จากหมอชิต ถึงปากน้ำ
หมอชิตตรวจรักษาโลกกิเลส สะพานควายเข้าเขตละความเขลา อารีย์แผ่เมตตาจิตใจเบา สนามเป้ามุ่งมั่นสู่นิพพาน
อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ โลภ โกรธ หลง จิตมั่นคง ดั่งพญาไท ไม่หวั่นไหว ผ่านศึกหนัก ราชเทวี เพลิดเพลินใจ สยามได้ สงบลง ฟุ้งรำคาญ
ถึงชิดลม ต้องพัดใจ ไม่ห่อเหี่ยว เพลินจิตเที่ยวเสาะหา ธรรมแห่งขันธ์ นานาเกิดแลดับทุกคืนวัน ละทุกข์พลันอโศกสิ้นจิตสบาย
พร้อมพงษ์น้อมพุทธธรรมนำบัญญัติ ดั่งสมบัติ ทองหล่อ หลอมเป็นหนึ่ง มุ่งทางเดียว เอกมัย ไปให้ถึง พระโขนงจึง ได้รู้แจ้ง ล้วนหลอกลวง
เข้าอ่อนนุช จิตใจ เริ่มอ่อนน้อม บางจากพร้อม บางเบา แยกเราเขา ปุณณวิถี ทางประเสริฐ ละความเศร้า อุดมสุข ใดเล่า จะเท่าเทียม
ถึงบางนา ลาแล้ว รูปแล นาม แบริ่งถาม ลงแล้ว จะไปไหน มุ่งปากน้ำ นิพพาน อีกไม่ไกล แต่ต้องไป ด้วยตัวเอง ดูให้ดี
มีคนถาม ฉันก็เดิน เส้นทางนี้ แต่กลับรี่ ไปบางปู ออกบางบ่อ เหตุไฉนไม่ปากน้ำ ตามที่รอ ยังไม่พอบางปะกง หลงไปชลฯ
อย่างที่บอก ต้องไปเอง ดูให้ดี นั้นเพราะมี บางจุด ที่ลืมหลง สำโรงเหนือ สำรวจใจ อย่างมั่นคง สติลง ปัฏฐานสี่ ที่ปลอดภัย
รู้สึกตัว ให้ตลอด จะรอดฝั่ง ปากน้ำดั่งปากทางสว่างไสว ทะเลดั่งเกลี่ยวคลื่นทะเลใจ ไม่หวั่นไหวสงบนิ่งดิ่งนิพพาน สิ่งนี้อาจดูเหมือนเส้นทางการเดินทางธรรมดา จากเขตจตุจักร ไป ปากน้ำ แต่แท้จริงแล้วเป็นการเดินทางของจิต มุ่งสู่นิพพาน (ความหลุดพ้น) จตุจักร เปรียบเหมือน วัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์ รถไฟฟ้า เปรียบได้กับพุทธธรรม ยานพหนะพาสู่จุดหมาย แต่ส่งไปได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้นที่เหลือย่อมต้องใช้ความพยายามด้วยตัวเอง ค่าโดยสาร คือบุญกุศลที่สร้างสมมาแต่อดีต สถานีต่างๆ คืออุปสรรคทั้งหลายที่ต้องผ่านไปให้ได้ หากลงผิดสถานีอาจทำให้หลงทาง หรือเสียเวลา ในทางโลก หมายความว่า ไม่ได้ไปทำงานหรือไปสาย อันจะมีปัญหายุ่งยากตามมาอีกมากมาย สำหรับทางธรรมแล้ว หมายความว่าจะต้องกลับไปเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร จมอยู่ในกองทุกข์จนกว่าจะกลับเข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องอีกครั้ง เพื่อนร่วมเดินทาง เปรียบได้กับทางธรรม ยิ่งใกล้จุดหมายคนยิ่งน้อยลง สุดท้ายเหลือเพียงเราคนเดียว นั้นคือ ธรรมะย่อมเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ค่าโดยสารตลอดสาย 40 บาท หมายถึง กรรมฐาน 40 วิธี (กสิน 10 อสุภะ 10 อนุสติ 10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุ 1 พรหมวิหาร 4 อรูปฌาณ 4) เมื่อใส่เงินเข้าไปครบ จะมีบัตรโดยสารออกมา 1 ใบ หมายถึง ทั้ง 40 วิธีมีเป้าหมายเดียวคือ ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง บัตรโดยสาร (เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม มี 4 มุม) ไว้ผ่านเข้าออก หมายถึง มหาสติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิต ธรรม) ที่ต้องใช้ในการผ่านเข้าออก และระหว่างเดินทางต้องติดตัวไว้ตลอดคือ ฐานที่ตั้งมั่นสติไว้ให้ตลอด เมื่อขึ้นรถไฟฟ้า ห้ามซื้ออาหารขึ้นไปรับประทาน หมายความว่า เมื่อเริ่มการปฏิบัติธรรม ต้องละกามราคะทั้งหมายให้สิ้น เมื่อมีผู้หญิง เด็ก และคนชรา ขึ้นมาต้องลุกให้นั่ง นั่นคือผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีน้ำใจไมรตรีต่อเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุข เวลาอยู่บนรถไฟฟ้า ทุกคนต่างนิ่งไม่พูดคุย นั่นคือ การปฏิบัติธรรม คือการดูจิตของตัวเอง ไม่สอดส่ายไปด้านนอก เมื่อบนรถไฟฟ้า มีที่ต้องจับยึดไว้คือ ยึดห่วง คือพระพุทธ ยึดเสา คือ พระธรรม นั่งตรงที่นั่ง คือยึดพระสงฆ์ เมื่อยึดทั้งสามสิ่งนี้จะทำให้การเดินทางปลอดภัย รถไฟฟ้า วิ่งอยู่บนรางลอยฟ้า คือการอยู่เหนือโลก (โลกธรรมแปด) การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน จอดทุกสถานี เหมือนกับการปฏิบัติธรรม ต้องไปตามลำดับจะเร่งรัดข้ามไปไม่ได้ แม้ต้องการบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วมากเพียงใดก็ตาม ทุกคนต้องรอ และก้าวหน้าไปที่ละขั้น (การสถาปนาจิต) ตามความรู้ความสามารถของตน และมักจะพบคำเตือนตามที่ต่างๆ ว่า "Please mind" แปลว่า กรุณาดูจิต (ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท) สถานีแบริ่ง เป็นสถานีสุดท้ายการแบลงสู่ความเป็นธรรมดาสามัญ ถนนสุขุมวิท คือเส้นทางอันประเสริฐ ต้องเดินทางด้วยมานะและปัญญาของตัวเอง แต่ทางที่ประเสริฐนี้อาจทำให้หลงทางได้ง่าย เช่นหลงไปบางปู (ชื่อเสียง) บางบ่อ ( ลาภ ยศ สรรเสริฐ) บางปะกง (อิทธิปาฏิหาร์) ชลบุรี (ความสงบ) ดังนั้นต้องเริ่มที่ สำโรงเหนือ คือการสำรวมใจ ทำความรู้สึกตัว ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานสี่(กาย เวทนา จิต ธรรม) มุ่งแน่วไม่หวั่นไหว ปากน้ำ คือปากทางสู่ความหลุดพ้น (ทะเล คือการกลับเข้าสู่กระแสธรรมชาติ รวมเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ ) โดยเนื้อแท้แล้ว น้ำทุกหยดมีธรรมชาติคือไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เหมือนจิตใจของเรา ย่อมมีธรรมชาติที่ดิ้นรนเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ แต่ด้วยอวิชชา ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากทุข์อย่างแท้จริงได้ คล้ายกับน้ำที่ถูกกักไว้ด้วยเขื่อนคันทั้งหลาย ณ เวลานี้ ความทุกข์จึงยังมีอยู่ เมื่อปล่อยให้มันไหลไปตามธรรมชาติ น้ำก็จะไปรวมอยู่ในทะเล ความทุกข์ก็จบเพียงเท่านี้ การเดินทางจึงสิ้นสุดลงเพียงแค่นี้
จากคุณ |
:
kreang52
|
เขียนเมื่อ |
:
5 พ.ย. 54 08:33:34
|
|
|
|