Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทางสายที่สาม บทที่ 6-7 ติดต่อทีมงาน

บทประพันธ์...กีรตี  ชนา


บทที่ 6



เย็นวันนั้นหลังเลิกงาน  เมื่อทุกคนออกจากร้านหมดแล้ว  เหลือเพียงแต่แก้วหวีผมเตรียมตัวเพื่องานใหม่  จันทร์เข้ามาพร้อมด้วยถุงกระดาษใบโต

“พี่ไปซื้อชุดยาวมาให้หนู  เห็นบอกว่าไม่มีอะไรใส่”  จันทร์หยิบเสื้อสามชุดออกมาจากถุง  พาดไว้กับพนักเก้าอี้ดูลานตา  “พี่ไปเช่าอีฉัตรปากกระโถนมา”

แก้วหัวเราะคิก  “ทำไมไปเรียกเขาอย่างนั้นล่ะ  พี่จันทร์”

“อีนี่ปากจัด  เวลามันด่าปากมันกว้างเหมือนปากกระโถน  เป็นกะเทยที่มีเสื้อผ้ามากที่สุด  เพราะมันตัดไว้ขายบ้างให้เช่าบ้าง”

“พี่จ่ายไปเท่าไหร่  เดี๋ยวเอาเงินคืนไป  แหม  ฉันทำให้พี่ต้องวุ่นวายไปด้วย”

“เช่ามันไม่เสียเงินหรอกแก้ว  อีฉัตรมันเป็นหนี้พี่อยู่สามสิบบาท  ค่าลอตเตอรี่งวดก่อน  พี่เลยหักหนี้มัน”

“มันเงินของพี่ที่พี่ควรจะได้คืนนี่นา  ฉันไม่ยอมหรอก”  แก้วเสียงแข็ง  หยิบธนบัตรจากกระเป๋ายัดใส่ย่ามใบโตของจันทร์  แล้วหยิบชุดสีเขียวมีระยายฟูที่คอค่อนข้างกว้าง  แขนบานขึ้นดู

“สวยนะหนู  ชุดนี้น่ะ  อีฉัตรมันหวงยิ่งกว่าหวงผัวมันอีก”  จันทร์ยิ้มอย่างพอใจ

“ไม่มากไปนะพี่  เดี๋ยวคุณนาวินเห็นเข้าจะบอกว่า  อียายคนนี้แต่งตัวเหมือนกับจะมาร้องเพลง”

“ไม่หรอก  แล้ววันแรกน่ะ  หนูต้องทำให้เขาประทับใจนะ  ว่าเราแต่งตัวเก่งสมกับเป็น...อะไรนะ...รีเซ็ปชั่นนิสต์  อะไรนั่น”

“เดี๋ยวต้องไปแท็กซี่ละพี่จันทร์  ฉันไม่กล้าลากชุดยาวนี้ขึ้นรถเมล์หรอก  วันหลังค่อยเอาเสื้อไปเปลี่ยนที่คลับ”  แก้วคว้าเสื้อเดินเข้าเปลี่ยนข้างเตียงสระผม

“ไม่ต้องไปแท็กซี่หรอกหนู  น้องธีรพรยืมรถของคุณพ่อเขามาขับ  อาสาจะไปส่ง”

“ตายแล้ว  เกรงใจเขา”  แก้วอุทานอย่างไม่สบายใจ

“เกรงอกเกรงใจอะไรกัน  เขามีน้ำใจเอง  น่ารักจริง  ๆ  เด็กคนนี้  เขาจอดรถรออยู่หลังร้าน  รีบ  ๆ  เข้าเถอะแก้ว  แต่งหน้าเติมตาเข้าหน่อย  แหม  พี่ตื่นเต้นกับหนูไปด้วย”  จันทร์เสียงใส  แววตาเปล่งประกายแห่งความยินดี




