือคนเผ่าต่าง ๆ ในมาเลย์ เพราะถือว่าอยู่มาก่อนแต่ดั้งเดิม ไม่เหมือนคนจีน คนทมิฬ(อินเดีย) คนพม่า ที่เข้ามารับจ้างทำงาน หรือมีการเกณฑ์เข้ามาทำงานปลูกยางพารา ทำไร่ชา ทำเหมืองแร่ดีบุก ในสมัยมาเลย์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ คนกลุ่มพวกนี้ ไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรมากมาย และไม่ถือว่าเป็นคนพื้นเมืองแต่อย่างใด
มาเลย์เรียกว่าคนสยามหรือคนไทยว่า โอรัง (คน) เซียม (สยาม)
ถ้า โอรัง อุตัง (เหมือนคน) คือ ลิงประเภทหนึ่ง
คนสยามบางส่วนก็เปลี่ยนเป็นนับถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่ยังส่งเสริมให้ลูกหลานมาเรียนภาษาไทยที่วัดไทยในมาเลย์ เคยพบมัคคุเทศน์ คนขับรถยนต์ ที่เป็นชาวสยาม ก็พูดภาษาไทยได้ แต่พูดปักษ์ใต้ สำเนียงผสมระหว่างพัทลุงกับสงขลา หรือนครศรีธรรมราช บางคำก็ไม่เคยได้ยินแล้ว
สมัยก่อนยังมีการติดต่อกันระหว่างญาติพี่น้องฝั่งไทย/มาเลย์ คนไทยแถวไทรบุรี(เกดาห์) มักจะมีญาติพี่น้องที่สงขลา ระโนด สทิงพระ บางครั้งไปถึง พัทลุง กับ นครศรีธรรมราช สอบถาม พนักงานปกครอง ก็ได้ความเห็นอีกแบบว่า บางคนก็อพยพไปทำมาหากินหรือสร้างฐานะใหม่ บางคนก็หนีคดีไปที่นั่น เพราะการติดตามผู้ร้ายสมัยก่อนลำบากมาก โดยเฉพาะแถวคาบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการข้ามไปข้ามมาระหว่างระโนดกับพัทลุง หรือสทิงพระกับพัทลุง ทางทะเลน้อยทางเรือ หรือบางช่วงหน้าแล้งจัด ๆ ก็มีทางเดินข้ามไปได้ กับว่ายน้ำข้ามไปบางช่วงได้เ่ช่นกัน ตอนนี้มีสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ช่วงควนขนุนกับอำเภอระโนดแล้ว สร้างทับแนวถนนที่ขุดถมดินขึ้นมาในช่วงหน้าแล้ง เป็นถนนเดิมชื่อ ถนนพระสร้างประชาทำ ตอนนี้เป็นสะพานคอนกรีตข้ามทะเลสาบสงขลา
เจ้าหน้าที่ปกครองสันนิษฐานเช่นกันว่า ในกรณีที่มีการกดดันหรือตามจับผู้ร้ายอย่างจริงจัง บางคนก็จะหนีเตลิดเข้ามาเลย์ไปเลย หรือหนีจากมาเลย์เข้ามาฝั่งไทย เพราะสมัยก่อนการเดินทางลำบากมากทางบก แต่ทางเรือเข้าออกได้สะดวกเหมือนซุปเปอร์ไฮว์เวย์ โดยเฉพาะจากสงขลาเข้าคลองอู่ตะเภา เข้าหาดใหญ่ เข้าทุ่งลุง คลองแงะ สะเดา เข้าไทรบุรี ได้เลย คลองสายนี้ไหลจากทิศใต้ออกทะเลสาบสงขลาทางทิศเหนือ น่าจะเป็นลำน้ำไม่กี่สายในประเทศไทย ที่ไหลจากทิศใต้ไปออกทางทิศเหนือ
ดังนั้นคนไทยในรัฐเดิมของมาเลย์ บางส่วนหรือโดยมากน่าจะมาจาก คนสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช แต่เดิมเป็นเมืองเดียวกัน ที่ข้ามกันไปข้ามกันมาทางทะเลสาบสงขลา หรือเดินทางเลียบทะเลได้เช่นกัน เหมือนสทิงพระ (วัดพะโคะ) ที่บางครั้งก็สังกัดพัทลุง บางครั้งก็กลับมาสังกัด สงขลา หรือบางครั้งก็เตลิดไปสังกัดนครศรีธรรมราช
ถ้าอยากฟังภาษาใต้ ลองไปที่ศูนย์การค้าปลอดภาษี ด่านนอก คนสยามที่ขายของในศูนย์การค้า มักจะแหลงใต้กัน แต่ฟังสำเนียงก็ไม่เหมือนสงขลา พัทลุง หรือ นครศรีธรรมราช เป็นสำเนียงอีกแบบหนึ่ง แปลกหูดีเหมือนกัน แต่ตอนนี้เวลาชาวสยามในมาเลย์คุยกัน มักจะใช้ภาษามาเลย์ เพราะเป็นภาษาประจำวัน หรือใช้เป็นภาษาท้องถิ่นไปแล้ว
ส่วนในฝั่งมาเลย์ เคยอ่านพบที่ด่านปาดังเบซาร์(ฝั่งมาเลย์) กับด่านตรวจคนเข้าเมืองที่จังโหลน (ในมาเลย์) มีการเขียนภาษาไทย ก็มักจะเป็นป้ายประกาศเตือน เขียนด้วยลายมือบนแผ่นอลูมีเนียมขนาดใหญ่ว่า "การมียาเสพย์ติดหรืออาวูธปืน โทษประหารชีวิตสถานเดียว" แต่ลายมืออ่านแล้วเหมือนเด็กประถม หัดคัดลายมือให้อ่านได้เป็นภาษาไทย
เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนป้ายจราจรในหลายเส้นทาง
แก้ไขเมื่อ 04 ต.ค. 54 06:05:48
จากคุณ |
:
ravio
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ต.ค. 54 21:46:19
|
|
|
|