“แก้วกลับบ้านยังไงล่ะคืนนี้  ให้ผมมารับไหม”  ธีรพรถามเมื่อมาถึงหน้าคลับ

“ไม่ต้องหรอก  แก้วกลับแท็กซี่ก็ได้”  แก้วตอบด้วยความเกรงใจ

“น้องธีรพรมารับดีกว่า  เดี๋ยวพี่จะพาไปดูหนังรอบดึกฆ่าเวลา  หนังเลิกจะได้รับแก้วเลย”  จันทร์จัดการ

“โธ่  อย่าเลยพี่จันทร์  เกรงใจธีรพรเขา”  แก้วค้าน

“ไม่เป็นไรครับ  ผมไม่ต้องรีบตื่นไปโรงเรียนพรุ่งนี้  แก้วอย่าปฏิเสธเลย  ทำใจให้สบายเถอะ”  เขายืนยันอาสา

แก้วได้แต่ยิ้มอย่างจนใจ




ศรินยา  พิชัยยุทธ  น้องสาวคนเดียวของนาวิน  ให้การต้อนรับแก้วเป็นอย่างดี  ในก้าวแรกที่แก้วเหยียบย่างเข้ามาทำงาน

“พี่วินพูดถึงแก้วให้น้องฟัง  น้องดีใจที่ได้แก้วมาทำงานด้วยกัน”  หล่อนพูด  “เราขาดคนต้อนรับแขกไปเกือบเดือนแล้ว  บางทีน้องร้องเพลงเสร็จ  มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาทานข้าวและฟังเพลง  น้องต้องวิ่งลงมารับแขกก็มีนะแก้ว”

แก้วมองริมฝีปากจิ้มลิ้มคู่นั้นเคลื่อนไหวอย่างนึกชมในความฉะฉานของศรินยา

“คุณน้องร้องเพลงเพราะมากค่ะ  เมื่อกี้แก้วฟังเพลินเกือบลืมไปว่ากำลังทำงานอยู่”  แก้วพูด  “ร้องมานานแล้วหรือคะ”

“เพิ่งจะเริ่มร้องเพลงสองสามเดือนนี่เอง  ครั้งแรกน้องมาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอย่างเดียว  มีอยู่คืนหนึ่งวันเกิดเพื่อน  เขาจัดงานที่นี่  เลยลองขึ้นไปร้องเพลงให้เขา  นึกชอบขึ้นมาเลยลองหัดดูก็เลยหลงไมโครโฟนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”  หล่อนเล่าอย่างสนิทสนม  ท่าทางของหล่อนที่มีต่อแก้วช่างเป็นกันเองจนแก้วไม่รู้สึกว่าตนเอง  ‘ผิดเพศ’  จากผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเลย

ถ้าทุกคนในโลกนี้เป็นดังนาวินและศรินยา  ซึ่งมองแก้วในฐานะคน  ๆ  หนึ่ง  ไม่ใช่ในฐานะของผู้ที่ถูกตราหน้าว่า   ‘กะเทย’  ละก็  แก้วคงมีความสุขอีกมาก  แต่แก้วคงไม่มีชีวิตยืนยาวอยู่ไปจนถึงวันนั้นหรอก  อาจจะต้องรอเป็นร้อยเป็นพันปี  แก้วอยากอยู่จนถึงวันนั้นเหลือเกิน



งานต้อนรับลูกค้าของไนต์คลับไม่ยากเย็นอะไรเลย  เพียงสัปดาห์เดียวแก้วก็คล่องเหมือนทำงานมาเป็นเดือน  สิ่งที่แก้วหวั่นเกรงคือความอึดอัดจากสายตาของผู้ร่วมงานว่าจะมองแก้วเหมือนตัวประหลาดนั้นก็ไม่ปรากฏให้แก้วได้เห็น  คงจะเป็นเพราะแต่ละคนเกรงใจนาวิน  เพราะทุกคนในที่นั้นรู้ว่านาวินเป็นผู้รับแก้วไว้ด้วยตนเอง

แก้วเข้ากับทุกคนได้อย่างดียิ่ง  แม้ว่าผู้ร่วมงานบางคนทำให้แก้วมีความรู้สึกว่า  แต่ละครั้งที่ต้องพูดจาปราศรัยกัน  ดูเหมือนเป็นดังว่ามีกระจกบาง  ๆ  ที่พร่ามัวมาขวางกั้นไว้  ทำให้แก้วไม่สามารถมองผ่านเข้าไปถึงความนึกคิดของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างแจ่มชัด     แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป  ความเปิดเผย  ความจริงใจและอารมณ์อันชื่นบานของแก้ว  ทำให้สิ่งที่ขวางกั้นอยู่นั้นค่อยคลายความหมองมัวไปเป็นลำดับ

เพียงชั่วเวลาไม่ถึงเดือน  แก้วก็ใส่เสื้อราตรีชุดแรกนั้นเกือบสิบหน

ศรินยาเอ่ยขึ้นในวันหนึ่ง

“แก้ว  พรุ่งนี้น้องจะพาไปเที่ยวบ้าน  น้องมีเสื้อผ้าที่น้องใส่ไม่ได้  เพราะน้องผอมลงกว่าเมื่อปีที่แล้วมาก  เสื้อที่ตัดไว้ตอนยังอ้วนกว่านี้เลยแขวนอยู่ในตู้เฉย  ๆ  น้องให้แก้วเลือกใส่ได้เลย”

“อย่าเลยค่ะ  รบกวนคุณน้องเปล่า  ๆ  อีกไม่กี่วันแก้วก็จะได้เงินเดือนแล้ว  แก้วก็จะมีเสื้อใหม่  ๆ  ใส่บ้างละคราวนี้”  แก้วปฏิเสธ

“กว่าเงินเดือนจะออก  กว่าจะไปซื้อผ้า  กว่าจะรอตัด  พอดีใคร  ๆ  ก็เลยคิดว่าเสื้อชุดเก่งของแก้วนี่เป็นชุดทำงาน”  ศรินยาหัวเราะเบา  ๆ

ความจริงใจของหญิงสาวทำให้แก้วรู้ว่าในเสียงหัวเราะนั้นไม่มีความดูถูกดูหมิ่นอยู่เลยแม้แต่น้อย

“ถ้ามีชุดฟอร์มก็ดีซิคะ”  แก้วออกความเห็น  “แก้วจะได้ไม่ต้องเสียเงินตัดเสื้อหลายตัว”

“เป็นความคิดที่ไม่เลวเลย”  ศรินยาคล้อยตาม  นึกถึงเพื่อนบางคนที่ทำงานให้กับธนาคารบางแห่งที่พนักงานไม่ต้องใส่เครื่องแบบ

“น้องเห็นพวกเพื่อน  ๆ  ที่ทำงานแบงก์แต่งตัวกันแล้ว  ยังสงสัยว่ากับเงินเดือนแบงก์น่ะจะพอค่าแต่งตัวอย่างไร  ไม่มีทางที่จะจับหัวเดือนชนท้ายเดือนเลย  พี่วินเคยให้น้องจัดการเรื่องเอาเงินเข้าแบงก์  เชื่อไหมแก้ว  น้องไปแบงก์ทุกวันเดือนหนึ่งเต็ม  ๆ   แทบจะไม่เคยเห็นพวกพนักงานใส่เสื้อซ้ำสองครั้งเลย”

“ตอนแก้วไปฝากเงินครั้งแรกนะคะ”  แก้วเล่า   ความสนิทสนมที่แก้วมีต่อศรินยาทำให้แก้วรู้สึกสบายใจ  และเป็นกันเองจนสามารถพูดถึงเรื่องที่แก้วคิดว่าตนคงไม่เล่าให้ผู้ที่ไม่สนิทสนมนักได้รับรู้  “พนักงานที่รับฝากเงินขอดูบัตรประชาชนเพราะแก้วเป็นลูกค้าใหม่  แกมองแล้วมองอีก  ถามว่าแก้วไปเอาบัตรของใครมา  ของพี่ชายหรือของน้องชาย  แก้วบอกว่าของแก้วเอง  ไอ้เราก็แสนจะอาย  แต่แกก็ยิ่งอายกว่าเราเสียอีก”

“แล้วเขายอมรับฝากไหม”

“ทำไมจะไม่ยอมคะ  แก้วฝากตั้งห้าร้อยบาท  เพราะไม่อยากจะเก็บเงินไว้ใต้ที่นอนอีกแล้ว  กลัวว่าถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็แย่เลย    ยิ่งบ้านในสลัมไฟไหม้ง่ายจะตาย”
“แก้วอยู่กับใคร  คนเดียวหรือ”

“อยู่กับพี่จันทร์  แกเป็นเพื่อนของแก้วค่ะ”

“ผู้หญิงหรือ”  ศรินยาถาม  อดโมโหตัวเองไม่ได้เมื่อพลั้งปากออกไปแล้ว  ถ้าหากว่าจันทร์เป็นเหมือนแก้วเล่า...คำถามพล่อย  ๆ  ของเราคงทำให้แก้วอึดอัดไม่น้อยทีเดียว

“สำหรับแก้ว  พี่จันทร์เป็นพี่สาวที่แก้วรักมาก  แต่สำหรับคนอื่น”  แก้วพูดปนเสียงหัวเราะ  “จะว่าผู้หญิงก็ไม่ใช่  ผู้ชายก็ไม่เชิงค่ะ”

จึงเป็นที่รู้กันไปว่า  จันทร์ก็คือ  ‘กะเทย’  เช่นเดียวกับแก้ว


จากวันนั้น  ทั้งสองยิ่งถูกชะตาและสนิทสนมกันมากขึ้น  และวันหนึ่งศรินยาพาแก้วไปรู้จักบ้านของหล่อน  ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็ก  ๆ  อยู่ในสวนอันร่มรื่นปลูกติดริมคลองบางซื่อ  มีทางเข้าบ้านได้สองทางคือถนนทางรถเล็ก  ๆ  จากปากซอยและโดยเรือหางยาวรับจ้างจากใต้สะพานบางซื่อ

“บ้านนี้เป็นของคุณพ่อสร้างให้พี่วิน  ตั้งแต่พี่วินจบมาจากญี่ปุ่นใหม่  ๆ”  ศรินยาเล่า

แก้วนั่งพิงโคนต้นชมพู่ริมคลอง  เกสรจากดอกของมันร่วงพร่างตามแรงลมลงสู่กระแสน้ำที่ไหลเอื่อยผ่านไป

“พี่วินกลับมาถึงไม่ทันไรก็แต่งงานกับพี่สุชาวดี  ซึ่งไม่อยากอยู่บ้านนี้  เพราะเธอไม่ชอบบ้านหลังเล็ก ๆ  ในสวน  จะไปไหนมาไหนลำบาก  โดยเฉพาะตอนนั้นพี่สุกำลังเริ่มเด่นกับงานแสดงหนัง”

“คุณสุชาวดีโชคดีนะคะ  ที่ถึงจะแต่งงานแล้วคนก็ยังนิยม”  แก้วออกความเห็น

“พี่สุโชคดีตลอดรายการ  พี่วินตามใจราวกับเธอเป็นนางพญา  ตั้งแต่วันแรกที่น้องเห็นพี่สุจนวันนี้  พี่วินตามใจไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย  พี่สุก็สวยไม่สร่าง  น้องไม่ค่อยได้พบเธอแต่พอพบกันทีไรจะต้องมีเสื้อผ้าใหม่  ๆ เครื่องสำอางใหม่  ๆ  ให้น้องใช้เสมอ”

ศรินยาไม่ใช่คนสวยแบบที่เรียกว่าต้องมองจนเหลียวหลัง  ผิวของหล่อนไม่ขาวไม่ดำ  พิจารณาดูแต่ละส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นใบหน้าอันจิ้มลิ้มของหล่อน  ก็ไม่มีอะไรงามเด่นออกมาเลย  แต่ความน่ารักอย่างไร้เดียงสาของหล่อนทำให้น่าพิศนัก   แก้วมองเกสรดอกชมพู่ที่ร่วงลงเกาะเส้นผมทรงสั้นสีน้ำตาลเข้มของศรินยา  ใบหน้าของหญิงสาวเด่นอยู่กับสายน้ำที่เลื่อนไปช้า  ๆ  เป็นฉากหลัง  ทำให้เห็นเป็นภาพอันนุ่มนวลงดงามอย่างประหลาด  แก้วนึกถึงธีรพร  เขาเคยบอกแก้วว่า  ผู้หญิงสวยกับน่ามองนั้นคนละอย่าง  ถ้าเขาได้มานั่งอยู่ที่นี่และได้มองเห็นศรินยาในลักษณะเดียวกับที่แก้วเห็นอยู่นี้  เขาต้องหากระดาษดินสอมาเขียนรูปของหล่อนเป็นแน่

“คุณพ่อออกจะโกรธที่ท่านอุตส่าห์ปลูกบ้านให้  พอพี่วินกับพี่สุย้ายออกไปอยู่บ้านสุขุมวิท  คุณพ่อเลยให้คนเช่าอยู่หลายปี  แต่เป็นบ้านเช่าใครเขาจะมารักษาเหมือนบ้านเขาเอง  บ้านมีแต่ทรุดโทรมลง  ไม่นานคุณพ่อเลยเลิกให้เช่า  ทิ้งไว้เฉย  ๆ  แต่จ้างคนมาดูแล  และพอน้องเรียนจบมาจากปีนัง  กลับมาทำงานกับพี่วิน  เลยขอมาอยู่ที่นี่  ทั้งคุณพ่อและพี่วินห้ามกันใหญ่  หาว่าเรายังเด็กเกินไปที่จะอยู่คนเดียว”  ศรินยาปัดเกสรชมพู่ออกจากใบหน้าของหล่อน

“แล้วทำไมถึงยอมให้มาอยู่คะ”  แก้วถาม

“พี่สุน่ะสิ  ยืนกรานเป็นฝ่ายเรา  น้องน่ะไม่ใช่เด็ก  ๆ  อายุยี่สิบเอ็ด  ยี่สิบสองแล้ว  ผ่านเมืองนอกเมืองนามาแล้ว  น้องก็อยากอยู่ที่นี่เพราะชอบที่มันสงบและสบายดี  ไม่ต้องไปอยู่กับพี่วินและพี่สุให้เป็นภาระกับเขา”

เรือหางยาวรับจ้างลำหนึ่งแล่นผ่านไป  เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่ม   น้ำในคลองแตกกระจายตามแรงใบพัด  ผู้โดยสารสองสามคนบนเรือหันมามองทั้งสองอย่างไม่สนใจนัก

“คุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ไหนคะ”  แก้วถามเมื่อเสียงจากเครื่องยนต์ของเรือรับจ้างนั้นเบาลงจนเงียบหายไป

“อยู่เชียงใหม่ทั้งคู่  ท่านชอบที่นั่น  พี่วินไปเยี่ยมเกือบทุกเดือน”  หล่อนหันหน้ามองมาทางแก้ว  “พ่อแม่ของแก้วล่ะ  อยู่ที่ไหน”

“พ่อกับแม่ตายตั้งแต่แก้วอายุสิบสองค่ะ  บ้านของเราอยู่ชายทะเลเมืองชล  พ่อออกเรือไปจับปลากับแม่ตอนเย็น  คืนนั้นมีพายุ  ไม่มีใครเห็นร่องรอยอะไรเลย  จนห้าวันเรือลอยมาติดฝั่ง”  แก้วพูดเรียบ  ๆ  นัยน์ตาเหม่อมองออกไปยังกระแสน้ำในลำคลองเบื้องหน้า

“แก้วไม่มีญาติพี่น้องที่ไหนหรือ”  ศรินยาถามเบา  ๆ

“ไม่มีหรอก  คุณน้อง  แต่แก้วคงจะมีบุญอยู่บ้างที่ได้เพื่อนดี  ๆ  อยู่สองสามคน”  แก้วนึกถึงจันทร์และธีรพร


แก้ไขเมื่อ 26 ต.ค. 54 21:08:17

แก้ไขเมื่อ 26 ต.ค. 54 20:46:49

จากคุณ : ชมภัค
เขียนเมื่อ : 26 ต.ค. 54 20:45:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com